4 ประเด็นน่าสนใจใน “ขวานฟ้าหน้าดำ” (ช่วงเด็ก)

เป็นอันว่า “ขวานฟ้าหน้าดำ 2562” ได้เข้าสู่ช่วงเปลี่ยนผ่านวัยของเหล่าตัวละครหลักเรียบร้อยแล้ว เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

บล็อกคนมองหนังจึงอยากจะขออนุญาตสรุปประเด็นน่าสนใจ 4 ข้อ ซึ่งปรากฏในละคร ช่วงที่ตัวละครนำยังเป็นเด็กอยู่

มิตรภาพระหว่าง “ขวาน” กับ “จ้อย”

จ้อยขวาน

ต้องยอมรับว่าประเด็น “มิตรภาพ” ระหว่าง “ขวาน” กับ “จ้อย” นั้นพบได้ไม่บ่อยนักในละครจักรๆ วงศ์ๆ ทั่วไป

หากคำนึงว่า “มิตรภาพ” ระหว่างทั้งคู่ คือ ความเป็นเพื่อนของชาวบ้านสามัญชน ที่ดำรงผ่านสัมพันธภาพอันเท่าเทียม และต้องต่อสู้ต่อต้านอำนาจ (รัฐ) ที่เหนือกว่าร่วมกัน

ไม่ใช่ความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าชายต่างเมือง, เจ้าชายกับพระพี่เลี้ยง หรือมนุษย์กับอมนุษย์ที่มีศักดิ์ด้อยกว่า ดังที่เรามักคุ้นเคยในละครจักรๆ วงศ์ๆ ส่วนใหญ่

“อำมาตย์แสงเพชร” และเครือข่ายอำนาจ

อำมาตย์แสงเพชร

เท่าที่เคยดูละครจักรๆ วงศ์ๆ มา “อำมาตย์แสงเพชร” น่าจะเป็นตัวละคร “อำมาตย์” ที่มีฤทธิ์เดชพิษสงมากที่สุดรายหนึ่งในจักรวาลของละครประเภทนี้

จากที่ปกติ เรามักจะได้เห็นแต่อำมาตย์ที่รับบทเป็น “ลูกขุนพลอยพยัก” ตลอดจนอำมาตย์ผู้คิดคด/จงรัก ซึ่งไม่สามารถดำเนินกิจกรรมทางการเมืองตามอุดมการณ์ของตนได้ด้วยตัวเอง แต่ต้องพึ่งพาฤทธิ์เดชของตัวช่วย/ตัวละครอมนุษย์-อภิมนุษย์รายอื่น

ที่สำคัญ “ขวานฟ้าหน้าดำ 2562” ยังฉายภาพ “อำมาตย์แสงเพชร” ในฐานะ “นักการเมือง” ได้อย่างสมจริง ผ่านการสร้างเครือข่าย/คอนเนกชั่นอันกว้างขวางซับซ้อนของตัวละครรายนี้ ซึ่งมีพี่เพื่อนน้องเป็นทั้งมนุษย์กา เรื่อยไปถึงนางยักษ์กาขาว

ขณะที่เราจะไม่ค่อยเห็น “ความเป็นนักการเมือง” แบบนี้ ใน “อำมาตย์” ของละครพื้นบ้านเรื่องอื่นๆ สักเท่าไหร่

เทพระดับรอง-ผู้วิเศษ ณ เบื้องล่าง

สุริยะเทพ

น่าสนใจว่าโลกของ “ขวานฟ้าหน้าดำ” นั้นมีเทพหลายองค์ แต่เทพที่มีบทบาทสำคัญๆ ในละครล้วนเป็นเทพระดับรองๆ ทั้งสิ้น

ตัว “ขวาน” เอง ก็มีอดีตชาติเป็น “สุธาเทพ” ผู้ทำหน้าที่ “เทพบริวาร” คอยล้างเท้าให้เหล่าเทวดานางฟ้าบนสรวงสวรรค์

เทพชั้นสูงที่คอยช่วยเหลือ “ขวาน” คือ “สุริยะเทพ” ซึ่งในช่วงต้น ได้รับบัญชาจากพระอินทร์ (มาอีกทอด) ให้ไปปราบพยศ “สุธาเทพ” หลังครอบครองอาวุธวิเศษ

ครั้น “สุธาเทพ” ลงมาเกิดบนโลกมนุษย์ “สุริยะเทพ” ก็รับภาระเป็นผู้คอยดูแลพิทักษ์ “ขวาน” ต่อไป

น่าสังเกตด้วยว่าเทพองค์อื่นๆ หรือผู้วิเศษที่คอยช่วยเหลือ “ขวาน” นั้นมักมีนัยยะที่เชื่อมโยงกับโลกเบื้องล่างหรือชาวบ้านสามัญชน มากกว่าโลกเบื้องบน

เช่น พระแม่ธรณี, นางไม้, เจ้าพ่อเขาเขียว รวมถึงพี่หุ่นฟางจากพระฤาษี

“ความเป็นทหาร-ความเป็นเด็ก”

อำมาตย์โสฬส

“ขวานฟ้าหน้าดำ 2562” ดูจะสร้างภาวะคลุมเครือให้แก่แนวคิดเรื่อง “ความเป็นทหาร” และ “ความเป็นเด็ก” เอาไว้อย่างน่าสนใจ

ในด้านหนึ่ง “อำมาตย์โสฬส” แห่งนครคันธมาทน์ ก็ถูกวาดภาพให้เป็น “ทหารผู้จงรักภักดี” ต่อองค์เหนือหัว

เช่นเดียวกับ “ขวาน” และ “จ้อย” ตอนหนุ่ม ที่ไปอาสารับราชการเป็น “ทหารระดับล่าง” ในบุรีรมย์นคร เพื่อรับใช้ (กอบกู้) บ้านเมือง และสืบข่าวคราวเกี่ยวกับแผนร้ายของ “พระเจ้าแสงเพชร”

แต่อีกด้าน “อำมาตย์แสงเพชร” กับพวกพ้อง ก็ถือเป็น “ทหาร” ผู้ฉ้อฉล มักใหญ่ใฝ่สูง ละโมบโลภมาก และไม่จงรักภักดี

รัก ยม

ขณะเดียวกัน สองกุมาร “รัก-ยม” ที่ “อำมาตย์โสฬส” เลี้ยงเอาไว้ ก็มักต่อว่าต่อขาน “พ่ออำมาตย์” ว่าเป็น “เผด็จการ” เมื่อทั้งคู่โดนสั่งให้ไปทำงานบางอย่างโดยไม่เต็มใจหรือถูกกักขังลงโทษ

นี่คือเสียงแห่ง “ความเป็นขบถ” ของตัวละครเด็กในละครจักรๆ วงศ์ๆ เรื่องนี้

แต่อีกทางหนึ่ง ตัวละคร “นางไม้” ที่เคยช่วยเหลือ “ขวาน-จ้อย” ก็วิพากษ์วิจารณ์เด็กส่วนใหญ่ใน “สมัยนี้” ว่าเป็นพวกที่คิดว่าตนเองเก่งไปหมดเสียทุกอย่าง

นี่คือวิวาทะ/นิยามอันหลายหลากว่าด้วย “ความเป็นทหาร” และ “ความเป็นเด็ก” ที่ปรากฏใน “ขวานฟ้าหน้าดำ”

ขอบคุณภาพประกอบจาก ยูทูบสามเศียร

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.