บันทึก 7 ข้อ ถึง “Sword Master”

หนึ่ง ก่อนไปดู คนรู้จักที่ได้ไปดูแล้วนี่จะแบ่งออกเป็นสองสาย สายแรก คือ ไม่ค่อยชอบ สายที่สอง คือ ชอบมากๆ

ส่วนตัว พอได้ไปดูก็รู้สึกสนุกเพลิดเพลินกับมัน และไม่ได้ไม่ชอบจุดใดจุดหนึ่งของหนังแบบมิอาจให้อภัยได้

ด้านหนึ่ง หนังไม่ถึงกับเชิญชวนให้ผมย้อนรำลึกไปถึงหนังชอว์หรือละครทีวีบี แต่อีกด้าน ผมก็รับได้กับซีจีหลุดๆ ปลอมๆ (บนฐานคิดที่ว่าขนาดซีจีละครจักรๆ วงศ์ๆ กูยังดูได้เพลินๆ เลย 555) และการดัดแปลงเนื้อหาจากนิยายไปมากพอสมควร (ซึ่งเหมือนหนังก็ออกตัวว่า ตนเองได้รับแรงบันดาลใจมาจากหนังเวอร์ชั่นก่อน ที่ดัดแปลงนิยายมาอีกที – ผมเองก็ไม่เคยดูหนังเวอร์ชั่นดังกล่าวเหมือนกัน)

สอง ผมยังจำเนื้อหาในนิยายได้ค่อนข้างดี เพราะเพิ่งกลับมาอ่านใหม่ตอนกลางปี เลยรู้สึกว่าหนังมีเนื้อหาที่ผิดแปลกจากนิยายหลายต่อหลายจุด แต่ยังคงแก่นหลักๆ เอาไว้เกือบครบ ทั้งเรื่องการพยายามหลีกหนีตัวตนแท้จริงของตนเอง (หน่ายเกียรติยศ สถานะ ชื่อเสียง) ที่อย่างไรเสียก็หนีไม่พ้น หรือประเด็นความสัมพันธ์ในลักษณะ “ศัตรูที่รัก” ระหว่างเจี่ยเฮียวฮงกับอี้จับซา

แต่ก็เห็นด้วยกับเพื่อนบางคนที่รู้สึกว่าไอ้ความเป็นเพลย์บอย หลายใจ ทิ้งผู้หญิง ไม่รับผิดชอบ ของคุณชายสามนี่มันถูกทำให้หายไปจากหนัง

(อีกอย่างที่เป็น “จุดต่าง” ซึ่งไม่ส่งผลเสียหายมากมาย คือ กรอบเวลาของเรื่อง ถ้าจำไม่ผิด ช่องว่างเวลาระหว่างที่เจี่ยเฮียวฮง “ตาย” กับการเริ่มต้นเล่าเรื่องราวว่าด้วย “อากิก” ในนิยายนี่ มันกินระยะนานหลายปี ขณะที่หนังจะให้ภาพว่ามันเป็นระลอกเหตุการณ์ในชั่วระยะเวลาสั้นๆ ที่เกิดขึ้นต่อเนื่องกันไปเลย)

สาม อย่างไรก็ดี ผมกลับไม่รู้สึกอะไรมากนัก กับการหายไปของกระบี่ที่ 14 และ 15 เพราะเหมือนหนังสร้างเหตุผลเรื่องราวใหม่ๆ ขึ้นมารองรับการหายไปดังกล่าวได้ดีพอสมควร (แล้วเอาเข้าจริง เหมือนหนังจะถ่ายโอนประเด็นกระบี่ที่ 15 ให้ไปตกอยู่บนความสัมพันธ์ระหว่างม่อย้งฉิวตี้กับเซี่ยวชิวช่วงท้ายเรื่องพอดี)

สี่ ตัวละครเซี่ยวชิวนี่ก็น่าสนใจ จากการเป็นลูก (ที่เหินห่าง/ไม่รักพ่อ) ของเจี่ยเฮียวฮงกับม่อย้งชิวชิวในนิยาย ในหนังกลับผลักให้เขากลายมาเป็นบริวารที่แอบรักม่อยังฉิวตี้มาเนิ่นนาน และเป็นศัตรูคู่แค้นของเจี่ยเฮียวฮง

sm-02

พูดอีกอย่าง คือ หนังผลักปมออดิปุสของเซี่ยวชิวในนิยายให้ชัดเจนและไปสุดทางยิ่งขึ้น

ห้า ผมชอบบทสรุปของหนังทีเดียว หนังพูดถึงตัวละครที่แอนตี้และพยายามหลีกหนียุทธภพ แต่หนีอย่างไรก็หนีไม่พ้น ดังนั้น ปัญหาจึงอยู่ที่ว่า เขาควรจะอยู่อย่างไรในยุทธภพ (หรือดีลกับยุทธภพอย่างไร/ท่องยุทธภพอย่างไร) มากกว่า ซึ่งโจทย์ ณ ที่นี้ ก็คือ การใช้กระบี่ “ช่วย” คน ไม่ใช่ “ฆ่า” คน

ผมรู้สึกว่าบทสรุปจบในนิยาย (เรื่อยไปจนถึงตอนต่อ คือ อินทรีผงาดฟ้า หรือ ฤทธิ์ดาบวงพระจันทร์) นั้นสื่อให้เห็นว่าเจี่ยเฮียวฮงยังหลีกเร้นปลีกกายอยู่ในรูปแบบชาวยุทธ ผิดกับตอนจบในหนัง ที่ด้านหนึ่ง ยานพาหนะ/รูปลักษณ์การแต่งกาย/ผู้หญิงที่คุณชายสามเลือกใช้ชีวิตด้วย มันแสดงให้เห็นถึงความต้องการจะเป็นสามัญชนคนธรรมดา แต่อีกด้าน กระบี่ของอี้จับซาที่เจี่ยเฮียวฮงพกไว้ ก็แสดงให้เห็นพันธกิจหรือสายใยบางอย่างที่มิอาจตัดขาดจากยุทธภพ

บทสรุปในหนังจึงแลดูลักลั่นกำกวมมากกว่า

หก อีกซีนหนึ่งที่ผมประทับใจมากๆ คือตอนที่เจี่ยเฮียวฮงกับม่อย้งฉิวตี้พยายามรีเทิร์นกลับมาคบกัน แล้วขึ้นไปใช้ชีวิตเรียบง่ายบนเขา ก่อนที่คุณชายสามผู้สมถะจะพบว่าคุณหนูม่อย้งเธอขนบริวารและทรัพย์สมบัติตามมาเต็มไปหมด แถมยังกรี๊ดกร๊าดเมื่อต้องเหยียบขี้โคลนอีกต่างหาก

sm-01

เจ็ด อันนี้เป็นจุดที่ผมทำให้ยึดโยงกับ Sword Master ได้มากที่สุด นั่นคือ การคงตัวละคร “อีกา” จากฉบับนิยายเอาไว้

หนังไม่ได้เรียกชื่อตัวละครรายนี้ว่า “อีกา” ตรงๆ (ลืมอ่านเครดิตว่าหนังเรียกตัวละครคนนี้ว่าอะไร?) เพียงแต่คงภาพลักษณ์-พฤติการณ์การคอยตามเก็บสะสมยอดกระบี่ของยอดฝีมือในยุทธภพที่ถูกสังหารเอาไว้

“อีกา” ในนิยายนั้นมีบทบาทแค่ช่วงต้นๆ จนถึงตอนที่อี้จับซาพบปะเจรจากับม่อย้งชิวชิว แล้วมันก็ได้รับบาดเจ็บจากฝีมือของตัวละครรายหนึ่งที่หนังตัดออกไป ก่อนจะแยกทางกันกับอี้จับซา แล้วโก้วเล้งก็ไม่ได้กล่าวถึง “อีกา” อีกเลย

ขณะที่ในฉบับนิยาย คนที่งมไปเก็บกระบี่ของอี้จับซาที่ถูกโยนทิ้งน้ำ นี่คือตัวละคร “เถ้าแก่” ริมทะเลสาบ ซึ่งในหนังเวอร์ชั่นล่าสุดจับเอาไปฟิวชั่นกับ “อีกา”

นอกจากนี้ “อีกา” ในหนังจะมีบุคลิกเป็นตัวตลกสร้างสีสัน ทำนอง “หัวขโมย-เจ้าของยอดวิชาตัวเบา” (บุคลิกไปคล้ายคลึงกับ “ซีคงเตียะแช” ในนิยายชุด “เล็กเซียวหงส์”) สวนทางกับในเวอร์ชั่นนิยาย ที่บุคลิกลักษณะของ “อีกา” จะออกแนวขรึมๆ มืดๆ หน่อย (ซึ่งกลายเป็นว่า “ด้านมืด” ดังกล่าวกลับถูกโอนย้ายไปสวมลงบนบุคลิกบางด้านของอี้จับซาในภาพยนตร์ฉบับล่าสุด)

sm-03

“อีกา” ก็ดี “ซีคงเตียะแช” ก็ดี และตัวละครสมทบจากนิยายกำลังภายในจำนวนมาก อาจมีสถานะเป็น “ตัวละครหลักระดับชายขอบ” คือเป็นพวกตัวละครที่ไม่ได้อยู่ในโฟกัสหรือไม่ได้ถูกสป็อตไลท์จับอยู่ตลอดเวลา แต่ก็มีเสน่ห์พอสมควร และได้โชว์บทบาทเด่นเป็นครั้งคราว พวกเขาไม่ใช่สุดยอดจอมยุทธหรือยอดวีรบุรุษ แต่ก็มีของดีเกินกว่าจะเป็นแค่มนุษย์ธรรมดาๆ

ขึ้นอยู่กับว่าใครจะใช้ประโยชน์ตัวละครกลุ่มนี้มากน้อยแค่ไหนเท่านั้นเอง อย่าง Sword Master ก็ถือว่าใช้งาน “อีกา” มากกว่าที่คิด (หรือมากกว่าตัวหนังสือเสียอีก)

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.