“อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล” ผู้กำกับรางวัลปาล์มทองคำชาวไทย กำลังมีโปรเจ็คท์ใหม่ชื่อ “SLEEPCINEMAHOTEL” ในเทศกาลภาพยนตร์รอตเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ โดยจะเป็นการนำเอาจอภาพยนตร์มาติดตั้งรายล้อมผู้ชม ณ สถานที่ซึ่งถูกจัดสร้างขึ้นเป็นโรงแรมชั่วคราว (ดัดแปลงจากศูนย์การประชุมแห่งหนึ่ง)
โปรเจ็คท์โรงแรมชั่วคราวดังกล่าวจะเปิดทำการระหว่างวันที่ 25-30 มกราคมนี้ โดยมีเตียงเดี่ยวและเตียงสองชั้นให้ผู้เข้าพักใช้บริการ พร้อมด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ เช่น ห้องอาบน้ำและอาหารเช้า ขณะที่ภาพเคลื่อนไหวในจอรูปทรงวงกลม ซึ่งจะช่วยขับกล่อมแขกๆ ก่อนเข้านอน ก็จะถูกติดตั้งอยู่ ณ พื้นที่แห่งเดียวกัน และมีการแพร่ภาพตลอด 24 ชั่วโมง
สำหรับภาพเคลื่อนไหวที่จะนำมาจัดแสดงนั้น อภิชาติพงศ์ได้รับความร่วมมือจากพิพิธภัณฑ์ภาพยนตร์ “อาย” (EYE) และสถาบันเสียงและภาพแห่งเนเธอร์แลนด์
เว็บไซต์ของโครงการ SLEEPCINEMAHOTEL ระบุว่าโปรเจ็คท์ล่าสุดของอภิชาติพงศ์มิใช่ทั้งภาพยนตร์, ผลงานศิลปะจัดวาง หรือแม้กระทั่งบทภาพยนตร์ที่โลดแล่นอยู่ในจินตนาการ ทว่า นี่คือโรงแรมที่มีการเปิดให้บริการจริงๆ โดยแขกผู้เข้าพักทุกรายจะได้เข้านอนในห้องฉายหนังแห่งเดียวกัน ซึ่งดัดแปลงจากโถงใหญ่ของศูนย์การประชุม ในการนี้ ด้านหนึ่งของโถงจะเป็นโซนเตียงนอน ขณะที่อีกด้าน จะเป็นพื้นที่สำหรับจอฉายภาพยนตร์รูปทรงวงกลม
ทั้งผู้เข้าพักในยามค่ำคืนและผู้เยี่ยมเยือนในยามกลางวันจะได้เดินทางเข้าสู่โลกที่เราคุ้นเคยในหนังอภิชาติพงศ์ อันเต็มไปด้วยความสัมพันธ์/การปะทะกันระหว่างภาวะนิทรากับภาพยนตร์ ผีกับจินตนาการ อดีตกับปัจจุบัน
และถึงแม้อภิชาติพงศ์มักชอบกล่าวว่าเขายอมรับได้ หากจะมีผู้ชมผล็อยหลับระหว่างดูหนังของตน แต่ผู้กำกับชาวไทยรายนี้ก็ไม่เคยลงมือสร้างโปรเจ็คท์ที่เชื่อมผสานโรงแรมเข้ากับภาพยนตร์มาก่อน
หนึ่งในแรงบันดาลใจสำคัญของโปรเจ็คท์ SLEEPCINEMAHOTEL ก็คือ ภาพนิ่งจาก “Strike” หนังยาวเรื่องแรกของ “เซอร์เก ไอเซนสไตน์” ซึ่งภาพของเหล่ากรรมกรในนั่งร้านถูกนำเสนอเป็นเงาสีดำ ที่ส่องสะท้อนบนกำแพงกระจก ดังนั้น ในโรงแรมชั่วคราวของอภิชาติพงศ์ แขกผู้เข้าพักทุกคนจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของการละเล่นทางแสงและเงา โดยภาพเงาเคลื่อนไหวของพวกเขาจะโลดแล่นอยู่บนหน้าต่างของตึก ซึ่งหันหน้าให้กับผู้คนที่เดินผ่านไปมาตามท้องถนน
สำหรับภาพยนตร์ที่จัดฉายในโรงแรมจะเป็นภาพเรือ, สายน้ำ, หมู่เมฆ, ผู้คนที่นิทรา, เหล่าสัตว์ที่หลับใหล ซึ่งนำมาจากแผ่นฟิล์มภาพยนตร์เก่า นอกจากนี้ ภาพเคลื่อนไหวที่นำมาแสดงจะไม่มีภาพจากหนังเรื่องใดๆ ของอภิชาติพงศ์ ที่สำคัญ ภาพเหล่านั้นจะเคลื่อนไหวไปอย่างต่อเนื่องไม่มีหยุด และไม่มีซีนใดที่ปรากฏซ้ำเป็นหนที่สอง สอดคล้องกับอุปมาที่ว่า “ไม่มีใครสามารถเหยียบย่างลงบนแม่น้ำสายเดิมได้ถึงสองครั้ง”
ด้วยเหตุนี้ ภาพต่างๆ ใน SLEEPCINEMAHOTEL จึงมีความเป็นเอกลักษณ์และดำรงอยู่เพียงชั่วครู่ชั่วคราว และแน่นอน ทุกๆ ช่วงเวลาที่ผ่านมาแล้วผ่านไปเหล่านั้นล้วนมีประวัติศาสตร์อยู่เบื้องหลัง
“แสงเดินทางไปในคลื่น มันทั้งนำพาเราไปยังสถานที่ต่างๆ และติดต่อเชื่อมโยงกับเรา ในบทสนทนาแรกๆ ที่ก่อให้เกิดโปรเจ็คท์นี้ อภิชาติพงศ์ได้ตั้งคำถามเกี่ยวกับความเชื่องช้าชะลอตัวของการรับรู้ และวิธีการหยั่งรู้ถึงช่วงชีวิตของแสง
“อะไรคือต้นกำเนิดของแสง ซึ่งช่วยส่องสว่างให้แก่ความฝันของพวกเรา?” เว็บไซต์ https://www.sleepcinemahotel.com/ ระบุ
ขณะเดียวกัน อภิชาติพงศ์ยังให้สัมภาษณ์กับทางเทศกาลภาพยนตร์รอตเตอร์ดัมว่า เขาหวังว่าผู้เข้าพักในโรงแรมแห่งนี้จะได้สัมผัสบรรยากาศของความสุขและเสรีภาพ ทั้งนี้ เมื่อผู้เข้าพักหลับใหลลง พวกเขาก็จะกลายเป็นส่วนเสี้ยวของกระบวนการถ่ายทำภาพยนตร์นานาชนิด
ที่มา ข้อมูลและภาพ
https://iffr.com/nl/2018/events/sleepcinemahotel-check-in