“BNK48 GIRLS DON’T CRY”: สารคดีเชิงพาณิชย์ศิลป์ที่ลงตัว

หนึ่ง

GDC poster

พิจารณาในภาพรวม แม้นี่จะไม่ใช่งานชั้นดีเลิศของนวพล แต่ก็เป็นหนังสารคดีว่าด้วยนักร้อง/วงดนตรี/วัฒนธรรมดนตรีที่ไม่ขี้เหร่ หนังมีจังหวะสนุกสนาน และมีช่วงเวลาน่าประทับใจ ที่เผยให้คนดูได้สัมผัสถึงบางด้านซึ่งถูกเก็บงำไว้ของตัวศิลปิน

ในฐานะที่ผมไม่ใช่ “โอตะ” ของ “BNK48” จึงเพิ่งมารับรู้แน่ชัดขณะดูหนังว่าคอนเซ็ปท์หลักของไอดอลกรุ๊ปกลุ่มนี้ คือ การมุ่งพัฒนาให้ “เด็กสาวข้างบ้าน” กลายเป็น “ไอดอล”

ด้านหนึ่ง หนังพยายามฉายให้เห็นกระบวนการเปลี่ยนแปลง/เคี่ยวกรำตนเองและฟาดฟันเพื่อนๆ ในวง ของเด็กสาว “BNK48” รุ่นหนึ่ง อย่างเข้มข้น เปี่ยมสีสัน หลากหลายเฉดอารมณ์

สมาชิก “BNK48” ถูกเต๋อแปรสภาพเป็นตัวละครที่มีบุคลิกลักษณะผิดแผกกันไป

สมาชิกชื่อเสียงระดับกลางๆ บางคน กลายเป็น “แหล่งข่าว/แหล่งข้อมูล” ชั้นดีที่คุยสนุก ในภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้

บางคนที่มีจุดอ่อนในเชิงภาพลักษณ์โดยชัดเจนและไม่มีโอกาสได้เป็น “เซ็มบัตสิ” สักที แม้จะมีความพยายามและทีมสปิริตมากมายเพียงไหน ก็แทบจะถูกยกระดับขึ้นเป็น “นางเอกหนังแนวสู้ชีวิต”

ราวกับว่าภาพยนตร์ของเต๋อเป็น “พื้นที่ทางการตลาด” อีกชนิดหนึ่ง ซึ่งถูกจัดวางสร้างสรรค์ขึ้นเพื่อให้สมาชิกชั้น “อันเดอร์” บางคนของ “BNK48” ได้มีตัวตนและบทบาท

น่าแปลกใจว่าสมาชิกบางรายที่มีออร่าในยามปกติ กลับถูกทำให้ค่อยๆ เลือนหายจากหนังเรื่องนี้ (แต่ไปปรากฏตัวในหนังเรื่องอื่น –ซึ่งออกฉาย ณ ช่วงเวลาใกล้เคียงกัน-)

ที่น่าสนใจกว่านั้น เห็นจะเป็นสมาชิกระดับนำไม่กี่คน ซึ่งถูกลดทอนเสน่ห์ลงมากพอสมควร และได้รับการขับเน้นให้มีภาพลักษณ์เป็นมนุษย์ผู้ถูกหล่อหลอมในระบบทุนนิยมจนน่ากลัว (ไม่น่ารัก)

สอง

GDC still

แต่อีกด้าน หากมองจากมุมของคนที่ไม่ใช่แฟนพันธุ์แท้ แถมมิได้ชื่นชมหน้าตา เรือนร่าง บุคลิก วิธีการพูดจา ฯลฯ ของเด็กสาวเหล่านี้สักเท่าไหร่

ระหว่างนั่งชม “GIRLS DON’T CRY” ผมก็อดจะสงสัยหรือค้างคาใจไม่ได้ว่าพวกผู้ชาย (หลายวัย) ที่ตามไปกรี๊ดกร๊าดคลั่งไคล้น้องๆ นั้น กำลังมองหรือประเมินพวกเธออย่างไร?

ทำไมพวกเขาจึงหลงใหลหรือถึงขั้นเทิดทูนบูชา “ไอดอลสาว” กลุ่มดังกล่าว?

พูดอีกอย่างหนึ่งได้ว่า หนังสารคดีเรื่องนี้คล้ายจะขาดแคลนมิติแง่มุมเกี่ยวกับอารมณ์ความรู้สึกหรือทัศนคติของผู้รับสาร/ผู้บริโภค/โอตะ ไปอย่างน่าเสียดาย (ซึ่งอาจเป็นความตั้งใจ-จงใจของผู้สร้าง-ผู้กำกับฯ)

ดังนั้น “อุตสาหกรรม/วัฒนธรรม BNK48” ซึ่งถูกนำเสนอถ่ายทอดออกมา จึงยังไม่สมบูรณ์แบบ/ครบวงจรเท่าที่ควร

สาม

GDC รายได้
ข้อมูลจาก ชมรมวิจารณ์บันเทิง

ปฏิเสธไม่ได้ว่า “GIRLS DON’T CRY” มีสถานะอีกด้านเป็นงานเชิงพีอาร์/ประชาสัมพันธ์ หรือคนในแวดวงสื่อมวลชนอาจมองว่านี่คือ “งานลูกค้า”

ไม่ต่างจากพวก advertorial ในเว็บไซต์ โซเชียลมีเดีย หรือสื่อกระดาษ (ที่เราไม่อยากอ่าน ไม่อยากคลิกดู), คลิปวิดีโอจำนวนมาก (ที่เรารู้สึกว่าโปรโมตสินค้าได้ไม่เนียนเอาเสียเลย) หรืออีเวนต์/กิจกรรมพิเศษ ที่สื่อเจ้าต่างๆ ต้องจัด (ทั้งที่ไม่ตรงกับความสนใจของกลุ่มผู้บริโภคหลักของตัวเอง)

แต่กระนั้น หนังสารคดีของเต๋อ นวพล และ “แซลมอน เฮาส์” ซึ่งมี “BNK48” เป็นคู่ค้า ก็ถือเป็น “งานพีอาร์ชั้นดี” ที่น่าสนใจ

จุดน่าสนใจแรก คือ หนังเรื่องนี้เป็น “งานลูกค้า” ที่มีเนื้อหาสลับซับซ้อน (เรื่องราวบางส่วนอาจมีท่าทีวิพากษ์ลูกค้าผู้ว่าจ้างด้วยซ้ำ) และดูสนุกในระดับหนึ่ง

จุดน่าสนใจกว่า คือ หากพิจารณารายได้สี่วันแรกของหนัง ที่ได้ไป 10.55 ล้านบาท ซึ่งถือว่าเกินมาตรฐานหนังอิสระและหนังสารคดีไทย ทั้งยังมีแนวโน้มจะทำเงินสูงกว่าหนังบันเทิงคดีจากระบบสตูดิโอที่เข้าฉายก่อนหน้า

“GIRLS DON’T CRY” ก็นับเป็น “งานลูกค้า” ที่สามารถเก็บเงินจากกระเป๋าผู้บริโภคได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ

นี่คือลักษณะพิเศษอันผิดแผกจาก “งานลูกค้า” ส่วนใหญ่ในระบบนิเวศของสื่อไทย ซึ่งวงจรมัก “จบลง” แค่เพียงสื่อมวลชนรับเงินของผู้ว่าจ้างมาทำงาน/จัดงาน แต่ไม่สามารถเอาชนะใจหรือดึงดูดกำลังทรัพย์ของผู้บริโภคในวงกว้างได้อีกต่อหนึ่ง

สิ่งที่ “ร้ายกาจสุด” ในกรณีของ “BNK48 GIRLS DON’T CRY” คือ แม้หนังจะไม่ได้เปิดโปงผ่านจอภาพยนตร์ว่าเพราะเหตุใด ผู้คนจำนวนมากจึงหลงใหลพร้อมเทใจและทุ่มเงินให้แก่ “ไอดอลกรุ๊ป” วงหนึ่ง

แต่ใช่ว่าเต๋อ นวพล และทีมงานผู้สร้าง จะไม่รู้ซึ้งถึงวิธีคิด-พฤติกรรมของผู้บริโภคที่ “ภักดี” เหล่านั้น

ตรงกันข้าม พวกเขาเข้าใจและล่วงรู้วิธีกระตุ้นกำลังซื้อของแฟนคลับกลุ่มดังกล่าว อย่างกระจ่างและถ่องแท้