(เผยแพร่ครั้งแรกในบล็อกคนมองหนัง “เก่า” เมื่อเดือนตุลาคม 2549)
เมื่อ พ.ศ. 2533 ยืนยง โอภากุล หรือ แอ๊ด คาราบาว ออกผลงานเดี่ยวของตนเองในชื่อชุด “โนพลอมแพลม” โดยเพลงเพลงหนึ่งที่มีเนื้อหาน่าสนใจในผลงานชุดดังกล่าว ก็คือ “ภควัทคีตา” ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจมาจากคัมภีร์ภควัทคีตา อันเป็นส่วนหนึ่งของมหากาพย์มหาภารตะ
เพลง ภควัทคีตา มีเนื้อหาว่าด้วยการที่ กฤษณะ เตือนให้ อรชุน ตัดสินใจยิงศรออกไปเพื่อพิฆาตข้าศึกซึ่งเป็นญาติวงศ์ของ อรชุน เอง ณ มหาสงครามที่ทุ่งกุรุเกษตร
ยืนยง เขียนเนื้อร้องตอนหนึ่งของเพลงดังกล่าวไว้อย่างคมคายว่า
“โอ้อรชุน ไยไม่ยิงศร ดูเจ้าอาวรณ์ เหนือความเป็นธรรม จิตเจ้าโลเล ใจเจ้าเหลียวหลัง แรงเจ้าอ่อนล้า ตาเจ้ามืดมัว ทั่วปฐพี มีเพียงคมศร อิทธิฤทธิ์รอน ลดความรุนแรง แสงแห่งเทวัญ อาตมันกาย กฤษณารายณ์ ชายผู้ชี้นำ …รบเถิดอรชุน”
ในนิตยสารสีสัน ปีที่ 3 ฉบับที่ 12 ซึ่งวางจำหน่ายในช่วงส่งท้ายปี 2533 ปณิธาน หล่อเลิศวิทย์ นักวิจารณ์อิสระ ได้เขียนถึงเพลง ภควัทคีตา ซึ่งอยู่ในอัลบั้มโนพลอมแพลม อันเป็นหนึ่งในห้าอัลบั้มเพลงไทยสากลที่เขาชื่นชอบประจำปีนั้น ลงในคอลัมน์ 5 ชอบ 5 ไม่ชอบของนิตยสารวิจารณ์บันเทิงฉบับดังกล่าวว่า
“…งานเดี่ยวชุดที่สี่-แต่เป็นชุดแรกในชื่อจริงของ แอ๊ด คาราบาว จึงตีเข้าแสกหน้ารัฐบาลชาติชายและปัญหาการเมือง เศรษฐกิจ สังคมแบบเนื้อ ๆ งานดนตรีใช้ได้ เนื้อหาชัด ตรง สะใจ นับได้ว่าเป็นเพลงการเมืองที่มีพลังเด่นชัดที่สุดในรอบหลายปี เพลงที่แฝงนัยไว้ได้แรงที่สุด คือ ภควัทคีตา ฟังเสียงชี้ชวนอรชุนให้แผลงศรแล้วอาจมีคนนึกเรียกหา สุจินดา ขึ้นมาบ้าง”
แล้วในช่วงต้นปี 2534 ยืนยง โอภากุล หรือ แอ๊ด คาราบาว และอัลบั้มโนพลอมแพลมของเขา ก็สามารถคว้ารางวัลสีสัน อะวอร์ดส์ ประจำ พ.ศ. 2533 ไปครองได้ถึง 2 รางวัล คือ รางวัลศิลปินชายเดี่ยวยอดเยี่ยม และรางวัลอัลบั้มยอดเยี่ยม
หลังจากนั้นไม่นาน ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 ก็เกิดรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งซึ่งมี พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ หัวหน้าพรรคชาติไทย เป็นนายกรัฐมนตรี โดยกลุ่มนายทหารระดับผู้บัญชาการเหล่าทัพทั้ง 4 เหล่า ที่เรียกตัวเอง คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.)
หลังจากทำรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลที่นำโดย พล.อ.ชาติชาย ได้สำเร็จ คนชั้นกลางในกรุงเทพมหานครจำนวนมากต่างนำดอกไม้ไปมอบให้กับแกนนำรสช. เนื่องจากในช่วงเวลาดังกล่าว คะแนนนิยมของรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย กำลังตกต่ำลงอย่างหนัก ทั้งจากปัญหาคอร์รัปชั่น ไปจนถึง การถูกกล่าวหาเรื่อง “คดีลอบสังหาร”
ภายในเวลาไม่นานนัก รสช. ได้สรรหานายกรัฐมนตรีที่เป็นพลเรือนให้เข้ามาดำรงตำแหน่งเป็นการชั่วคราว อานันท์ ปันยารชุน คือ นายกรัฐมนตรีคนนั้น ตามสายตาของคนชั้นกลางและคนชั้นสูงในกรุงเทพฯ จำนวนมาก อดีตนักการทูต/อดีตนักเรียนอังกฤษ/เชื้อสายขุนนางผู้ดีเก่าคนนี้ คือนายกรัฐมนตรีที่ดีที่สุดเท่าที่ประเทศไทยเคยมีมานับจนถึงปัจจุบัน ขณะเดียวกัน กระบวนการยึดทรัพย์สินนักการเมืองคนสำคัญในรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งชุดก่อนหน้าก็ดำเนินไปอย่างเข้มข้นจริงจัง โดยเริ่มจากการอายัดทรัพย์สินของนักการเมืองเหล่านั้นไว้ก่อน
อีกราว 1 ปีต่อมา ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2535 รัฐบาลอานันท์ 1 ได้จัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไป ผลปรากฏว่า พรรคสามัคคีธรรม ที่นำโดย ณรงค์ วงศ์วรรณ มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ได้รับเลือกตั้งเป็นจำนวนมากที่สุด แม้พรรคการเมืองดังกล่าวจะสามารถเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลได้ แต่ณรงค์กลับไม่สามารถดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ได้ เพราะเขามีรายชื่ออยู่ในบัญชีดำที่รัฐบาลสหรัฐฯ ห้ามเข้าประเทศ สุดท้ายแล้ว แกนนำที่สำคัญที่สุดในรสช. อย่าง พล.อ.สุจินดา คราประยูร จึงเข้ามาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ทั้งๆ ที่เคยกล่าวคำสัตย์เอาไว้ว่า ตนเองจะไม่เข้ามาเล่นการเมืองเป็นอันขาด ทว่าหลังจากรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี อดีตแกนนำรสช.คนนี้กลับแถลงออกมาว่า ตนเองจำเป็นต้อง “เสียสัตย์เพื่อชาติ”
เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2535 เกิดการชุมนุมใหญ่ต่อต้านรัฐบาลที่นำโดย พล.อ.สุจินดา คราประยูร แกนนำการชุมนุมคือ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง นายทหาร จปร. 7 ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่ามีความขัดแย้งกับนายทหาร จปร. 5 อันเป็นรุ่นของ พล.อ.สุจินดา พล.อ.อ.เกษตร โรจนนิล และ พล.อ.อิสระพงศ์ หนุนภักดี แกนนำของรสช. การชุมนุมดังกล่าวถูกขับเคลื่อนโดยฝูงชนคนชั้นกลางในกทม. ที่เริ่มมีพลังแข็งแรงทั้งในทางเศรษฐกิจและสังคม จน เอนก เหล่าธรรมทัศน์ นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ในขณะนั้น (และอดีตนักการเมืองผู้ล้มเหลวในขณะนี้) ได้ขนานนามการชุมนุมดังกล่าวว่าเป็น ม็อบมือถือ
(ขณะที่กลุ่มนักศึกษาที่เคยมีบทบาทสำคัญในเหตุการณ์เดือนตุลาคม พ.ศ. 2516 และ 2519 กลับไม่มีบทบาทมากเท่าที่ควรในเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2535 หนังที่สามารถแสดงภาพตัวแทนของนักศึกษาในเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2535 ได้อย่างน่าสนใจและสมจริง ก็คือ “สยิว” ของ คงเดช จาตุรันต์รัศมี และ เกียรติ ศงสนันท์ ทั้งนี้ นายกสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยในช่วงปี 2535 มีชื่อว่า ปริญญา เทวนฤมิตรกุล)
ในฝูงชนที่มารวมตัวกันเพื่อชุมนุมต่อต้านรัฐบาลทหารที่นำโดย พล.อ.สุจินดา นั้น มี ยืนยง ในฐานะศิลปินเพลงเพื่อชีวิตชื่อดังปรากฏกายอยู่ด้วย
แล้วเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2535 ก็กลายเป็นเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองที่มีการเข่นฆ่าฝูงชนซึ่งมาร่วมชุมนุมต่อต้านรัฐบาล จนเรารู้จักกันในนามของเหตุการณ์ พฤษภาทมิฬ
ส่วนยืนยงนั้น เขาได้หนีออกไปก่อนเหตุการณ์ความรุนแรงจะเกิดขึ้น เนื่องจากได้รับคำขู่ว่าจะมีการฆ่าหรือจับกุมตัวผู้นำการเคลื่อนไหว
หลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ยืนยงได้แต่งเพลง “ทะเลใจ” ขึ้นมา เพื่อระลึกถึง พล.อ.อิสระพงศ์ หนุนภักดี ที่เคยเป็นคนรักใคร่ชอบพอกัน แต่สุดท้ายก็ต้องกลายมาเป็นศัตรูกันในเหตุการณ์ดังกล่าว เพราะความที่จิตใจของคนเรานั้นมีความคิดที่แตกต่างกัน ขณะที่คนหนึ่งอยากเป็นใหญ่ แต่อีกคนกลับทิ้งความเป็นใหญ่ และพยายามเอาชนะใจอันยากหยั่งถึงที่เปรียบเสมือนท้องทะเลอันกว้างใหญ่ของตนเอง เพื่อจะสามารถอยู่กับใจของตนเองได้อย่างเป็นสุข (เรียบเรียงจากนิตยสาร MTV TRAX ฉบับที่ 32 เดือนกันยายน พ.ศ. 2548)
ด้วยเหตุนี้ เพลง ทะเลใจ จึงมีความข้องเกี่ยวกันอย่างลึกซึ้งกับเหตุการณ์พฤษภาทมิฬเมื่อปี 2535 และดูเหมือนจะมีความหมายที่ย้อนแย้งกันเป็นอย่างยิ่งกับเพลง ภควัทคีตา ซึ่งยืนยงเขียนขึ้นในปี 2533 ก่อนที่รสช.จะทำรัฐประหาร
แม้ทั้ง ทะเลใจ และ ภควัทคีตา จะเป็นเพลงที่คนฟังอาจทำความเข้าใจได้ไม่ง่ายนัก และมีการแฝงความนัยที่สำคัญไว้ในตัวบทของเพลงเหมือน ๆ กัน แต่ระดับการซ่อนความนัยในเพลง ทะเลใจ กับ ภควัทคีตา ก็ดูเหมือนจะมีความแตกต่างกันอยู่
เพราะอย่างน้อยความนัยอันแฝงไว้ใน ภควัทคีตา ก็ยังมีการสื่อความหมายที่ชัดเจนในระดับหนึ่ง เช่น “โอ้อรชุน ไยไม่ยิงศร” ไปจนถึง “รบเถิดอรชุน” ในขณะที่ ความนัยอันแฝงเร้นไว้ใน ทะเลใจ กลับไม่มีการสื่อความหมายที่หนักแน่นชัดเจนใด ๆ ดังที่ปรากฏใน ภควัทคีตา เลย
อาจกล่าวได้ว่า ทะเลใจ ถือเป็นเพลงที่มีเนื้อหาเป็นปรัชญาและเป็นนามธรรมอย่างยิ่ง ทว่า เพลงเพลงนี้ไม่ได้มีสถานะเป็นเพียงเพลงที่มีเนื้อหาลึกซึ้งที่สุดในชีวิตการแต่งเพลงของยืนยงเท่านั้น แต่ยังมีสถานะเป็นเพลงที่โด่งดัง อันถูกนำไปเปิดและร้องตามสถานที่ต่างๆ มากที่สุดอีกเพลงหนึ่ง
เคยมีคนกล่าวเอาไว้ว่า ยิ่งเพลงเพลงหนึ่งมีเนื้อหาที่เป็นนามธรรมมากเท่าใด เพลงเพลงนั้นก็จะยิ่งเป็นที่นิยมของผู้คนจำนวนมากในวงกว้าง เนื่องจากใครๆ ก็สามารถนำความรู้สึกนึกคิดของตนเองใส่เข้าไปในเพลงดังกล่าวได้อย่างไม่เคอะเขิน ว่าเพลงเพลงนั้นจะเป็นสมบัติหรือเรื่องราวส่วนตัวของคนแต่งหรือคนร้องเพียงผู้เดียว
ทะเลใจ ก็อาจถือเป็นเพลงในกรณีดังกล่าวได้ แต่สิ่งที่น่าตั้งคำถามก็คือ ท่ามกลางเสียงเพลง ทะเลใจ ที่ดังก้องในผับเพื่อชีวิต หรือท่ามกลางเสียงเพลง ทะเลใจ ที่ถูกร้องไปทั่วในร้านคาราโอเกะนั้น คนจำนวนมากที่มีปฏิสัมพันธ์กับเพลง ทะเลใจ ในยุคปัจจุบัน สามารถนำเพลงเพลงนี้ไปเชื่อมโยงกับเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2535 หรือเหตุการณ์รัฐประหารเมื่อราวๆ 1 ปีก่อนหน้านั้นได้หรือไม่?
ไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า เพลง ทะเลใจ มีความหมายเปลี่ยนแปลงไปในช่วงเวลา 14 ปีที่ผ่านมา แม้ในด้านหนึ่ง เพลง เพลงนี้ยังคงดำรงอยู่อย่างยิ่งใหญ่ในจิตใจของผู้คนจำนวนมาก แต่ในอีกด้านหนึ่ง ผู้คนจำนวนมากเหล่านั้นต่างก็แทบจะลืมเลือนความหมายดั้งเดิม รวมทั้งบริบทของเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่แฝงเร้นอยู่ในเพลงเพลงนี้ไปจนเกือบหมดสิ้น
หลังเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2535 ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขของประเทศไทยได้เดินหน้าไปอย่างมีพัฒนาการพอสมควร แม้จะต้องประสบปัญหาขลุกขลักเป็นระยะๆ
พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ อดีตนายกรัฐมนตรีที่ถูกทำรัฐประหารโดยรสช. สามารถรอดพ้นจากการถูกยึดทรัพย์สินและกลับเข้ามาเล่นการเมืองอีกครั้ง จนเกือบจะได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 2 ในช่วงที่รัฐบาลของ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ใกล้หมดอำนาจ ก่อนที่ต่อมา พล.อ.ชาติชายจะเสียชีวิตขณะเข้ารับการรักษาอาการป่วย ณ โรงพยาบาลที่ประเทศอังกฤษ
นักการเมืองจำนวนมากที่ถูกตีตราว่าเป็นพวกคอร์รัปชั่นและถูกอายัดทรัพย์สินโดยรสช. สามารถรอดพ้นจากข้อกล่าวหากรณีร่ำรวยผิดปกติและรอดพ้นจากการถูกยึดทรัพย์สินมาได้ทุกคน พวกเขาเหล่านั้นยังเวียนว่ายอยู่ในแวดวงการเมืองต่อไป มีบางคนที่รุ่งโรจน์ได้เป็นถึงนายกรัฐมนตรี แต่ก็มีอีกหลายคนที่ประสบความล้มเหลวบนเส้นทางการเมือง และมีจำนวนหนึ่งที่เสียชีวิตไปแล้ว
นายทหารแกนนำของรสช. ทุกคนยังสามารถใช้ชีวิตอย่างเป็นปกติสุขและร่ำรวยในสังคมไทย พวกเขาหลายคนยังมีชีวิตอยู่มาจนถึงปัจจุบัน แต่ก็มีเช่นกันที่เสียชีวิตไปแล้ว อย่างไรก็ตาม พวกเขาทั้งหมดไม่ต้องรับผิดชอบหรือรับโทษใดๆ ทั้งสิ้น กับโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2535 รวมถึงความล้มเหลวทางการเมืองไทยที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าว
ขณะเดียวกัน ทหารจากกองทัพได้กลับเข้ากรมกองและไม่กล้าแสดงบทบาททางการเมืองใดๆ ที่อยู่นอกเหนือการปกครองในระบอบประชาธิปไตย เป็นเวลา 14 ปี กับอีก 4 เดือน
พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ยังเล่นการเมืองต่อไป แต่ก็ประสบความล้มเหลวลงเรื่อยๆ ทว่า สิ่งสำคัญประการหนึ่งที่เขาทำให้กับสังคมการเมืองไทยในยุคปัจจุบันก็คือ การชักนำ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นักธุรกิจด้านการสื่อสารโทรคมนาคมผู้ประสบความสำเร็จเข้ามาสู่แวดวงการเมือง ก่อนที่ต่อมาเขาจะเข้าร่วมกับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในการดำเนินกิจกรรมต่อต้านนายกรัฐมนตรีที่ชื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
อานันท์ ปันยารชุน กลับมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้มาจากเลือกตั้งเป็นสมัยที่ 2 ภายหลังจากการลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.สุจินดา คราประยูร นับจากนั้นมาจนถึงปัจจุบัน ชื่อของอานันท์จะได้รับการกล่าวถึงอยู่เสมอ เมื่อสังคมการเมืองไทยประสบกับภาวะวิกฤตในด้านต่างๆ ราวกับเขามีสถานะเป็นยาสามัญประจำบ้านชนิดหนึ่งของสังคมการเมืองไทย
ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อดีตเลขาธิการสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย ที่สงวนบทบาทและท่าทีอยู่พอสมควรในช่วงเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ เดินทางไปศึกษาต่อทางด้านนิติศาสตร์จนจบการศึกษาระดับปริญญาเอกจากประเทศเยอรมนี ปัจจุบันเขาดำรงตำแหน่งเป็นรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เคยเสนอความคิดให้ขอนายกรัฐมนตรีพระราชทาน ตามมาตรา 7 ในรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2540 (ที่เพิ่งถูกฉีกไป)
ส่วน ยืนยง โอภากุล หรือ แอ๊ด คาราบาว ยังคงออกผลงานเพลงทั้งในนามของศิลปินเดี่ยวและศิลปินกลุ่มกับเพื่อนร่วมวง คาราบาว อย่างต่อเนื่อง (แม้ว่าผลงานเพลงในช่วงหลังๆ ของเขาจะไม่ดีและดังเท่ากับผลงานเพลงในช่วงแรกๆ ก็ตาม) ล่าสุดยืนยงเพิ่งจะแต่งเพลง ทหารพระราชา ออกมาชื่นชมการทำรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลพรรคไทยรักไทยที่นำโดยพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ของ 4 เหล่าทัพ ซึ่งเรียกตนเองว่า คปค. (ขออภัยที่จำชื่อเต็มอันยาวเหยียดไม่ได้)
หลายคนคงคาดหวังว่า ยืนยงจะสามารถแต่งเพลงที่มีเนื้อหาลึกซึ้งและมีท่วงทำนองไพเราะอย่าง ทะเลใจ ได้อีกสักหนึ่งครั้งในชีวิตการแต่งเพลงของเขา แต่หลายคนคงภาวนาเช่นกันว่า ถ้ายืนยงจะสามารถแต่งเพลงเพลงนั้นได้จริง ก็ขอให้เพลงดังกล่าวมีความทัดเทียมกับ ทะเลใจ ในด้านเนื้อหาและท่วงทำนองเพียงเท่านั้น ขออย่าให้เพลงดังกล่าวมีจุดกำเนิดที่เหมือนหรือคล้ายคลึงกับเพลงทะเลใจเลย
เพราะเราคงไม่ต้องการให้บริบททางสังคมการเมืองที่ก่อให้เกิดเพลง ทะเลใจ ขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2535 ย้อนกลับมาหาผู้คนในสังคมการเมืองไทยอีกครั้งหนึ่ง