ในช่วงท้ายของงานเสวนา “แผ่นดินพระเจ้าเสือ และตำนานพันท้ายนรสิงห์” จัดโดยนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ที่มีอาจารย์สุเนตร ชุตินธรานนท์ จากภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ผู้เป็นที่ปรึกษาของท่านมุ้ย-หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล ในการสร้างภาพยนตร์อิงประวัติศาสตร์หลายเรื่องที่ผ่านมา เป็นวิทยากรนั้น
คำถามหนึ่งที่ผู้ร่วมฟังส่งขึ้นมาบนเวที ก็คือ คำถามว่าด้วยที่มาของกระบวนการออกแบบเครื่องแต่งกายในภาพยนตร์อิงประวัติศาสตร์
โดย อ.สุเนตร ได้ยก case study น่าสนใจอันหนึ่งขึ้นมา
เป็นกรณีศึกษาผ่านตัวละคร “นัดจินหน่อง” อุปราชตองอู (รับบทโดย น.อ.จงเจต วัชรานันท์) ในภาพยนตร์ชุด “ตำนานสมเด็จพระนเรศวร”
และเป็นคำตอบว่า ทำไมตัวละครรายนี้จึงสวมชุด “ดำ” ผิดจากแม่ทัพนายกองพม่ารายอื่นๆ
เรื่องมีอยู่ว่า…
ระหว่างการเขียนบทและออกแบบงานสร้างของภาพยนตร์ชุดดังกล่าว มีอยู่วันหนึ่ง ท่านมุ้ยได้โทรศัพท์มาปรึกษา อ.สุเนตร ว่า “นัดจินหน่อง” ควรแต่งตัวอย่างไรดี?
แล้ว อ.สุเนตร ก็ไปหยิบได้หนังสือรวมบทกวีแนวนิราศของ “นัดจินหน่อง” (ผู้เป็นกวีเอกของพม่า) ขึ้นมา
ปกหนังสือเล่มดังกล่าว เป็นภาพวาด “นัดจินหน่อง” จากจินตนาการของศิลปินยุคหลัง ซึ่ง อ.สุเนตร ระบุว่า เป็นการวาดภาพและลงสีสันที่เก๋และสวยงามมากๆ
แต่ขณะนั้น อ.สุเนตร ยังไม่มีสมาร์ทโฟน ส่วนเครื่องสแกนสีก็ไม่มี และระบบการสื่อสารผ่านอินเตอร์เน็ตก็ไม่สะดวกเช่นปัจจุบัน แกจึงตัดสินใจถ่ายเอกสารปกหนังสือรวมนิราศเล่มนั้น จนภาพสีสวยงามกลายเป็นภาพขาวดำ ก่อนจะส่งแฟ็กซ์ (เวอร์ชั่นขาวดำเช่นกัน) ไปถึงท่านมุ้ย
หลังจากนั้นไม่นาน ท่านมุ้ยก็แจ้ง อ.สุเนตร ว่าได้ออกแบบเครื่องแต่งกายของ “นัดจินหน่อง” เสร็จเรียบร้อยแล้ว ตามภาพที่อาจารย์จัดส่งมา
“นัดจินหน่อง” ในหนังท่านมุ้ย จึงแต่งกายด้วยชุด “โทนดำ” แตกต่างจากตัวละครอื่นๆ อยู่แทบตลอดเวลา ด้วยประการฉะนี้
ชมคลิปงานเสวนาเต็มๆ ที่นี่