ปรับปรุงจากบทความในมติชนสุดสัปดาห์ 26 สิงหาคม – 1 กันยายน 2559
ในที่สุด ก็มีโอกาสได้ชมภาพยนตร์มาเลเซีย ฝีมือการกำกับของ “เอ็ดมันด์ โหย่ว” ที่งานเปิดเทศกาลหนังสั้นครั้งที่ 20 และพบว่านี่เป็นหนังเกี่ยวกับช่วงชีวิตเปลี่ยนผ่านของวัยรุ่น รวมถึงการต่อสู้เคลื่อนไหวทางการเมือง ที่สนุกครบรสทีเดียว
“River of Exploding Durians” เริ่มต้นเรื่องราวในเมืองชายทะเล ซึ่งกำลังมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์-โรงงานถลุงแร่หายาก
อย่างไรก็ตาม ครึ่งแรกของหนัง กลับเน้นหนักไปที่ประเด็นความรักของนักเรียนวัยรุ่นสองราย ได้แก่ “หมิง” และ “เหมย อัน”
ความรักของหนุ่มสาวคู่นี้เป็น “ความรักต่างชนชั้น” เมื่อ “หมิง” มาจากครอบครัวมีอันจะกิน และสามารถส่งลูกชายไปเรียนต่อที่ออสเตรเลีย (ซึ่งเป็นเจ้าของโครงการโรงงานถลุงแร่หายาก)
ขณะที่ “เหมย อัน” มาจากครอบครัวชาวประมงพื้นบ้าน ซึ่งพ่อ, เธอ และน้องเล็กๆ อีกสองคน คล้ายจะเริ่มได้รับผลกระทบจากโปรเจ็กต์โรงไฟฟ้าฯ
ในด้านหนึ่ง การโดดเรียนมาพลอดรักกันระหว่างสองหนุ่มสาวต่างชนชั้น ก็อาจถือเป็นการหลบหนีออกจากความจริงอันปั่นป่วนวุ่นวาย
แต่ไปๆ มาๆ เรื่องราวที่อ่อนไหวและสับสนก็บังเกิดขึ้นในโลกความฝันของ “หมิง” กับ “เหมย อัน” เช่นกัน
ทั้งคู่มิได้แค่หนีจากห้องเรียน แต่พยายามออกเดินทางไกล และหลบหนีออกจากบ้าน ออกจากเมือง
ระหว่างการเดินทาง หนุ่มสาวสองคนสนทนากันถึงเรื่องความใฝ่ฝัน ทว่า เพียงไม่นาน ความฝันดังกล่าวก็จบลงอย่างรวดร้าวและพลัดพราก
เพราะอาการป่วยไข้อาเจียนที่บังเกิดขึ้นบ่อยๆ ในระยะหลังของฝ่ายหญิง มิได้เป็นผลกระทบจากการก่อสร้างโรงไฟฟ้า หากเกิดขึ้นเพราะสาเหตุอื่น
สาเหตุที่ส่งผลให้ “เหมย อัน” และครอบครัวต้องอพยพโยกย้ายออกจากเมือง
ทั้งยังเป็นการอำลาจาก “หมิง” ไปตลอดกาล
จะว่าไปแล้ว ความเจ็บปวดและอาการ “อกหัก” ของ “หมิง” ก็มีสถานะเป็นประวัติศาสตร์ส่วนบุคคล ซึ่งไม่มีตำแหน่งแห่งที่อยู่ในประวัติศาสตร์นิพนธ์กระแสหลัก-กระแสรองฉบับไหนทั้งสิ้น
นอกจากจะเป็น “บาดแผล” อันฝากรอยจารึกเอาไว้ในความทรงจำของบุคคลเจ้าของเรื่อง เพียงลำพัง
ยิ่งกว่านั้น “หมิง” ยังไม่มีที่ทางในสายตาของ “ลิ้ม” ครูสาวไฟแรง ผู้สอนวิชาประวัติศาสตร์
เพราะไม่ว่าเด็กหนุ่มจะเข้าหรือไม่เข้าชั้นเรียน การเรียนการสอนก็ยังดำเนินต่อไปได้ไร้รอยสะดุด
ขณะเดียวกัน ครูสาวเช่น “ลิ้ม” ก็พยายามมุ่งปลุกใจและชักจูงเหล่านักเรียน “หัวกะทิ” ให้มาร่วมต่อสู้เพื่อสังคม ภายนอกห้องเรียน โดยที่ “หมิง” มิได้มีสถานะเป็นหนึ่งในเป้าหมายของเธอแต่อย่างใด
“ลิ้ม” เคยชวนนักเรียนในห้องสนทนาถึงนิยามของ “ประวัติศาสตร์”
แต่ไม่ว่า “ประวัติศาสตร์” จะถูกนิยามว่าอย่างไร ครูสาวก็ดูเหมือนจะต้องการเน้นย้ำให้เด็กๆ ได้ตระหนักถึงประวัติศาสตร์ของสามัญชน/วีรชน/มรณสักขี ที่เสียสละตนเอง ในการต่อสู้กับอำนาจรัฐ/เจ้าอาณานิคม
จากประวัติศาสตร์วีรชนของมาเลเซีย การเรียนรู้ภายในห้องค่อยๆ ขยับขยายไปสู่ประวัติศาสตร์ 6 ตุลาคม 2519 ของประเทศไทย และประวัติศาสตร์ของนักศึกษาชาวฟิลิปปินส์ ซึ่งถูกสังหารโดยอำนาจเผด็จการยุค “มาร์กอส”
แล้วในที่สุด “ลิ้ม” ก็พานักเรียนกลุ่มหนึ่งก้าวเท้าออกจากตำรา ไปสู่การเคลื่อนไหวต่อสู้ในโลกความจริง
แต่เมื่อการล่าชื่อในจดหมายเปิดผนึกต่อต้านโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ไม่ได้สร้างแรงสั่นสะเทือนอะไรมากนัก เช่นเดียวกับการถูกปิดกั้นการแสดงออกในพื้นที่สื่อ
ครูสาวจึงค่อยๆ นำนักเรียนของเธอออกปฏิบัติการ “จรยุทธ” ที่ลงเอยด้วยการใช้ความรุนแรง กระทั่งเส้นแบ่งระหว่างการต่อสู้ทางการเมือง กับการก่ออาชญากรรม/โจรกรรม เริ่มพร่าเลือน
ภาวะเช่นนั้นนำไปสู่ “การแตกหักกัน” ระหว่าง “ลิ้ม” กับ “ฮุ่ย หลิง” นักเรียนระดับหัวหน้าห้อง-นักกิจกรรมรุ่นเยาว์คนเก่ง ผู้เริ่มรู้สึกว่าการต่อสู้ของคุณครูกำลังล้ำเส้นความเหมาะสม
ในชั้นเรียนวิชาประวัติศาสตร์ที่ดำเนินไปขณะการต่อสู้นอกห้องเรียนกำลังเข้าด้ายเข้าเข็ม และ “ลิ้ม” กำลังอินกับปฏิบัติการดังกล่าวถึงขีดสุด
“ฮุ่ย หลิง” ซึ่งเพิ่งแสดงความไม่เห็นด้วยกับแนวทางการเคลื่อนไหวของครูอย่างตรงไปตรงมา ได้เลือกนำเสนอรายงานเรื่องสตรีชาวญี่ปุ่น ที่ถูกส่งตัวมาประกอบอาชีพค้าบริการ ณ มลายา ก่อนพวกเธอจะกลายเป็นกลุ่มคนไร้ตัวตนในบ้านใหม่ และไม่มีใครที่บ้านหลังเก่ายินดีจะต้อนรับขับสู้
แทนที่จะพูดถึงผู้สละชีพอย่างหาญกล้าในเหตุการณ์การต่อสู้ทางการเมือง “ฮุ่ย หลิง” กำลังดึง “ประวัติศาสตร์” กลับไปสู่การเป็นเรื่องเล่าว่าด้วยความทรงจำของคนเล็กคนน้อยในระดับจุลภาค (ไม่ต่างอะไรกับประวัติศาสตร์ส่วนบุคคลอันทุกข์ระทมของ “หมิง”)
ในแง่ของการเป็นหนังที่ครุ่นคิดถึงสถานะของ “ประวัติศาสตร์”
“River of Exploding Durians” ได้สร้างภาพแทนของประวัติศาสตร์นิพนธ์อันหลากหลาย ตั้งแต่ประวัติศาสตร์ฉบับทางการ ประวัติศาสตร์ของวีรชน/มรณสักขีทางการเมือง ประวัติศาสตร์ของคนเล็กคนน้อยที่ถูกลืมเลือนเสียยิ่งกว่าบุคคลในประวัติศาสตร์แบบที่สอง ไปจนถึงประวัติศาสตร์ส่วนบุคคล ซึ่งไม่มีใครปรารถนาจะจดบันทึก
ในที่สุด “ฮุ่ย หลิง” ก็ตัดสินใจผละตัวเองออกจากการต่อสู้นอกห้องเรียน แล้วกลับมาเป็น “เด็กดี” ผู้คร่ำเคร่งเตรียมตัวสอบตามระบบระเบียบของหลักสูตรการศึกษา
นักเรียนหญิงหัวกะทิคล้ายจะเลือกกลับไปต่อสู้กับรัฐหรืออำนาจนำในสังคม เท่าที่พอจะสู้ได้ ในพื้นที่ชีวิตประจำวัน
แต่การเลือกทางสายนั้น ก็ส่งผลให้เธอถูกเพื่อนสนิท-นักกิจกรรมกลุ่มเดิมทอดทิ้ง ทำลายทรัพย์สิน และทำร้ายร่างกาย
จน “ฮุ่ย หลิง” อาจรู้สึกบอบช้ำในหัวใจไม่ต่างกับ “หมิง”
สาระสำคัญข้อหนึ่งของหนัง จึงเป็นความพยายามจะสะกิด/ดึงการต่อสู้เคลื่อนไหวทางการเมือง ให้กลับคืนไปสู่แนวทางแบบ “Weapons of the Weak” อันได้แก่ การต่อสู้ท้าทายอำนาจรัฐในวิถีชีวิตประจำวัน หรือการแอบคิดต่างจากอุดมการณ์หลักที่ครอบงำสังคมอยู่
อย่างไรก็ดี ผมยังรู้สึกว่าหนังนำเสนอภาพความแตกต่างของวิถีการต่อสู้เคลื่อนไหวทางการเมือง ผ่านลักษณะที่แตกแยกออกเป็นสองขั้ว อย่างมากล้นจนเกินไป
การต่อสู้ทางการเมืองในภาพยนตร์ จึงประกอบไปด้วย แนวทางการปฏิวัติถอนรากถอนโคนแบบฮาร์ดคอร์ และดราม่าตบตีกันเองในหมู่นักเคลื่อนไหว (ซึ่งลงไม้ลงมือกันจริงๆ ไม่ใช่ทะเลาะกันผ่านเฟซบุ๊ก)
และ/หรือ การต่อสู้แบบเนียนๆ เงียบๆ ในฐานะปัจเจกบุคคล ท่ามกลางกระแสสังคมอันผันผวนปรวนแปร
ทว่า ในความเป็นจริง แนวทางการต่อสู้เคลื่อนไหวย่อมมีหลายเฉดสี ซึ่งสลับซับซ้อนกว่าการเหวี่ยงลูกตุ้มไปมาระหว่างความแตกต่างสุดขั้วสองแนวทาง
“River of Exploding Durians” ปิดฉากตัวเองลงอย่างเจ็บปวดรวดร้าว
“ลิ้ม” ล้มเหลวในฐานะผู้นำของปฏิบัติการรวมหมู่แบบฮาร์ดคอร์ เธอถูกจับกุม และต้องโทษจำคุกนานหลายเดือน
ครูสาวเดินออกจากเรือนจำโดยแทบไม่เหลือใคร นอกจาก “หมิง” ลูกศิษย์ผู้ไม่เอาอ่าว และไม่เคยมีตัวตนอยู่ในประวัติศาสตร์ฉบับที่เธอพยายามเขียนขึ้น
“หมิง” ยืนรอ “ลิ้ม” อยู่คนเดียวหน้าเรือนจำ แถมยังพาครูไปนั่งกินอาหารมื้อแรกหลังพ้นโทษ
ในร้านอาหาร “หมิง” เอ่ยปากชักชวนครูสาวให้กลับคืนสู่ปฏิบัติการต่อต้านเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตประจำวัน อาทิ การปล่อยยางรถยนต์ หรือการลอบทำลายกระจกบ้าน ของผู้เกี่ยวข้องกับโครงการโรงไฟฟ้าฯ
แต่ “ลิ้ม” กลับไปไกลและเลือกเส้นทางที่รุนแรงยิ่งกว่าเดิม จนนำไปสู่การตัดสินใจปลิดชีวิต “ลิ่วล้อ” ของฝ่ายตรงข้าม และการยุติชีวิตของตนเอง ด้วยโศกนาฏกรรมอันเดียวดาย
ภารกิจการต่อสู้/เปลี่ยนแปลงสังคม (ถ้ายังมีเหลืออยู่) ของ “ลิ้ม” อาจถูกส่งมอบสู่คนรุ่นต่อๆ ไป ซึ่งคงรวมถึง “หมิง” และ “ฮุ่ย หลิง”
ในฉากจบของหนัง เด็กหนุ่มสาวสองคนกลายเป็นปัจเจกบุคคล ที่ต่างฝ่ายต่างดุ่มเดินอยู่ท่ามกลางฝูงชนอันเนืองแน่นในเทศกาลเฉลิมฉลองปีใหม่ ณ บ้านเกิดของครูผู้ล่วงลับ
เขาและเธออาจเฝ้ารอ, แอบผลักดัน หรือเลาะไหลไปตามกระแสน้ำแห่งความเปลี่ยนแปลง ที่เริ่มก่อตัวขึ้นทีละน้อยๆ
หลังต่างฝ่ายต่างบอบช้ำกันตามสมควร จากการเข้าไปมีส่วนร่วมกับประวัติศาสตร์ว่าด้วยความรักและการต่อสู้ของคนหนุ่มสาว ซึ่งเริ่มต้นขึ้นอย่างโรแมนติก ก่อนจะยุติลงชั่วคราวอย่างเศร้าสร้อย
ประหนึ่งราชาแห่งผลไม้ที่แสนหอมหวานอย่าง “ทุเรียน” ซึ่งถูกระเบิดทิ้งกระจัดกระจาย จนแต่ละเสี้ยวส่วนต้องล่องลอยไปตามสายธารอันเชี่ยวกราก
น่าสนใจว่า ภาพยนตร์มาเลเซียเรื่องนี้กล่าวถึงประเทศเพื่อนบ้านอย่าง “ไทย” อยู่สองครั้ง
ครั้งหนึ่ง คือการกล่าวถึงเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ในฐานะอัปลักษณะของประวัติศาสตร์การเมืองไทยร่วมสมัย
แต่ก่อนหน้านั้น ประเทศไทยถือเป็นจุดหมายรางๆ ซึ่งดำรงอยู่ในบทสนทนาระหว่างการเดินทางไกลท่ามกลางความฟุ้งฝันของ “หมิง” และ “เหมย อัน” โดยฝ่ายหญิงเอ่ยชื่นชมภาษาไทยว่ามีความไพเราะราว “เสียงดนตรีในวันฝนพรำ”
นี่จึงเป็น “เหรียญสองด้าน” ของสังคมไทย ที่ปรากฏผ่านหนังมาเลเซีย ซึ่งก็ “ล้อ” ไปกับสถานภาพแบบ “ลักปิดลักเปิด” ของ “River of Exploding Durians” และหนังการเมืองเรื่องอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
“เอ็ดมันด์ โหย่ว” กล่าวกับผู้ชมชาวไทยหลังฉายหนังจบว่า ผลงานภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรกของเขานั้นถูกแบนที่ประเทศบ้านเกิด (ทั้งในระบบโรงภาพยนตร์และจอโทรทัศน์) อย่างไรก็ตาม หนังกลับได้เดินทางมาฉายในประเทศเพื่อนบ้านข้างเคียง
ชะตากรรมของ “River of Exploding Durians” จึงคล้ายคลึงกับ “รักที่ขอนแก่น” โดย “อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล” ซึ่งเจ้าของหนังตัดสินใจไม่นำผลงานของตนเองเข้าระบบเซ็นเซอร์และเข้าฉายในบ้านเกิด
พื้นที่ที่ใกล้เคียงกับประเทศไทยมากที่สุด ซึ่งได้จัดฉาย “รักที่ขอนแก่น” อย่างเป็นทางการ ก็คือ ประเทศสิงคโปร์
นี่คงเป็นภาวะของการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม ภายใต้เพดาน/ข้อจำกัดที่มีร่วมกัน ระหว่างคนทำหนังภายในประชาคมอาเซียนกระมัง?
1 Comment