บันทึกถึง “ไทบ้าน เดอะซีรีส์ 2.1”

หนึ่ง

ชอบที่หนังเปิดเรื่องและปิดเรื่องด้วยเหตุการณ์โศกนาฏกรรม (การเสียชีวิตของสมาชิกชุมชน/คนใกล้ชิดของกลุ่มตัวละครหลัก) โดยส่วนตัว รู้สึกว่านี่เป็นจุดที่ทำให้หนังเดินทางไปไกลจากภาคแรกพอสมควร คือ เหมือนเป็นการประกาศชัดๆ ว่า หนังในภาค 2.1 และ 2.2 จะเล่าเรื่องราวชีวิตของชาวบ้านอีสานร่วมสมัย ไม่ใช่แค่ถ่ายทอดความรัก-อาการอกหัก เจืออารมณ์โรแมนติก-แฟนตาซีของหนุ่มสาวชาวอีสานรุ่นใหม่เท่านั้น

สอง

จักรวาลไทบ้าน

สำหรับผม จุดเด่นสำคัญใน “ไทบ้านฯ 2.1” ซึ่งเห็นชัดเจนมากขึ้นกว่าภาคแรก ก็คือ การนำเสนอถึงภาวะที่ตำแหน่งแห่งที่เกือบทั้งหมดของผู้คนในชุมชน/หมู่บ้าน มัน “ไถล” ออกจากจุดเดิมๆ หรือความคาดหวัง-เข้าใจของคน (ดู) ส่วนใหญ่

ในภาคนี้ “ครูแก้ว” ครูสาวคนสวยในหนัง ไม่ได้ทำหน้าที่ครูสักเท่าไหร่ (ในหนังภาคแรก เรายังเห็นเธอทำงานที่โรงเรียน แต่ซีนทำนองนั้นไม่ปรากฏออกมาเลยในหนังภาคล่าสุด)

บทบาทหน้าที่สำคัญของครูแก้วได้เคลื่อนเปลี่ยนกลายมาเป็น “คู่นอน-คนรัก” ของไอ้หนุ่มไทบ้าน (จนโดนเด็กนักเรียน/น้องชายแฟน ไปจนถึงผู้ใหญ่บ้าน แซวเอาซ้ำแล้วซ้ำเล่า)

ส่วนพระบวชใหม่ เช่น “พระเซียง” ก็บอกชัดเจนว่าตัวเองไม่ได้มาบวชเพื่อนิพพาน หรือเพื่อเป้าประสงค์ในเชิงธรรมะ แต่เขาออกบวชเพื่อหลบหนีจากความรักที่ผิดหวัง (ซึ่งท้ายสุด ก็หนีไม่พ้น แถมสถานการณ์ยังย่ำแย่ลงกว่าเก่า)

นอกจากนี้ เรายังได้เห็นพระเซียงทำหน้าที่อะไรหลายๆ อย่างในเชิงตลกขบขัน (และในเชิงการค้าพาณิชย์เพื่อช่วยเพื่อน) โดยไม่ข้องเกี่ยวกับเรื่องราวทางศาสนาซักเท่าไหร่ (รวมถึงการตกเป็นเป้าที่ถูกแกล้ง/รังแก ทั้งจากคนบ้าและเด็กในชุมชน)

กระบวนการสตาร์ทอัพธุรกิจสโตร์ผักของ “ป่อง” ก็ส่งผลให้สถานภาพของอีลีทในชุมชนเคลื่อนจากจุดเดิมอีกเยอะแยะ

เขาทำให้ครูใหญ่กลายมาเป็นพาร์ทเนอร์ธุรกิจ หรือมีการชักชวนตำรวจ (และพ่อของอดีตกิ๊กเพื่อนสนิท รวมถึงเขยฝรั่งรุ่นใหญ่ในชุมชน) มาร่วมลงทุน

ที่เด็ดขาดสุด คือ การที่ป่องเปลี่ยนแปลงพื้นที่วัดให้กลายเป็น “เวิร์คกิ้งสเปซ” (จุดนี้ ตามความเห็นส่วนตัว นับเป็นการจัดการพื้นที่ที่ “ร้ายกาจ” กว่าไอ้แผนจัดแบ่งที่ดินและธุรกิจสโตร์ผักของเขาเสียด้วยซ้ำ)

เช่นเดียวกัน ภารโรงในหนังภาคที่แล้วอย่าง “จาลอด” ก็กลายมาเป็น “ผู้ช่วยนักธุรกิจ” ซึ่งเป็นหนึ่งในมุขฮาสุดของหนังภาคนี้ นี่คือ ตำแหน่ง/หน้าที่ที่บางครั้งก็มีประโยชน์ บางหนก็นำไปเบ่งได้ แต่หลายครั้งก็ไม่รู้ว่าจะมีไว้เพื่อทำอะไร แถมบางหน การดำรงอยู่ของจาลอด (และทรัพย์สมบัติของเขา เช่น มอเตอร์ไซค์) ก็กลายเป็นอุปสรรคขัดขวางความเจริญก้าวหน้าของแผนธุรกิจซะงั้น

นอกจากนี้ เรายังพบเห็นสถานะของตัวละครอีกหลายรายที่ “เคลื่อน” ออกนอกลู่ทาง การกลายเป็นคนบ้าของ “โรเบิร์ต” ก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่ง

เขยอีสานอย่าง “เฮิร์บ” ก็เริ่มมีสถานภาพระหว่างอดีต-ปัจจุบัน เมืองนอก-เมืองไทย ที่คลุมเครือสับสน (หรือแม้แต่แค่อยากจะทำตัวเป็นพ่อ/ผัวที่ดี มันก็ยังถูกใช้ให้ไปทำนู่นนี่อย่างอื่น ทั้งส่งน้องเมียเข้าหอ หรือพาไอ้ป่อง-จาลอด ไปดูที่ดิน)

“ไอ้หนุ่มส่งพิซซ่า” ในหนัง ก็ไม่เคยทำหน้าที่ส่งพิซซ่าแต่อย่างใด

หากดูหนังด้วยวิธีการมองโลกแบบเดิมๆ เราอาจรู้สึกว่าตัวละครใน “ไทบ้านฯ 2.1” ช่างอยู่ผิดที่ผิดทางผิดฝาผิดตัวไปเสียหมด

แต่ถ้าลองปล่อยใจไปตามชีวิตของผู้คน และชีวิตของชุมชนภายในภาพยนตร์ ความผิดแผกทั้งหลายเหล่านั้น ก็อาจหมายถึงชีวิตคน-ชีวิตชุมชนที่ผันแปรเปลี่ยนแปลงไป จนยากจะประเมินหรือทำความเข้าใจจากกรอบคิดเดิมๆ

สาม

ไทบ้าน 3

ประเด็นเล็กๆ ที่โดยส่วนตัวรู้สึกว่า “จุกที่สุด” คือข้อขัดแย้งเรื่อง “ข้าวเหนียว-ข้าวเจ้า” ในครัวเรือนของจาลอด

นี่เป็นความขัดแย้งที่เกิดจากความเคยชินกับ “ข้าวเหนียว” ของยายและ “ไอ้มืด” น้องชายจาลอด กับการแวะเวียนเข้ามาใช้ชีวิตอยู่ในบ้านของ “ครูแก้ว” ซึ่งเป็นคนเมือง

จนสุดท้าย จาลอดต้องแสวงหาทางออกกลางๆ ประนีประนอม ด้วยการหุง “ข้าวเหนียว” กับ “ข้าวเจ้า” รวมกันซะเลย

แม้ความขัดแย้งข้อนี้จะยังไม่ได้ถูกขยายประเด็นออกไป แต่มันก็เหมือนจะไม่ได้ยุติหรือสงบลงอย่างสมบูรณ์ ด้วยวิธีการแก้ปัญหาข้างต้น

สี่

ไทบ้าน 4

ถ้าคิดต่อจากข้อ “สอง” และ “สาม” จะเห็นได้ว่า เมื่อ “ไทบ้าน เดอะซีรีส์” ดำเนินมาถึงภาค 2.1 คอนเซ็ปท์ “บ้าน-วัด-โรงเรียน” ที่หนังฉวยใช้มาตั้งแต่ภาค 1 นั้นยิ่งขยับตัวออกห่างจากคอนเซ็ปท์เดียวกันของภาครัฐมากขึ้นทุกที

“บ้าน” ในหนังภาคนี้ มีความขัดแย้งหลายๆ ระดับ ตั้งแต่พ่อกับลูก (ผู้ใหญ่บ้านกับป่อง) จนถึงพี่กับน้อง (จาลอดกับมืด) หรือคนในกับคนนอก ที่ปรากฏผ่านการหุงข้าว

ยังไม่นับว่า “บ้าน” คือ บ่อเกิดของโศกนาฏกรรม การปล่อยคนแก่ไว้คนเดียวในบ้านไม่ใช่เรื่องปลอดภัยหรือการช่วยรับประกันความสบายใจให้แก่ลูกหลาน เช่นเดียวกับการตั้งต้นชีวิตครอบครัวของหนุ่มสาวที่อาจไม่สวยสดงดงามเสมอไป

“วัด” ก็ไม่ได้เป็นเพียงแหล่งเผยแพร่คำสอนทางศาสนาหรือสถานที่ทำบุญ วัดกลายเป็นศูนย์รวมปัญหาต่างๆ นานา เมื่อคนมีปัญหาต่างหนีมาพึ่งวัด หรือถูกนำมาปล่อยวัด (ตั้งแต่พระเซียง ป่อง จนถึงโรเบิร์ต)

“โรงเรียน” ไม่ใช่สถานที่ของ “ครูใหญ่” (ซึ่งมาร่วมลงทุนในกิจการสโตร์ผัก) และ “ครูน้อย” ที่ขลุกอยู่กับจาลอดเป็นหลัก แต่โรงเรียนในหนังภาคนี้ กลายเป็นจุดก่อความรักแบบ puppy love ของไอ้มืดกับหัวหน้าห้องสาวสวย

สถานที่/พื้นที่อย่าง “บ้าน-วัด-โรงเรียน” ก็ไม่ต่างอะไรกับสถานภาพของผู้คนในชุมชน ที่ล้วนขยับขับเคลื่อนออกจากจุดเดิมๆ ซึ่งเคยอยู่เคยเป็น

อาจกล่าวได้ว่า “ไทบ้าน เดอะซีรีส์ 2.1” นำเสนอเรื่องราวว่าด้วย “หมู่บ้านอีสาน” หมู่บ้านที่ยังมีโครงสร้าง และมีสมาชิกชุมชนโลดแล่นอยู่ภายใน

แต่ “โครงสร้าง” ของสังคม และ “หน้าที่” ของผู้คนนั้น กลับถูกผลัก ถูกดัน ถูกบิด ถูกผัน จนไม่สามารถคงรูปลักษณ์-รูปแบบความสัมพันธ์ดั้งเดิมได้อีกต่อไป

ห้า

ไทบ้าน 5

มีเพื่อนนักดูหนังจำนวนหนึ่งพูดถึงหลายๆ ฉากในหนัง ที่อาจไม่ได้ส่งผลต่อโครงเรื่องรวมๆ ของภาพยนตร์ แต่มันกลับมีความดีงามโดยตัวของมันเอง ในแง่การจับภาพเศษเสี้ยววิถีชีวิตของชาวบ้านคนเล็กคนน้อย

ทั้งฉากต่างๆ ในบริเวณร้านเจ๊สวย ฉากว่าด้วยการดำเนินชีวิต/ความฝันส่วนตัวของเฮิร์บและจีนูน ฯลฯ

หรือในส่วนของผม ก็ชอบพวกฉากการออกไปเล่นของไอ้มืดกับแก๊งเพื่อนๆ เด็กผู้ชาย (การเป่าลูกดอกยิงปลา พอมาอยู่ร่วมกับการใช้สมาร์ทโฟน หรือความฝันเรื่องการซื้อมอเตอร์ไซค์แล้ว มันดูเข้าท่าดี) และฉากที่ที่นอนจาลอด-ครูแก้ว สกปรกมีแมลงสาบ (จนครูมีอาการคัน ต้องไปหาหมอปลาวาฬ)

ผมรู้สึกว่าไอ้ส่วนเสี้ยวเหตุการณ์ต่างๆ (ที่จบในตัว) ซึ่งถูกเรียงร้อยผูกมัดขยำรวมกันเป็น “ไทบ้านฯ 2.1” นั้น คือ ภาพสะท้อนที่ดีมากๆ ของวัฒนธรรมการชมยูทูบและวัฒนธรรมเสพข่าวออนไลน์แบบไทยๆ

หลายๆ เหตุการณ์ย่อยในหนัง มีเนื้อหา-อารมณ์ ที่ใกล้เคียงกับโครงเรื่องที่แลดูซ้ำซากจำเจ ซึ่งมักปรากฏในคลิปสไตล์ยูไลก์ คลิปเหตุการณ์/เอ็มวีหลายล้านวิวในยูทูบ ตลอดจนข่าวชาวบ้านแนวเว็บ/เพจข่าวสด

คลิป/ข่าวทั้งหลายนี้ มีชีวิตของชาวบ้านปรากฏอยู่ในหลากหลายแง่มุม เรื่องดีๆ งามๆ อาจมีไม่มากเท่าเหตุอาชญากรรมสะเทือนขวัญ เรื่องลามกจกเปรต เรื่องเล่นหัวเฮฮา เรื่องการใช้เวลาว่างอย่างไร้แก่นสาร (เพราะไม่รู้จะไปทำอะไรดี) หรือเรื่องความต้องการจะบริโภคสินค้าบางชนิด เพื่อก่อร่างสร้างตัวตนให้แก่ตัวเอง ฯลฯ

“ไทบ้าน เดอะซีรีส์ 2.1” คืออีกหนึ่งผลลัพธ์ของวัฒนธรรมแบบดังกล่าว วัฒนธรรมที่มีความหมาย ทรงพลัง และได้รับความนิยมจากมวลชนกลุ่มใหญ่ในระดับมหาศาล

ถ้าอยากเข้าใจสังคมไทยในภาพกว้าง ก็ควรจะต้องเข้าใจมวลชนกลุ่มนี้ และรู้สึกสนุก (ไม่มากก็น้อย) ไปกับวัฒนธรรมการเสพสื่อของพวกเขา

หรือแม้แต่ประเด็นการ “ไถล” ของสถานภาพดังที่กล่าวไปในช่วงต้น ผมก็เห็นว่ามันไม่ต่างอะไรกับบรรดาตัวละครในข่าวดราม่ากรณี “หวย 30 ล้าน” ที่ทุกคนมาปะทะกันผ่านการแย่งชิงหวยรางวัลที่หนึ่ง ด้วยสถานะคู่ขัดแย้ง-คนพูดจริง-คนพูดลวง ไม่ใช่ในสถานะของตำรวจ ครู แม่ค้าสลาก ฯลฯ ซักเท่าไหร่

หก

ปริม

ครูแก้ว

สำหรับตัวละครสาวๆ ในเรื่อง ผมชอบน้องปริม-ครูแก้ว-เจ๊สวย (คนหลังสุด รูปหายากจัง) ตามลำดับ

ส่วนจีนูน เกือบชอบแล้ว แต่กลัวไฝเธอ 555 ขณะที่น้องหัวหน้าห้อง ขอตามดูภาคหน้าอีกหน่อย แล้วค่อยตัดสินใจ

1 Comment

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.