โลกของจันทคาธและสุริยคาธ (1)

ประพาศ ศกุนตนาค และ นันทนา วีระชน

หลายคนคงรู้จัก พล.ต.ประพาศ ศกุนตนาค ในฐานะผู้รับหน้าที่อ่านประกาศคณะรัฐประหารหลายครั้ง ในรอบสองทศวรรษที่ผ่านมา

แต่หลายคนอาจยังไม่รู้ว่า พล.ต.ประพาศ นั้น “รับจ็อบ” อีกประเภทหนึ่ง มาอย่างต่อเนื่องยาวนานเช่นกัน

จ็อบดังกล่าว ก็คือ การเป็นคนขับเสภาประกอบละครจักรๆ วงศ์ๆ ที่ปัจจุบันแพร่ภาพในทุกเช้าวันเสาร์-อาทิตย์ ทางช่องเจ็ดสี

ทว่าละครจักรๆ วงศ์ๆ ช่อง 7 ที่อยู่ภายใต้การผลิตของบริษัทสามเศียร ในเครือดาราวิดีโอ ก็ไม่ได้มีเสภาประกอบละครตามจารีตดั้งเดิมไปเสียทุกเรื่อง

อย่างน้อย “เกราะกายสิทธิ์” ที่ออกฉายระหว่างเดือนมกราคมถึงพฤศจิกายนของปี 2549 ก็ไม่มีเสภาประกอบละครเลยสักฉากเดียว

ที่ตลกร้ายก็คือ ครั้น พล.ต.ประพาศ ต้องว่างเว้นจากจ็อบขับเสภาประกอบละครจักรๆ วงศ์ๆ นานถึง 11 เดือน ในปีดังกล่าว

เขาก็ได้จ็อบอ่านประกาศของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) เมื่อเดือนกันยายน 2549 เข้ามาทดแทน

“เกราะกายสิทธิ์” ที่ไร้เสียงขับเสภาของ พล.ต.ประพาศ มีประเด็นหลักซึ่งพูดถึงเส้นแบ่งอันพร่าเลือนระหว่าง “ความเป็นเทพ” และ “ความเป็นมาร”

เมื่อเทพผู้ทรงอำนาจกลายเป็นตัวร้ายที่คอยจองล้างจองผลาญมนุษย์ ผู้มีอดีตชาติเป็นคู่แค้นของตนเอง ขณะเดียวกัน เทพเจ้าก็พยายามยื้อยุดฉุดรั้งและหมุนกลับกาลเวลาให้หวนย้อนคืน ตลอดจนพยายามแทรกแซงสำแดงพลานุภาพในจักรวาลวิทยาอีกชนิดหนึ่ง ซึ่งตนเองมิได้มีสถานะเป็นศูนย์กลางอันทรงอำนาจสูงสุด

สุดท้าย ภารกิจทั้งหมดก็ล้มเหลวลงอย่างพินาศย่อยยับ ทุกอย่างจบลงด้วยความตายและความพ่ายแพ้ของฝ่ายเทพ

เนื้อเรื่องที่ก้าวหน้าเช่นนั้น ยิ่งทรงพลังมากขึ้นไปอีก เมื่อถูกพิจารณาในบริบทของช่วงเวลาที่ละครออกฉาย ท่ามกลางกระแสเรียกร้องให้มีการใช้ “อำนาจจารีต” และ/หรือ “อำนาจนอกระบบ” เข้ามาจัดการชำระล้าง “ระบอบทักษิณ” อันนำไปสู่รัฐประหาร 19 กันยายน

7 ปีผ่านไป แทบไม่มีละครจักรๆ วงศ์ๆ เรื่องไหน ที่มีเนื้อหาท้าทายก้าวไกลดังที่ “เกราะกายสิทธิ์” เคยกรุยทางเอาไว้

กระทั่ง “จันทร์ สุริยคาธ” ได้แพร่ภาพในช่วงต้นปี 2556

มองรูปลักษณ์โดยเผินๆ “จันทร์ สุริยคาธ” ไม่มีอะไรแตกต่างจากละครจักรๆ วงศ์ๆ ทั่วไป

เสียงขับเสภาของ พล.ต.ประพาศ ยังก้องดังอยู่ตลอดเวลา 8 เดือนที่ละครเรื่องนี้แพร่ภาพ กระทั่งเพิ่งลาจอไปเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา

(ขณะที่จ็อบอ่านประกาศคณะรัฐประหารคล้ายจะถูกถ่ายเทไปยังนักการเมืองพลเรือน อดีตรองนายกรัฐมนตรีและอดีตเลขาธิการพรรคการเมืองใหญ่ ซึ่งฝันใฝ่จะนำพาประเทศไปสู่ระบอบ “ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์” ผ่านการปฏิวัติของ “มวลมหาประชาชน” ที่ไม่มีวัน “สมบูรณ์” ได้ด้วยตัวของมันเอง)

แต่หากพิจารณาไปที่เนื้อหาและการดำเนินเรื่อง ดูเหมือน “จันทร์ สุริยคาธ” จะสามารถนำเสนอภาพแทนของสัมพันธภาพทางอำนาจในบางมิติของสังคมไทย ได้คมชัดยิ่งกว่าบรรดารายการข่าวในสถานีโทรทัศน์กระแสหลักเสียด้วยซ้ำไป

“จันทร์ สุริยคาธ” เป็นผลิตผลของกระบวนการสร้างละครจักรๆ วงศ์ๆ ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงมือเขียนบทจาก รัมภา ภิรมย์ภักดี มาสู่ นันทนา วีระชน

รัมภามีศักดิ์เป็นหลานของ ไพรัช สังวริบุตร ซึ่งนอกจากจะเป็นคนเขียนบทละครหลังข่าวของค่ายดาราวิดีโอแล้ว ยังรับหน้าที่เขียนบทละครจักรๆ วงศ์ๆ มาอย่างยาวนาน

ในเชิงคุณภาพ เส้นกราฟการเขียนบทละครจักรๆ วงศ์ๆ ของรัมภา น่าจะไต่ไปถึงจุดสูงสุดในช่วงทศวรรษ 2540

ไม่ว่าจะเป็นการนำนิทานวัดเกาะมายำกับเทพปกรณัมกรีกเรื่อยไปจนถึงไซอิ๋วใน “เทพสามฤดู” การดัดแปลงรามเกียรติ์มาเป็นละครจักรๆ วงศ์ๆ ใน “เทพศิลป์ อินทรจักร”

รวมทั้งการทำลายขนบของเรื่องเล่าแบบจักรๆ วงศ์ๆ ใน “เกราะกายสิทธิ์” ดังได้กล่าวไปแล้ว

ส่วนนันทนา วีระชน เป็นนักเขียนนวนิยายชื่อดัง ที่มีอิทธิพลยึดกุมกลุ่มผู้อ่านใน “ตลาดล่าง” หรือ “ตลาดมวลชน” มาต่อเนื่องหลายทศวรรษ

คำ ผกา คอลัมนิสต์หญิงชื่อดังแห่งยุคปัจจุบัน เคยเขียนถึงนันทนา ผ่านบทวิจารณ์นิยายเรื่อง “ดงดอกเหมย” ในหนังสือกระทู้ดอกทองเอาไว้ว่า

“นวนิยายของ นันทนา วีระชน นั้นอร่อย จัดจ้าน เป็นกันเอง อ่านหนังสือของเธอก็เหมือนกินข้าวแกงเจ้าอร่อยในร้านแผงลอยที่แสนจะคุ้นเคย ถึงแม้จะเป็นร้านแผงลอย แต่คุณภาพอาหารก็บอกความเป็นมืออาชีพ ความรู้ และความจัดเจนในการทำอาหาร สะอาดสะอ้านตามสมควร แต่ไม่ดัดจริตถึงขั้นพาสเจอไรซ์ ใช้ผักปลอดสาร ที่สำคัญ เธอเลือกทำแต่อาหารง่ายๆ ไม่ซับซ้อน ไม่ประดิดประดอย วุ่นวาย กินง่าย ขายง่าย ทำได้ทีละเป็นกะละมังใหญ่ๆ ไม่ใช่ของที่ปรุงออกมาทีละจานให้คนไม่กี่คนกิน”

จนถึงปัจจุบัน งานเขียนของนันทนายังถูกนำมาสร้างเป็นละครโทรทัศน์ที่ประสบความสำเร็จอยู่อย่างสม่ำเสมอ อาทิ “แรงเงา” เมื่อปี 2555

ควบคู่กับการเขียนนวนิยาย นันทนาได้ผันตนเองมาเป็นหนึ่งในนักเขียนบทละครของดาราวิดีโอ เช่นเดียวกับรัมภา (สำหรับแฟนหนังไทย นันทนายังเคยกำกับและเขียนบทภาพยนตร์ไทยที่น่าสนใจอยู่หลายเรื่อง ในยุค 1980)

กระทั่งมารับไม้ผลัดในการเขียนบทละครจักรๆ วงศ์ๆ ต่อจากรัมภาในที่สุด

หากประเมินจาก “จันทร์ สุริยคาธ” จุดเด่นของบทละครจักรๆ วงศ์ๆ สไตล์ นันทนา วีระชน ก็อยู่ที่สีสันของบรรดาตัวละครสตรีที่มีบุคลิกและบทสนทนาอันจัดจ้าน ไม่ได้เรียบร้อยเหมือนผ้าพับไว้ ซึ่งพบได้ไม่บ่อยนักในบทละครสไตล์รัมภา แต่พบได้เสมอในนิยายของนันทนา

ที่น่าสนใจกว่านั้น คือ โครงสร้างของบทละครจักรๆ วงศ์ๆ สไตล์นันทนา มีความแข็งแรง คงเส้นคงวา และมีอาการแกว่งน้อยมาก

แม้จะเป็นที่รับรู้กันว่าละครประเภทนี้มักถ่ายไป เขียนบทไป ออกอากาศไป ในลักษณะสัปดาห์ชนสัปดาห์ ส่งผลให้ละครจักรๆ วงศ์ๆ หลายเรื่องมีอาการ “ออกทะเล” เมื่อดำเนินไปถึงช่วงกลางทาง

“จันทร์ สุริยคาธ” อาจมีตัวละครสมทบหรือของวิเศษ ซึ่งโผล่เข้ามามีบทบาทหน้าที่ในบางช่วงตอน ก่อนจะสูญหายไปอย่างไร้ร่องรอยไม่มีปี่มีขลุ่ยอยู่บ้าง แต่ก็ไม่มากมายนัก

ตัวละครหลักๆ ใน “จันทร์ สุริยคาธ” ล้วนมีบทบาทหน้าที่สำคัญต่อโครงเรื่องโดยรวมตั้งแต่ต้นจนจบ ตัวละครบางรายที่จมหายไปช่วงกลางเรื่อง สามารถหวนกลับมาในตอนท้าย ทั้งยังช่วยสร้างบทสรุปจบที่คมคายชวนขบคิดให้แก่ละครเรื่องนี้อีกด้วย

คล้ายคลึงกับ “เกราะกายสิทธิ์” “จันทร์ สุริยคาธ” พูดเรื่องประเด็นความสัมพันธ์ทางอำนาจไว้อย่างน่าสนใจ

“จันทร์ สุริยคาธ” อาจมิได้แสดงท่าทีต่อต้าน “อำนาจหลัก” อย่างถอนรากถอนโคน ดัง “เกราะกายสิทธิ์” และท้ายที่สุด ละครเรื่องนี้ยังทำหน้าที่ผลิตซ้ำ/ตอกย้ำ โครงสร้างอำนาจแบบเดิมๆ หรืออุดมการณ์หลักของสังคมไทย ด้วยซ้ำไป

ทว่าในระหว่างทาง บทละคร “จันทร์ สุริยคาธ” ที่เขียนโดย นันทนา วีระชน ได้เปิดเปลือยให้คนดูเห็นถึงกระบวนการต่อต้านท้าทายอำนาจหลักอยู่เกือบค่อนเรื่อง

ผ่านตัวละครอย่างเทวดาหมดฤทธิ์ที่มีหาง รากหญ้าใต้ดินมีฤทธิ์ที่คอยเยาะเย้ยสาปแช่งเทวดา และขอทานสองผัวเมียที่หัวเราะก่นด่าทั้งสมมุติเทพบนโลกมนุษย์ รวมถึงเทวราชบนสรวงสวรรค์

รายละเอียดของกระบวนการต่อต้านอำนาจเหล่านั้น จะถูกกล่าวถึงอย่างละเอียดต่อไปในบทความชุดนี้

จากชาดก-นิทานวัดเกาะ สู่ละครจักรๆ วงศ์ๆ

ก่อนจะพัฒนามาเป็น “จันทร์ สุริยคาธ” ทางโทรทัศน์ ละครจักรๆ วงศ์ๆ เรื่องนี้มีต้นกำเนิดจาก “จันทคาธชาดก” ในปัญญาสชาดก (นิทานพื้นถิ่นของภาคเหนือที่ถูกรจนาเป็นชาดก)

ซึ่งในเวลาต่อมา ถูกดัดแปลงเป็น “นิทานคำกลอนวัดเกาะ” เรื่อง “จันทรคาธ” (สามารถดาวน์โหลดนิทานคำกลอนเรื่องนี้ ความยาว 16 เล่มจบ-15 เล่ม จัดพิมพ์โดย โรงพิมพ์ศิริเจริญ เมื่อ พ.ศ.2468 ขณะที่อีกหนึ่งเล่ม จัดพิมพ์โดย โรงพิมพ์สรรพอุดม เมื่อ ร.ศ.113/พ.ศ.2437-ได้จากเพจ “หนังสือเก่าชาวสยาม” ในเว็บไซต์ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร http://www.sac.or.th/databases/siamrarebooks/main/)

พล็อตหลักของ “จันทคาธชาดก” “จันทรคาธ” และ “จันทร์ สุริยคาธ” มีความคล้ายคลึงกัน

เรื่องเล่าเหล่านี้เล่าเรื่องราวของ “จันทคาธ” (ขออนุญาตเรียกชื่อตามชาดก) และ “สุริยคาธ” พี่ชาย ที่เกิดในตระกูลยากจนเข็ญใจ ถูกพ่อแม่ไล่ออกจากบ้าน แต่ก็ได้รับยาวิเศษจากพระอินทร์และพระวิษณุกรรม

สองพี่น้องใช้ยาวิเศษดังกล่าวช่วยชุบชีวิตมนุษย์ ยักษ์ สรรพสัตว์ ขณะเดินทางไปยังเมืองต่างๆ (ผ่านทั้งเส้นทางการค้าและเส้นทางการทำศึกสงครามระหว่างเมือง) แล้วได้พบคนรัก

และได้ครองเมืองเป็นกษัตริย์ในท้ายที่สุด

“เรื่องเล่า” ทั้งสามแบบ ไม่ได้มีเพียงแค่ “จุดร่วม” หากยังมี “จุดต่าง” ระหว่างกันดำรงอยู่ด้วย

ตั้งแต่ความแตกต่างระหว่าง “ชาดก-นิทานวัดเกาะ” กับ “ละครจักรๆ วงศ์ๆ” ในเชิงรายละเอียดปลีกย่อย เช่น ชื่อคน ชื่อเมือง รวมทั้งการเพิ่มเติม-ตัดทอนตัวละคร

ในด้านการวางน้ำหนักให้กับตัวละครเอก ชาดก-นิทานวัดเกาะ ได้ขับเน้นให้ “จันทคาธ” เป็นตัวละครหลักแต่เพียงผู้เดียว ในฐานะพระโพธิสัตว์ ที่จะเสวยชาติมาเกิดเป็นพระพุทธเจ้า ขณะที่ในละครโทรทัศน์ “จันทคาธ” และ “สุริยคาธ” เป็นสองตัวละครหลัก ที่ได้รับการเฉลี่ยบทบาทโดยเท่าเทียมกัน

นอกจากนั้น ชาดก-นิทานวัดเกาะยังระบุให้จันทคาธมีหลายเมีย แต่ในละครจักรๆ วงศ์ๆ จันทคาธและสุริยคาธล้วนถูกกำหนดให้มีเมียเดียว (ซึ่งทั้งสองนางเป็นเทพธิดาคู่บุญกับเทพบุตรจันทคาธและเทพบุตรสุริยคาธมาแต่ชาติปางก่อน)

ทว่า “จุดต่าง” สำคัญจริงๆ น่าจะอยู่ที่กรอบคิดในสองประเด็น ซึ่งนำไปสู่การก่อรูปสร้างโครงของเรื่องเล่าอันผิดแผกจากกันอย่างแทบจะสิ้นเชิง

ประเด็นแรก เป็นกรอบคิดเรื่อง “การแทรกแซงของเทพเจ้า” (divine intervention) ซึ่งในชาดก-นิทานวัดเกาะ เทวดามีฐานะเป็นเพียงตัวละครผู้ช่วยที่ลงมามอบยาวิเศษให้สองพี่น้อง

ต่างกับในฉบับละครจักรๆ วงศ์ๆ ที่ “เทวบัญญัติ” จากพระอินทร์ ได้กลายสถานะเป็น “แกนหลัก” ในการกำหนดเส้นเรื่อง, เป็นอุปสรรคคอยรังควาน ทรมาน ซ้ำเติมชะตาชีวิตของจันทคาธ-สุริยคาธ และเป็น “นาย” ผู้มองเห็นสองพี่น้องเป็นดัง “กลไก/เครื่องมือ” ซึ่งต้องปฏิบัติภารกิจหน้าที่เพื่อรับใช้สรวงสวรรค์

ประเด็นที่สอง น่าสังเกตว่ากรอบคิดเรื่อง “ชาดก” ในจันทคาธชาดกและนิทานคำกลอนเรื่องจันทรคาธ ได้สูญหายไปจากละครโทรทัศน์

ตัวละครเอกใน “จันทร์ สุริยคาธ” มิได้เป็นพระโพธิสัตว์ที่จะเสวยชาติเป็นพระพุทธเจ้าอีกต่อไป แต่เป็นเทวดาทำผิด ผู้ถูกสาปให้ลงมาเกิดเป็นขอทานในเมืองมนุษย์ และต้องแสวงหาของวิเศษไปคืนสวรรค์

กรอบคิดแบบ “พุทธ” จึงคล้ายถูกลดทอนความสำคัญลง (แม้ตัวละครในละครจักรๆ วงศ์ๆ เรื่องนี้ จะพูดถึงความเชื่อเรื่องบุญ-กรรม อยู่เป็นระยะ) และถูกแทนที่โดยกรอบคิดแบบ “ผี/เทวดา”

อย่างไรก็ตาม ถ้าเรื่องเล่าแบบชาดก มีทั้งเส้นเรื่อง “แนวดิ่ง” ซึ่งชะตาชีวิตของตัวละครถูกกำหนดมาแล้วจากอำนาจเบื้องบนว่าเขาจะต้องเสวยชาติเป็นพระโพธิสัตว์และพระพุทธเจ้าในอนาคต

และเส้นเรื่อง “แนวระนาบ” ที่ตัวละครซึ่งมีชาติกำเนิดเป็นคนยากจนเข็ญใจ สามารถพัฒนาศักยภาพของตนเองไปสู่การเป็นราชา, พระโพธิสัตว์ และพระพุทธเจ้าได้

การปะทะตัดกันระหว่างเส้นเรื่องสองชนิดนี้ ก็สามารถพบเห็นได้ในละครจักรๆ วงศ์ๆ “จันทร์ สุริยคาธ” (ดังจะกล่าวถึงในบทความตอนต่อๆ ไป)

ชาดก-นิทานวัดเกาะ ไม่ได้มีสถานะเป็นเพียงเรื่องเล่า วิธีคิด หรือความเข้าใจโลกแบบเก่าสำหรับผู้คนในยุคปัจจุบันเท่านั้น

หากแต่ในยุคที่เทคโนโลยีการพิมพ์สมัยใหม่จากตะวันตกเพิ่งเผยแพร่เข้าสู่สยาม จนส่งผลให้นิทานคำกลอนจักรๆ วงศ์ๆ กลายเป็นสิ่งพิมพ์ซึ่งได้รับความนิยมในช่วงเวลาหนึ่ง

นิทานคำกลอนที่ดัดแปลงมาจากชาดกเหล่านั้นก็ถูกประเมินค่าจากปัญญาชนชั้นนำสยาม ในฐานะวิธีคิดที่ไม่มีเหตุผลตามหลักวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ และไม่มีความศิวิไลซ์

เช่น เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) ที่ได้แสดงความเห็นไว้ในหนังสือ “แสดงกิจจานุกิจ” ว่า “…อนึ่งเหนว่าในประเทศสยามนี้ มีหนังสือสำรับที่จะอ่านนั้นน้อยนัก แล้วหนังสือที่จะอ่านนั้นเล่า ก็เปนแต่เรื่องประโลมโลกย์ ยักษ์ลักนาง มนุษย์รบกับยักษ์ มีฤทธิ์เหาะได้ฆ่าไม่ตาย ชุบคนตายให้เปนขึ้นมาได้แล้วก็อ้างว่าเปนเรื่องเก่า ความแต่ชาติ์ก่อนของคนผู้มีบุญ อย่างนี้โดยมาก…”

ขณะที่ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสมมตอมรพันธุ์ ก็ได้นิพนธ์บทกลอนไว้ใน “หนังสือเรื่องวงศ์วงศ์จักร์จักร์” ว่า

“ข้าพเจ้าตริตรึกนึกเห็นว่า

แต่บรรดาโครงกาพย์แลกลอนฉันท์

ที่ได้อ่านหลากๆ มีมากครัน

เรื่องเหล่านั้นว่าไว้ไม่เห็นจริง

มีแต่การเหาะเหิรเดินเวหา

กล่าวฤทธาเกรียงไกรดูใหญ่ยิ่ง

มีอินทราสุรารักษ์ทั้งยักษ์ลิง

ไม่มีที่อ้างอิงเป็นพยาน

คนใหม่ๆ เขาไม่ใคร่จะเชื่อถือ

ใครอออือข้อความตามโวหาร

ก็ขนาบว่างุ่มง่ามตามโบราณ

เวลากาลไม่เหมือนก่อนต้องผ่อนปรน”

ทั้งหมดนี้น่าจะเป็นสาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่นำไปสู่ความพยายามในการกำหนดมาตรฐานการจัดแบ่งประเภทของวรรณกรรมที่ดีกับวรรณกรรมที่เลว จนมีการตราพระราชกฤษฎีกาตั้งวรรณคดีสโมสรขึ้นในปี พ.ศ.2457

(ข้อมูลส่วนนี้ ได้รับความรู้มาจากบทความ “บทบาททางการพิมพ์และคุณูปการของหมอสมิทต่อสังคมไทย” โดย สุรพงษ์ จันทร์เกษมพงษ์ ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับประจำเดือนกรกฎาคม 2549)

กระทั่งถึงปัจจุบัน เมื่อชาดก-นิทานวัดเกาะ ถูกแปรรูปมาเป็นละครโทรทัศน์จักรๆ วงศ์ๆ ก็ยิ่งน่าสนใจว่า ทั้งๆ ที่ถูกนำเสนอผ่านเทคโนโลยีที่ใหม่ขึ้น ทั้งๆ ที่ถูกเผยแพร่ในบริบทของช่วงเวลาร่วมสมัย แต่ละครประเภทนี้กลับมักมุ่งเน้นให้ความสำคัญกับบทบาทของเทวดา ผู้มีอำนาจในการกำหนดชะตากรรมของมนุษย์

แม้องค์ประกอบของ “ความเป็นชาดก” แบบโบราณจะลดอิทธิพลลงไป แต่ถ้ามองในอีกแง่มุมหนึ่ง กรอบความคิดที่ละครจักรๆ วงศ์ๆ หลายเรื่องนำเสนอ ก็ดูเหมือนจะ “เก่า” เสียยิ่งกว่ากรอบความคิดที่ชาดกหรือนิทานวัดเกาะเคยนำเสนอด้วยซ้ำไป

อย่างไรก็ดี สมมุติฐานที่เชื่อกันว่านิทาน/ละครประเภทนี้ เป็นเครื่องมือครอบงำทางอุดมการณ์แบบเก่า ซึ่งมุ่งผลิตซ้ำอุดมการณ์หลักชนิดเดิมอยู่ตลอดเวลา จนกลายเป็นพื้นที่ที่เสมือนไม่มีการต่อสู้ทางอุดมการณ์บังเกิดขึ้น

ก็อาจไม่เป็นความจริงเช่นกัน เมื่อได้พิจารณาถึงความย้อนแย้งทางอุดมการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ของละครจักรๆ วงศ์ๆ

The World Turned Upside Down

โมหะ โทสา

มิใช่แค่สถานะของเรื่องเล่าแบบจักรๆ วงศ์ๆ ที่ถูกประเมินจากภายนอก จะมีความย้อนแย้ง

คือ ด้านหนึ่ง บุคคลผู้มีความคิดก้าวหน้า หรือฝ่ายประชาธิปไตย ก็อาจมองว่าเรื่องเล่าโบราณๆ เหล่านี้ทำหน้าที่ช่วยค้ำจุนระบอบอำนาจตามจารีต

อีกด้านหนึ่ง ปัญญาชนของระบอบอำนาจตามจารีตเอง ก็เห็นว่าเรื่องเล่าชนิดนี้ไม่ศิวิไลซ์ ไร้เหตุผลตามหลักวิทยาศาสตร์สมัยใหม่

เป็นการประเมินจากคนละมุม/สถานะ ทว่า กลับวางอยู่บนฐานคิดคล้ายๆ กันว่า เรื่องเล่าแบบจักรๆ วงศ์ๆ คือ ภาพแทนหรือโลกทัศน์แบบ “เก่า” ที่สวนทางกับ “ความเป็นสมัยใหม่”

แต่ภายในขอบเขตพื้นที่ของเรื่องเล่าแบบจักรๆ วงศ์ๆ เอง (โดยเฉพาะละครจักรๆ วงศ์ๆ) ก็มีความย้อนแย้ง หรือความขัดแย้งดำรงอยู่เช่นกัน

และ “จันทร์ สุริยคาธ” ก็เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างอันน่าสนใจ ที่ช่วยฉายภาพความไม่สอดคล้องลงรอยดังกล่าว

“จันทร์ สุริยคาธ” เริ่มต้นเรื่องราวบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เมื่อสองเทพบุตรสุริยคาธ-จันทคาธ เกิดหลงรักเทพธิดาสังคเทวีและลีลาวดี

เทพบุตรสุริยคาธผู้เป็นหัวโจกเลยคิดแผนการดึงดูดความสนใจของสองเทพธิดา ด้วยการไปลักขโมยแก้วทิพยเนตรของพระอินทร์ เอามาขว้างเล่นกับเทพบุตรจันทคาธ แล้วสองเทพบุตรก็พลาดท่าทำแก้ววิเศษร่วงหล่นจากสรวงสวรรค์

ส่งผลให้พระอินทร์ ซึ่งไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ของตนเองได้ เมื่อขาดแก้วทิพยเนตรที่ใช้สอดส่องความเป็นไปในสามโลก พิโรธและสาปให้สองเทพบุตรลงมาเกิดเป็นลูกของขอทานสองผัวเมียผู้ใจบาปหยาบช้า

ส่วนสองเทพธิดาก็พลอยโดนหางเลข ถูกสาปให้ลงมาเกิดเป็นธิดากษัตริย์สองเมือง ซึ่งต้องพลัดพรากจากคู่รักของตนเอง จนกว่าสองเทพบุตรที่กลายเป็นมนุษย์ผู้มีชาติกำเนิดต้อยต่ำ จะตามหาแก้วทิพยเนตรได้พบ และนำไปถวายคืนพระอินทร์

ภารกิจตามหาแก้วทิพยเนตรนี้ จะเป็นเส้นเรื่องหลักของ “จันทร์ สุริยคาธ”

หากนำไปเปรียบเทียบกับเรื่องเล่าแบบ “ชาดก-นิทานวัดเกาะ”

จากเรื่องย่อข้างต้น ละครจักรๆ วงศ์ๆ “จันทร์ สุริยคาธ” ก็มีองค์ประกอบบางประการที่ผันแปรไป

อาทิ ในชาดก-นิทานวัดเกาะนั้น จันทคาธได้รับแก้ววิเศษ ที่สามารถใช้สอดส่องความเป็นไปในสามโลก เป็นสิ่งของตอบแทนจากนาค หลังจากเขาได้ใช้ยาวิเศษช่วยชุบชีวิตนาคตัวดังกล่าว

ขณะที่ในละครโทรทัศน์ แก้วทิพยเนตรเป็นของวิเศษขององค์เทวราช ซึ่งถูกลักขโมยไปโดยเทพบุตรสุริยคาธและจันทคาธ จนก่อให้เกิดเรื่องราวต่างๆ ตามมา

จากโครงเรื่องของชาดก จันทคาธต้องเกิดในตระกูลเข็ญใจ เพราะในอดีตชาติหนึ่งของเขา เคยปฏิเสธการกราบไหว้บรรพชิต

แต่เรื่องราวชาติก่อน ชาตินี้ ชาติหน้า ที่เคลื่อนไหวไปตามวิถีการเกิด แก่ เจ็บ ตาย หรือเส้นเรื่องแนวระนาบบนโลกมนุษย์ ก็ถูกปรับเปลี่ยนไปในเวอร์ชั่นละคร ให้มีความสอดคล้องกับพล็อต “เทวดาตกสวรรค์” ที่แฟนๆ ละครจักรๆ วงศ์ๆ คุ้นเคยกันเป็นอย่างดี

อย่างไรก็ตาม อิทธิพลของโครงเรื่องดั้งเดิมจากชาดก ซึ่งกำหนดให้สองพี่น้องสุริยคาธ-จันทคาธ มีชาติกำเนิดเป็นสามัญชนผู้เกิดในตระกูลเข็ญใจ หรือครอบครัวขอทานถ่อยใจบาปหยาบช้าในฉบับละคร ได้ส่งผลให้พล็อต “เทวดาตกสวรรค์” ของ “จันทร์ สุริยคาธ” มีความผิดแผกจากขนบทั่วไปของละครจักรๆ วงศ์ๆ

ที่บรรดา “เทวดาตกสวรรค์” มักลงมาเกิดในวงศ์กษัตริย์ ด้วยลักษณะอปกติหรือความพิการบางอย่าง จนต้องตกระกำลำบาก ก่อนหวนกลับมาครองเมือง

พล็อตที่ดูเหมือนจะคุ้นเคยทว่าแตกต่างนี้เอง ได้กลายเป็นจุดเด่นอันน่าสนใจของ “จันทร์ สุริยคาธ”

เป็นจุดเด่นที่ฉายภาพปรากฏการณ์ “the world turned upside down” ออกมาอย่างชวนขบคิด

ถ้าแปลเป็นไทย ปรากฏการณ์ดังกล่าวก็คงเปรียบได้กับการ “พลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน” หรือเหตุการณ์ที่ “กระเบื้องจะเฟื่องฟูลอย น้ำเต้าน้อยจะถอยจม” และ “ผู้ดีเดินตรอก ขี้ครอกเดินถนน”

ตัวละครสามัญชนใน “จันทร์ สุริยคาธ” ที่ท้าทายระบอบระเบียบซึ่งครองอำนาจอยู่ อย่างปราศจากความหวาดกลัว ก็เห็นจะเป็น “โมหะ” และ “ทาสา” พ่อแม่ของสุริยคาธ-จันทคาธ

ถ้าพิจารณาจากแง่มุมหนึ่ง โมหะ-ทาสา ก็เข้าข่ายเป็น “พ่อแม่รังแกฉัน” ที่ใช้งานและทารุณลูกดุจข้าทาส ยอมขายลูกกิน ครั้นเมื่อลูกเติบโตขึ้นและได้ดิบได้ดี พ่อแม่คู่นี้ก็ยังพยายามช่วงชิงผลประโยชน์จากลูก โดยพร้อมทำร้ายลูกตลอดเวลาเพราะหวังจะครอบครองของวิเศษ

อีกทั้งยังพร้อมจะแปรพักตร์หันไปร่วมมือกับศัตรูของลูก เมื่อเห็นว่าฝ่ายนั้นกำลังได้เปรียบในเกมการแย่งชิงของวิเศษ

ถ้าละครจักรๆ วงศ์ๆ มักถูกใครต่อใครทึกทักเอาว่าเป็นละครสำหรับเด็ก ซึ่งทำหน้าที่กล่อมเกลาเยาวชนให้มีความคิดคล้อยตามบรรทัดฐานหลักๆ ของสังคม

การฉายภาพด้านลบของพ่อแม่ตัวร้าย ก็ถือเป็นการนำเสนอภาพแทนที่เกินเพดานของละครจักรๆ วงศ์ๆ สำหรับเด็กไปมากพอสมควร

แต่การทะลุเพดานชนิดหนึ่ง ก็นำพา “จันทร์ สุริยคาธ” ไปชนกับเพดานอีกแบบหนึ่ง

เมื่อตลอดทั้งเรื่อง ตัวละครโมหะ-ทาสา จะถูกผูกติดอยู่กับนิยามความเป็นคนใจบาป หยาบช้า เห็นแก่ตัว เป็นบัวที่โผล่ไม่พ้นน้ำ

แม้ลูกชายสองคนของพวกตนจะมีศักยภาพในการพัฒนาตนเอง (ซึ่งส่วนหนึ่งก็เป็นคุณสมบัติที่ติดตัวมาจากการเป็นเทพบุตรเมื่อชาติก่อน) แต่พ่อแม่ (ผู้มีชาติกำเนิดเป็นขอทานแท้ๆ แบบดั้งเดิม) กลับไม่มีศักยภาพเช่นนั้น

เป็นการตอกย้ำความเชื่อที่ว่า อย่างไรเสีย คนเลว ผู้มีภาพลักษณ์ ภูมิหลัง และพฤติกรรมเลวทราม ก็ยังคงต้องเป็นคนเลวอยู่วันยังค่ำ ไม่มีใครหรือปัจจัยใดจะไปปรับเปลี่ยนแก้ไขคนเลวเหล่านั้นให้กลายเป็นคนดีได้

อย่างไรก็ดี ในอีกแง่มุมหนึ่ง ส่วนที่สนุกสนานมากๆ ในละครจักรๆ วงศ์ๆ เรื่องนี้ ก็คือ ช่วงเวลาที่โมหะและทาสา ตระเวนไปป่วนระบอบระเบียบอำนาจดั้งเดิมทั้งบนโลกมนุษย์และสรวงสวรรค์

บนโลกมนุษย์ เมื่อสองขอทานทราบข่าวว่าลูกชายของตนเองทั้งสองคน ได้อภิเษกสมรสกับธิดากษัตริย์สองเมือง หลังจากสามารถชุบชีวิตพวกนางให้ฟื้นคืนจากความตาย ทั้งคู่ก็ออกตามหาลูกๆ เพื่อหวังจะเสวยสุขในปราสาทราชวัง

ความปรารถนาที่ว่าชักนำโมหะและทาสาไปเผชิญหน้ากับท้าวพรหมจักร แห่งอินทปัถบุรี พ่อตาของสุริยคาธ และท้าวกาสิกราช แห่งกาสิกนคร พ่อตาของจันทคาธ

แล้วสองขอทานที่ได้รับการต้อนรับเลี้ยงดูอย่างดีและได้สวมใส่เสื้อผ้าเยี่ยงราชา-ราชินี ก็แสดงนิสัยบ้าๆ บอๆ ถ่อยๆ เถื่อนๆ ยั่วล้อราชา-ราชินีตัวจริง ในท้องพระโรงอย่าง “ไม่รู้จักที่ต่ำที่สูง”

จนถึงกับขอขึ้นไปนั่งบนราชบัลลังก์เสียเอง แล้วไล่พ่อตา-แม่ยายของลูกชายให้ไปนั่งที่อื่น ด้วยอารมณ์ตลกขบขัน

ประหนึ่งว่าตัวตลกต้อยต่ำเลวทรามอย่างโมหะ-ทาสา ได้สถาปนาตนเองขึ้นเป็นราชา-ราชินีในมหรสพรื่นเริง ขณะที่ท้าวพรหมจักรและท้าวกาสิกราชกลับต้องตกเป็นตัวตลกไร้ค่าในสายตาของสองขอทาน

ทว่า ความรื่นเริงกลับหัวกลับหางเช่นนั้นก็ดำเนินไปในช่วงเวลาสั้นๆ ชั่วครั้งชั่วคราว ก่อนที่โมหะและทาสาจะถูกขับไล่ออกมาจากทั้งอินทปัถบุรีและกาสิกนคร

ในเวลาต่อมา เมื่อสุริยคาธ-จันทคาธ ตามหาแก้วทิพยเนตรจนพบ และเตรียมเดินทางขึ้นไปบนสวรรค์ เพื่อถวายคืนแก้ววิเศษแด่พระอินทร์

ขอทานสองผัวเมียก็ขอติดตามลูกชายขึ้นไปบนสรวงสวรรค์ด้วย เพราะหวังจะได้เสวยสุขดุจเทวดาและนางฟ้า

แต่แล้วโมหะ-ทาสา ก็สร้างความปั่นป่วนบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์เข้าจนได้ หลังจากทั้งคู่ไปก่นด่าองค์เทวราชาว่าทำไมถึงไม่ออกมาต้อนรับและไม่ให้รางวัลตอบแทนแก่พวกตน ทั้งๆ ที่พวกตนเป็นพ่อแม่ของสองเทพบุตร ผู้มีหน้าที่ตามหาแก้ววิเศษตามเทวบัญชา

สุดท้าย พระอินทร์จึงพิโรธและสาปให้สองขอทานตกลงมาจากสวรรค์ แถมยังถูกธรณีสูบอีกต่างหาก

ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวจะพลิกผันโครงเรื่องของ “จันทร์ สุริยคาธ” ที่วิ่งวนภายในวงโคจรของปรากฏการณ์ “the world turned upside down” อยู่เกือบค่อนเรื่อง ให้ขยับเขยื้อนไปสู่อีกแนวทางหนึ่ง

1 Comment

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.