“มา ณ ที่นี้”: “ความเป็นเจ้าของ” “นิทานเปรียบเทียบ” และ “งูปริศนา”

ชวนชมสั้นๆ (สำหรับคนยังไม่ได้ดู)

 

“ปราบดา หยุ่น” มีพัฒนาการการเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ที่ดีขึ้นอย่างชัดเจน หากเทียบกับ “โรงแรมต่างดาว” หนังขนาดยาวเรื่องแรกของเขา ใน “มา ณ ที่นี้” เขาเลือก (หรือจำเป็นต้อง) เล่าเรื่องราวที่มีปัจจัยสลับซับซ้อน (ชวนเถิดเทิง) ลดน้อยลง เช่นเดียวกับจำนวนตัวละครหลักที่เหลืออยู่แค่สองคน นี่คงส่งผลให้ปราบดาสามารถกำกับหนังได้อยู่มือมากขึ้น

– ประเด็นหลักของหนังเรื่องนี้ “เข้าท่า” “คมคาย” “ชัดเจน” ทว่า ก็ชวนให้ขบคิดตีความได้อย่างยืดหยุ่น คนดูหลายรายน่าจะจับได้ไม่ยากเย็นว่าภายใต้ข้อถกเถียงหรือวิวาทะว่าด้วยประเด็น “ความเป็นเจ้าของ” นี่คือ “หนังการเมือง” แต่ใครจะเทียบเคียง “นิทานเปรียบเทียบกว้างๆ” อย่าง “มา ณ ที่นี้” เข้ากับรายละเอียดจำเพาะเจาะจงแบบไหน ก็คงขึ้นอยู่กับมุมมอง-วิธีคิด-ประสบการณ์ของแต่ละคน

– ใน “ความน้อย” ของแทบทุกองค์ประกอบ “มา ณ ที่นี้” มีงานสร้างที่น่าพอใจทีเดียว โดยเฉพาะเรื่องเสียงประกอบ หรือการกำกับภาพก็มีผลลัพธ์ที่ได้มาตรฐาน ไม่ขี้เหร่หรือไม่ได้ดูด้อยราคา

– จุดเด่นสำคัญของหนังอยู่ที่การแสดงของนักแสดงทั้งสองคน คือ “ชญานิษฐ์ ชาญสง่าเวช” และ “พีรพล กิจรื่นภิรมย์สุข” ซึ่งสามารถรับผิดชอบหนังทั้งเรื่องและบทสนทนาอันเต็มไปด้วยรายละเอียดแยบคายได้อย่างดีเยี่ยม ในฐานะผู้ชาย ขออนุญาตชื่นชม “น้องแพต ชญานิษฐ์” ว่านอกจากจะมีฝีมือด้านการแสดงแล้ว น้องยังมีออร่าที่เปล่งประกายเฉิดฉายมากๆ บนจอภาพยนตร์ ใบหน้าของน้องแพตไม่ได้สวยเข้าขั้น perfect แต่ก็เป็นใบหน้าที่เมื่อจ้องมองดูจะรู้สึกเพลิดเพลินจำเริญใจไม่รู้เบื่อ ซึ่งผู้กำกับและผู้กำกับภาพก็เลือกใช้งานข้อดีดังกล่าวอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ด้วยการ “โคลสอัพ” ใบหน้าของนักแสดงสาวผู้นี้เกือบตลอด น่าดีใจ ที่วงการหนังไทยได้ค้นพบดาวรุ่งหญิงสองรายในเวลาใกล้เคียงกัน ตั้งแต่ “น้องจิงจิง” ใน “App War” จนถึง “น้องแพต” ใน “มา ณ ที่นี้”

มา ณ ที่นี้ แพต

วิเคราะห์ยาวๆ (เปิดเผยรายละเอียดและเนื้อหาของภาพยนตร์)

ความเป็นเจ้าของ, ใครคือเจ้าของ, เจ้าของคือใคร

“มา ณ ที่นี้” เปิดฉากมาด้วยวิถีชีวิตช่วงเช้าตรู่ของหญิงสาววัยยี่สิบกว่าๆ คนหนึ่ง ในห้องพักของเธอ

แต่แล้วขณะจะออกไปทำงาน เธอก็ได้พบกับชายบาดเจ็บซึ่งนอนสลบอยู่หน้าห้อง ระหว่างที่เธอโทรแจ้ง รปภ. ชายผู้นั้นก็แว้บเข้าไปนอนบนโซฟาตรงห้องรับแขกเรียบร้อย

สถานการณ์เดินหน้าไปสู่การเปิดฉากบทสนทนาอันยาวนาน (ที่ไหลเลื่อนเคลื่อนไหวประดุจการเล่นเกมชิงไหวพริบบางอย่าง)

ประเด็นหลักของบทสนทนา คือ ระหว่างหญิงชายคู่นี้ ใครกันแน่ที่เป็นเจ้าของห้องตัวจริง?

แรกๆ สถานการณ์ดูเอื้อให้ฝ่ายหญิงสาว (ไม่นับรวมเรื่องรูปลักษณ์ที่น่าเอาใจช่วยของเธอ) มากกว่าชายหนุ่มผู้บุกรุก

แต่ไปๆ มาๆ สถานการณ์กลับเอนเอียงไปทางชายหนุ่ม ผู้รับรู้รายละเอียดทุกอย่างในห้องอย่างถ่องแท้ลึกซึ้ง ผิดกับหญิงสาวที่แทบไม่รู้อะไรเลย แถมหลักฐานยืนยันความเป็นเจ้าของห้องของเธอก็ปลาสนาการไปทีละอย่างสองอย่าง

ณ จุดดังกล่าว ชายผู้บุกรุกกลายเป็นฝ่ายได้รับความเชื่อถือมากขึ้นๆ เขาน่าจะเป็นเจ้าของห้องตัวจริงผู้ถูกแย่งชิงทรัพย์สินไป

แล้วบทสนทนาเชือดเฉือน ก็ค่อยๆ แปรสภาพกลายเป็นการใช้กำลัง

หนังฉายภาพให้เห็นว่าชายผู้นี้สูญเสียห้องของตนเองไปได้อย่างไร รวมทั้งเปิดเผยกระบวนการแย่งชิงห้องกลับคืนมาของเขา

มา ณ ที่นี้ ชาย

สถานการณ์หมุนวนกลับ ชายหนุ่มกลายมาเป็นเจ้าของห้องบ้าง ห้องพักของเขาแลดูมีชีวิตชีวา ดูเป็นพื้นที่อยู่อาศัยของมนุษย์ผู้หนึ่ง มากกว่าสภาพห้องพักเนี้ยบๆ เรียบๆ (แต่หาข้าวของไม่ค่อยเจอ) ของหญิงสาว

ชายหนุ่มแลดูเป็นมนุษย์ที่น่าคบหา เขาเป็นปัญญาชนนักอ่านแน่ๆ เขาเป็นที่รู้จักรักใคร่ของคนในชุมชน/คอนโด “ลิเบอร์ตี้แลนด์” (ผิดกับหญิงสาว ที่ถูกเพิกเฉยจากสมาชิกร่วมชุมชนเหล่านั้น)

คนดูคงพอคาดการณ์กันได้ แล้วหญิงสาวก็เป็นฝ่ายบุกรุกกลับเข้ามาทวงห้องคืนบ้าง อย่างไรเสีย ชายหนุ่มยังเป็นฝ่ายได้เปรียบหรือน่าเชื่อถือมากกว่า

ครึ่งหลังของหนังไม่ได้มีลักษณะ “สมมาตร” กับครึ่งแรก หากสั้นกระชับกว่า และทุกอย่างก็จบลง ทั้งยัง “เปลี่ยนแปลง” ไปด้วยประโยคคำพูดปิดท้ายเรื่องของหญิงสาว

ประโยคดังกล่าวบ่งชี้ว่าหญิงสาวรู้อะไรเกี่ยวกับห้องพักนี้เพิ่มขึ้น จากประสบการณ์ที่มีมากขึ้น เธออาจไม่ใช่ผู้ร้าย ไม่ใช่ผู้บุกรุกดังที่หลายคนเข้าใจ แต่เป็น “เจ้าของใหม่” หรือ “เจ้าของร่วม” ซึ่งต้องอาศัยเวลาในการเรียนรู้สิ่งต่างๆ เพื่อจะได้เป็น “เจ้าของห้อง” ที่ดี เท่าเทียมกับชายหนุ่ม

แน่นอน นี่คือ หนังว่าด้วย “ความเป็นเจ้าของ” และผู้กำกับอย่างปราบดาก็อธิบายไว้ชัดเจนในรอบไทยแลนด์พรีเมียร์ว่า “ชายหนุ่ม” คือ “เจ้าของจริง” ของห้องพัก ขณะที่ “หญิงสาว” จะมีสถานะเป็น “เจ้าของร่วม” มากขึ้นเรื่อยๆ ตามวงจรการแย่งชิงที่ค่อยๆ หมุนวนทับถมกันไป พร้อมพัฒนาการ/พลวัตของสถานการณ์ที่ค่อยๆ ก่อตัวขึ้นทีละน้อย

เมื่อหนังดำเนินไปประมาณครึ่งทาง หลายคนคงเชื่อว่าชายหนุ่มเป็นผู้ถูกกระทำ เป็นผู้ถูกฉุดกระชากพรากสิทธิ์อะไรบางอย่างไป ตรงข้ามกับหญิงสาวที่เป็นผู้แย่งชิง เป็นตัวร้ายน่าไม่อาย และด้อยความรู้-ช่างมโนจนน่าเกลียด

โดยส่วนตัวยอมรับว่า ถึงจุดนั้น ผมแอบตีความ/ใส่รหัสว่าชายหนุ่มน่าจะเป็นฝ่ายประชาธิปไตย/ฝ่ายเสรีนิยม ผู้ถูกกระทำ ส่วนฝ่ายหญิงคงจะเป็นสาวสลิ่มคนเมือง (“รองเท้าเหลือง” อีกต่างหาก) อะไรทำนองนั้น

สถานะความเป็นปัญญาชน ความเป็นที่รักของชุมชน ยิ่งทำให้ผมเชื่อมั่นในตัวชายหนุ่มมากขึ้นไปอีก แม้จะรู้สึกติดใจหน่อยๆ ที่คุณลุงริมสระน้ำผู้อ่านหนังสือพิมพ์มติชน บอกกับชายหนุ่มรายนี้ว่าประเทศเราไม่มีข่าวดีมา 80 กว่าปีแล้ว

ผมติดใจว่า “เอ หรือคุณลุงแกจะไม่โปรประชาธิปไตยรึเปล่าวะ?” (เข้าทำนองหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นต้นมา ประเทศชาติก็มีแต่ความวุ่นวาย)

กระทั่งได้ฟังประโยคปิดท้ายเรื่องจากปากหญิงสาว ผมพลันรู้สึกขึ้นมาว่า

“ฉิบหายแล้ว! ตกลงเธออาจไม่ใช่สลิ่มว่ะ แต่เธอเป็นราษฎรผู้ถูกกล่าวหาว่ายังไม่พร้อมต่างหาก นี่แสดงว่าเราโดนฝ่ายผู้ชายหลอกรึเปล่าวะ?”

(ไม่รวมถึงความรู้สึกที่ว่า “นี่ไง บอกแต่แรกแล้วว่าอยู่ข้างน้องแพตน่ะ ถูกต้องที่สุด 555”)

มา ณ ที่นี้ หญิง

ต้องยอมรับว่าปราบดาวางเงื่อนไขตรงนี้ได้เก่งจริงๆ จนคนดูหลายรายน่าจะเกิดความงุนงงสงสัยลังเลใจขึ้นว่า พวกเขาควรจะเห็นใจหรือสนับสนุนตัวละครฝ่ายไหนมากกว่ากัน? ท่ามกลางสถานการณ์ที่พลิกไปพลิกมาสลับซับซ้อนดังกล่าว

เราอาจตั้งคำถามต่อได้ว่า ชายหญิงคู่นี้คือตัวแทนของความเชื่อต่างฝ่ายอย่างแน่นอนตายตัวหรือไม่? แค่ไหน?

หรือจริงๆ แล้ว นอกจากจะสับเปลี่ยนสถานภาพความเป็นเจ้าของห้อง/ผู้บุกรุก/ผู้กระทำ/ผู้ถูกกระทำ ตลอดเวลา เขาและเธออาจเป็นภาพแทนของคนที่ยังหวั่นไหวโอนไปเอียงมาในทางอุดมการณ์/ความเชื่อด้วย?

หรือหากคิดไกลไปกว่านั้น เขาและเธออาจเป็นภาพแทนของมวลรวมที่เรียกว่า “ประชาชน” ซึ่งมีความคิด ความเชื่อ จุดยืน ท่าทีทางการเมือง ที่หลากหลาย ผสมปนเปกันอยู่?

เขาอาจเป็นทั้งฝ่ายอนุรักษนิยม, ปัญญาชน และเจ้าของสิทธิ์ผู้ถูกโค่นล้ม

เธออาจเป็นทั้งสลิ่มเบาหวิว, ราษฎรผู้กำลังเรียนรู้อะไรเพิ่มเติมขึ้นเรื่อยๆ และเจ้าของสิทธิ์ร่วมผู้ถูกฉุดกระชากสิทธิ์ดังกล่าวไปครั้งแล้วครั้งเล่า

สถานภาพ “ความเป็นเจ้าของ-เจ้าของร่วม” นี้ จึงเป็นสิ่งที่ถูกประกอบสร้าง แต่งเติมเสริมต่อ ยื้อแย่งไปมา ครั้งแล้วครั้งเล่า โดยไม่รู้จบ เหมือนกับภาพอาคารที่กำลังก่อสร้าง ซึ่งอาจเป็นทั้งบริบทแวดล้อมหรือภาพสะท้อนของ “ลิเบอร์ตี้แลนด์” 

นิทานเปรียบเทียบ

มา ณ ที่นี้ โปสเตอร์

ผมรู้สึกสนุกกับการที่ “มา ณ ที่นี้” เลือกจะวางตัวเป็นเหมือน “นิทานเปรียบเทียบ” ซึ่งพยายามรักษาระยะห่างจากสภาพการณ์จริงๆ บางอย่าง (คล้ายๆ โลกจินตนาการที่ถูกปลอมซ้ำ ดังกรณีภาพวาด “The Snake Charmer” ในหนัง) จนเปิดกว้างต่อการตีความ

แต่อีกด้าน ก็หวั่นวิตกอยู่หน่อยๆ ว่า การที่ภาพยนตร์เรื่องนี้ทำตัวเป็น “นิทานเปรียบเทียบ” หรือ “โลกสมมุติ” ทั้งเรื่อง มันจะมีปัญหาอะไรตามมาหรือไม่?

ผมแอบรู้สึกว่า ตราบใดที่คุณภาพของหนังยังไม่สมบูรณ์แบบชนิด 100 เปอร์เซ็นต์ อย่างไรเสีย การทำตัวเป็น “นิทานเปรียบเทียบ/โลกสมมุติ” ที่ห้อมล้อมด้วยบรรยากาศเซอร์เรียล (เกือบ) ตลอดเวลา ย่อมต้องมีจุดที่ “ไม่ค่อยสมจริง” “ไม่ค่อยเมคเซนส์” หลุดรอดออกมาบ้าง

โดยส่วนตัว ผมเห็นว่า ณ จุดเปลี่ยนผ่านจากสถานการณ์สนทนาโต้เถียงไปสู่เหตุการณ์ไคลแม็กซ์ช่วงกลางๆ เรื่องนั้น มีองค์ประกอบบางประการที่แลดูเป็นละครเวทีทำเล่นๆ หนังสั้นที่ไม่เนียน หรือการกระทำที่ไม่จริง ผุดขึ้นมาให้เห็นนิดหน่อย

(ซึ่งบางที สิ่งเหล่านี้อาจเป็นความตั้งใจของผู้กำกับก็ได้ หากคำนึงว่านี่คือเรื่องราวของการสับเปลี่ยนบทบาทการแสดงบางอย่าง ที่มีการโยกฝ่ายย้ายฝั่งอยู่เสมอ จนมิอาจตัดสินได้ง่ายๆ ว่าอะไรจริงหรือไม่จริง)

อาการลักษณะนี้เคยเกิดขึ้นกับ “โรงแรมต่างดาว” และ “In the Flesh” (หนังยาวโดย “ก้อง พาหุรักษ์” ผู้กำกับภาพของ “มา ณ ที่นี้”) เช่นกัน

แต่ดูเหมือนมันจะกำเริบน้อยลงกว่าเดิม (หรือ “อาการดีขึ้นพอสมควร”) เมื่อมาถึง “มา ณ ที่นี้”

(แถมท้าย) ว่าด้วย “งูปริศนา”

บางที สิ่งมีชีวิตที่ดำรงตนอยู่ในห้องพักอย่างต่อเนื่องยาวนานที่สุด อาจจะได้แก่ “งูปริศนา”

มีแนวโน้มว่างูตัวนี้จะผูกพันแนบแน่นกับห้องพักดังกล่าวไม่แพ้/ยิ่งกว่าชายหนุ่มและหญิงสาว ตัวละครหลัก

นี่อาจเป็น “เจ้าของ” อีกหนึ่งรายของห้องพักแห่งนั้น

หรือ “งูปริศนา” และภาพวาด “The Snake Charmer” ซึ่งเป็นเครื่องมือประเมินขั้นต้นว่าใครคือ “เจ้าของห้องที่เหมาะสม” อาจมีสถานะประหนึ่ง “องค์ความรู้สำคัญสูงสุด” ที่คอยทำหน้าที่กำกับ/ควบคุม/ครอบงำชายหญิงคู่นี้ (ตลอดจนความคิด ความเชื่อ ทัศนคติเฉพาะของเขาและเธอ) เอาไว้อย่างแน่นหนา สลัดไม่หลุด!

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.