ห้ามพลาด! คลิกชม 20 คลิปซ้อม-แสดงสดสุดประทับใจในรอบปี 2560 ของ “ดึกดำบรรพ์ บอยแบนด์” (ปั่น ไพบูลย์เกียรติ, แต๋ม ชรัส และตุ่น พนเทพ) ที่นี่
(มติชนสุดสัปดาห์ 23-29 ตุลาคม 2558)
เมื่อวันเสาร์ที่ 17 ตุลาคม ที่ผ่านมา มีโอกาสไปนั่งชมคอนเสิร์ต “รักนิรันดร์” ของนักแต่งเพลง-โปรดิวเซอร์รุ่นเก๋า “พนเทพ สุวรรณะบุณย์”
ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของนักร้องดังๆ ยุค 80 อาทิ ชรัส เฟื่องอารมณ์, ปั่น-ไพบูลย์เกียรติ เขียวแก้ว, รวิวรรณ จินดา, มาลีวัลย์ เจมีน่า, ผุสชา โทณะวณิก และ วิยะดา โกมารกุล ณ นคร ฯลฯ
เรื่อยมาจนถึงนักร้องดังปลายยุคทองของวงการซีดี อย่าง พั้นช์-วรกาญจน์ โรจนวัชร
คอนเสิร์ตความยาวร่วม 4 ชั่วโมง ดำเนินไปอย่างอิ่มเอม ทั้งเพราะตัวบทเพลงที่ไพเราะ การเล่าเรื่องราวประกอบเพลงผ่านบุคลิก “ไนซ์ๆ” ของพนเทพ เรื่อยไปจนถึงความสามารถของทีมนักดนตรีสนับสนุน และนักร้องรับเชิญหลากรุ่น
รวมทั้ง 3 ดีว่า อย่าง รวิวรรณ, มาลีวัลย์ และวิยะดา ที่แอบออกมาเซอร์ไพรส์เจ้าของคอนเสิร์ตในตอนท้าย
ท่ามกลางความประทับใจในเสียงเพลง
ผมมีข้อสังเกตบางประการ ที่นึกขึ้นได้หลังชมคอนเสิร์ต ดังนี้
เข้าใจว่าคอนเสิร์ต “รักนิรันดร์” น่าจะเป็นคอนเสิร์ตแรกๆ ที่ถูกจัดขึ้น เพื่อยกย่องคนเบื้องหลังในวงการดนตรียุค 80-90 ที่ทำงานด้าน “ทำนอง-เรียบเรียงดนตรี-โปรดิวซ์” โดยเฉพาะ
ก่อนหน้านี้ อาจมีคอนเสิร์ตรวมบทเพลงของ นิติพงษ์ ห่อนาค, สีฟ้า, ประภาส ชลศรานนท์ หรือ ฉัตรชัย ดุริยประณีต
แต่แก่นหลักของคอนเสิร์ตดังกล่าว ก็ดูเหมือนจะมุ่งยกย่องไปที่ทักษะการเขียนคำร้องของคนทำงานเบื้องหลังเหล่านั้นมากกว่า (แม้ประภาสและฉัตรชัย จะมีผลงานการประพันธ์ทำนองด้วยก็ตาม)
และหลังจากคอนเสิร์ตของพนเทพหนึ่งสัปดาห์ ถึงจะมีคอนเสิร์ตของ จิรพันธ์ อังศวานนท์ ที่ทำงานหลักเป็นคนเขียนทำนอง-เรียบเรียงดนตรี-โปรดิวซ์ เช่นกัน
ลักษณะการทำงานที่เน้นหนักไปในด้านการเขียนทำนอง เรียบเรียงดนตรี และโปรดิวซ์อัลบั้ม ของพนเทพ ส่งผลอย่างลึกซึ้งต่อหลายๆ เรื่องเล่าประกอบบทเพลงของเขาในคอนเสิร์ตครั้งนี้
ไม่ว่าพนเทพจะเล่าถึงที่มาของทำนองเพลง “หลับตา” ซึ่งขับร้องโดย ชรัส อันได้รับแรงบันดาลใจมาจากผลงานของ เชิด ทรงศรี และ สง่า อารัมภีร ทว่า คนแต่งเนื้อและขับร้องอย่างชรัส เพิ่งจะมาทราบเรื่องราวที่เป็นแรงบันดาลใจของพนเทพบนเวทีคอนเสิร์ตนี่เอง
หรือเล่าที่มาของเพลง “เพียงแค่ใจเรารักกัน” ซึ่งขับร้องโดยวิยะดา โดยพนเทพทดลองนำทำนองเพลงที่เขาแต่งขึ้น ไปให้เพื่อนรุ่นน้อง (ธนา ชัยวรภัทร) ที่ไม่ได้เล่นดนตรีหรือเคยแต่งเพลงมาก่อน ฟัง
ทว่า ผลลัพธ์ที่ได้จากปลายปากกาของรุ่นน้อง กลับกลายเป็นเนื้อร้องของเพลงป๊อป ที่ยังคงความอมตะมาจนถึงปัจจุบัน ขณะที่ธนาก็กลายเป็นนักแต่งเพลงฝีมือดีคนหนึ่ง ในยุคอุตสาหกรรมดนตรีรุ่งเรือง
หรือเล่าที่มาของเพลง “ดอกไม้ในที่ลับตา” ซึ่งขับร้องโดยวงนั่งเล่น ที่เกิดขึ้นหลังจากนักแต่งเนื้อร้องมือดีของวงการอย่าง กมลศักดิ์ สุนทานนท์ มาเล่าความในใจให้พนเทพฟังว่า เขาอยากจะขอบคุณชายชาวตะกั่วป่า ที่มีจิตอาสา นำเรือเข้ามาช่วยเหลือเขาและครอบครัวในช่วงน้ำท่วมปี 2554 แต่พอนึกจะเอ่ยคำขอบคุณออกจากปาก ชายคนนั้นก็แล่นเรือไปช่วยผู้เดือดร้อนคนอื่นต่อแล้ว
พนเทพจึงนำเอาเรื่องราวของกมลศักดิ์ไปแปรเป็นทำนองเพลง แล้วอัดมันลงซีดี เพื่อส่งให้กมลศักดิ์นำมาใส่เนื้อร้องอีกทีหนึ่ง
จากสามเรื่องราวข้างต้น จะเห็นได้ว่าเรื่องเล่าของพนเทพในคอนเสิร์ตครั้งนี้ มักอ้างอิงอยู่กับวิธีการทำงานแบบ “แบ่งงานกันทำ” ในอุตสาหกรรมดนตรียุคปลาย 80 – ต้น 2000
คือ เล่าถึงที่มาของกระบวนการแต่งทำนอง ก่อนจะนำทำนองดังกล่าว ไปให้นักเขียนเนื้อร้อง (ซึ่งเป็นคนละคนกับผู้แต่งทำนอง) ใส่เนื้อหาลงไปในเพลง
นี่เป็นรูปแบบการทำงานที่แนบสนิทกับวิถีชีวิตของคนทำดนตรียุคพนเทพ
นี่เป็นสิ่งที่คนฟังเพลง (และ/หรือคนชอบอ่านเครดิตบนปกเทปและซีดี ที่แบ่งแยกอย่างชัดเจนถึงหน้าที่ของคนเขียนเนื้อร้องและคนแต่งทำนอง) ยุคก่อนทศวรรษ 2000 น่าจะเข้าใจกันเป็นอย่างดี
ยกตัวอย่างเช่น ศิลปินรับเชิญบนเวที คือ ลูกหว้า-พิจิกา จิตตะปุตตะ และ ธีร์ ไชยเดช ที่ล้วนกล่าวถึง “ตัวตน” (ความเป็นนักแต่งทำนอง-นักเรียบเรียงเสียงประสาน-โปรดิวเซอร์) ของพนเทพ ที่ปรากฏเด่นชัดอยู่ในปกเทปและปกซีดีสมัยก่อน
อย่างไรก็ดี ใช่ว่าพนเทพจะผูกติดตนเองไว้กับความรุ่งโรจน์ในครั้งอดีต แม้เรื่องราวของคนทำเพลงสมัยเมื่อ 20-30 ปีก่อน และศิลปินที่โด่งดังในยุคนั้น จะมีบทบาทสูงบนเวทีคอนเสิร์ตครั้งนี้
แต่ขณะเดียวกัน พนเทพก็เชื้อเชิญศิลปินรุ่นหลังจำนวนมาก มาร่วมขับร้องและตีความเพลงของเขาในรูปแบบใหม่ๆ
และนอกจากจะเล่ากระบวนการทำงานในยุค 80-90 ของตัวเอง พนเทพยังกล่าวถึงศิลปินรับเชิญรุ่นลูกหลานด้วยท่าทียอมรับนับถือ (ไม่ต่างจากที่คนรุ่นนั้นยอมรับนับถือยอดฝีมือรุ่นเก๋าอย่างเขา) รวมทั้ง ไม่มีท่าทีต่อต้านเทคโนโลยีหรือรูปแบบการเสพดนตรีในยุคปัจจุบัน
พนเทพพูดถึงวง 25 Hours ที่มิวสิกวิดีโอเพลงใหม่ของพวกเขา มียอดวิวหลายสิบล้านคลิกในยูทูบ ด้วยอารมณ์ตื่นเต้น นักแต่งเพลงอาวุโสเอ่ยทักทายไถ่ถามซิน ซิงกูลาร์ ว่าอัลบั้มชุดใหม่จะปล่อยลง iTunes ใช่ไหม?
พนเทพ ยังมีแขกรับเชิญเป็นศิลปินอินดี้จากเชียงใหม่ ที่โด่งดังจากการปล่อยเพลงลงในยูทูบ อย่าง บอย อิมเมจิ้น และเขารู้สึกตื่นเต้น เมื่อมีนักดนตรีมือสมัครเล่นมากหน้าหลายตานำเพลงเก่าของตนเองไปคัฟเวอร์ลงในโลกออนไลน์
เมื่อพิจารณาในภาพรวม คอนเสิร์ต “รักนิรันดร์” ของพนเทพ ก็เป็นเหมือนชีวประวัติขนาดย่อของวงการเพลงไทยสากลในช่วงสามทศวรรษที่ผ่านมา
จากยุคครีเอเทียร์ มาสู่การตั้งต้นของแกรมมี่ จากความแข็งแกร่งของแกรมมี่ มาสู่การแตกตัวเป็นค่ายเล็กค่ายน้อยในยุคอินดี้เฟื่องฟู (ซึ่งพนเทพกับเพื่อนรุ่นน้องในสังกัดใหญ่ ก็ออกไปตั้งค่าย “โอ มาย ก็อด!” ที่มีผลงานดังๆ จำนวนหนึ่ง)
หลังพิษเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง ค่ายเล็กค่ายน้อยล้มหายตายจาก ส่วนคนมีฝีมือก็ถูกบริษัทใหญ่ดึงตัวกลับไปทำงานอีกครั้ง
แล้วก็มาถึงยุคที่ธุรกิจเพลงมิได้มีสถานะเป็นธุรกิจหลักของอุตสาหกรรมบันเทิงอีกต่อไป พร้อมๆ กับที่คนรุ่นพนเทพถึงวัยปลดเกษียณ
สิ่งที่นักแต่งเพลงอาวุโสจะทำได้ ก็คือ การเฝ้ามองความสำเร็จในรูปแบบและแนวทางใหม่ๆ ของศิลปินรุ่นหลัง
การรวบรวมพรรคพวกรุ่นราวคราวเดียวกันที่เคยทำงานในค่ายใหญ่ด้วยกัน มาทำวง “นั่งเล่น” ซึ่งนำเสนอบทเพลงสบายๆ มีเนื้อหาพ้นเลยออกไปจากเรื่องความรักวัยรุ่น (และแน่นอนว่า ไม่ใช่ “งานขาย”)
การนัดเพื่อนเก่าเพื่อนแก่อย่างชรัสและปั่น มาแจมดนตรีกันแบบชิลๆ
และการขึ้นโชว์บนเวทีคอนเสิร์ตขนาดกลางๆ มีแฟนเพลงมานั่งชมราวสองพันคน ด้วยบรรยากาศที่ค่อนข้างอบอุ่น (แม้แอร์ในสถานที่จัดงานจะหนาวไปหน่อยก็ตาม)