ดู “หนังโลก” ในเทศกาลภาพยนตร์โตเกียว

(มติชนสุดสัปดาห์ 2-8 ธันวาคม 2559)

สัปดาห์นี้ ขอย้อนกลับไปยังเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติโตเกียว ครั้งที่ 29 อีกหนึ่งรอบ

โดยจะเขียนเล่าถึง “ภาพยนตร์นานาชาติ” น่าสนใจ ที่ได้ดูจากเทศกาลในครั้งนี้ ซึ่งประกอบด้วยผลงานของคนทำหนังยุโรป 2 เรื่อง และผลงานของคนทำหนังชาวอิหร่านผู้ล่วงลับอีก 1 เรื่อง

ขอเริ่มด้วยหนังตุรกีเรื่อง “Big Big World” ผลงานการกำกับฯ ของ “เรฮา เออร์เด็ม”

bigbigworld

หนังเล่าเรื่องราวของพี่ชายและน้องสาวฐานะยากจน ที่ต้องพลัดพรากจากกันหลังเป็นกำพร้า ฝั่งน้องสาวถูกรับไปเลี้ยงดูโดยครอบครัวคนชั้นกลาง ซึ่งหัวหน้าครอบครัวกำลังจะตบแต่งเด็กสาวเป็นภรรยาอีกรายของเขา

พี่ชายจึงบุกไปลักพาตัวน้องสาวออกมา พร้อมทำร้ายร่างกายทุกคนในครอบครัวนั้น ส่งผลให้ทั้งคู่ต้องรีบออกเดินทางด้วยมอเตอร์ไซค์คันเก่าๆ แล้วหนีไปไกลสุดเท่าที่จะทำได้

สองพี่น้องเลือกจะ “หลบหนี” ไปอาศัยอยู่ในพื้นที่ “ป่า” ซึ่งเป็นพื้นที่อันมีนัยยะน่าสนใจหลายประการ

ข้อแรก ตอนก้าวเท้าเข้าสู่อาณาเขตของ “ป่า” ใหม่ๆ น้องสาวตั้งคำถามด้วยความหวาดหวั่นว่าที่นี่จะมี “งู” หรือไม่? แล้วหนังก็จับภาพให้เห็นว่าป่าแห่งนี้ มีงูอาศัยอยู่จริงๆ แถมเลื้อยไปมาไม่ห่างจากสองพี่น้องด้วย

หนังจับภาพงูให้คนดูเห็นอีก 2-3 ครั้ง ทว่า มันกลับไม่เคยเข้ามายุ่งเกี่ยวกับชีวิตของพี่น้องคู่นี้แต่อย่างใด

จึงกลายเป็นว่า “สัตว์ที่แลดูอันตราย” กลับไม่เข้ามาทำอันตรายใดๆ กับมนุษย์ที่หลบหนีเข้ามาใน “ป่า” (อาจพูดเชยๆ ต่อท้ายอีกหน่อยได้ว่า เป็นมนุษย์ด้วยกันเองเสียอีกที่น่ากลัวยิ่งกว่าสัตว์)

ข้อสอง “ป่า” ที่สองพี่น้องใช้เป็นสถานที่ “หลบภัย” ไม่ได้ปราศจากมนุษย์รายอื่นๆ เสียทีเดียว เพราะอย่างน้อย ก็มีชาย “สติไม่ค่อยดี” ซึ่งโผล่มาแวบๆ ให้เห็นในระยะไกลๆ และเขาน่าจะเป็นคนขโมยกระจกข้างของมอเตอร์ไซค์ที่พี่น้องใช้ขับขี่เป็นยานพาหนะ

นอกจากนั้น ยังมีหญิงชราที่เริ่มพูดจาไม่รู้เรื่อง ซึ่งเข้ามาใช้ “ป่า” เป็นพื้นที่พักพิงแหล่งสุดท้ายในชีวิต

ข้อสุดท้าย แม้หนังจะแสดงให้เห็นว่า “ป่า” เป็น “พื้นที่ทางเลือก” ของมนุษย์ผู้ไม่ต้องการอาศัยอยู่ใน “เมือง” หรือประสบเภทภัยจาก “สังคมเมือง” แต่ตัวละครหลักอย่างสองพี่น้อง ก็ยังต้องเดินทางเข้าๆ ออกๆ ระหว่าง “ป่า” กับ “เมือง” อยู่ตลอดเวลา

เริ่มจากตัวพี่ชาย ซึ่งต้องหางานทำ เขาจึงใช้ป่าเป็นที่ซุกหัวนอน แล้วกลับเข้าไปทำงานเป็นช่างซ่อมมอเตอร์ไซค์ในเมืองตอนช่วงกลางวัน ก่อนที่ชายหนุ่มจะถูก “หลอกลวง” โดยคนใน “สังคมเมือง” อีกครั้ง

แต่ท้ายสุด เขาก็ไม่อาจหลบหนีออกจาก “เมือง” ได้อยู่ดี เพราะผู้เป็นน้องสาวจำเป็นต้องเข้าพบแพทย์โดยเร่งด่วน

เมื่อพี่ชายนำน้องสาวมาถึงโรงพยาบาลในตัวเมืองเรียบร้อยแล้ว เขาก็ลงมือ (ลงเท้า) วิ่งหนีเจ้าหน้าที่ตำรวจอีกครั้ง ด้วยความหวาดกลัว

ชายหนุ่มวิ่งหนีจนไม่มีที่จะหนี และ “ป่า” ก็อาจไม่ใช่จุดหมายปลายทางที่ดีที่สุด เนื่องจากน้องสาวของเขายังต้องพักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล

หนังทิ้ง “ปริศนาปลายเปิด” ไว้ตรงจุดนี้ โดยไม่ระบุชัดเจนว่าสองพี่น้องจะเดินทางไปไหนต่อใน “โลกใบกว้างใหญ่” เกินความคาดคะเนและความคิดฝันของพวกเขา

หนังเรื่องต่อมา คือ “The Ornithologist” ผลงานของ “เจา เปโดร โรดริเกซ” คนทำหนังจากโปรตุเกส

ornithologist

หนังเล่าเรื่องของนักปักษีวิทยาหนุ่มใหญ่ชาวโปรตุเกสที่พลัดหลงเข้าไปใน “ป่า” ก่อนจะได้มีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนและเจอเหตุการณ์ประหลาดๆ มากมาย

ทั้งการเผชิญหน้ากับสองสาวนักท่องเที่ยวจีน แล้วพลัดพรากกันแบบงงๆ การแอบมองกลุ่มคนแต่งกายแปลกตาที่มาทำพิธีกรรมประหลาดรอบกองไฟ การเจอกับสามสาวนักล่าสัตว์ที่ขี่ม้าและเปลือยกายท่อนบน ฯลฯ

นอกจากนี้ นักปักษีวิทยายังได้ร่วมเพศกับเด็กหนุ่มเลี้ยงแกะที่เป็นใบ้ริมลำธาร ก่อนจะทะเลาะเบาะแว้งกัน กระทั่งเขาพลั้งมือสังหารชายหนุ่มคนนั้น

ในตอนท้าย นักปักษีวิทยาได้พบเจอชายหนุ่มอีกคน ซึ่งแต่งตัวแบบเดียวกับกลุ่มคนที่ประกอบพิธีกรรมประหลาดรอบกองไฟ ชายคนนี้หน้าตาเหมือนชายหนุ่มใบ้ผู้เลี้ยงแกะไม่มีผิดเพี้ยน

ทว่า เขาพูดได้ และอ้างว่าตนเองเป็นพี่ชายฝาแฝดของชายเลี้ยงแกะผู้ล่วงลับ

ความสัมพันธ์อันเร่าร้อนรุนแรงระหว่างนักปักษีวิทยากับฟี่ชายฝาแฝดของหนุ่มเลี้ยงแกะ ส่งผลให้ทิศทางของหนังหักเหทิศทาง ไปพร้อมๆ กับรูปลักษณ์ที่ผันแปรของตัวละครนักปักษีวิทยา (มีการเปลี่ยนแปลงผู้รับบทบาทนี้ จากนักแสดงนำ “พอล ฮามี” มาเป็นตัวผู้กำกับหนัง คือ “เจา เปโดร โรดริเกซ”)

เช่นเดียวกับชื่อของเขาที่เปลี่ยนจาก “เฟอร์นานโด” เป็น “แอนโธนี”

จากนั้น ชายทั้งคู่ก็เดินทางออกจากป่า น่าสนใจว่าเมื่อหวนคืนสู่ “เมือง” เมืองที่ว่ากลับไม่ได้อยู่ในอาณาเขตประเทศโปรตุเกสอีกต่อไป แต่กลายเป็นเมืองปาโดว่า ในประเทศอิตาลี

ชายทั้งสองคนได้พบปะสองสาวจีนหน้าเดิมอีกครั้ง พวกเขาและเธอสร้างบทสนทนาขึ้นใหม่ ด้วยท่าทีเหมือนคนที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน ราวกับว่าทุกคนต่างเปลี่ยนแปลงกลายเป็น “คนใหม่” หลังออกจาก “ป่า”

ที่น่าสนใจที่สุด คือ เส้นทางชีวิตที่ล่องไปใน “ป่า” อย่างพิลึกพิลั่นของตัวละครนักปักษีวิทยาหนุ่มนั้น ดำเนินโดยสอดคล้องหยอกล้อไปกับชีวประวัติของ “นักบุญแอนโธนีแห่งปาดัว”

นี่จึงเป็นภาพยนตร์ว่าด้วยชีวประวัติของ “นักบุญ” อันศักดิ์สิทธิ์ ที่แซมด้วยอัตชีวประวัติของ “เจา เปโดร โรดริเกซ” ซึ่งเคยทำงานเป็นนักปักษีวิทยามาก่อน และไม่เคยปิดบังว่าตนเองเป็นเกย์

มีจุดน่าสังเกตข้อหนึ่ง คือ ทั้ง “Big Big World” และ “The Ornithologist” ล้วนใช้ “ป่า” เป็นพื้นที่หลักของภาพยนตร์

แต่ในขณะที่หนังจากตุรกีนำเสนอภาวะสับสนของตัวละครที่ต้องวิ่งเข้าวิ่งออกอย่างแยกไม่ขาด ระหว่าง “ป่า” กับ “เมือง” (หนีเข้าไปอยู่ใน “ป่า” เลย ก็เป็นไปไม่ได้ แต่ก็รู้สึกไม่ปลอดภัยและไร้ตัวตน เมื่ออยู่ใน “เมือง”)

หนังโปรตุเกสกลับมอง “ป่า” เป็น “โลก” อีกชนิดหนึ่ง ซึ่งแยกขาดและอยู่นอกเหนือจาก “โลกมนุษย์ภายนอก”

“ป่า” ในหนังเรื่องนี้ เป็นโลกที่ “ความเชื่อ” อยู่เหนือ “เหตุผล” เป็นโลกแห่ง “ภาวะกลับหัวกลับหาง” ที่เรื่องราวแปลกประหลาดสารพัดสิ่งสามารถเกิดขึ้นได้อย่างน่าอัศจรรย์ และเป็นโลกของการเปลี่ยนแปลง “อัตลักษณ์/ตัวตน” ชนิดถอนรากถอนโคน

เพราะเมื่อคนใน “ป่า” กลับคืนสู่ “เมือง” พวกเขาก็มิใช่ “คนเดิม” อีกต่อไป

ปิดท้ายด้วยหนังสั้นขาวดำความยาวเพียง 16 นาที จากประเทศอิหร่าน

ภาพยนตร์สั้นเรื่องนี้มีชื่อว่า “Take Me Home” ซึ่งเป็นผลงานชิ้นสุดท้ายของ “อับบาส เคียรอสตามี” หนึ่งใน “คนทำหนังชั้นครูยุคร่วมสมัย” ผู้ล่วงลับไปเมื่อไม่กี่เดือนก่อน

take-me-home

หนังดำเนินไปในแนวทาง “มินิมอลลิสต์” ตามสไตล์ภาพยนตร์อิหร่านและงานจำนวนไม่น้อยของเคียรอสตามี นั่นคือ การถ่ายทำภาพยนตร์ที่บอกเล่าเรื่องราวเล็กๆ มีเนื้อเรื่องน้อยๆ ด้วยโปรดักชั่นง่ายๆ

ทว่า “พลังแฝง” ที่หนังส่งออกมากลับมีมากมายมหาศาล

ตัวเรื่องเริ่มต้นด้วยเหตุการณ์ที่เจ้าหนูคนหนึ่งวิ่งกลับขึ้นบ้านในชุมชนบนภูเขาสูง ซึ่งมีพื้นที่ลดหลั่นเต็มไปด้วยขั้นบันไดอันสลับซับซ้อน

ในมือของเขาถือลูกฟุตบอลอยู่ด้วย

พอถึงบ้าน เจ้าหนูก็วางลูกฟุตบอลไว้หน้าประตู แต่พอเขาเปิด-ปิดประตูบ้าน แรงสั่นสะเทือนกลับส่งผลให้ลูกบอลกระเด็นกระดอนตกลงมาตามพื้นที่ลาดเอียงและขั้นบันไดซับซ้อนหลากหลายในทิศทางเกินคาดเดา

ภารกิจ “เหมือนง่ายแต่ยาก” ของเจ้าหนู ก็คือการต้องวิ่งลงไปเอาลูกบอลกลับขึ้นบ้าน

เรื่องราวในหนังมีเพียงเท่านี้ แต่สิ่งที่สนุกมากๆ สำหรับผู้ชม กลับกลายเป็นการต้องพยายามจ้องมองทิศทางกระเด็นกระดอนสุดคาดเดาของลูกฟุตบอล ที่เด้งผ่านสัตว์เลี้ยงน่ารัก ตลอดจนเหลี่ยมมุมและความลดหลั่นอันไม่ราบเรียบของพื้นที่ในเชิงสถาปัตยกรรม

แม้จะพอจับได้ว่าเคียรอสตามีเล่นกระบวนท่า “แอบโกง” อยู่บ้าง (และแน่นอนว่าต้องใช้ซีจีช่วยในบางช็อต) แต่ระหว่างดูหนังในจอใหญ่ ผมก็ยังรู้สึกทึ่งอยู่ดีว่า โอ้โห! ผู้กำกับภาพยนตร์ที่เก่งๆ นี่ เขาสามารถกำกับ “ลูกฟุตบอล” ได้ด้วยเว้ยเฮ้ย!

หากจะถามว่าหนังนานาชาติทั้งสามเรื่องนี้มีความข้องเกี่ยวกันอย่างไร?

อาจตอบในเบื้องต้นได้ว่าหนังเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงทั้ง “ข้อจำกัด” และ “ความทะเยอทะยาน” ของมนุษย์

ขณะที่ “Big Big World” สะท้อนข้อจำกัดในการ “หนี” ของมนุษย์ “The Ornithologist” ก็บ่งชี้ว่าการรับรู้สรรพสิ่งต่างๆ ผ่าน “ระบบเหตุผล” ที่มนุษย์คุ้นเคย อาจไม่เวิร์กเสมอไป ส่วน “Take Me Home” ได้ท้าทายศักยภาพการคาดเดาของมนุษย์ (ในฐานะ “ผู้ชมภาพยนตร์”) ด้วยคำถามที่ว่า พวกคุณรู้มั้ยล่ะ ว่าลูกบอลลูกนี้มันจะกระเด้งกระดอนไปถึงจุดไหน?

อย่างไรก็ดี หนังจากตุรกีกลับแสดงให้เห็นถึงความเป็นไปได้ในการสร้าง “พื้นที่ (ป่า) ทางเลือก” ขึ้นมา ท่ามกลางสภาวะแตกร้าวของสังคมสมัยใหม่ แม้พื้นที่ดังกล่าวอาจไม่สามารถดำรงอยู่ได้โดย “สัมบูรณ์” ก็ตาม

เช่นเดียวกับหนังจากโปรตุเกส ซึ่งกล้าหาญพอที่จะผสมผสาน “ชีวประวัติศักดิ์สิทธิ์” ของนักบุญเข้ากับ “ชีวิตสามัญ/สามานย์” ของมนุษย์ตัวเล็กๆ คนหนึ่ง

ส่วนหนังสั้นของผู้กำกับฯ ผู้ยิ่งใหญ่จากอิหร่าน ก็เผยให้เห็นว่า แม้ทิศทางการเคลื่อนไหวของลูกฟุตบอลลูกหนึ่ง “คล้าย” จะเดินทางไปไกลสุดกู่เกินความหยั่งรู้ของมนุษย์ แต่ในทางกลับกัน มนุษย์ (ผ่านเครื่องมือช่วยเหลืออย่าง “ภาพยนตร์”) ก็สามารถกำกับ/ควบคุม/บิดผัน/ยั่วล้อ “วิถีทางอันคาดเดาไม่ได้” ของลูกบอลลูกนั้น ได้อย่างอยู่มือ

Leave a comment

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.