หนึ่ง
นี่คือภาคต่อจากคอนเสิร์ต “Rhythm and Boyd” เมื่อต้นปี
โครงสร้างก็คล้ายๆ กับคอนเสิร์ตนั้น คือ ถ้าแบ่งคอนเสิร์ตออกได้เป็นประมาณ 4 ส่วน เพลงจากสตูดิโออัลบั้มชุดสองของ “บอย โกสิยพงษ์” ร่วมด้วยงานเกี่ยวเนื่อง คืออีพีชุด “One” และซิงเกิล “Home” จะไปกองอยู่พาร์ทแรก ส่วนสามพาร์ทหลัง ก็เป็นช่วงเพลงฮิตอื่นๆ ของเจ้าตัว (ในช่วงคาบเกี่ยวระหว่างงานชุดสอง กับ “Million Ways to Love Part 1-2”) ในอารมณ์และวิธีการนำเสนอแบบ “เบเกอรี่ รียูเนียน”
แต่ดูเหมือนบอยและทีมงานจะตระหนักถึงจุดอ่อนของคอนเสิร์ตภาคหนึ่งเมื่อตอนต้นปีพอสมควร พวกเขาจึงเพิ่มเติม-เล่นกับรายละเอียดบางด้าน ทำให้โชว์โดยรวมไม่แบ่งเป็นก้อนๆ อย่างขาดห้วงระหว่างกันจนเกินไป
สอง
อัลบั้ม “Simplified” ของบอย วางแผงในปี 2539 สมัยผมเรียน ม.3
22 ปีผ่านไป พอนึกย้อนถึงช่วงเวลานั้น มันถือเป็นห้วงระยะหนึ่งที่รุ่มรวยและรื่นรมย์มากๆ ในความทรงจำส่วนตัว
แน่นอน ค่ายเบเกอรี่คือทางเลือกอันดับต้นๆ ของวัยรุ่นยุคดังกล่าว ถ้าใครอยากจะแสวงหาเพลงป๊อปไทยรสชาติใหม่ๆ นอกเหนือจากสองค่ายหลัก “แกรมมี่-อาร์เอส”
ณ พ.ศ.2539 วงจากเบเกอรี่ มิวสิค ที่ผมชอบมาก คือ “โยคีเพลย์บอย” และ “โซลอาฟเตอร์ซิกส์” ซึ่ง “พี่โป้” นักร้องนำของวงแรก (ก่อนที่แกจะกลายเป็น “โยคีเพลย์บอย” และ “โยคีเพลย์บอย” จะกลายเป็นแก เหมือนในยุคปัจจุบัน) และ “พี่ปึ่ง-พี่ปิงปอง” สมาชิกหลักของวงหลัง ก็มีส่วนร่วมในงานชุด “Simplified” ด้วย
พี่โป้ร้องเพลง “I’m Free” และ “เที่ยงคืน” ส่วนพี่ปึ่ง-พี่ปิงปอง ร้องเพลง “พยาน”
จริงๆ สามเพลงนี้ไม่ดังไม่ติดหูเท่าไหร่ แต่น่าแปลกดีเหมือนกัน ที่ตอนคอนเสิร์ตเมื่อคืนวันเสาร์ที่ 4 สิงหาคม 2561 ผมกลับร้องตามพี่โป้-พี่ปึ่ง-พี่ปิงปอง ได้แทบทุกประโยคโดยไม่รู้ตัว (และไม่ได้ย้อนกลับไปทำการบ้าน/ฟังงานชุดนี้อย่างจริงจังก่อนจะมาคอนเสิร์ตด้วย)
“นภ พรชำนิ” เป็นอีกคนที่มีบทบาทเยอะมากในอัลบั้มชุดนี้และบนเวทีเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา เวลาผมรู้สึกว่าตัวเองเจอหน้าและฟังเสียงพี่นภบ่อยเกินไป ผมก็จะแก้อาการ “เบื่อ” ด้วยการย้อนนึกไปถึงเพื่อนสมัย ม.3 คนหนึ่ง ที่มันชอบเรียกพี่นภว่า “นภพร ชำนิ”
ที่ผมจำได้ไม่ลืม ก็คือ เพื่อนคนนั้นเคยวิจารณ์อัลบั้ม Simplified แบบขำๆ เอาไว้ว่า “นภพร ชำนิ ร้องเกือบทุกเพลงเลยว่ะ”
ต้องยอมรับว่าระหว่างนั่งชมคอนเสิร์ต และคิดถึงผลงานชุด “Simplified” ความทรงจำของผมยังพรั่งพรูไปสู่เรื่องราวอื่นๆ อีกมากมาย
ผมนึกถึง “เพื่อนเก่า” คนหนึ่ง ซึ่งตัวเองรู้สึกแอบปลื้มเธอตั้งแต่สมัยประถมปลาย ผมเจอหน้าเธอโดยบังเอิญในระยะไกลเป็นครั้งสุดท้าย เมื่อปี 2539 แล้วเราก็ไม่เคยได้พบกันอีกเลย
ผมนึกถึงห้วงเวลาดีๆ ที่ตัวเองในวัย 14-15 ปี ไปหมกตัวอ่านงานประพันธ์ของ “ม.จ.อากาศดำเกิง รพีพัฒน์” ในห้องสมุดโรงเรียน ไล่ตั้งแต่งานดังอย่าง “ละครแห่งชีวิต” จนถึง “ผิวเหลืองหรือผิวขาว” “วิมานทลาย” และ “ครอบจักรวาล”
ผมนึกถึงตัวเองสมัยเรียนห้อง “รองคิง” ตอน ม.3 ซึ่งสอบได้เกือบลำดับสุดท้าย ทั้งที่เกรดเฉลี่ยก็ใกล้ๆ 3.5
ผมนึกถึงตอนตัวเองตัดสินใจเลือกแผนการเรียนสายศิลป์คำนวณ เมื่อกลาง ม.3 เทอมสอง จนโดนครูประจำชั้นและเพื่อนๆ บางคน คัดค้านไม่เห็นด้วย
ผมนึกถึงเพื่อนร่วมห้องสมัย ม.3 คนหนึ่งที่ชอบฟังเพลงเบเกอรี่มาด้วยกัน ขณะนี้ เขาเป็นบล็อกเกอร์ชื่อดัง และเพิ่งตัดสินใจลาออกจากราชการ ก่อนหน้าคอนเสิร์ตหนนี้ไม่นาน
ฯลฯ
สาม
จุดดีๆ ในพาร์ทแรกสุดหรือการโชว์งานเพลงในชุด “Simplified” ของคอนเสิร์ตหนนี้ คือ พี่บอยไม่ได้มาแนวตึงเครียดอัดแน่นจนไม่มีจังหวะพักหายใจแบบคราวคอนเสิร์ต “Rhythm and Boyd”
แกพร้อมจะสลับเรียงเพลงโดยไม่ได้อิงตามลำดับในเทป/ซีดีแบบเป๊ะๆ เช่น พอพี่โป้ขึ้นเวที เขาก็ร้อง “I’m Free” และ “เที่ยงคืน” ติดกันไปเลย ทั้งที่มันคือเพลงที่ 4 และ 6 ในอัลบั้ม
โชว์ยังใช้ประโยชน์จาก “พี่ปั่น ไพบูลย์เกียรติ” ได้ดี คือ แทนที่จะให้แกร้องแค่เพลง “ภาพเก่าๆ” ก็จัดการต่อท้ายเพลงนั้นด้วย “Home” พร้อมมี “พี่ธีร์ ไชยเดช” มาร่วมร้องอีกคน (จนกลายเป็นโมเมนต์น่ารักๆ หวานๆ ประจำงาน)
ตัวพี่บอยเองก็ขยันขึ้นเวทีมาพูดแทรกและสร้างอารมณ์ขันเสริมในพาร์ทแรกของคอนเสิร์ต (ตรงกันข้ามกับเมื่อต้นปี ที่แกแทบไม่โผล่ขึ้นมาแจมในโชว์ส่วนแรกสุด)
สี่
อย่างไรก็ดี มี 3-4 จุดในคอนเสิร์ต ที่ผมรู้สึกว่าน่าเสียดายหรือเห็นว่ามันติดๆ ขัดๆ อยู่บ้าง
จุดแรก เป็นเรื่องความเสียดายเล็กๆ น้อยๆ ที่ในเพลง “เที่ยงคืน” พี่โป้ไม่ได้ร้องกับ “โจอี้ บอย” (ซึ่งคงติดอะไรสักอย่าง) เลยได้ “อุ๋ย บุดดาเบลส” และเพื่อนๆ มาแทน (อันนี้ไม่ได้ตามข่าวใกล้ชิด จึงไม่แน่ใจว่า หรือที่ขึ้นโชว์นั้นคือ สมาชิกบุดดาเบลสยุคปัจจุบัน ก็ไม่รู้?)
จุดสอง ในคอนเสิร์ต “Rhythm and Boyd” มีการปล่อยไม้เด็ด ด้วยการให้พี่นภ และสองพี่น้องแห่งตระกูลศิลาอ่อน มาร้องเพลง “ตัดสินใจ” เต็มๆ เพื่อโปรโมทคอนเสิร์ต “Simplified”
ที่น่าเสียดาย คือ มาถึงคอนเสิร์ตนี้ (ในคืนวันเสาร์) เพลง “ตัดสินใจ” กลับถูกร้องไม่เต็มเพลง
จุดที่สาม ข้อนี้ อาจเป็นความรู้สึกหรือทัศนคติส่วนบุคคล เพราะเห็นหลายคนก็อินหรือซาบซึ้งกันอยู่ คือ ผมรู้สึกว่าพี่บอยพยายามดึงสมาชิกในครอบครัวมาเป็นสาระสำคัญของโชว์มากไปนิด
แน่นอน คนเหล่านี้คือแรงบันดาลใจสำคัญของศิลปินแน่ๆ แต่ผมไม่แน่ใจว่าศิลปินจำเป็นจะต้องทำให้พวกเขามีตัวตนชัดเจน (สุดๆ) ในคอนเสิร์ตด้วยหรือไม่ โดยส่วนตัว ผมเห็นว่ายิ่งคนในครอบครัวศิลปินถูกขับเน้นบทบาท-สถานะ หรือถูกย้ำว่าเป็นบ่อเกิด/จุดกำเนิดของเพลงนี้เพลงนั้นมากขึ้นเท่าไร เพลงดังกล่าวก็จะสูญเสียสถานะ “ความเป็นเพลงป๊อป” ไปอย่างน่าเสียดาย
คือแทนที่เพลงจะมี “ความเป็นนามธรรม” และเปิดกว้างให้คนฟังสามารถสอดแทรกจินตนาการ อารมณ์ ความรู้สึก ความทรงจำ การตีความส่วนบุคคล ใส่ลงไปในบทเพลง (“ฟุ้งกระจาย”) ได้เต็มที่
ตัวตนและเรื่องราวเกี่ยวกับสมาชิกในครอบครัวของศิลปินกลับแผ่ขยายออกกว้างขวางขื้นเรื่อยๆ กระทั่ง “ระงับ” การพยายามมีส่วนร่วมกับเสียงเพลงของคนฟังเอาไว้ซะอย่างงั้น
จุดที่สี่ คอนเสิร์ตหนนี้ มี “พี่ตูน” มาเป็นแขกรับเชิญ ซึ่งผมไม่ติดขัดอะไร แล้วก็ไม่แปลกใจที่แกได้รับเสียงปรบมือต้อนรับดังกึกก้อง โดยไม่ต้องมีใครคอยบิวด์
แต่สิ่งที่ผมติดใจมากๆ คือ ทั้งๆ ที่พี่ตูน (ในวันเสาร์) พยายามจะทำตัวเป็นอดีตวัยรุ่นคนหนึ่งที่ชื่นชอบเพลงพี่บอย ณ ปี 2539 เขาพยายามจะย้อนรำลึกถึงตนเองเมื่อคราวต้องซื้อบัตรราคาถูกสุดไปดูคอนเสิร์ตพี่บอยที่เอ็มบีเค
ทว่ากลับเป็นพี่บอย (และพี่นภ) ที่ดันยึดติดกับสถานภาพ “ก้าวคนละก้าว” ของพี่ตูนในปัจจุบันซะจนน่า “อึดอัด” และทำให้การมีอยู่ของเขาบนเวทีกลายเป็นเรื่องทางการ/พิธีกรรมเกินไปหน่อย (ทั้งที่เจ้าตัวเองเหมือนอยากจะมา “ร่วมสนุก” และ “ผ่อนคลาย” มากกว่านี้)
ห้า
นอกจากได้ฟังการแสดงสดบทเพลงที่พี่โป้และสองพี่น้องสุพรรณเภสัช แทบไม่เคยได้ร้องโชว์ที่ไหนแล้ว
มีอีก 3-4 จุดที่ผมประทับใจมากในคอนเสิร์ตนี้
จุดแรก คือ ได้ฟัง “อยากจะรู้” แบบสดๆ นี่เป็นอีกเพลงที่ตอนเผยแพร่ออกมาในอีพี “One” ผมรู้สึกเฉยๆ แต่พอนานๆ ไป ผมกลับรู้สึกคิดถึงมันเป็นระยะ และสามารถจดจำเนื้อหาของเพลงได้อย่างแม่นยำระหว่างชมคอนเสิร์ต
จุดสอง โชว์สั้นๆ ของ “พี่น้อย พรู” ก็ยังสนุกเหมือนเดิม แกมาเปิดตัวเพลงใหม่จากอัลบั้มเดี่ยวชุดแรก ชื่อ “แด่ศาลที่เคารพ” แน่นอนว่าฟังสดแทบไม่รู้เรื่องเลย (คิดถึงตอนวงพรูเปิดตัวด้วยเพลง “เลือกแบบไหน” ใน “Bakery The Concert”) แต่พอกลับบ้านมาฟังเพลงนี้ในสตรีมมิ่ง ก็พบว่างานใหม่พี่น้อยน่าสนใจทีเดียว
(ฟังได้ที่นี่ http://music.sanook.com/music/song/qUCKcdxjKYMDgNwd2Tdb2w==/lyric/)
จุดที่สาม คือ การปรากฏตัวของ “นาเดีย สุทธิกุลพานิช” โอเค เธออาจไม่ได้ร้างลาเวทีไปเป็นทศวรรษ แต่สำหรับผม นี่เป็นครั้งแรกในรอบกว่าสิบปี ที่ได้ดูเธอเล่นคอนเสิร์ต (ตอนเธอออกมา ผมถึงกับเผลอตัวกรีดร้องด้วยซ้ำ 555)
ระหว่างนาเดียและ “โบว์-จอยซ์” มายืนเรียงกันช่วงท้ายๆ งาน ทำให้นึกได้ว่า เออ! นักร้องวัยรุ่นหญิงค่ายเบเกอรี่/โดโจซิตี้ ยุคต้น 2540 หลายคน (แม้ไม่ใช่ทุกคน) จะมีโครงร่างสูงใหญ่ คือ แม้อาจไม่ถึงขั้นนางงาม-นางแบบ แต่ก็ราวๆ นางเอกอย่างสินจัย, คัทลียา, สิเรียม, มาช่า, หมิว อะไรทำนองนั้น หรืออย่างน้อยที่สุด ทั้งสามคนก็ตัวสูง/โตเกินมาตรฐานเฉลี่ยของ BNK48 ยุคนี้แน่ๆ
นี่คงบ่งชี้ถึง “มาตรฐานความงาม” ที่เปลี่ยนแปลงไป
อีกจุดที่ชอบ ก็คือ คอนเสิร์ตนี้ปิดท้าย (และเชื่อมต่อไปยังคอนเสิร์ต “Million Ways to Love” ต้นปีหน้า) ด้วยการรำลึกถึง “พี่โจ้ พอส” ผ่านการจัดวางแบบเดิมๆ ที่หลายคนคงเดาทางถูก คือ มีพี่บอยมาดีดกีต้าร์-ร้องขึ้นต้นเพลง “รักเธอทั้งหมดของหัวใจ” มีไมค์ว่างๆ อีกตัวมาตั้งทิ้งไว้ แล้วยิงแสงสป็อตไลท์ลงไป ประมวลภาพเก่าๆ ของพี่โจ้เริ่มปรากฏบนจอภาพ ฉับพลัน เสียงร้องของแกก็ดังขึ้น
(ก่อนจะมีพี่ป๊อดมาร้องเพลง “ใคร” ซึ่งเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษดั้งเดิมของเพลงนี้ พี่บอยได้แต่งให้พี่โจ้ในวันที่แกเสียชีวิต)
ทั้งที่เป็นกระบวนท่าเดิมๆ แต่การรำลึกถวิลหาพี่โจ้ยังได้ผลอยู่เสมอ นอกจากนี้ นี่ยังเป็นโทนอารมณ์ที่ผิดแผก/คอนทราสต์กับจากโชว์ส่วนๆ อื่นในคอนเสิร์ต เพราะมันเป็นเรื่องราวความโศกเศร้าสูญเสีย “จริงๆ”
พอพูดถึงความสูญเสีย พี่บอยก็ค่อยๆ ร้อยรัดความสูญเสียเรื่องพี่โจ้เข้ากับเรื่องที่คนใกล้ตัวรายอื่นๆ ของแก ค่อยๆ เสียชีวิตลงไปเรื่อยๆ ตามวันเวลาที่ผันผ่าน
จุดนี้ผมว่า “เวิร์ก” เมื่อโชว์สามารถทำให้บทเพลงและชีวิตของบุคคลสาธารณะ/ศิลปินอีกคนหนึ่ง ค่อยๆ กลืนกลายเป็นเนื้อเดียวกับบรรดาคนใกล้ตัวของศิลปินเจ้าของคอนเสิร์ตอีกที (ตรงข้ามกับการผลักดันเอาเรื่องราวว่าด้วยคนใกล้ตัวเหล่านั้นเป็นโจทย์ตั้งต้น แล้วพยายามลากเพลง-ดึงโชว์เข้าไปหาพวกเขา)
หก
แถมท้ายสองประเด็น
เพิ่งมาตระหนักเมื่อนั่งชมคอนเสิร์ตว่า งานชุด “Simplified” และอีพี “One” นั้นไม่มีเสียงผู้หญิงเป็นเสียงร้องนำเลย กระทั่งพวกเพลงที่ต้องพึ่งพาเสียงร้องนำมากกว่าหนึ่งเสียง ก็ยังใช้บริการนักร้องชายทั้งหมด (พี่บอยเองยังแซวบนเวทีว่า งานในช่วงนั้นของแกมีลักษณะ “วาย”)
อีกข้อ คือ พบว่าคอนเสิร์ตนี้ใช้งาน Impact Exhibition Hall (1) ได้แปลกดี เพราะเขาใช้สถานที่ดังกล่าวในแนวขวาง (งานอื่นๆ ส่วนใหญ่ จะใช้งานในแนวยาว/ดิ่ง) โดยตั้งเวทีติดผนังด้านขวามือ ที่เหลือเป็นสแตนด์ที่นั่งคนดู ส่งผลให้ผู้ชมได้ใกล้ชิดกับนักร้อง-นักดนตรีบนเวทีอย่างน่าทึ่ง (แต่เหมือนจุดเสียจะอยู่ตรงที่นั่งโซนริมๆ ที่คงเห็นภาพการแสดงไม่ชัดเจนนัก จนผู้จัดต้องแจก “ถุงผ้า” ชดเชย)
ขอบคุณคลิปจาก https://www.youtube.com/user/AAATheAnnie