มติชนสุดสัปดาห์ 21-27 สิงหาคม 2558
“อนธการ” เป็นชื่อของหนังไทยที่กำลังลงโรง กำกับฯ โดย “อนุชา บุญยวรรธนะ”
ลองเปิดพจนานุกรมดู พบว่า “อนธการ” หมายถึง “ความมืด” “ความมืดมน” บางแห่งบอกว่า “ความมืดมัว” ก็มี
อย่างไรก็ตาม “อนธการ” ตามความตั้งใจของอนุชา น่าจะหมายถึงภาวะก้ำกึ่งกำกวม คือ ภาวะที่โลกไม่สว่างจ้าแล้ว ทว่า ขณะเดียวกัน ก็ยังไม่มืดสนิท เหมือนจวนจะหมดหวัง แต่ยังพอมีหนทางให้ฝันกันแบบรำไร
ความกำกวมคลุมเครือที่ว่า มีสถานะเป็นทั้งชื่อหนัง และเป็นบรรยากาศโดยรวม (ซึ่งถูกสร้างสรรค์ผ่านกระบวนการถ่ายภาพและบันทึกเสียง) ที่ปกคลุมภาพยนตร์เรื่องนี้เอาไว้
โดยเนื้อแท้แล้ว “อนธการ” ไม่ได้มีเนื้อหาที่ซับซ้อนซ่อนเงื่อนมากมายนัก หนังเล่าเรื่องของเด็กวัยรุ่นมัธยมฯ ชื่อ “ตั้ม” ซึ่งกำลังคบหาฉันคนรักกับชายหนุ่มวัยใกล้เคียงกันชื่อ “ภูมิ” ที่ประกอบอาชีพเป็นช่างซ่อมจักรยานยนต์ และย้ายออกจากบ้าน มาอาศัยอยู่ในห้องเช่าเก่าๆ เล็กๆ ร่วมกับเพื่อนรุ่นพี่ในอู่
หนังแสดงให้เห็นภาพคร่าวๆ ว่าแม้ตั้มจะอยู่ในครอบครัวชนชั้นกลาง แต่เขาก็มีปัญหาเรื่องการเงิน นอกจากนี้ ร่องรอยบอบช้ำตามร่างกาย ยังบ่งชี้ว่า เขาถูกทำร้ายโดยเพื่อนนักเรียน รวมถึงคนในครอบครัว
ซึ่งอาจหมายถึง พี่ชายผู้เกรี้ยวกราด หรือไม่ก็พ่อผู้ไม่เคยปรากฏหน้าและไร้ซึ่งบทบาทใดๆ แต่ตั้มกลับถูกขู่โดยแม่และพี่อยู่เสมอ ว่าพฤติกรรมต่างๆ ของเขา จะทำให้พ่อรู้สึกไม่สบอารมณ์
ขณะเดียวกัน แม้แม่จะแลดูปรานีกับตั้ม ทว่า ความเงียบและน้ำตาของมารดา ยามเกิดสถานการณ์ตึงเครียดในบ้าน ก็มักบีบบังคับและกดดันให้ตั้มรู้สึกว่าตนเองต้องตกเป็นฝ่ายผิดอยู่บ่อยครั้ง
ท้ายที่สุด เขาและภูมิ จึงตัดสินใจยุติปัญหาทั้งหมด ด้วยการทำอะไรบางอย่างกับครอบครัวของตนเอง
ต้องยอมรับว่า “อนธการ” เล่าเรื่องราวที่ล่อแหลมรุนแรงต่อบรรทัดฐานทางสังคมอย่างยิ่ง และถ้าหนังถูกนำเสนออย่างดิบๆ ก็ไม่รู้ว่าจะผ่านเซ็นเซอร์หรือไม่?
อย่างไรก็ตาม อนุชากลับเลือกห่อหุ้มภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรกของเขา ด้วยกลวิธีลีลาอันเปี่ยมไปด้วยชั้นเชิง
โดยความกำกวมคลุมเครือระหว่างภาวะมืดกับสว่าง ก็ไม่ได้เป็นเพียงแค่บรรยากาศรายรอบเนื้อหาของหนัง แต่ยังเป็นกลวิธีที่ช่วยผลักดันให้เนื้อหาหลักถูกนำเสนอออกมาอย่างทรงพลัง
ภาวะก้ำกึ่งดังกล่าวถูกนำไปหลอมรวมเข้ากับสถานการณ์ผสมปนเประหว่างความจริงกับความฝัน (จินตนาการ) หรือระหว่างการตื่นกับการหลับ
หนังจึงเต็มไปด้วยกระบวนท่ายั่วล้อการรับรู้ของคนดู ผ่านการพลิกกลับไปมาระหว่าง “โลกที่น่าจะจริง” กับ “โลกที่น่าจะเป็นเพียงความฝัน” ของตั้ม
หากให้แบ่งแยกอย่างหยาบๆ “โลกจริง” ของตั้ม น่าจะวนเวียนอยู่แถวห้องนอนบนดาดฟ้าตึกแถวเก่าๆ อันเป็นที่พักอาศัยของเขา
ขณะที่ “โลกกึ่งจริงกึ่งฝัน” ก็ดำเนินไปใน “สระว่ายน้ำร้าง” และ “บ่อขยะ” อันเป็นสถานที่นัดพบและสานสัมพันธ์ระหว่างตั้มกับภูมิ ทั้งยังมีสิ่งแปลกประหลาดถูกเล่าขานและ/หรือปรากฏขึ้นเป็นระยะๆ ตั้งแต่ ผีบังตา, วิญญาณในสระน้ำ, มือปืนลึกลับ และศพคน
“โลกจริง” และ “โลกกึ่งจริงกึ่งฝัน” เช่นนี้ ถูกเชื่อมโยงเข้าหากัน ผ่านเหตุการณ์รุนแรงในช่วงท้ายของภาพยนตร์
นอกจากนี้ ยังมีสัญลักษณ์หลายๆ อย่างภายในหนัง ที่สื่อแสดงถึง “เส้นกั้น” ระหว่าง “สองโลก” นับตั้งแต่ขอบด้านบนของกำแพงโรงเรียน ซึ่งตั้มใช้เป็นทางเดินตอนต้นเรื่อง ตลอดจน รั้วลวดหนามที่ติดป้ายเขตหวงห้ามของสระว่ายน้ำร้าง และแบริเออร์ตรงทางเข้าบ่อขยะ ซึ่งถูกภูมิและตั้มฝ่าทลายเข้าไป
ในด้านหนึ่ง เหมือนกับว่า “สระว่ายน้ำร้าง” และ “บ่อขยะ” จะเป็นพื้นที่อันสกปรก ทรุดโทรม น่ารังเกียจ และอาจแฝงไว้ด้วยภยันตรายนานัปการ
แต่ในอีกด้าน ทั้งสองแห่งกลับกลายเป็น “โลกแห่งความฝัน” “โลกแห่งจินตนาการ” หรือ “ยูโทเปีย” อันมีความงดงามซ่อนอยู่ภายใต้รูปโฉมอัปลักษณ์โสโครก (การกำกับภาพอันยอดเยี่ยม ช่วยโอบอุ้มภาวะ “สองหน้า” นี้ ไว้ได้ดีมาก)
รายละเอียดยิบย่อยบางประการบ่งบอกว่า มีข้อเท็จจริงบางอย่างถูกพลิกกลับ ใน “โลกแห่งความฝัน/จินตนาการ/อุดมคติ” เช่น ในครั้งแรกที่ภูมิพาตั้มมายังบ่อขยะ ภูมิบอกว่านี่คือที่ดินของครอบครัวตนเองซึ่งถูกฉ้อโกงไป แต่ในการเจรจากับกลุ่มคนนอกกฎหมายกลุ่มหนึ่ง ภูมิกลับบอกว่าครอบครัวของตั้มถูกโกงที่ดิน
โลกในสระว่ายน้ำร้างและบ่อขยะ จึงเป็น “โลกที่พลิกกลับด้าน” อย่างกลับหัวกลับหาง นี่คือโลกที่เด็กวัยรุ่นเกย์สองคนได้สถาปนาความเป็นใหญ่ เป็นโลกที่เปิดโอกาสให้พวกเขาได้ร่วมรักกัน และเป็นโลกที่พวกเขามีโอกาส (หรืออย่างน้อยก็มีโอกาสคิดฝัน) จะโค่นล้มอำนาจดิบๆ ของพ่อและพี่ ตลอดจนอำนาจอันอ่อนโยนที่เอ่อนองไปด้วยน้ำตาของแม่
ตลอดทั้งเรื่อง เนื้อหาของ “อนธการ” ดำเนินไปบนเส้นทางอันพลิกแพลงระหว่าง “โลกที่น่าจะจริง” กับ “โลกที่น่าจะเป็นเพียงจินตนาการ/ความใฝ่ฝัน” นำมาสู่คำถามสำคัญที่ว่า สรุปแล้ว ความรุนแรงสุดขั้วซึ่งเกิดขึ้นในช่วงท้ายนั้น มีสถานะเป็น “ความจริง” หรือ “จินตนาการ” กันแน่?
ถ้าเราแบ่งแยก “ความจริง” กับ “ความคิดฝัน” ออกจากกัน เป็นสองขั้วตรงข้ามอย่างง่ายๆ ก็มีแนวโน้มสูง ที่ความรุนแรงดังกล่าวจะถูกพิจารณาหรือผลักให้กลายเป็นเพียงจินตนาการ/ความฝัน
คำถามอีกข้อที่ควรครุ่นคิด ก่อนจะหาคำตอบให้กับคำถามข้อแรก ก็คือ สุดท้ายแล้ว โลกของ “สระว่ายน้ำร้าง” และ “บ่อขยะ” มีสถานะเป็นอะไรกันแน่?
นี่คือโลกแฟนตาซี ที่เด็กหนุ่มสองคนใช้หลบหนีออกจากความจริงของชีวิตอันเจ็บปวดรวดร้าว
หรือนี่คือโลกแห่งจินตนาการและอุดมคติ ที่เปิดโอกาสให้เด็กหนุ่มทั้งคู่ มีโอกาสคิด มีโอกาสฝัน และมีโอกาสจะนำเอาความคิดฝันในจินตนาการ มาผลักดันหรือปฏิบัติให้กลายเป็นความจริง
สถานการณ์ที่เชื่อมโยง “โลกสองแบบ” เข้าหากัน ซึ่งปรากฏขึ้นบ่อยครั้งในหนังเรื่องนี้ ก็คือ ฉากที่ตั้มพยายามเดินทางกลับจาก “สระว่ายน้ำร้าง” และ “บ่อขยะ” (โลกที่น่าจะเป็นความฝัน) มายัง “ห้องนอนบนดาดฟ้าที่บ้าน” (โลกที่น่าจะเป็นความจริง)
มีหลายครั้งที่พอกลับถึงหน้าบ้านแล้ว แทนที่ตั้มจะเดินเข้ามาทางประตู และขึ้นบันไดไปยังชั้นดาดฟ้า เหมือนมนุษย์ปกติ เขากลับชื่นชอบที่จะค่อยๆ ปีนป่ายลัดเลาะตามตัวตึกและระเบียงขึ้นไปยังห้องดาดฟ้า ด้วยความยากลำบากและสุ่มเสี่ยง
นี่อาจตีความได้ว่า การเดินทางออกจาก “โลกแห่งจินตนาการ” มาสู่ “โลกแห่งความจริง” นั้น ก็คือการแปร “ความนึกคิด/ความใฝ่ฝัน” ให้กลายเป็น “ความจริง” ผ่านการลงมือ (ลงเท้า) ปฏิบัติอย่างเข้มข้น จริงจัง และเหน็ดเหนื่อย
หากมองจากแง่มุมเช่นนี้ เหตุรุนแรงอันเป็นบทสรุปของหนัง ก็อาจมิได้มีสถานะเป็นความฝันที่เลื่อนลอย ตรงกันข้าม มันอาจเป็นผลลัพธ์ของการพยายามจะก่อร่างสร้าง “ความจริงใหม่ๆ” ขึ้นมาจาก “อุดมคติความคิดฝัน”
สิ่งสุดท้ายที่อยากตั้งข้อสังเกตเอาไว้ ก็คือ ลีลาการนำเสนอที่หลอกล่อคนดูด้วยความกำกวมระหว่างภาวะมืดกับสว่าง หรือความจริงกับความฝัน (จินตนาการ) นั้น เป็นดังเปลือกที่ห่อหุ้มปกคลุมสารอันรุนแรงของหนังเอาไว้ ไม่ให้ดิบเถื่อนจนเกินไป
อย่างไรก็ดี คล้ายกับว่า ตัวความรุนแรงเอง ก็อาจมีสถานะเป็นเปลือกอีกชั้นหนึ่ง ซึ่งห่อหุ้ม “สารซ่อนเร้น” บางประการ ที่แอบแฝงอยู่ในหนังเรื่องนี้อย่างเบาบางในชั้นลึกสุด
ใน “โลกบ่อขยะ” ตั้มต้องเผชิญหน้ากับตัวร้ายลึกลับสวมเสื้อยืดลายพราง ซึ่งคนดูมองไม่เห็นหน้าตา มีความเป็นไปได้ว่า ชายคนนั้น คือ ผู้คุมบ่อขยะ ซึ่งเบื้องล่างเต็มไปด้วยซากศพมนุษย์
ใน “โลกของบ้านห้องแถว” คนดูจะพบว่า ชายสวมเสื้อลายพรางคนดังกล่าว ก็คือ พ่อของตั้มที่เพิ่งถูกลูกพิชิตลงโดยราบคาบนั่นเอง (แต่เราไม่มีโอกาสได้มองเห็นใบหน้าของเขาเช่นเคย)
ในบทสนทนาหนึ่งของหนัง ตั้มเคยพูดว่า พ่อของตนไม่ใช่ทหาร เขาเพียงแค่ชอบใส่ชุดยูนิฟอร์ม แน่นอนนี่อาจเป็นอีกกลยุทธ์ ที่อนุชานำมาใช้ปกคลุมคุ้มกันแก่นสารสำคัญในภาพยนตร์
แต่ขณะเดียวกัน มันก็ช่วยปลุกเร้ากระตุ้นจินตนาการของคนดูให้ฉุกคิดตั้งคำถามขึ้นว่า ตกลงตัวละครพ่อ ที่ไร้หน้า ไร้บทบาท (แต่ถูกพูดถึงอย่างหวั่นเกรงโดยตัวละครรอบข้างรายอื่นๆ) และชอบใส่เสื้อลายพรางในภาพยนตร์เรื่องนี้ มีตัวตนแท้จริงเป็นอย่างไร?
และหากพิจารณาจากมุมมองของโลกนอกโรงภาพยนตร์ เขาจะสามารถมีสถานะเป็นสัญลักษณ์แทนใครได้บ้าง?