The Tale of the Princess Kaguya : ธรรมชาติ, วัฒนธรรม และยอพระกลิ่น

คางุยะและยอพระกลิ่น

(แก้ไขคำผิดและเพิ่มเติมข้อความ จากต้นฉบับที่ตีพิมพ์ในมติชนสุดสัปดาห์ 23-29 มกราคม 2558)

“The Tale of the Princess Kaguya” ภาพยนตร์แอนิเมชัน ผลงานการสร้างสรรค์ของสตูดิโอจิบลิ เพิ่งถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลภาพยนตร์แอนิเมชันขนาดยาวยอดเยี่ยม จากการประกาศรายชื่อผู้เข้าชิงรางวัล Oscar ประจำปีนี้

และหนังเรื่องนี้ก็กำลังลงโรงฉายอยู่ในประเทศไทยพอดี

The Tale of the Princess Kaguya สร้างขึ้นจากตำนานพื้นบ้านโบราณของญี่ปุ่น เรื่องราวเริ่มต้นที่ชายตัดฟืนคนหนึ่งไปพบต้นไผ่เรืองแสง และเด็กหญิงตัวน้อยๆ ขนาดเท่าตุ๊กตา ที่อาศัยอยู่ในหน่อไม้

ชายคนนั้นนำเด็กหญิงตัวน้อยๆ ซึ่งเขาเชื่อว่าเป็น “เจ้าหญิง” ที่สวรรค์เบื้องบนประทานลงมาให้ กลับไปเลี้ยงดูที่บ้าน ก่อนที่เขาและภรรยาจะพบว่า เด็กหญิงได้เจริญเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วจนน่าเหลือเชื่อ

เด็กหญิงที่ถูกเพื่อนๆ ขนานนามว่า “ยายหน่อไม้” ใช้ชีวิตอยู่ในกระท่อมไม้ชายป่า และเที่ยวเล่นตามป่าเขาลำเนาไพร ร่วมกับมิตรสหายวัยไล่เลี่ยกัน และเพื่อนชายอายุมากกว่า ซึ่งต่อมาเธอรู้สึกดีด้วย

อาจกล่าวได้ว่า เธอ “กำเนิด” และเติบโตขึ้นมาในสภาวะแวดล้อมที่เป็น “ธรรมชาติ” อย่างยิ่ง

อยู่มาวันหนึ่ง ชายตัดฟืนออกไปหากินในป่าเช่นเคย แล้วเขาก็พบว่าต้นไผ่อันเป็น “แหล่งกำเนิด” ของเด็กหญิงที่ตนเองรักเหมือนลูกสาวนั้น เรืองแสงขึ้นอีกครั้ง

ชายตัดฟืนตัดสินใจใช้มีดฟันต้นไผ่ ทำให้เขาได้พบกับทองคำจำนวนมหาศาล ก่อนที่ในอีกหลายครั้งคราวให้หลัง เขาจะได้รับทองคำและผ้าชั้นดีจากต้นไผ่ภายในป่าตามมาอีก

ชายตัดฟืนตีความว่า สวรรค์ต้องการให้เขาและภรรยาเลี้ยงดูเด็กสาวให้เจริญเติบโตขึ้นมาในสภาวะแวดล้อมที่ดีกว่านี้ ดังนั้น เขาควรเลี้ยงดูเธอให้เป็น “เจ้าหญิง” มากกว่าเด็กหญิงบ้านป่าธรรมดาๆ

เขาจึงนำเอาทรัพย์สินมีค่าที่ได้จากต้นไผ่ไปใช้ก่อร่างสร้างคฤหาสถ์ประหนึ่งปราสาทราชวังในเมืองหลวง เพื่อจะพา “เจ้าหญิงน้อยๆ” ไปอยู่อาศัยและอบรมบ่มวิสัยอันถูกต้องเหมาะสม ณ สถานที่แห่งนั้น

นับว่า “ยายหน่อไม้” เริ่มถูกชักนำให้ถอยห่างออกมาจาก “ธรรมชาติ” แล้วมุ่งหน้าไปสู่ “วัฒนธรรม” ขนบธรรมเนียมประเพณีจำนวนมาก ที่ถูกสร้างขึ้นมาและให้นิยามความหมายอย่างสลับซับซ้อนโดยมนุษย์

ในเมืองหลวง ชายตัดฟืนและภรรยาต้องพยายามทำตนเป็นเศรษฐีใหม่ พวกเขาจัดหาสตรีชั้นสูงมาเคี่ยวกรำและฝึกอบรม “ลูกสาว” ให้กลายเป็นกุลสตรีระดับ “เจ้าหญิง” จริงๆ

พวกเขาทาบทามขุนนางอาวุโสมาเป็นบิดาอุปถัมภ์ รวมทั้งเป็นผู้ตั้งชื่อ “คางุยะ” ให้แก่ “เจ้าหญิง” ผู้เริ่มเจริญวัยเป็นหญิงสาว

เหตุการณ์ตอนนี้ในภาพยนตร์ดำเนินไปอย่างสนุกสนานพอสมควร และชวนให้นึกถึงหนังหลายๆ เรื่องของ “วูดดี อัลเลน” ที่พูดถึงตัวละครประเภทกิ้งก่าได้ทอง หรือหนูตกถังข้าวสาร ด้วยอารมณ์ตลกร้าย

เมื่อเติบโตขึ้นเป็นสาวสะพรั่ง กิตติศัพท์ความงามของ “เจ้าหญิงคางุยะ” ก็ขจรขจายไปทั่วทั้งเมืองหลวง กระทั่งมีเจ้าชาย, เสนาบดี และองคมนตรี ทั้งหนุ่มและแก่จำนวน 5 คน เดินทางมาสู่ขอ

การถูกปฏิเสธและความล้มเหลวในการได้ครอบครองหัวใจเจ้าหญิง ของบุรุษชนชั้นสูงเหล่านี้ ถูกนำเสนอออกมาได้อย่างเปี่ยมอารมณ์ขัน รวมทั้งสื่อให้เห็นถึงความเบาหวิว ไร้แก่นสาร และความพังพินาศของชนชั้นนำได้อย่างคมคาย

แม้แต่องค์จักรพรรดิเองก็ยังตัดสินใจเสด็จมาสู่ขอหญิงสาวสามัญชนผู้ถูกเรียกขานว่า “เจ้าหญิง” รายนี้ ทว่าสุดท้าย พระองค์กลับถูกเธอปฏิเสธเช่นเดียวกัน

เพราะในเบื้องลึกของหัวใจแล้ว “เจ้าหญิงคางุยะ” อยากกลับไปใช้ชีวิตกับ “ธรรมชาติ” เพื่อนๆ ที่บ้านป่า และรุ่นพี่ที่เธอหลงรัก เหมือนเมื่อครั้งเจ้าหญิงเพิ่งเริ่มจำความได้

เธอเบื่อหน่ายกับการถูกปรุงแต่งผ่านขนบธรรมเนียมพิธีการต่างๆ และการถูกจัดการร่างกายด้วยวิธีการนานาชนิด

เธอรังเกียจแม้กระทั่งสวนหย่อมท้ายคฤหาสถ์ ซึ่งพยายามจำลอง (ปลอมแปลง) สภาพบ้านป่า ที่เธอเติบโตขึ้นมา

“เจ้าหญิงคางุยะ” เบื่อหน่ายกับ “วัฒนธรรม” หรือ “ของปลอม” ทั้งหลายที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อรายล้อมกักขังเธอเอาไว้

เจ้าหญิงจึงอธิษฐานกับพระจันทร์ เพื่อขอให้เธอได้เดินทางกลับไปยังสถานที่ที่เธอจากมา

ปัญหาคือ เมื่อพระจันทร์ตอบสนองความปรารถนาดังกล่าว ที่ที่เจ้าหญิงจะต้องเดินทางกลับไปนั้นไม่ใช่บ้านป่า หากคือ “ดวงจันทร์” หรือจันทรนคร อันเป็นแหล่งกำเนิดแท้จริงของเธอ ก่อนจะมาปรากฏกายในหน่อไม้บนโลกมนุษย์

น่าตั้งคำถามเช่นกันว่า จริงๆ แล้ว จันทรนครในตำนานหรือภาพยนตร์เรื่องนี้ บ่งชี้ถึงสภาวะอันเป็น “ธรรมชาติ” ถึงขีดสุด หรือสภาวะอันเป็น “วัฒนธรรม” ในระดับสุดยอดกันแน่?

เนื่องจากในตอนท้ายของภาพยนตร์ ดูเหมือนว่าคณะบุคคลจากจันทรนครที่โดยสารก้อนเมฆมารับเจ้าหญิงกลับดวงจันทร์ จะพยายามแสดงให้เห็นถึงการมีอารยธรรมหรือวัฒนธรรมอีกชุดหนึ่งที่เหนือกว่าอารยธรรม/วัฒนธรรมของผู้คนบนโลกมนุษย์

สัญลักษณ์หนึ่งซึ่งเห็นได้ชัด ก็คือ การที่ “พระพุทธองค์” เสด็จลงมารับเจ้าหญิงกลับขึ้นดวงจันทร์ ด้วยพระองค์เอง

ทว่า เมื่อจันทรนครมีความแนบชิดกับธรรมะมากกว่าโลกมนุษย์ นครแห่งนี้ก็อาจมีความเชื่อมโยงกับ “ธรรมชาติ” สูงกว่าโลกด้วยเช่นกัน (ยังไม่รวมถึงสถานะของดวงจันทร์เอง ที่น่าจะมีความเชื่อมโยงกับ “ธรรมชาติ” มากกว่า “วัฒนธรรม”)

อย่างไรก็ตาม น่าสนใจว่า ก่อนจะต้องหวนคืนสู่จันทรนคร เจ้าหญิงคางุยะกลับคล้ายที่จะพยายามปลีกตัวเองออกมาจากความสัมพันธ์/ความขัดแย้งแบบคู่ตรงข้ามซึ่งแบ่งข้างแยกขั้วอย่างชัดเจน อาทิ ธรรมชาติ vs วัฒนธรรม หรือ จันทรนคร vs โลกมนุษย์

เธอพยายามจะโต้แย้งว่า ใช่ว่าจันทรนครอันเรียบง่ายสงบสุข จะมีคุณค่าสูงส่งกว่าโลกมนุษย์อันแปลกปลอมวุ่นวาย และเต็มไปด้วยการผสมผสานระหว่างความเลวร้ายและความดีงาม

ชีวิตอันหลากหลายและมีเสน่ห์นี่เอง ที่ทำให้เจ้าหญิงคางุยะยังคงโหยหาและอาลัยโลกมนุษย์อยู่ แต่เมื่อนางฟ้าจากจันทรนครคลุมผ้าวิเศษลงบนไหล่ของเธอ

ความทรงจำที่มีต่อโลกของเจ้าหญิงก็ถึงคราสูญสิ้นไป พร้อมกับการมุ่งหน้าเดินทางกลับสู่ดวงจันทร์

มีผู้ตั้งข้อสังเกตไว้ว่าเรื่องราวของเจ้าหญิงคางุยะมีความคล้ายคลึงกับนิทานพื้นบ้านไทยเรื่อง “ยอพระกลิ่น” (ซึ่งถูกนำมาทำเป็นละครจักรๆ วงศ์ๆ รอบที่เท่าไหร่แล้วก็ไม่รู้ และกำลังแพร่ภาพอยู่ทางช่อง 7 ในขณะนี้พอดี)

เจ้าหญิงคางุยะและยอพระกลิ่น เป็นเด็กหญิงผู้มีเชื้อสายของอภิมนุษย์บนดวงจันทร์/เทวดาบนสรวงสวรรค์ ซึ่งต้องใช้ชีวิตอยู่ในกระบอกไม้ไผ่เมื่อครั้งยังเยาว์วัย ก่อนจะออกมาผจญความวุ่นวายของโลกมนุษย์คล้ายๆ กัน

ทั้งคู่ยังมีอาการ “วิกฤตอัตลักษณ์” เหมือนๆ กัน คือ ทนความ “จอมปลอม” ของเวียงวังไม่ไหว และต้องการกลับไปใช้ชีวิตตามธรรมชาติในป่าเขา (แต่ยอพระกลิ่นไปไกลกว่าขั้นหนึ่ง เมื่อเธอต้อง “ปลอมตัว” เป็นพราหมณ์/ผู้ชาย ในระหว่างที่รู้สึกสับสนกับ “ตัวตน” ของตนเอง)

แต่จุดแตกต่างสำคัญ เห็นจะอยู่ตรงบทสรุปของเรื่องราวทั้งสอง เพราะยอพระกลิ่นเลือก (หรือถูกกำหนดให้) ใช้ชีวิตอยู่บนโลกมนุษย์อันหลากหลายดีเลวต่อไป (มีทั้งป่า ทั้งวัง ทั้งยักษ์ ทั้งพระเจ้ากรุงจีน ฯลฯ) เธอไม่ขึ้นสวรรค์ หรือไม่มีดวงจันทร์ให้กลับเหมือนกับเจ้าหญิงคางุยะ

จุดต่างขำๆ ก็ได้แก่ ขณะที่ยอพระกลิ่นโดนข้อหา “กินแมว” เจ้าหญิงคางุยะกลับไม่เคยโดนข้อหาทำนองนี้ แถมเจ้าหญิงในภาพยนตร์ยังรักสัตว์ และสรรพสัตว์ก็รักเธอตอบอีกต่างหาก

และอีกหนึ่งจุดต่างที่ละเลยไปไม่ได้ก็คือ ฉากจบของเรื่องเล่าเกี่ยวกับเจ้าหญิงคางุยะนั้น เต็มไปด้วยความเศร้าและความพลัดพราก ซึ่งห้วงอารมณ์ดังกล่าวไม่น่าจะมีอยู่ในตอนจบของยอพระกลิ่น

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.