Shoplifters: ทางเลือกที่ 3 จากปัญหา “ครอบครัว” 2 แบบ และ “ดอกไม้ไฟ” ที่มองไม่เห็น

พื้นที่ตรงกลาง? ระหว่าง “สายเลือด” กับ “สายใยสังคม”

shoplifters poster

ชอบท่าทีและประเด็นหลักของหนัง ซึ่งด้านหนึ่ง “ฮิโรคาสุ โคเรเอดะ” กำลังพยายามตั้งคำถามกับเรื่องความสัมพันธ์ “ทางสายเลือด” อยู่แน่ๆ แต่ขณะเดียวกัน หนังก็ไม่ได้โรแมนติไซส์ “สายใย/สายสัมพันธ์ทางสังคม” รูปแบบอื่นๆ ที่เข้ามาก่อร่างสร้าง “ครอบครัว” ทดแทนความสัมพันธ์ชนิดแรก

ดังจะเห็นได้ว่าสายสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกของ “ครอบครัว (ที่เพิ่งสร้าง)” ในหนัง มันมีลักษณะ “สองหน้า” หรือกระตุ้นให้คนดูรู้สึกคลางแคลงใจได้บ่อยๆ (นับแต่ช่วงครึ่งหลังของเรื่องเป็นต้นไป) ว่าตัวละครเหล่านั้นกำลัง “จริงใจ” หรือ “ไก่กา” ต่อกัน?

“สายสัมพันธ์ทางสังคม” อาจทำให้เกิดภาพความทรงจำดีๆ เช่น การจับกลุ่มไปเที่ยวทะเลสุดแสนรื่นรมย์ หรือการที่ผู้หญิงวัยกลางคนรายหนึ่งกับเด็กหญิงวัยไม่กี่ขวบ ที่ไม่ใช่แม่-ลูกโดยสายเลือด ต่างไถ่ถามถึงรอยแผลเป็นจากเตารีดของกันและกัน ด้วยความห่วงใย

แต่อีกด้าน สายสัมพันธ์แบบนั้นก็เชื่อมร้อยเข้าหากันผ่านการปิดบังความจริงบางอย่าง, การขูดรีดซึ่งกันและกัน และการพร้อมจะทอดทิ้งสมาชิกบางคนที่พลาดท่าเสียที

หรือกล่าวให้ถึงที่สุด การลักเล็กขโมยน้อยที่ “ครอบครัว” นี้กระทำเพื่อหาเลี้ยงตนเอง มันก็เป็นสิ่งที่ “ไม่แฟร์” กับหลายๆ คนในสังคม เช่น เจ้าของร้านชำขนาดเล็กๆ ถ้าเราไม่เหมารวม/ตีความใหญ่โตว่าพฤติการณ์ของพวกเขา คือ การต่อต้านระบบทุนนิยมอะไรทำนองนั้น

การตัดสินใจของ “โชตะ” ตอนท้ายเรื่อง จึงเป็นสิ่งที่เจ็บปวดมาก และเป็นเหมือนการแสวงหา “ทางเลือกที่สาม/อื่นๆ” ที่ยังไม่รู้ชัดว่าจะ “ใช่” หรือไม่?

แต่ครั้นจะให้เขาและคนรุ่นราวคราวเดียวกันเติบโตขึ้นมาท่ามกลาง “สายสัมพันธ์หรือเงื่อนไขทางสังคม” แบบในหนัง ชีวิตก็แลดูโหดร้ายและตีบตันเกินไป

(ทำไม “หลิน” ต้องเป็นบัณฑิตมือวิเศษเจริญรอยตามโชตะ? หรือถ้าโชตะอยากขึ้นครูกับ “อากิ” เรื่องราวมันจะชุลมุนวุ่นวายขนาดไหน?)

ที่สำคัญ ผลลัพธ์จากการตัดสินใจไปบุกเบิกอนาคตใหม่ๆ ของโชตะ ซึ่งสั่นสะเทือนถึงปัจเจกบุคคลผู้เกี่ยวข้องแต่ละคนนั้น มันดันไม่เหมือนและไม่เท่าเทียมกัน (ไม่ยุติธรรม) อีกต่างหาก

หรือถ้าคิดให้สุดขั้ว บางทีการใช้ชีวิตอย่างโดดเดี่ยวเดียวดายเฉกเช่นที่ตัวละครหลักทุกรายต้องเผชิญในตอนจบ อาจเป็น “ทางออก” จาก “ปัญหาครอบครัว” ซึ่งทรงประสิทธิภาพ-ประสิทธิผลที่สุด (ทว่า พวกเขาก็ต้องพบเจอกับวิกฤตอื่นๆ อยู่ดี)

ดอกไม้ไฟที่มองไม่เห็น

shoplifters

ผมชอบหลายๆ ฉาก หลายๆ โมเมนต์/สถานการณ์ของหนัง

แน่นอนว่าชอบพวกฉากเที่ยวทะเล, ฉากเด็กวัยแตกเนื้อหนุ่มเริ่มเหล่นม “พี่สาว”, ฉากแผลเตารีด, ฉากฟันน้ำนมหลุดที่มาพร้อมโศกนาฏกรรมสำคัญ

อีกรายละเอียดหนึ่งของหนังที่รู้สึกชอบและสะดุดใจ คือ ภูมิหลังชีวิตรักสามเส้า/ชีวิตครอบครัวของคุณย่า

แต่ฉากที่ชอบมากสุดเป็นการส่วนตัว คือ ฉากคนในครอบครัวมาจับกลุ่มแหงนหน้ามองดอกไม้ไฟหน้าบ้าน โดยที่ผู้ชมภาพยนตร์ไม่ได้เห็นพลุ ทว่าเห็นเพียงกลุ่มตัวละครที่กำลังชะเง้อหน้าจ้องมองพลุบนฟากฟ้าอันมืดมิด (ซึ่งแม้แต่พวกเขาเองก็อาจจะมองเห็นมันไม่ชัดเจนเช่นกัน)

ฉากนี้ทำให้ย้อนนึกถึงประสบการณ์ส่วนตัวตอนอยู่เมืองนอก ช่วงนั้นเป็นวันหยุดยาวคริสต์มาส-ปีใหม่พอดี พวกนักเรียนนักศึกษาต่างชาติมักข้ามไปเที่ยวแถบภาคพื้นทวีป หรือผมก็กำลังจะนั่งรถไฟไปเวลส์

คืนหนึ่งก่อนหน้าจะออกเดินทางไม่นาน ผมแวะซื้อไก่ทอดแถวหอพัก (ทางตะวันออกเฉียงใต้ –และเป็นพื้นที่โซนสอง- ของมหานครลอนดอน) แล้วได้ทักทายกับพนักงานขายที่ค่อนข้างสนิทสนมกัน ซึ่งมีพื้นเพเป็นคนเอเชียใต้

ระหว่างรอไก่ ไอ้เราก็ดันทะลึ่งถามพี่คนขายว่า “นี่ยูมีแผนจะไปเที่ยวต่างจังหวัดหรือต่างประเทศที่ไหนบ้างหรือเปล่า?” ชายชาวเอเชียใต้คนนั้นมีท่าทีตกใจมากเมื่อได้รับฟังคำถามของผม ก่อนจะตอบกลับมา (กึ่งสอน) ว่า

“โอ๊ย! ผมไม่มีปัญญาไปไหนไกลหรอก อย่างมากก็แค่เข้าไปดูเค้าจุดดอกไม้ไฟฉลองตอนเคาท์ดาวน์ปีใหม่ที่ลอนดอนชั้นใน เอาจริง! กะอีแค่ไอ้ลอนดอนชั้นในนี่ ผมยังไม่ค่อยได้เข้าไปเลย”

สุดท้าย ไม่รู้ว่าพี่คนขายไก่เขาจะได้ไปดูดอกไม้ไฟที่ใจกลางมหานครลอนดอนตามความประสงค์หรือเปล่า (เพราะหลังจากนั้นไม่นาน ร้านไก่ทอดแห่งนี้ก็ปิดตัวลง) ส่วนผมก็ไม่ได้เห็นไอ้ดอกไม้ไฟนั่นเหมือนกัน

แต่สิ่งที่ได้ประจักษ์ชัด คือ ข้อจำกัดของมนุษย์ผู้หนึ่ง ซึ่งการดิ้นรนอยากไปดูพลุเฉลิมฉลองเทศกาล ถือเป็นความฝันอันอยู่ไกลแสนไกลเหลือเกิน จากวิถีชีวิตปกติของเขา

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.