(มติชนสุดสัปดาห์ 29 มิถุนายน – 2 กรกฎาคม 2558)
เมื่อถามคำถามว่าใครเป็นผู้ประดิษฐ์ถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องแรกในโลก?
คำตอบมักจะเป็นพี่น้องลูมิแยร์ หรือไม่ก็ โธมัส เอดิสัน
อย่างไรก็ตาม ล่าสุด มีภาพยนตร์สารคดีเรื่องหนึ่ง ซึ่งถูกสร้างขึ้นมาเพื่อโต้แย้งความเชื่อดังกล่าว
หนังสารคดีเรื่องนี้เสนอว่า ภาพยนตร์เรื่องแรกของโลกถูกถ่ายขึ้นที่เมืองลีดส์ สหราชอาณาจักร เมื่อปี ค.ศ.1888
แต่เรื่องราวพลิกผันก็บังเกิด เมื่อผู้ประดิษฐ์กล้องและถ่ายหนังเรื่องดังกล่าว กลับหายตัวไปอย่างลึกลับ ก่อนที่เขาจะมีโอกาสได้ประกาศยืนยันถึงที่ทางของตนเอง ในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์โลก
เดวิด วิลกินสัน ผู้อำนวยการผลิตและผู้จัดจำหน่ายภาพยนตร์ชาวอังกฤษ มีโอกาสได้เดินทางไปยังฮอลลีวู้ด นิวยอร์ก หรือคานส์ บ่อยครั้ง ระหว่างการติดต่อธุรกิจกับผู้คนในแวดวงอุตสาหกรรมภาพเคลื่อนไหวทั่วโลก
วิลกินสัน มักบอกใครต่อใครว่า ตนเองเดินทางมาจาก “เมืองที่ภาพยนตร์ถูกประดิษฐ์ขึ้นเป็นครั้งแรก”
เมื่อพูดเรื่องนี้ออกไป ผู้ที่เจรจาธุรกิจกับวิลกินสันต่างรู้สึกงุนงง เพราะภาษาอังกฤษของเขามิได้มีสำเนียงแบบอเมริกัน อันเป็นบ้านเกิดของ โธมัส เอดิสัน
และแน่นอนว่าเขามิได้เป็นชาวฝรั่งเศส เช่นเดียวกับพี่น้องลูมิแยร์
ก่อนที่วิลกินสันจะเฉลยความจริงออกไปว่า เขาเป็นคนเมืองลีดส์ ประเทศอังกฤษ
แล้วเมืองลีดส์ ที่เคยมีสโมสรฟุตบอลชื่อดัง เกี่ยวข้องกับวงการภาพยนตร์โลกอย่างไร?
เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม ค.ศ.1888 มีสมาชิกของครอบครัว ครอบครัวหนึ่ง มารวมตัวกันที่สวนในย่านชานเมืองลีดส์
ณ ที่แห่งนั้น ชายชาวฝรั่งเศส “หลุยส์ เลอ แปรงซ์” กำลังยืนอยู่หลังกล่องสี่เหลี่ยมที่ทำจากไม้มะฮอกกานี เลอ แปรงซ์ สั่งการให้คนอื่นๆ ในครอบครัว ประกอบด้วย ลูกชายของเขา พ่อแม่ของภรรยา และเพื่อนอีกคนหนึ่ง ยืนรวมตัวกันที่เบื้องหน้ากล่องไม้ดังกล่าว ก่อนจะให้ทั้งหมดเดินเรียงกันเป็นวงกลม
กล่องไม้มะฮอกกานีที่ว่า ก็คือ กล้องถ่ายภาพยนตร์ที่ เลอ แปรงซ์ ประดิษฐ์คิดค้นขึ้น ภาพยนตร์เงียบและสั้นมากๆ ที่กล้องดังกล่าวบันทึกเอาไว้ ยังคงถูกเก็บรักษาไว้โดยพิพิธภัณฑ์สื่อแห่งชาติ ที่เมืองแบรดฟอร์ด ประเทศอังกฤษ และยังสามารถรับชมได้จนถึงปัจจุบัน
ยิ่งกว่านั้น ภาพยนตร์เรื่องนี้ยังถือกำเนิดขึ้นก่อนหน้าภาพยนตร์ของเอดิสันและพี่น้องลูมิแยร์อีกด้วย
หลังจากพบว่า หลายๆ คนในอุตสาหกรรมหนัง ต่างไม่เชื่อว่าลีดส์เป็นแหล่งกำเนิดภาพยนตร์โลก
วิลกินสันจึงตัดสินใจสร้างหนังสารคดีชื่อว่า “The First Film” ซึ่งบอกเล่าเรื่องราวของ หลุยส์ เลอ แปรงซ์ ในฐานะบิดาแห่งการผลิตถ่ายทำภาพเคลื่อนไหว
โทนี่ บูธ ภัณฑารักษ์จากพิพิธภัณฑ์สื่อแห่งชาติของอังกฤษ ซึ่งเป็นสถานที่เก็บรักษากล้องถ่ายหนังและฟุตเทจภาพยนตร์ของ เลอ แปรงซ์ กล่าวถึงประเด็นที่หนังสารคดีของวิลกินสันนำเสนอว่า “แน่นอนว่านี่เป็นข้อโต้แย้งที่สมควรรับฟังอย่างยิ่ง”
บูธอธิบายต่อว่า ถ้าเข้าไปตรวจสอบเครื่องยนต์กลไกภายในกล้องของ เลอ แปรงซ์ เราจะพบว่ามันเป็นกลไกที่คล้ายคลึงกันกับกล้องถ่ายภาพยนตร์ซึ่งถือกำเนิดขึ้นหลังจากนั้น
ภัณฑารักษ์ผู้นี้ย้ำว่า ถ้ากล้องภาพยนตร์ หมายถึง เครื่องมือที่ใช้บันทึกภาพเคลื่อนไหวอันเป็นเหตุการณ์ซึ่งเกิดขึ้นสดๆ เบื้องหน้าคนถ่ายทำ เลอ แปรงซ์ ก็ถือเป็นมนุษย์คนแรก ผู้ประดิษฐ์เครื่องมือลักษณะนี้ขึ้นมา
แม้ภาพยนตร์เรื่องแรกของเขาจะถ่ายทำที่เมืองลีดส์ ประเทศอังกฤษ แต่แท้จริงแล้ว หลุยส์ เลอ แปรงซ์ เกิดที่เมืองเม็ตซ์ ทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศฝรั่งเศส
เขาจบการศึกษาด้านเคมีและฟิสิกส์จากมหาวิทยาลัย ก่อนจะทำงานเป็นช่างภาพและจิตรกร
หลังจากนั้น เขาจึงได้งานที่บริษัทวิศวกรรมของจอห์น วิตลีย์ ที่เมืองลีดส์
พออพยพมาทำงานและอาศัยที่อังกฤษได้สามปี เลอ แปรงซ์ ก็แต่งงานกับ เอลิซาเบธ วิตลีย์ ลูกสาวของจอห์น ผู้เป็นเจ้านายของเขา พร้อมๆ กันนั้น ชายชาวฝรั่งเศสรายนี้ก็เริ่มต้นทดลองอะไรบางอย่าง เกี่ยวกับการสร้างเทคโนโลยีผลิตภาพเคลื่อนไหว
ในช่วงทศวรรษ 1880 เลอ แปรงซ์ เป็นหนึ่งในบรรดานักประดิษฐ์ ที่พยายามคิดค้นเทคโนโลยีผลิตภาพเคลื่อนไหว ซึ่งต่อมา ถูกพัฒนากลายเป็นภาพยนตร์
ไม่ใช่แค่ประดิษฐ์กล้องที่ใช้บันทึกภาพเคลื่อนไหว เลอ แปรงซ์ ยังคิดค้นวิธีการฉายภาพเคลื่อนไหวดังกล่าวขึ้นบนจอภาพยนตร์ เขามีกำหนดการเปิดตัวภาพยนตร์ของตนเองต่อหน้าสาธารณชนเป็นครั้งแรกที่นิวยอร์ก ในปี ค.ศ.1890
แต่ เลอ แปรงซ์ กลับไม่มีโอกาสได้เดินทางไปสหรัฐ เพราะก่อนหน้านั้น เขาได้ไปเยี่ยมน้องชายที่ฝรั่งเศส พร้อมกับเพื่อนสองคนจากตระกูลวิลสัน มีผู้ระบุว่า เลอ แปรงซ์ ออกเดินทางด้วยรถไฟจากเมืองดิฌงมายังกรุงปารีส เมื่อเดือนกันยายน ค.ศ.1890 ก่อนจะหายตัวไปอย่างลึกลับ
และไม่มีใครได้พบเห็นเขาอีกเลย
มีหลายทฤษฎีที่วิเคราะห์การสูญหายตัวไปอย่างไร้ร่องรอยของ หลุยส์ เลอ แปรงซ์
เอลิซาเบธ ภรรยาม่ายของเขา ปักใจเชื่อว่า โธมัส เอดิสัน อาจมีส่วนรู้เห็นกับการฆาตกรรมสามีของเธอ เพื่อกำจัดคู่แข่งนักประดิษฐ์รายสำคัญออกไปให้พ้นเส้นทางแห่งการพัฒนานวัตกรรม
อย่างไรก็ดี อีกหลายคนเชื่อว่า เลอ แปรงซ์ อาจฆ่าตัวตาย อันเนื่องมาจากปัญหาส่วนตัว ซึ่งขณะนั้น เขาอยู่ในภาวะจวนจะล้มละลาย, บางคนคาดเดาว่าเขาเลือกจงใจหายตัว เพื่อไปแอบตั้งต้นชีวิตใหม่, ส่วนบางกระแสก็วิเคราะห์ว่าอัลเบิร์ต น้องชายของ หลุยส์ เลอ แปรงซ์ อาจเป็นผู้สังหารพี่ชาย ตามเจตนารมณ์ของผู้เป็นมารดา
ยังมีบางทฤษฎีสมคบคิดที่ระบุว่า ครอบครัวของ เลอ แปรงซ์ ตัดสินใจบีบเขาให้หนีหายจากไป หลังจากค้นพบว่า นักประดิษฐ์ผู้นี้เป็นเกย์
แต่ ลอรี่ สไนเดอร์ ซึ่งมีศักดิ์เป็นโหลนของ หลุยส์ เลอ แปรงซ์ นำเสนอทฤษฎีส่วนตัวของเธอ ที่ไม่ได้มีความสลับซับซ้อนซ่อนเงื่อนใดๆ ว่า จากบันทึกความทรงจำของเอลิซาเบธ รถไฟที่หลุยส์โดยสาร เดินทางมาถึงปารีสในเวลาห้าทุ่ม จากนั้น สไนเดอร์ เดาว่า เลอ แปรงซ์ คงจะนั่งรถรับจ้างออกจากสถานีรถไฟ
โหลนของ เลอ แปรงซ์ คาดว่า คนขับรถคงอาศัยความมืดยามรัตติกาล นำพาเทียดของเธอไปยังพื้นที่ห่างไกล ก่อนจะลงมือทำร้ายและทิ้งร่างไร้ชีวิตของเขาลงสู่แม่น้ำแซน สอดคล้องกับการที่มีบทความสองชิ้นของสื่อในยุคนั้นรายงานตรงกันว่า ได้เกิดเหตุอาชญากรมุ่งประสงค์ร้ายต่อนักท่องเที่ยวผู้เดินทางคนเดียวมาแล้วหลายต่อหลายราย
และ เลอ แปรงซ์ ก็คงเป็นหนึ่งในนักท่องเที่ยวผู้โชคร้าย เพราะอยู่ผิดที่ผิดเวลา
สไนเดอร์ไม่เชื่อว่า เลอ แปรงซ์ จะตัดสินใจฆ่าตัวตายหรือทำตัวหายสาบสูญเพื่อไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ เพราะจากหลักฐานจดหมายที่หลงเหลืออยู่ แสดงให้เห็นว่า เขาเป็นคนรักครอบครัวมาก
ส่วนความคิดที่บอกว่าหลุยส์ถูกฆ่าโดยน้องชายก็ไม่น่าจะเป็นไปได้ เพราะจากบันทึกของเอลิซาเบธ บ้านของสามีเธอที่ฝรั่งเศส มีสายสัมพันธ์ความรักระหว่างสมาชิกในครอบครัวซึ่งค่อนข้างใกล้ชิดแน่นแฟ้น
อย่างไรก็ตาม ลอรี่ไม่คล้อยตามเอลิซาเบธ ที่เห็นว่า เลอ แปรงซ์ อาจถูกกำจัดโดย โธมัส เอดิสัน เธอชี้ว่า แม้เอดิสันจะได้ชื่อว่าเป็นคนโหดเหี้ยมทารุณ แต่นักประดิษฐ์ชั้นยอดอย่างเขา ก็น่าจะมีวิธีจัดการกับคู่แข่งได้ดีกว่าการฆ่าคน
สุดท้าย โหลนของ เลอ แปรงซ์ ไม่เชื่อว่าครอบครัวฝั่งภรรยาจะบีบบังคับให้ชายผู้นี้ปลีกตนออกไปจากการรับรู้ของสาธารณชน ด้วยเหตุผลเพราะเขาเป็นเกย์ เนื่องจากมีหลักฐานระบุว่าครอบครัวดังกล่าวได้สละเวลาและกำลังทรัพย์จำนวนมหาศาล เพื่อค้นหาตัว เลอ แปรงซ์ ให้พบ
อาจกล่าวได้ว่า การหายตัวของ หลุยส์ เลอ แปรงซ์ ส่งผลให้จุดเริ่มต้นของประวัติศาสตร์ภาพยนตร์โลกผันแปรไป
“ถ้าเขาไม่หายสาบสูญไปเสียก่อน ภาพยนตร์ของเขาจะได้ออกฉายต่อหน้าสาธารณชนที่นิวยอร์ก” ผู้สร้างภาพยนตร์รุ่นหลังอย่างวิลกินสัน ตั้งข้อสังเกต และพูดถึงความเป็นไปได้ ที่มิอาจเกิดขึ้นจริงว่า
“ผมเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่า เขาจะได้รับเงินจากผู้ชมคนดูจำนวนมาก จนสามารถเริ่มต้นผลิตเทคโนโลยีการถ่ายทำและฉายภาพยนตร์ออกเผยแพร่ในวงกว้างได้ เขาจะทำในสิ่งที่เอดิสันและพี่น้องลูมิแยร์ได้ทำหลังจากนั้น แล้วเขาก็จะกลายเป็นที่รู้จัก”
“เขาประสบความสำเร็จในเชิงเทคนิค แต่ไม่อาจสานต่อความสำเร็จดังกล่าวในเชิงพาณิชย์ และในเชิงการเข้าถึงผู้ชมวงกว้าง” โทนี่ บูธ พิเคราะห์และเสนอว่า “ถ้าเหตุการณ์บางอย่างในประวัติศาสตร์เปลี่ยนแปลงได้ เขาอาจมีชื่อเสียงดำรงอยู่เคียงคู่กับเอดิสันและพี่น้องลูมิแยร์ กระทั่งอาจมีเกียรติยศเหนือคนเหล่านั้นด้วยซ้ำ…”
ทว่า สิ่งที่เกิดขึ้นจริงกลับกลายเป็นการมีชื่อเสียงและการถูกจดจำของพี่น้องลูมิแยร์ และ โธมัส เอดิสัน ในฐานะผู้ริเริ่มฉายภาพยนตร์ผ่านพื้นที่สาธารณะ แล้วเก็บค่าเข้าชมจากเหล่าคนดู
ส่วนชื่อของ เลอ แปรงซ์ ได้ค่อยๆ เลือนหายไปจากประวัติศาสตร์ภาพยนตร์โลก
แปลและเรียบเรียงจากรายงานข่าว “Louis Le Prince, who shot the world”s first film in Leeds” โดย เอียน ยังส์ ในเว็บไซต์บีบีซี