ข้อสังเกตส่งท้าย “บุพเพสันนิวาส”: “ประวัติศาสตร์จะต้องซ้ำ ประวัติศาสตร์จะไม่เปลี่ยน”

ของแถม

วิชเยนทร์

บทกวี “Thirties People (เชื้อไขของการะเกด)” โดย ไม้หนึ่ง ก. กุนที

มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับประจำวันจันทร์ที่ 25 มิถุนายน 2544

กริชเล่มเก่าแม้ถูกขโมยขาย
ตั้งแต่ครั้งพระนารายณ์หลงฝรั่ง
แม้ชุดเกราะโคตรเทียดกร่อนผุพัง
ก็ยังเหลืออีโต้ กูตีเอง
บรรพชนกูช่างมองการณ์ไกล
เห็นด้วยหัวใจอันตรงเผง
อันความซื่อด้วยนิสัยในนักเลง
คนปลิ้นปล้อนคงข่มเหงเข้าสักวัน
โคตรกูจึงไล่แทงพวกมันก่อน
ไม่โอนอ่อนในลิ้นทูตผกผัน
ควบม้าเทศควงกริชเข้าประจัน
มึงสวนยิงยังแน่วฟันจนบรรลัย
กูกำเนิดเกิดมาสามสิบแล้ว
โคตรเหง้าแก้วไม่รู้ป่นอยู่ป่าไหน
ขออัญเชิญพลังงานวิญญาณใจ
มาสิงสู่อยู่ในหัวใจกู
ให้กูกล้าไม่กินแม้กโดนั่น
น้ำอัดลมอยากก็อดแข็งใจสู้
พึ่ง ผัก ข้าว ไข่ น้ำเคย พริกปลาทู
ไม่ซูฮกกับ Americanize

บทกวีสมัยกลางทศวรรษ 2540 ของไม้หนึ่งชิ้นนี้เขียนขึ้นหลังยุควิกฤตเศรษฐกิจ/ยุคไอเอ็มเอฟ ด้วยท่าทีต่อต้านลัทธิทุนนิยม-บริโภคนิยม-อิทธิพลตะวันตก อย่างเด่นชัด (เข้าใจว่าช่วงบั้นปลายชีวิต เจ้าตัวอาจไม่ค่อยชอบ/ไม่เห็นด้วยกับงานในยุคนี้ของตนเองมากนัก)

พอมาย้อนอ่านงานเขียนดังกล่าวอีกทีในปี 2561 จึงพบว่าบทกวีเก่าเมื่อเกือบ 17 ปีก่อน กลับมีองค์ประกอบหลายๆ อย่างที่สอดคล้องกับละครทีวียุคหลังเรื่อง “บุพเพสันนิวาส” อย่างน่าขนลุก

ตั้งแต่ชื่อบทกวีที่พ้องกับชื่อนางเอกในละคร ไปจนถึงสาระสำคัญของตัวบท (ไม่ว่าเราจะเห็นด้วยหรือไม่ก็ตาม)

เท่ากับว่าในขณะที่ตัวละครนำของบุพเพสันนิวาสมีพันธกิจต้องเดินทางย้อนเวลากลับไปอธิบายอะไรบางอย่างในอดีต

บทกวีชิ้นหนึ่งจากอดีตก็สามารถถูกนำมาใช้อธิบายสารของละครโทรทัศน์ยุคปัจจุบัน (ในฐานะสัมพันธบท) ได้อย่างน่าทึ่ง

“ประวัติศาสตร์” ในบุพเพสันนิวาส

จุดเด่นช่วงแรกที่ปรากฏขึ้นอย่างน่าตื่นเต้นเร้าใจในละคร “บุพเพสันนิวาส” คือ การปะทะชนกันระหว่างความเชื่อ/ค่านิยม/วิถีชีวิตของ “อดีต” กับ “ปัจจุบัน”

อาจกล่าวในภาษาสมัยใหม่ได้ว่า อดีตหรืออยุธยาในสมัยสมเด็จพระนารายณ์นั้นถูก disrupt อย่างหนัก (แต่ไม่ถึงกับถูกทำลาย) ด้วยอาการผิดที่ผิดทางผิดฝาผิดตัว ซึ่งก่อขึ้นโดย “เกศสุรางค์” ในร่าง “การะเกด”

นี่ไม่ได้หมายความว่า “ประวัติศาสตร์จะไม่ซ้ำ ประวัติศาสตร์จะต้องเปลี่ยน” เหมือนเพลงพี่ติ๊นา

แต่ “ประวัติศาสตร์” ในบุพเพสันนิวาสช่วงต้น ค่อยๆ ถูกดึงลงจากหิ้ง กระทั่งมิได้เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์สูงส่ง หากสามารถถูกรบกวนป่วนปั่นได้แบบขำๆ

แม้ว่าสถานการณ์หลักๆ ผู้ชนะ ผู้แพ้ในหน้าประวัติศาสตร์ จะยังคงสภาพเดิม ไม่แปรผันก็ตาม

อย่างไรก็ดี ลักษณะเด่นข้อนี้จะค่อยๆ แผ่วหายไป เมื่อละครดำเนินมาถึงช่วงท้าย

ซึ่งการะเกด/เกศสุรางค์ เริ่มตระหนักและพยายามโฆษณาชี้ชวนให้ผู้ชมเชื่อตามเธอว่า โลกในอดีตที่ตัวเองพลัดหลงเข้าไปอยู่ กำลังเคลื่อนหน้า/คลี่คลายไปตามเนื้อหาและโครงสร้างของ “ประวัติศาสตร์นิพนธ์” ชุดหนึ่งที่เธอเคยอ่านพบ ขณะมีชีวิตในโลกปัจจุบัน ทุกกระเบียดนิ้ว!

“ประวัติศาสตร์” จึงยังเป็น “ประวัติศาสตร์” เสมอ และทุกข้อสงสัยหรือข้อถกเถียงในบุพเพสันนิวาสล้วนยุติลงเมื่อการะเกด/เกศสุรางค์อ้างอิงถึง “ประวัติศาสตร์” อันเป็นสัจจะสูงสุด ยากต้านทานประหนึ่งมนต์กฤษณะกาลี

การยอมจำนนต่ออำนาจของ “ประวัติศาสตร์” ในบุพเพสันนิวาส นำไปสู่ปัญหาสองประการ

หนึ่ง

การะเกด 2

เหมือนการะเกด/เกศสุรางค์จะเชื่อมั่นยึดมั่นว่า “ประวัติศาสตร์นิพนธ์” ชุดใดชุดหนึ่งหรือบางชุด คือ “ประวัติศาสตร์” สูงสุดอันเป็นสัจจะ ซึ่งทุกสิ่งทุกอย่างต้องดำเนินไปตามโครงสร้างของมันอย่างมิอาจหลีกเลี่ยงขัดแย้งเป็นอื่นได้

โอเค การรัฐประหารสมเด็จพระนารายณ์ การเข้ามาของฝรั่งเศสและขุนนางชำนัญการต่างชาติอื่นๆ ตลอดจนชัยชนะของพระเพทราชา-หลวงสรศักดิ์ คือ “ความจริงทางประวัติศาสตร์” ที่มิอาจปฏิเสธหรือพลิกหัวกลับหาง

และตัวละครจาก “ปัจจุบัน/อนาคต” เช่น เกศสุรางค์ ก็ไม่มีศักยภาพพอจะไปเปลี่ยนแปลงภาพรวมใหญ่เช่นนั้นได้ นี่เป็นกฎเกณฑ์ร่วมที่หนัง/ละคร/นิยายย้อนอดีตเกือบทั้งหมดต่างยึดถือยอมรับ (อาจมีข้อยกเว้นอยู่บ้าง เช่น ตัวละครในหนัง “เควนติน แทแรนติโน” 555)

แต่ข้อเท็จจริงปลีกย่อยอื่นๆ ที่ลงลึกไปถึงความรู้สึกนึกคิดของบรรดาตัวละครสำคัญ ผู้เป็นปัจเจกบุคคล ในหน้าประวัติศาสตร์นั้น ล้วนขึ้นอยู่กับการ “เขียน/ตีความ” ตามทัศนะหรือจุดยืนที่แตกต่างกันไปของผู้สร้างสรรค์ “ประวัติศาสตร์นิพนธ์” แต่ละชุด

ปฏิกิริยาตอบสนองที่การะเกด/เกศสุรางค์ จะมีต่อความคิด-จุดยืน-การกระทำของบุคคลเหล่านั้น ภายหลังเธอได้มีปฏิสัมพันธ์กับพวกเขาจริงๆ จึงสามารถพลิก/ดิ้นจาก “ประวัติศาสตร์นิพนธ์” ที่เธอเคยอ่านหรือเชื่อถือได้

พระเพทราชาและหลวงสรศักดิ์อาจเป็นผู้ชนะ แต่ความชอบธรรมทางการเมืองของพวกเขาอาจมิใช่ “ความจริงสูงสุด” และการกระทำของพวกเขาอาจไม่ได้ “ถูกต้อง” ไปเสียทุกเรื่อง

และการะเกด/เกศสุรางค์ก็ไม่จำเป็นจะต้องย้อนอดีตกลับไปมอบคำอธิบายใดๆ ที่ช่วยเสริมสร้างความชอบธรรมทุกประการให้แก่พระเพทราชา-หลวงสรศักดิ์

หรือในทางกลับกัน ถ้าการะเกด/เกศสุรางค์อยาก take action ทำนองนั้นจริงๆ ก็น่าตั้งคำถามว่าทำไมเธอจึงไม่ลองย้อนกลับไปอธิบายกระบวนการตัดสินใจทางการเมืองของผู้แพ้ เช่น สมเด็จพระนารายณ์ ฟอลคอน หรือพระปีย์ ฯลฯ บ้าง

ว่าการกระทำและทางเลือกของพวกเขาก่อนจะปราชัย มีความสมเหตุสมผลหรือความจำเป็นอย่างไร

สอง

การะเกด

แม้การะเกด/เกศสุรางค์จะยึดถือเชื่อฟัง “ประวัติศาสตร์นิพนธ์” ฉบับใดฉบับหนึ่งอย่างแน่วแน่ นั่นก็ยังไม่ใช่ “จุดผิดพลาดบกพร่อง” ที่ต้องถูกวิพากษ์วิจารณ์มากนัก

เช่น เธออาจเชื่อว่าพระเพทราชาและหลวงสรศักดิ์มีความชอบธรรมในการก่อรัฐประหาร เธอจึงเชียร์พวกเขา เมื่อพวกเขาประสบความสำเร็จ เธอย่อมรู้สึกดีใจและพลอยโล่งอกตามไปด้วย

แต่สิ่งที่ค่อยๆ บังเกิดขึ้นในช่วงท้ายของละคร และเห็นชัดเจนแจ่มแจ้งในตอนจบ ก็คือ การะเกด/เกศสุรางค์ ดันนำ “ประวัติศาสตร์นิพนธ์” ที่เธอเชื่อว่ามันถูกต้องทุกรายละเอียด มารับใช้/สนับสนุนการก่อรัฐประหารของพระเพทราชาและหลวงสรศักดิ์

จนอาจกล่าวได้ว่ารัฐประหารในละคร/นิยายเรื่องนี้ จะแทบไม่มีความชอบธรรมใดๆ เลย (หรือกระทั่งอาจจะล้มเหลว) หากปราศจากการยืนกรานถึงความถูกต้องเหมาะสมตามวงล้อ “ประวัติศาสตร์” ของมัน จากปากการะเกด/เกศสุรางค์

ไปๆ มาๆ จากการเริ่มต้นเรื่องราวด้วยการหยอกล้อ-ล้อเลียน “ประวัติศาสตร์” ผ่านกระบวนท่า “เทียบเคียง/ยั่วหยอก” ระหว่างอดีตกับปัจจุบัน/อนาคต ทว่ายังไม่ถึงขั้น “แทรกแซง” อดีต

การะเกด/เกศสุรางค์ก็ค่อยๆ ถลำลึก จากบทบาทผู้ดู/ผู้สร้างเสียงหัวเราะครื้นเครงอยู่ห่างๆ ในวงนอก ไปสู่การเป็นผู้มีส่วนร่วมตัดสินใจทางการเมืองหรือผู้ชี้แนะยุทธศาสตร์ในวงใน

เธอกลายเป็นผู้เข้าไป “แทรกแซง” อดีต ด้วยความหวัง/ความทึกทักเข้าใจที่ว่าตนเอง (ในฐานะผู้รู้ “ประวัติศาสตร์”) ควรช่วยผลักดันให้ “ประวัติศาสตร์” ดำเนินไปตามครรลองของมัน (หมายถึง “ครรลองของประวัติศาสตร์นิพนธ์ชุดหนึ่ง”) อย่างเป๊ะๆ หมดจดงดงาม และปราศจากข้อสงสัยคลางแคลงใจใดๆ

พระเพทราชาและหลวงสรศักดิ์ในบุพเพสันนิวาสไม่ควรเป็นเพียงผู้ชนะ แต่ต้องชนะอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด สมเหตุสมผล ใสสะอาด และล่วงรู้ความลับของฟอลคอน ผ่านความช่วยเหลือของศาสดาพยากรณ์ผู้หยั่งรู้อดีต-ปัจจุบัน-อนาคต ซึ่งไม่ใช่พระเจ้าเบื้องบนที่ไหน ทว่าเป็นหญิงสาวชนชั้นกลางเนิร์ดๆ คนหนึ่งที่หลุดมาจากอีกยุคสมัย

การะเกด/เกศสุรางค์มิได้ “แทรกแซง” อดีต เพื่อทำให้ (มุมมองต่อ) “ประวัติศาสตร์” เปลี่ยนแปลงไป แต่เธอได้ “แทรกแซง” อดีต เพื่อทำให้ “ประวัติศาสตร์” อยู่ในรูปรอยของ “ประวัติศาสตร์นิพนธ์บางฉบับ” อย่างหยั่งลึกและหนักแน่นยิ่งขึ้น

“ประวัติศาสตร์จะต้องซ้ำ ประวัติศาสตร์จะไม่เปลี่ยน” บางทีนี่อาจเป็นบทเพลงที่เหมาะสมคู่ควรกับการะเกด/เกศสุรางค์ และบุพเพสันนิวาส

 

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.