หลายคนอาจจะรู้จัก “เทิดศักดิ์ จันทร์ปาน” จากผลงานการทำดนตรีประกอบซีรีส์โทรทัศน์เรื่อง “เลือดข้นคนจาง” ที่เพิ่งอำลาจอไป
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ เทิดศักดิ์เคยมีผลงานทำดนตรีประกอบภาพยนตร์ให้แก่หนังไทยและหนังเทศมามากมาย
แต่บล็อกคนมองหนังจะไม่ขอกล่าวถึงงานส่วนดังกล่าวของเขา
สิ่งที่เราอยากทำคือการพาผู้อ่านนั่งไทม์แมชชีนไปทำความรู้จักกับอัลบั้มเพลงไทยสากลที่ไพเราะมากๆ ชุดหนึ่ง ซึ่งเทิดศักดิ์รับหน้าที่เป็นหนึ่งในโปรดิวเซอร์
ย้อนกลับไปเมื่อปี 2544 “อินดี้คาเฟ่” ค่ายเพลงเล็กๆ ที่ผลิตผลงานดีๆ หลายชุดในยุคนั้น (เช่น “ซีเปีย” ชุด “ไม่ต้องใส่ถุง” และ “Liberty” ชุด “Flying Free”) ได้ออกผลงานของศิลปินกลุ่มหนึ่งสู่ท้องตลาด
นั่นคือผลงานของกลุ่มคนดนตรีที่เรียกตัวเองว่า “Double Head” กับอัลบั้มชื่อ “My Grain”
บางคนที่ติดตามข่าวคราวในแวดวงเพลงอินดี้สมัยโน้น อาจพอทราบเรื่องราวเบื้องหลังของผลงานชุดนี้อยู่บ้าง
เดิมที ผลงานในนาม “Double Head” นั้นควรจะเป็นอัลบั้มเดี่ยวชุดที่สองของศิลปินหญิงที่ชื่อ “เปียโน สุพัณณดา พลับทอง”
ย้อนกลับไปในปี 2542 “เปียโน สุพัณณดา” ขณะยังเป็นนักเรียนโรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัย ได้มีโอกาสออกอัลบั้มเดี่ยวชุดแรกของตนเองชื่อ “Error” กับค่าย “ดรีม เรคคอร์ด”
ค่ายเพลงดังกล่าวก่อตั้งโดย “ธงชัย รักษ์รงค์” (ปัจจุบัน มีสถานะเป็นอดีตสมาชิกของ “มาลีฮวนน่า”)
ขณะที่โปรดิวเซอร์และผู้เรียบเรียงดนตรีในอัลบั้มชุดแรกของ “เปียโน สุพัณณดา” คือ “สุรพงศ์ เรืองณรงค์” ทีมงานเบื้องหลังอีกคนของ “มาลีฮวนน่า” ส่วนผลงานเพลงเกือบทั้งหมดนั้นเขียนเนื้อร้อง-ทำนองโดย “จเร เรืองณรงค์” ผู้รับหน้าที่โค-โปรดิวเซอร์
ผลงานชุด “Error” อาจไม่ค่อยเป็นที่รู้จักของคนกรุงเทพฯ มากนัก แต่อัลบั้มดังกล่าวได้เข้าชิงรางวัลสีสัน อะวอร์ดส์ ประจำปี 2542 หลายสาขา (ถ้าจำไม่ผิด น่าจะเป็นรางวัลศิลปินหน้าใหม่ยอดเยี่ยม, ศิลปินหญิงเดี่ยวยอดเยี่ยม และศิลปินหญิงร็อกยอดเยี่ยม)
แม้จะไม่ได้รับรางวัลใดๆ ติดไม้ติดมือกลับไปหาดใหญ่ แต่ชื่อของ “เปียโน สุพัณณดา” ก็เริ่มติดอยู่ในการรับรู้ของนักวิจารณ์และคนฟังเพลงกลุ่มเล็กๆ
ฟังเพลงเพราะๆ บางส่วนจากอัลบั้มชุดดังกล่าวได้ที่นี่
พอถึงปี 2544 “เปียโน สุพัณณดา” ก็เป็นเจ้าของเสียงร้องในบทเพลงทั้ง 8 เพลง ของอัลบั้ม “My Grain” โดยวง “Double Head”
แม้จะย้ายสังกัดมาอยู่ค่าย “อินดี้ คาเฟ่” แต่เครดิตอัลบั้มยังระบุว่าผลงานชุดนี้บันทึกเสียงที่ “ดรีม เรคคอร์ด”
เช่นเดียวกับ “สุรพงศ์ เรืองณรงค์” ที่ยังคงเป็นโปรดิวเซอร์และซาวด์เอนจิเนียร์ของงานชุดนี้ โดยเขารับหน้าที่แต่งเนื้อร้อง-ทำนองเพลงในอัลบั้มชุด “My Grain” เป็นจำนวน 5 จาก 8 เพลง
ทว่าบุคคลหน้าใหม่ที่เข้ามามีส่วนร่วมอย่างสำคัญกับผลงานของ “เปียโน สุพัณณดา” และ “สุรพงศ์ เรืองณรงค์” ก็คือ “เทิดศักดิ์ จันทร์ปาน”
เครดิตอัลบั้มระบุว่าเทิดศักดิ์คือโปรดิวเซอร์และซาวด์เอนจิเนียร์ของอัลบั้มชุด “My Grain” ร่วมกับสุรพงศ์
ที่สำคัญ “เทิดศักดิ์ จันทร์ปาน” ยังรับหน้าที่เรียบเรียงดนตรีในงานชุดนี้ ถึง 7 จาก 8 เพลง
จุดน่าสนใจและปริศนาค้างคาใจของอัลบั้มชุด “My Grain” ก็คือ นอกจากระบุชื่อโปรดิวเซอร์และมือกีต้าร์รับเชิญ (กบ ชิดพงศ์) แล้ว กลับไม่มีการระบุว่าสมาชิกของ “Double Head” คือใครกันแน่?
แต่คนฟังอาจพออนุมานได้ว่าสมาชิกของคณะดนตรี “สองหัว” น่าจะได้แก่ สองโปรดิวเซอร์อย่างสุรพงศ์และเทิดศักดิ์
ที่น่าแปลกและชวนขบคิดก็คือ เครดิตของอัลบั้มได้ระบุว่า “เปียโน สุพัณณดา” คือ “เสียงร้องอันทรงพลัง (เจ้าของอัลบั้มตัวจริง)”
จากปี 2542-2544 “เปียโน สุพัณณดา” ดูจะเติบโตขึ้นไม่น้อย เธอย้ายจากการเป็นนักเรียนมัธยมที่หาดใหญ่ มาเป็นนักศึกษาคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร
จากการรับบทเป็น “นักร้อง” อย่างเดียวในอัลบั้มชุด “Error” เธอเริ่มรับหน้าที่แต่งเนื้อร้อง-ทำนองของบทเพลงสองเพลงในผลงานชุด “My Grain”
เพลงแรกคือเพลงที่ดังที่สุดในอัลบั้มอย่าง “เบื่อแล้ว…เซ็งแล้ว” (ต่อมามีหลายคนเข้าใจผิดว่านี่เป็นเพลงของ “มาลีฮวนน่า”) อีกเพลงคือเพลงช้าที่เพราะมากๆ อย่าง “รอ”
ฟังเพลงเพราะๆ บางส่วนจากอัลบั้มชุดดังกล่าวได้ที่นี่
แล้วทำไม “My Grain” จึงมิได้มีสถานะเป็นผลงานเดี่ยวชุดที่สองของ “เปียโน สุพัณณดา”?
ทำไม “เปียโน สุพัณณดา” จึงกลายเป็น “(เจ้าของอัลบั้มตัวจริง)” ที่ถูกกล่าวถึงอย่างลับๆ เพียงในเครดิต (ไม่ใช่หน้าปก) อัลบั้ม
คำตอบอาจอยู่ที่การรวมตัวของสามสาวพี่น้องตระกูล “พลับทอง” ได้แก่ “เปียโน สุพัณณดา” “เบส ภัทรณินทร์” และ “ซอ มนต์มนัส” ในนามวง “เดอะ ซิส” ซึ่งมีโอกาสออกอัลบั้มกับ “อาร์เอส โปรโมชั่น” รวมทั้งสิ้นสี่ชุด
โดยอัลบั้มชุดแรกสุดนั้นวางจำหน่ายเมื่อเดือนกรกฎาคม 2545 คล้อยหลังงานของ “Double Head” ไม่นาน
เป็นไปได้ว่าช่วงเวลาในการทำเพลงอินดี้กับค่ายอิสระ และการเซ็นสัญญากับค่ายยักษ์ใหญ่พร้อมพี่น้องร่วมสายเลือดอีกสองคน ของ “เปียโน สุพัณณดา” นั้น เกิดขึ้นเหลื่อมซ้อนกันพอดี
โดยเธอจำเป็นต้องเลือกเปิดเผยตัวกับงานชนิดหลัง และเลือกพรางตัวอยู่ด้านหลังงานประเภทแรก
แม้ว่าผลงานชุด “My Grain” ของ “Double Head” จะเต็มไปด้วยปริศนาอันคลุมเครือ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าเพลงในอัลบั้มชุดดังกล่าวนั้นไพเราะเกือบทั้งหมด
และโดยส่วนตัว นั่นเป็นครั้งแรกสุด ที่ผมเริ่มรู้จักและจดจำชื่อของ “เทิดศักดิ์ จันทร์ปาน” ในฐานะคนดนตรีผู้น่าจับตามอง