อ่าน ‘ทวิภพ’ ฉบับ ‘สุรพงษ์ พินิจค้า’ ผ่าน ‘อัสดงคตคดีศึกษา’ (บทความอำลาไบโอสโคป)

บทความชิ้นนี้ได้รับการตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสารไบโอสโคปช่วงปี 2554 ขออนุญาตนำมาเผยแพร่ซ้ำอีกครั้งที่บล็อกคนมองหนัง เนื่องในโอกาสที่ “ไบโอสโคป” เพิ่งเดินทางไปถึงจุดสิ้นสุด ซึ่งย่อมมิได้หมายถึง “จุดอวสาน” แต่อย่างใด

อ่าน ‘ทวิภพ’ ผ่าน ‘อัสดงคตคดีศึกษา’

51ZxEMZvB+L._SX336_BO1,204,203,200_

ฉบับนี้ อยากเล่าสู่กันฟังเกี่ยวกับบทความชื่อ An Ambiguous Intimacy: Farang as Siamese Occidentalism (ความใกล้ชิดอันกำกวม: ฝรั่งในฐานะอัสดงคตคดีศึกษาของสยาม) ซึ่งเขียนโดย อ.พัฒนา กิติอาษา ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำโครงการอุษาคเนย์ศึกษา มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของหนังสือ ‘The Ambiguous Allure of the West: Traces of the Colonial in Thailand’ (เสน่ห์อันคลุมเครือของตะวันตก: ร่องรอยของอาณานิคมในประเทศไทย) ที่มี ราเชล แฮร์ริสัน และ ปีเตอร์ แจ็คสัน เป็นบรรณาธิการ

อ.พัฒนาเริ่มต้นงานศึกษาชิ้นนี้ด้วยหนึ่งในบทพูดคลาสสิกของตัวละคร ‘มณีจันทร์’ ในภาพยนตร์เรื่อง ‘ทวิภพ’ ฉบับของคุณสุรพงษ์ พินิจค้า (ซึ่งเป็นหนังไทยที่มีความสำคัญและชวนถกเถียงมากที่สุดเรื่องหนึ่งตามความเห็นของผม) นั่นก็คือ

“บ้านเมืองเจริญมาก มีตึกสูงมากมาย ทุกอย่างเปลี่ยนไปหมด มีรถยนต์ ไฟฟ้า มีโรงหนัง เราแต่งตัวแบบตะวันตก นับถือฝรั่งมากกว่าพวกเดียวกัน เรามีทุกอย่างที่ตะวันตกมี เราเป็นทุกอย่างที่ชาวตะวันตกเป็น เรากินทุกอย่างที่ตะวันตกกิน … เราอยากเป็นเขา แล้วก็ปฏิเสธที่จะเป็นเรา”

อ.พัฒนา เห็นว่าคำกล่าวของมณีจันทร์ได้สะท้อนถึงวาทกรรมชาตินิยมที่ครอบงำสังคมไทย ซึ่งพยายามชี้ว่า ‘ฝรั่ง/ตะวันตก’ เป็นปัจจัยคุกคามต่ออิสรภาพของราชอาณาจักร ทั้งยังมีส่วนทำลายอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมอันจริงแท้ของสยาม

วาทกรรมดังกล่าวดำเนินมาตั้งแต่ช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 เมื่อสยามเริ่มพัฒนาตนเองให้มีความเป็นสมัยใหม่ตามแบบ ‘ตะวันตก’ และตกทอดมาถึงปัญญาชนสาธารณะจำนวนมากในสังคมไทยยุคปัจจุบัน

The_Siam_Renaissance

สิ่งที่อ.พัฒนาทำในบทความชิ้นนี้ก็คือ การสำรวจตรวจสอบว่า แนวคิดเรื่อง ‘ฝรั่ง’ นั้น ถูกประกอบสร้างขึ้นมาอย่างไรในทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมไทย

พร้อมด้วยข้อเสนอว่า คนไทยรับรู้เรื่องราวของ ‘ฝรั่ง’ ผ่านแนวคิดหรือวิธีการแสวงหาความรู้ที่อาจเรียกได้ว่า ‘อัสดงคตคดีศึกษา’ (Occidentalism) ซึ่งก็คือ วิธีการรับรู้, มีความสัมพันธ์, วิพากษ์วิจารณ์, ประณาม, บริโภค ตลอดจนจินตนาการเกี่ยวกับ ‘ตะวันตก’ ในฐานะ “คนอื่น” ผู้ทรงอำนาจและน่าหวาดระแวง จากมุมมองและวิธีคิดของคนในสังคมไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสมัยรัชกาลที่ 4 เป็นต้นมา

เมื่อ ‘ฝรั่ง’ คือ ‘คน/โลกตะวันตก’ ที่ถูกสร้างขึ้นมาจากการมองโลกและการทำความเข้าใจของเรา แนวคิดเรื่อง ‘ฝรั่ง’ จึงเป็นการมองเห็น ‘คนอื่น’ ผ่านสายตาของคนในสังคมไทย มิใช่ภาพตัวแทนที่ ‘แท้จริง’ ของ ‘ชาวตะวันตก’ แต่อย่างใด

อ.พัฒนาอุปมาไว้อย่างคมคายว่า แนวคิดเรื่อง ‘ฝรั่ง’ ในสังคมไทยนั้นมีสถานะเป็นดัง ‘กระจกทางชาติพันธุ์-วัฒนธรรม’ ที่ถูกประกอบสร้างขึ้นมาเพื่อส่องสะท้อนให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่าง ‘เรา/คนไทย’ กับ ‘คนอื่น/ตะวันตก’ (ซึ่งไม่แน่ใจว่าจะมีความหมายคล้ายคลึงกับ ‘กระจกข้ามเวลา’ ในนวนิยาย/ละคร/ภาพยนตร์เรื่อง ‘ทวิภพ’ หรือไม่ อย่างไร?)

การเห็น ‘ฝรั่ง’ จากมุมมองของเรา ยังส่งผลต่อความสัมพันธ์ระหว่าง ‘ไทย’ กับ ‘ฝรั่ง’ ซึ่งระคนกันไประหว่างการอยากเป็นหรืออยากศิวิไลซ์เหมือน ‘ฝรั่ง’ และความต้องการครอบครองวัตถุอันทันสมัยต่างๆ ซึ่งถูกประดิษฐ์ขึ้นโดย ‘ตะวันตก’ กับการหวาดระแวงหรือต่อต้าน ‘ฝรั่ง’ ด้วยความหวั่นวิตกว่า ‘ตะวันตก’ จะเข้ามาทำลายระบบการเมือง เศรษฐกิจ ตลอดจนวัฒนธรรมและประเพณีของไทย

นี่เป็นความรู้สึกกำกวมที่ดำรงอยู่ตั้งแต่สมัยอยุธยา ที่สยามอาจได้ประโยชน์จากปืนไฟ, ป้อมปราการ และการค้าขายทางเรือ ทว่าก็เกิดความขัดแย้งในเรื่องศาสนากับ ‘ฝรั่ง’ จนนำไปสู่การปฏิวัติโดยพระเพทราชา

ในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ แม้ชนชั้นนำสยามยังเห็น ‘ตะวันตก’ เป็นต้นแบบของความเจริญทางวัตถุ แต่ก็ยังมีความรู้สึกระแวง ‘ฝรั่ง’ ปรากฏอยู่อย่างเด่นชัด ดังพระราชกระแสรับสั่งของรัชกาลที่ 3 ก่อนจะเสด็จสวรรคตว่า

“การศึกสงครามข้างญวนข้างพม่าก็เห็นจะไม่มีแล้ว จะมีก็อยู่แต่ข้างพวกฝรั่ง ให้ระวังให้ดีอย่าให้เสียท่าแก่เขาได้ การงานสิ่งใดของเขาที่คิดควรจะเรียนเอาไว้ก็เอาอย่างเขา แต่อย่าให้นับถือเลื่อมใสกันทีเดียว”

(สำหรับคนที่เคยชม ‘ทวิภพ’ ฉบับคุณสุรพงษ์คงพอจะเห็นท่าทีต่อฝรั่งในลักษณะเดียวกันนี้ได้จากตัวละครสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์)

กระทั่งในสมัยรัชกาลที่ 4-5 ชนชั้นนำสยามจึงพยายามปรับตัวเข้าสู่โลกสมัยใหม่โดยมี ‘ฝรั่ง’ เป็นแบบอย่างของความเจริญก้าวหน้าและศิวิไลซ์ซึ่งควรดำเนินตาม กระนั้น กระแสความคิดต่อต้าน ‘ฝรั่ง’ ก็ยังมีปรากฏ นับตั้งแต่ในกรณีพระราชนิพนธ์เรื่อง ‘ลัทธิเอาอย่าง’ ของรัชกาลที่ 6 ซึ่งเป็นพระมหากษัตริย์ไทยองค์แรกที่จบการศึกษาจากต่างประเทศ เรื่อยมาจนถึงท่าทีของปัญญาชนชาตินิยมร่วมสมัยหลายรายในปัจจุบัน

ทว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่าง ‘ไทย’ กับ ‘ฝรั่ง’ ที่มีลักษณะกำกวมหรือ ‘ทั้งรักทั้งชัง’ มาตลอดช่วงเวลาทางประวัติศาสตร์ อ.พัฒนาจึงเสนอว่า แท้จริงแล้ว ‘ความเป็นฝรั่ง’ มิได้อยู่ตรงข้ามกับ ‘ความเป็นไทย’ อย่างสุดขั้ว ดังที่หลายคนคิดและเชื่อ

เพราะปฏิสัมพันธ์ที่ทั้งสองฝ่ายมีต่อกันมาเป็นระยะเวลายาวนานท่ามกลางบริบทที่แปรผันไปได้ส่งผลให้ ‘ไทย’ และ ‘ฝรั่ง’ มี ‘ความใกล้ชิดทางวัฒนธรรม’ (cultural intimacy) ซึ่งกันและกัน จนนำไปสู่การผสมผสานทางวัฒนธรรมในระดับที่สามารถกล่าวได้ว่า ‘ความเป็นไทย’ ในปัจจุบันจะไม่มีทางสมบูรณ์แบบได้เลย หากปราศจากอิทธิพลของ ‘ฝรั่ง’ หรือความหลงใหลอยากเป็น ‘ฝรั่ง’ ของคนไทยเอง

ดังนั้น ตามความเห็นของอ.พัฒนา ‘ความเป็นฝรั่ง’ จึงมีส่วนอย่างสำคัญต่อการก่อรูป ‘อัตลักษณ์ไทย’ ร่วมสมัย และความสัมพันธ์ระหว่าง ‘ไทย’ กับ ‘ฝรั่ง’ (ตามความเข้าใจของเรา) จึงกลายเป็นกระบวนการที่แสดงให้เห็นว่า คนไทยที่อยู่ ‘นอกตะวันตก’ จินตนาการถึงตนเองไว้ว่าอย่างไรในยามที่พวกเรามีปฏิสัมพันธ์กับ ‘ความเป็นตะวันตก’ หรือกล่าวได้ว่า กระบวนการดังกล่าวได้ทำให้เรามองเห็น ‘ตัวเอง’ ผ่านความสัมพันธ์ที่เรามีกับ ‘คนอื่น’ ในท้ายที่สุด

ตัวอย่างชัดเจนที่อ.พัฒนายกมาใช้อธิบายประกอบเรื่องการผสมผสานทางวัฒนธรรมระหว่าง ‘ไทย’ กับ ‘ฝรั่ง’ ก็คือ สถานะซึ่งได้รับการยอมรับอย่างสูงของบรรดา ‘ดาราลูกครึ่ง’ ในวัฒนธรรมประชา (popular culture) อันได้แก่สื่อบันเทิงอย่างหนังและละครของสังคมไทย (ซึ่งจริงๆ แล้ว ก็มีทั้งช่วงเวลาที่สายเลือดของทหารเชื้อสายแอฟริกัน-อเมริกันถูกแอนตี้ในฐานะ ‘ข้าวนอกนา’ ภายหลังยุคสงครามเวียดนาม และยุคสมัยที่ลูกครึ่งเชื้อสายคอเคเชียนหรือฝรั่งผิวขาวได้รับความนิยมนับตั้งแต่ช่วงคริสต์ทศวรรษ 1980 เป็นต้นมา)

ทวิภพ

งานเขียนที่ช่วยขับเน้นให้ประเด็นของอ.พัฒนาหนักแน่นแหลมคมมากยิ่งขึ้นก็คือ บทความของ ราเชล แฮร์ริสัน ในหนังสือเล่มเดียวกันนี้ ซึ่งมีเนื้อหาส่วนหนึ่งกล่าวถึงภาพยนตร์ ‘ทวิภพ’ ฉบับสุรพงษ์ไว้เช่นกัน

อ.ราเชลตั้งข้อสังเกตว่า แม้ ‘ทวิภพ’ จะพูดถึงอัตลักษณ์ไทยที่ถูกคุกคามโดย ‘ฝรั่ง’ แต่ผู้รับบทเป็นตัวละครเอกของเรื่องอย่าง ฟลอเรนซ์ วนิดา เฟเวอร์ กลับกลายเป็นลูกครึ่งไทย-ฝรั่งเศสเสียเอง (หรืออาจนับรวม นัท มีเรีย ในละครเวที ‘ทวิภพ’ เวอร์ชันล่าสุดด้วยก็ได้)

ด้านหนึ่ง นี่อาจเป็นความย้อนแย้งอันน่าขบขันเมื่อนำภาพลักษณ์ของฟลอเรนซ์ไปเปรียบเทียบกับสารที่มีลักษณะชาตินิยมของหนังเรื่องนี้ แต่ในมุมมองอีกด้านหนึ่ง การที่ผู้สร้างเลือกฟลอเรนซ์มารับบทเป็นมณีจันทร์ก็อาจแสดงจุดยืนให้เห็นว่าสังคมไทยจำเป็นต้องปรับประสานต่อรองกับ ‘ตะวันตก’ และเปลี่ยนแปลงตนเองตามกาลเวลาที่แปรผันไป ด้วยการศึกษาหาความรู้จาก ‘โลกภายนอก’ โดยไม่สร้างผลกระทบเสียหายต่อ ‘แก่นแท้ความเป็นไทย’

ด้วยเหตุนี้ อ.ราเชลจึงเขียนทิ้งท้ายเกี่ยวกับมณีจันทร์เอาไว้ว่า แม้ภาพลักษณ์ภายนอกของตัวละครรายนี้จะเป็นลูกครึ่ง แต่ ‘แก่นแท้ภายใน’ ของเธอที่ถูกแสดงออกมาภายในหนังกลับ ‘เป็นไทย’ อย่างยิ่ง จนอาจวิเคราะห์ว่า ‘ทวิภพ’ ของสุรพงษ์ได้พูดถึงกระบวนการทำ ‘ฝรั่ง’ ให้กลายเป็น ‘ไทย’ มากกว่ากระบวนการทำให้ ‘ความเป็นไทย’ กลายเป็น ‘ฝรั่ง’

ซึ่งสอดคล้องกับความเห็นของอ.พัฒนาที่ระบุไว้ว่า แนวคิดอัสดงคตคดีศึกษาก็คือการหยิบฉวยแนวคิดเรื่อง ‘ฝรั่ง’ (ตามโลกทัศน์ของคนไทย) มาใช้รับมือกับ ‘ตะวันตก’ ผู้ทรงอำนาจ ด้วยการ ‘ปลดเปลื้องความเป็นชาวต่างชาติออกจากฝรั่งเหล่านั้นเสีย แล้วสร้างพวกเขาให้กลายเป็นส่วนหนึ่งในตัวตนของความเป็นไทยสมัยใหม่’

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.