โน้ตสั้นๆ ถึง “ฉากและชีวิต” อีกเฉดสีของหนังชนบทไทยร่วมสมัย

หนึ่ง

พลอย ซันนี่

จะว่าไปแล้ว “ฉากและชีวิต” มีความคล้ายคลึงกับ “Die Tomorrow” ของ “นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์” อยู่ไม่น้อย

ทั้งสองเรื่องนำเสนอ “ห้วงขณะสั้นๆ” ในส่วนเสี้ยวชีวิตของตัวละครหลายคนหลากกลุ่มเหมือนๆ กัน ผิดแต่เพียงว่าขณะที่ “Die Tomorrow” พูดถึงประเด็น “ความตาย” อันเกี่ยวพันกับตัวละครที่ส่วนใหญ่เป็น “คนเมือง” “ฉากและชีวิต” กลับเล่าถึงภาวะล่มสลายแตกกระจายของชุมชนแห่งหนึ่งในพื้นที่ชนบท

สอง

29133461_1737246726338587_3294371866017267712_n

“ฉากและชีวิต” เป็นหนังไทยที่เล่าเรื่องของสังคมชนบท แต่บุญส่งมิได้นำเสนอภาพของชุมชนหมู่บ้านที่สมาชิกจำนวนมากมีสายสัมพันธ์แน่นแฟ้นลึกซึ้ง (ไม่ว่าจะในด้านบวกหรือลบ)

นอกจากนั้น หนังยังมิได้นำเสนอภาพแทนของหมู่บ้านชนบท ซึ่งสามารถปรับตัวเข้ากับกระแสโลกาภิวัตน์หรือสังคมไทยยุค 4.0 ได้อย่างกลมกลืน

อาจพอสรุปความได้ว่า “ฉากและชีวิต” มีความแตกต่างอย่างสำคัญจาก “ไทบ้าน เดอะซีรีส์” หนังชนบทอีสานเรื่องเด่นแห่งทศวรรษ 2560

“บ้านวังพิกุล” ของบุญส่ง แทบจะกลายเป็น “ชุมชนจินตกรรม” ที่กอปรขึ้นจากปัจเจกบุคคลผู้โดดเดี่ยว แปลกแยก สับสน และถูกรายล้อมด้วยปัญหานานาชนิด

ชาวบ้านแต่ละรายอาจมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมชุมชนคนอื่นๆ บ้าง แต่ถึงที่สุดพวกเขาก็มีระยะห่าง มีความเข้าใจผิด คอยคั่นกลางระหว่างกัน โดยสายสัมพันธ์ที่คล้ายจะราบรื่นลงตัวมักเกิดขึ้นในวงจรเชิงพาณิชย์ระหว่างผู้ขายกับผู้ซื้อเพียงเท่านั้น

ไปๆ มาๆ ความหวังน้อยนิดในหมู่บ้านแห่งนี้ดูจะอยู่ที่การประกอบธุรกิจอาหารตามสั่งเพื่อรองรับวิถีชีวิตอันแปรเปลี่ยนของผู้คน และการอุปถัมภ์ค้ำจุนชั่วครั้งคราว (จากพระสงฆ์และคุณลุงผู้ใส่เสื้อยืดไทยรักไทย) ที่เกิดขึ้นกับชายผู้ขับรถกระบะตามหาเมีย

แม้แต่การหวนกลับมาโหยหาอารมณ์โรแมนติกของพ่อลูกจากเมืองหลวง ก็พลิกผันกลายเป็นอะไรที่โรแมนติกไม่ออก เมื่อลูกกินอาหารรสมือพ่อ (ตามสูตรของย่า) ไม่ลง และพ่อต้องออกคำสั่งให้ลูกกล้ำกลืนมันลงไปด้วยท่าทีเผด็จการ

เหล่านี้คือความเศร้าสลด รันทด หดหู่ ที่ความล่มสลายของปัจเจก ค่อยๆ แพร่ขยายไปสู่ความล่มสลายของครัวเรือนและชุมชน

ภาวะดังกล่าวผลักดันให้บรรดาหนุ่มสาวรุ่นใหม่ต้องอพยพเข้า กทม. ไล่ตั้งแต่หญิงสาวตอนต้นเรื่องและหญิงสาวอีกรายช่วงท้ายเรื่อง ไม่นับรวมบรรดาเด็กหนุ่มติดเกม-โทรศัพท์สมาร์ทโฟนทั้งหลาย (หรือกระทั่งเด็กโข่งประจำโรงเรียน) ที่มีวี่แววว่าจะอดทนใช้ชีวิตอยู่ในหมู่บ้านแห่งนี้ไปได้อีกไม่นานนัก

แม้การเดินทางเข้าเมืองหลวงจะเต็มไปด้วยความเสี่ยงใหม่ๆ แต่นั่นก็อาจเป็นหนทางหลักที่จำเป็นต้องเลือกเดิน

ไม่ต่างอะไรจากเรื่องเล่าในนิทานของชายหนุ่มในฉากแรกสุด ว่าด้วยกระต่ายน้อยที่ลืมปฏิบัติกิจวัตรประจำวันของตน อันได้แก่ การกินผักบุ้งในบ้าน

เมื่อออกเดินทางไกลแล้วท้องหิว มันจึงต้องลงไปหาผักบุ้งกินข้างทางอย่างที่ไม่เคยทำมาก่อน นั่นคือ หนทางอยู่รอดเดียว ซึ่งชักนำเจ้ากระต่ายให้กลายเป็นเหยื่ออันโอชะของงูเหลือม

สาม

ไทบ้าน 4

หากเทียบเคียงกับหนังของคนหนุ่มในจักรวาล “ไทบ้านฯ” ผู้ชมอาจรู้สึกว่าบุญส่งเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ที่มองโลกในแง่ร้ายเหลือเกิน

กระทั่งหนังของเขาต้องตกอยู่ภายใต้ข้อจำกัดที่เจ้าตัวเองก็รับทราบ คือ ชาวบ้านชนบทไม่ได้รู้สึกสนุกด้วย และมีฐานคนดูเพียงกลุ่มเล็กๆ ซุกซ่อนอยู่ในเมือง (แถมยังมิได้ตั้งเป้าสร้างสรรค์ผลงานเพื่อส่งเข้าร่วมเทศกาลระดับนานาชาติเสียอีก)

แต่ต้องไม่ลืมว่านี่คือการมองโลกจากสายตาของชายวัยกลางคน ที่ผ่านการบวชเรียนจนเป็นมหาเปรียญ ก่อนจะจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยอันดับต้นๆ ของประเทศ และใช้ชีวิตคลุกคลีอยู่ในอุตสาหกรรมภาพยนตร์, สังคมชนบท และประเทศชาติ ซึ่งไม่ได้มีแนวโน้มจะพัฒนาไปสู่เส้นทางอันดีงามขึ้นเลยตลอดสิบปีให้หลัง

อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าบุญส่งจะผลิตงานโดยปราศจากความคิดมุมบวกและพลังสร้างสรรค์ เพราะอย่างน้อย เขาก็เชื่อมั่นในพลังของเทคโนโลยีดิจิตอล ว่านวัตกรรมดังกล่าวจะช่วยให้คนธรรมดาสามารถเล่าเรื่องราวความจริงอันปกติสามัญผ่านสื่อภาพยนตร์ได้ง่ายดายและมากมายยิ่งขึ้น

หากใครอยากลองชมอีกหนึ่งเฉดสีของหนังชนบทไทยร่วมสมัยที่มีทุนสร้างไม่สูงนัก ใช้เทคนิควิธีการไม่สลับซับซ้อน แต่นำเสนอประเด็นชวนขบคิด ผ่านงานด้านภาพที่ดี และการแสดงอันสดดิบจริงใจ

คุณไม่ควรพลาด “ฉากและชีวิต”

อ่านบทความเต็มได้ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 30 มีนาคม 2561 หรือในเว็บไซต์ matichonweekly ช่วงต้นสัปดาห์หน้า

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.