อภิชาติพงศ์รับรางวัลจากสหพันธ์หอภาพยนตร์นานาชาติ
สหพันธ์หอภาพยนตร์นานาชาติ (ฟิแอฟ – FIAF) ประกาศมอบรางวัล “ฟิแอฟ อวอร์ด 2018” ให้แก่ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล โดยพิธีมอบรางวัลจะมีขึ้นในวันที่ 19 พฤศจิกายน ณ หอภาพยนตร์ ศาลายา
ก่อนหน้านี้ คนทำหนังที่ได้รับรางวัลดังกล่าวมีอาทิ มาร์ติน สกอร์เซซี, อิงมาร์ เบิร์กแมน, ไมค์ ลีห์, โหวเสี่ยวเซี่ยน, อานเญส วาร์ดา, ฌอง-ปิแอร์ และ ลุค ดาร์เดนน์ และ คริสโตเฟอร์ โนแลน
ฟิแอฟระบุว่าอภิชาติพงศ์มีส่วนสนับสนุนการปฏิบัติงานของหอภาพยนตร์ไทยมาอย่างยาวนาน หนึ่งในนั้น คือ การร่วมรณรงค์ให้หอภาพยนตร์แปรรูปเป็นองค์การมหาชนดังเช่นปัจจุบัน ขณะเดียวกัน เขายังสนับสนุนการทำงานอนุรักษ์และบูรณะภาพยนตร์ในหลายประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ครั้งหนึ่ง ผู้กำกับชาวไทยเคยอุปมาว่า “ภาพยนตร์มีความสำคัญในฐานะที่เป็นบทบันทึกทางวัฒนธรรมและเป็นส่วนหนึ่งในความทรงจำของมวลมนุษยชาติ”
อภิชาติพงศ์กล่าวถึงความสำคัญของรางวัลฟิแอฟ อวอร์ด เอาไว้ว่า
“ภาพยนตร์คือส่วนขยายของมนุษย์ ผมรู้สึกชื่นชมฟิแอฟเสมอมา ที่องค์กรแห่งนี้ได้อุทิศตนในการอนุรักษ์ส่วนเสี้ยวหนึ่งของจิตวิญญาณมนุษย์เอาไว้ ดังนั้น ผมจึงรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้รับรางวัลในครั้งนี้
“ในอนาคต คนรุ่นใหม่จะผลิตภาพยนตร์ชนิดใหม่ที่แตกต่างจากเดิมอย่างสิ้นเชิง ภาพยนตร์ของคนรุ่นเขา, ถ้ามันยังคงถูกเรียกว่าภาพยนตร์อยู่, จะเผยให้เห็นถึงวิธีคิด, ความรัก, ความหวาดกลัว หรือความเคลื่อนไหวธรรมดาสามัญอื่นๆ ของพวกเขา
“ขณะเดียวกัน คนรุ่นใหม่เหล่านั้นก็จะได้รับรู้ถึงความเคลื่อนไหวของคนรุ่นเรา ในลักษณะเดียวกับที่พวกเราเคยมีโอกาสรับชมกริยาอาการและรับฟังเสียงหัวเราะของบรรพชนรุ่นก่อน ขอขอบคุณการดำรงอยู่ของฟิแอฟ ผมรู้สึกมีความสุขที่ได้ร่วมโดยสารไปบนเรือแห่งภารกิจสำคัญดังกล่าว”
ด้านเฟรเดริก แมร์ ประธานฟิแอฟระบุว่า ในฐานะคนทำหนัง งานของอภิชาติพงศ์มีความข้องเกี่ยวอย่างลึกซึ้งกับประเด็นว่าด้วยอดีตและความสำคัญของความทรงจำมนุษย์ ขณะเดียวกัน เขาก็สามารถใช้สื่อภาพยนตร์นำเสนอผลงานอันมีเอกลักษณ์โดดเด่นและมีแบบฉบับเฉพาะในทางศิลปะของตนเอง
ทั้งนี้ ในงานมอบรางวัล วันจันทร์ที่ 19 พฤศจิกายน หอภาพยนตร์จะจัดฉายภาพยนตร์เรื่อง “รักที่ขอนแก่น” ของอภิชาติพงศ์
ผู้สนใจสามารถสำรองที่นั่งได้ที่ http://bit.ly/fiaf2018 โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย (แต่ที่นั่งมีจำนวนจำกัด)
ที่มาข้อมูล https://www.fiafnet.org/pages/News/2018-FIAF-Award.html
รู้จัก “เจ้านางจากดวงจันทร์” หนังสารคดีที่รับทุนสนับสนุนจากภูรินทร์ พิคเจอร์ส
กองทุนภูรินทร์ พิคเจอร์ส (Purin Pictures) ประกาศรายชื่อโปรเจ็กท์หนังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จำนวน 5 เรื่อง (หนังเล่าเรื่อง 3 เรื่อง และหนังสารคดี 2 เรื่อง) ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากการมอบทุนในรอบฤดูใบไม้ร่วงปี 2018

หนึ่งในภาพยนตร์สารคดีที่ได้รับทุนสนับสนุนด้านงานโพสต์โปรดักชั่นเป็นเงิน 5 หมื่นเหรียญสหรัฐ คือ โครงการที่มีชื่อว่า “The Lost Princess” (เจ้านางจากดวงจันทร์) โดย “กรภัทร ภวัครานนท์”
หนังสารคดีเรื่องนี้จะสำรวจชีวิตวัย 88 ปี ของ “เจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่” หลานสาวของเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์สุดท้าย ขณะที่กรภัทร ผู้กำกับ มีศักดิ์เป็นหลานยายของเจ้าดวงเดือน และเธอเริ่มต้นโครงการนี้ตอนศึกษาระดับปริญญาโท ณ London Film School
เมื่อครั้งทำการระดมทุนผ่านเว็บไซต์ https://www.kickstarter.com ทางผู้สร้างได้บรรยายถึงเรื่องราวที่จะถูกบันทึก-ถ่ายทอดในภาพยนตร์เอาไว้ว่า
เจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่ เกิดและเติบโตในคุ้มหลวงของเจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ 9 แห่งราชวงศ์ทิพย์จักร และองค์สุดท้ายแห่งนครเชียงใหม่
แม้ในวัย 88 ปี เจ้าดวงเดือน หรือ เจ้ายาย ยังคงเชื่อและปฏิบัติตัวในฐานะเจ้าหญิงตามภาระหน้าที่ของสายเลือดและการเลี้ยงดูที่ได้รับมา แต่ในวัยชราเจ้าดวงเดือนได้รับความเจ็บป่วยจากโรคอัลไซเมอร์ ทำให้เจ้าใช้ชีวิตอยู่กับความทรงจำในอดีต
เจ้าใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ในบ้าน ถ้าไม่นับเวลาที่มีแขกมาเยี่ยมเยียนหรือการถูกเชิญไปเป็นประธานในงานพิธี เจ้าแทบจะไม่ได้ออกไปปฏิสัมพันธ์กับโลกภายนอก
เจ้าดวงเดือนผ่านอะไรมามากมาย ประสบการณ์และความเจ็บปวดสร้างเกราะให้เจ้ากลายเป็นผู้หญิงที่แข็งแกร่งจนไม่แสดงความอ่อนแอทางสีหน้าและอารมณ์ ความแกร่งนี้เปรียบเสมือนรูปปั้น รูปหล่อที่ไม่มีใครล่วงรู้ความรู้สึก แต่คนรอบตัวต่างเคารพบูชา
คนเราจะรักรูปปั้นได้อย่างไร? แล้วรูปปั้นที่ดูน่าเคารพเหล่านั้นจะสัมผัสความรักได้อย่างไร? สำหรับคนธรรมดาอย่างเราๆ ความรักที่มีต่อสายเลือดและราชวงศ์ที่แท้จริงแล้วคืออะไรกันแน่?
กรภัทรอธิบายว่าแรงบันดาลใจของภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้เกิดขึ้นจากเหตุการณ์การเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9
คนไทยหลายรายนิยามความรู้สึกนี้ว่า “ใจสลาย” ประชาชนจำนวนมากต่างพร้อมใจกันแต่งกายชุดดำเพื่อไว้อาลัย ต่างโศกเศร้าเสมือนการสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักในครอบครัว สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าสถาบันกษัตริย์มีความสำคัญกับสังคมไทยมากเพียงใด
ด้วยเหตุนี้ เธอจึงอยากนำเสนอโครงสร้างสังคมไทยที่มีความผูกพันกับราชวงศ์ ผ่านชีวิตของ เจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่ ผู้ใช้ชีวิตระหว่างสองสถานะ คือ เจ้าหญิงจากอาณาจักรที่ล่มสลาย และ สามัญชนธรรมดา
ก่อนหน้านี้ “เจ้านางจากดวงจันทร์” ได้รับทุนสนับสนุนโครงการหรือกิจกรรมด้านภาพยนตร์และวีดิทัศน์ ประจำปี 2561 จากกระทรวงวัฒนธรรม เป็นจำนวนเงิน 3 แสนบาท
www.kickstarter.com/projects/thelostprincess2017/the-lost-princess
เพจเฟซบุ๊ก สำนักเลขานุการภาพยนตร์ และวีดิทัศน์แห่งชาติ