https://www.sindie.sg/ ได้พูดคุยกับบรรดานักทำหนังอิสระในประเทศกลุ่มอาเซียน ถึงการใช้ชีวิต การทำงาน และความคาดหวังของพวกเขา ท่ามกลางการต้องกักตัวเองในสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยมีคนทำหนังอินดี้ชาวไทยร่วมแลกเปลี่ยนทัศนะด้วย ดังรายละเอียดต่อไปนี้
นนทวัฒน์ นำเบญจพล
ผู้กำกับภาพยนตร์สารคดี อาทิ “ฟ้าต่ำแผ่นดินสูง” “สายน้ำติดเชื้อ” “#BKKY” และ “ดินไร้แดน”
ตอนนี้คุณกังวลเรื่องอะไรมากที่สุด?
ผมกังวลว่าการแก้ไขสถานการณ์ (การแพร่ระบาด) ทั่วโลกจะกินเวลายาวนานกว่าที่คาดคิดกันไว้ และผมก็คิดว่าแผนงานทั้งหมดของตัวเองในปีนี้คงจะติดขัดไปหมด
ตอนนี้คุณได้ดูหรือลงมือทำอะไรบ้าง?
ผมมีเวลามากขึ้นอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ผมสามารถมุ่งมั่นกับการเขียนบทหนังใหม่เรื่อง “Doi Boy” ของตัวเอง ไปพร้อมๆ กับการอยู่บ้านกับแม่, แมว และหมา ในแต่ละวันผมยังดูหนังเยอะแยะผ่านทางเน็ตฟลิกซ์ วิมีโอ แล้วก็มูบิ เป็นต้น
หนังที่ผมได้ดูก็มีอาทิ Clash landing on you, Paris Texas, Stalker, Farewell my Concubine, Ash is Purest White, Selfie, Kingdom, พอร์นฮับ พรีเมี่ยม (ดูได้ฟรี)
ผมยังนำผลงานของตัวเองไปเผยแพร่ผ่านระบบออนดีมานด์บนวิมีโอ โดยตั้งราคาเข้าชมซึ่งมีส่วนลด 70 เปอร์เซ็นต์ “ดินไร้แดน” จะเผยแพร่แบบจำกัดเฉพาะคนดูในประเทศไทย และสุดท้าย ผมกำลังเตรียมจัดนิทรรศการแสดงผลงานเดี่ยวในเดือนกรกฎาคมนี้
คุณเฝ้ารออะไร หลังจากสถานการณ์นี้สิ้นสุดลง?
ผมอยากไปนวดและออกไปถ่ายทำ “Doi Boy”
อาทิตย์ อัสสรัตน์
ผู้กำกับและโปรดิวเซอร์ มีผลงานสร้างชื่ออย่าง “วันเดอร์ฟูลทาวน์” รวมทั้งเป็นหนึ่งในผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง “Ten Years Thailand”
ตอนนี้คุณกังวลเรื่องอะไรมากที่สุด?
สุขภาพและความปลอดภัยของคนในครอบครัว
ตอนนี้คุณได้ดูหรือลงมือทำอะไรบ้าง?
ดูซีรี่ส์เน็ตฟลิกซ์
คุณเฝ้ารออะไร หลังจากสถานการณ์นี้สิ้นสุดลง?
Kingdom 3
สรยศ ประภาพันธ์
นักทำหนังอิสระ-นักบันทึกเสียงประกอบภาพยนตร์ เจ้าของผลงานหนังสั้นที่ได้รับรางวัลระดับนานาชาติหลายเรื่อง
ตอนนี้คุณกังวลเรื่องอะไรมากที่สุด?
แน่นอน พวกเรามีหลายเรื่องที่ควรกังวล หนึ่งในเรื่องใหญ่ที่น่ากังวลตอนนี้ก็คือการเกิดความสงสัยว่าภาษีที่ผมจ่ายไปนั้น ถูกนำไปใช้อย่างชาญฉลาดแค่ไหน นอกจากนี้ ผมยังอยากได้รัฐบาลที่มีความจริงใจมากกว่านี้ ไม่ใช่รัฐบาลที่ปิดบังไม่ให้ประชาชนได้รับรู้ความจริง
ตอนนี้คุณได้ดูหรือลงมือทำอะไรบ้าง?
ผมได้ดูหนังสั้นหลายๆ เรื่อง (ส่วนใหญ่จาก My Darling QuarantineShort Film Festival) ผมยังได้ดูพวกวิดีโอมากมายในยูทูบ ซึ่งก็มีเนื้อหาหลากหลายตั้งแต่การสอนทำสต็อปโมชั่น, คลิปตลก รวมถึงเรื่องราวไร้สาระต่างๆ
คุณเฝ้ารออะไร หลังจากสถานการณ์นี้สิ้นสุดลง?
ผมเฝ้ารอจะเข้าไปสวมกอดผู้คนที่ผมอยากกอด ผมยังอยากเข้าโรงหนัง แล้วก็ไปว่ายน้ำในสระ
อนุชา บุญยวรรธนะ
ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง “อนธการ” และ “มะลิลา” ผู้ก่อตั้ง จี-โมทีฟ โปรดักชั่น หนึ่งในบริษัทผลิตสื่อวิดีโอที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย
ตอนนี้คุณกังวลเรื่องอะไรมากที่สุด?
ฉันไม่รู้สึกหวาดกลัวเชื้อไวรัส ส่วนหนึ่งคงเพราะฉันเป็น LGBT และเคยมีประสบการณ์ช่วงเอชไอวีระบาดในทศวรรษ 1990 และ 2000 แม้ไวรัสโคโรนาจะมีความแตกต่างกับเชื้อเอชไอวีเป็นอย่างมาก แต่ประสบการณ์เมื่อครั้งนั้นก็ทำให้ฉันคุ้นเคยกับภาวะป่วยไข้และความตาย อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ฉันอาศัยอยู่กับพ่อและป้าๆ อาๆ พวกเขามีอายุเยอะและอ่อนไหวต่อเชื้อไวรัสเป็นพิเศษ ดังนั้น ตั้งแต่เดือนมกราคมเป็นต้นมา พวกเราจึงจัดเตรียมมาตรการหลายๆ อย่างที่บ้าน เพื่อป้องกันการติดเชื้อไวรัสโคโรนา (ในกรณีที่ฉันไปติดเชื้อมาจากข้างนอก) อีกสิ่งหนึ่งที่ฉันกังวลมากๆ ก็คือบริษัทของตัวเองและทีมงาน พวกเราต้องแสวงหาหนทางที่จะอยู่รอดจากไวรัส รวมทั้งอยู่รอดในการดำรงชีวิตและในทางเศรษฐกิจ
ตอนนี้คุณได้ดูหรือลงมือทำอะไรบ้าง?
แน่นอน ฉันมีเวลาในการดูหนังและซีรี่ส์มากขึ้น ฉันเพิ่งได้ดู Kingdom of Heaven (director’s cut) ภาพยนตร์มหากาพย์เมื่อปี 2005 ของริดลีย์ สก็อตต์ น่าแปลกใจที่หนังฉบับนี้มีคุณภาพดีกว่าเวอร์ชั่นที่ออกฉายในโรงภาพยนตร์ นี่เป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับการเรียนรู้เรื่องการลำดับภาพ เพราะเราสามารถนำหนังสองฉบับมาเปรียบเทียบกัน เพื่อพิจารณาว่าอะไรถูกตัดออกไป และมันส่งผลอย่างไรต่อวิธีการเล่าเรื่อง
ฉันยังมีโครงการสร้างภาพยนตร์ของตัวเอง ซึ่งตอนนี้อยู่ในขั้นตอนการพัฒนาบท ดังนั้น นี่จึงเป็นเรื่องค่อนข้างดี ที่จะได้มีโอกาสประชุมทางออนไลน์กับทีมเขียนบท อย่างไรก็ตาม ฉันยังมีภาระต้องทำหนังโฆษณาจำนวนหนึ่ง และก็ประสบปัญหาแบบเดียวกันกับที่หลายคนเจอ นั่นคืองานโฆษณาเหล่านั้นถูกยกเลิกทั้งหมด พวกเราไม่สามารถออกกองได้ เมื่อลูกค้าตัดสินใจระงับทุกโปรเจ็กต์เอาไว้ เพราะไม่ต้องการจะใช้จ่ายเงินในช่วงเวลานี้
คุณเฝ้ารออะไร หลังจากสถานการณ์นี้สิ้นสุดลง?
เมื่อไม่นานนี้ ฉันได้ปรึกษาหารือกับนักทำหนัง, ผู้กำกับ, โปรดิวเซอร์ และบุคลากรในวงการภาพยนตร์อีกหลายคน พวกเราพยายามจัดทำข้อกำหนดมาตรฐานเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาในกองถ่ายหนังและทีวี ข้อกำหนดดังกล่าวจะต้องมีรายละเอียดมากกว่าการให้ใส่หน้ากากและล้างมือ นี่เป็นความท้าทายเพราะกองถ่ายคือสถานที่ที่ผู้คนเข้ามารวมตัวและสัมผัสกัน (ผ่านการแสดง, การกำกับ, การจัดการกอง และการกินอยู่) รวมถึงใช้สิ่งของร่วมกัน (กล้อง, เครื่องไม้เครื่องมืออื่นๆ, เครื่องแต่งกาย, อุปกรณ์ประกอบฉาก และเครื่องสำอาง เป็นต้น) ข้อกำหนดที่พวกเราจัดทำได้ถูกเสนอไปยังกระทรวงสาธารณสุขเรียบร้อยแล้ว และอาจต้องใช้เวลาอีกระยะ เพื่อรอการอนุมัติและประกาศใช้ ฉันยังพูดคุยถึงสถานการณ์ในช่วง 1-3 เดือน (หรือยาวนานกว่านั้น) ภายหลังจากห้วงเวลาของการป้องกันการแพร่ระบาดในระดับเข้มข้นได้ยุติลง ตอนนั้น โรงภาพยนตร์อาจยังต้องปิดทำการต่อ แต่ฉันคิดว่ามันมีความจำเป็นที่กองถ่ายจะต้องกลับมาทำงานกันอีกครั้ง อย่างน้อยก็สำหรับสื่อโทรทัศน์และออนไลน์ ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้คนที่ทำงานในกองถ่ายจำนวนมากต้องว่างงานนานเกินไป และยังเป็นการช่วยฟื้นฟูอุตสาหกรรมภาพยนตร์อีกด้วย
จุฬญาณนนท์ ศิริผล
นักทำหนังและศิลปินสาขาทัศนศิลป์ หนึ่งในผู้กำกับ “Ten Years Thailand”
ตอนนี้คุณกังวลเรื่องอะไรมากที่สุด?
ผมกังวลว่าสถานการณ์นี้อาจจะไม่จบลงในเร็ววัน ผมเชื่อว่าแม้เราจะสามารถควบคุมเชื้อไวรัสได้ แต่ในอนาคตอันใกล้ จะเกิดวิกฤตการณ์หลายอย่างตามมา ทั้งวิกฤตเศรษฐกิจและวิกฤตการเมือง เมื่อเราไม่สามารถจะใช้ชีวิตแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ เราก็ต้องมาคิดถึงหนทางเอาตัวรอดในระยะยาวด้วย
ตอนนี้คุณได้ดูหรือลงมือทำอะไรบ้าง?
ผมกำลังทำวิดีโอแอนิเมชั่นชิ้นใหม่สำหรับนิทรรศการเดี่ยวของตัวเองที่บางกอก ซิตี้ซิตี้ แกลเลอรี่ งานชิ้นนี้มีชื่อว่า “Give Us A Little More Time” (ขอเวลาอีกไม่นาน?) ผมสร้างสรรค์แอนิเมชั่นดังกล่าวด้วยการนำข่าวหนังสือพิมพ์รายวันในช่วงที่ประเทศไทยอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลทหารในปี 2557-2562 มาปะติดปะต่อกัน งานชิ้นนี้จะตั้งคำถามถึงวิธีการทำงานของสื่อในอนาคต

คุณเฝ้ารออะไร หลังจากสถานการณ์นี้สิ้นสุดลง?
ผมเฝ้ารอที่จะได้เห็นผู้คนมีวิถีชีวิตที่แตกต่างกันไปในระเบียบใหม่ มันจะเป็นบรรทัดฐานใหม่ ซึ่งผู้คนทั้งหลายคงต้องมาคิดกันว่าพวกเราจะใช้ชีวิตอย่างไรในโลกอนาคต ที่อาจมีภาวะประหนึ่งวันสิ้นโลก ตอนนี้ ผมกำลังวางแผนจะย้ายไปใช้ชีวิตในความจริงเสมือน ไม่ใช่โลกที่จับต้องได้เหมือนในปัจจุบัน
อาจรีย์ อึ๊งศรีวงษ์ (โอม)
นักลำดับภาพที่เริ่มต้นการทำงานจากการเป็นผู้ช่วยของ “ลี ชาตะเมธีกุล” เธอเป็นผู้ตัดต่อภาพยนตร์เรื่อง “ดาวคะนอง” และ “กระบี่, 2562” รวมถึงหนังโฆษณาอีกหลายชิ้น
ตอนนี้คุณกังวลเรื่องอะไรมากที่สุด?
สิ่งที่ฉันกังวลที่สุดก็คือกลัวว่าคุณย่า (หรือคุณยาย?) จะป่วยด้วยโรคโควิด-19 เนื่องจากท่านมีสุขภาพปอดที่ย่ำแย่อยู่แล้ว ดังนั้น ท่านจึงไม่ควรติดเชื้อไวรัสเพิ่มอีก อีกเรื่องที่ฉันกังวลก็คือปัญหาความเหลื่อมล้ำ ซึ่งน่าจะเลวร้ายยิ่งขึ้น เห็นได้จากการที่บางคนตัดสินใจฆ่าตัวตาย เพราะประสบความเดือนร้อนทางเศรษฐกิจ
ตอนนี้คุณได้ดูหรือลงมือทำอะไรบ้าง?
ฉันได้ดู “Parasite” กับแม่ เธอเพิ่งเคยดูหนังเรื่องนี้เป็นครั้งแรก ฉันเลยชอบจับตาดูปฏิกิริยาของเธอ ส่วนฉันเองก็รู้สึกดีที่ได้ดูมันอีกหน และได้สัมผัสกับวิธีการตัดต่อของหนังอย่างละเอียดขึ้น จังหวะการลำดับภาพของหนังเรื่องนี้นั้นดีมากๆ และวิธีการใส่ดนตรีประกอบก็มีความแม่นยำอย่างยิ่ง เช่นเดียวกับเรื่องราวในหนังที่เป็นเหมือนภาพสะท้อนของสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ซึ่งคนรวยแค่มีชีวิตไม่สะดวกสบาย ผิดกับคนจนซึ่งต้องเผชิญหน้ากับเรื่องคอขาดบาดตาย
คุณเฝ้ารออะไร หลังจากสถานการณ์นี้สิ้นสุดลง?
ฉันเฝ้ารอที่จะได้เห็นโลกกลับมาเป็นปกติอีกครั้ง ฉันหวังว่าเราจะเรียนรู้อะไรบางอย่าง และร่วมกันสร้างสังคมที่ดีกว่าเดิม
ขอบคุณเนื้อหาและภาพบุคคลจาก
https://www.sindie.sg/2020/03/seasian-filmmakers-and-the-corona-pt1.html
https://www.sindie.sg/2020/04/much-ado-about-nothing-southeast-asian.html
https://www.sindie.sg/2020/04/seasian-filmmakers-and-the-corona-pt3.html