(ปรับปรุงจากบทความในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับประจำวันที่ 15-21 มกราคม 2559)
ต้นปีนี้ เพื่อนที่จัดทำเฟจเฟซบุ๊ก “คาเฟ่ลูมิแยร์” ได้เชิญชวนให้ไปร่วมจัดอันดับ “ท็อปเทน” ประจำปี 2558 โดยแบ่งออกเป็นสองหัวข้อ
หัวข้อแรก “ท็อปเทน หนังไทย” ขณะที่หัวข้อที่สอง คือ “ท็อปเทน ภาพเคลื่อนไหว” ซึ่งรวมทุกอย่าง นับตั้งแต่หนังยาว หนังสั้น สารคดี รายการทีวี ศิลปะจัดวาง คลิปโป๊ โฆษณา มิวสิกวิดีโอ เรื่อยไปจนถึงรายการคืนความสุข !
เมื่อมาสำรวจตรวจสอบตัวเอง ก็พบว่า ตลอดปีที่แล้วผมได้ดูหนังในโรงภาพยนตร์เพียง 20 กว่าเรื่องเท่านั้น แถมยังไม่ได้ดูสื่อภาพเคลื่อนไหวอื่นๆ ในจำนวนมากมายสักเท่าไหร่
ถือว่าต้องพิจารณาตนเองเหมือนกัน ในฐานะที่มีหน้าที่ต้องเขียนเรื่องราวเกี่ยวกับภาพยนตร์และสาระบันเทิงอื่นๆ เพื่อสื่อสารไปยังผู้อ่าน
อย่างไรก็ดี เมื่อได้รับคำชวนแล้ว จึงตัดสินใจลองจัดอันดับดูสักหน่อย แม้จะไม่ครบถ้วนสิบเรื่องสิบชิ้น ในแต่ละหมวดหมู่ก็ตาม
ท็อปเทนหนังไทย (ขออนุญาตหดเป็น “ท็อปไฟว์” เพราะได้ดูหนังไทยในปีที่ผ่านมาไม่ถึง 10 เรื่อง)
อันดับ 1 “สแน็ป : แค่…ได้คิดถึง” (คงเดช จาตุรันต์รัศมี)
หนังของคงเดชยังทำหน้าที่บันทึกภาพความขัดแย้งทางการเมืองร่วมสมัยได้อย่างมีเสน่ห์ อย่างไรก็ตาม หากจะมองว่าสแน็ปเป็นแค่หนังรักเรื่องหนึ่ง นี่ก็เป็นหนังรักที่ซับซ้อน ลึกซึ้ง เศร้าสะเทือนใจ และสามารถถูกตีความได้อย่างหลากหลายตามประสบการณ์ส่วนตัวของคนดูแต่ละราย
“บอย” พระเอกของเรื่อง จึงถูกตีความถึง ทั้งในฐานะ “เหยื่อทางการเมือง” “สลิ่มกลับใจ” และ “ผู้ชาย/คนรักแหยๆ”
เช่นเดียวกับนางเอกอย่าง “ผึ้ง” ซึ่งอาจเป็นได้ทั้ง “สลิ่มตัวแม่” ที่ฆ่าคนทิ้งในความทรงจำ และฆ่าคนทางอ้อมในโลกความจริง หรือ “หญิงสาวคนชั้นกลาง” ที่หนีจากอดีตคนรัก ผู้เก็บงำทุกอย่างไว้ในใจจนน่ารำคาญ แล้วไปแสวงหาผู้ชายและชีวิตครอบครัวที่สมบูรณ์กว่า ทว่า ไม่มีทางสมบูรณ์แบบ
อันดับ 2 “อนธการ” (อนุชา บุญยวรรธนะ)
อนธการ อาจไม่ใช่ภาพยนตร์ที่ดูแล้วจะเกิดความสนุกสนานเพลิดเพลินใจ แต่ผลงานของอนุชาก็มีจุดเด่นอย่างสำคัญ ในการสร้างสรรค์โลก/จักรวาลสมมุติของหนัง ที่คาบเกี่ยวระหว่างความจริงกับความฝัน ออกมาได้อย่างน่าเชื่อถือและทรงพลัง (ด้วยฝีมือการกำกับภาพและงานโปรดักชั่นอันยอดเยี่ยม)
ขณะเดียวกัน สารหลักในหนังยังนำเสนอความใฝ่ฝันอันรุนแรงของคนรุ่นเยาว์ ที่มุ่งหมายจะปฏิวัติโค่นล้มอำนาจบางอย่าง ท่ามกลางยุคสมัยแห่งความขัดแย้งอันคุกรุ่นและความเปลี่ยนผ่านอันคลุมเครือภายนอกโรงภาพยนตร์
อันดับ 3 “พี่ชาย My Hero” (จอช คิม)
ภาพยนตร์ไทยเรื่องนี้อาจกำกับโดยคนทำหนังต่างชาติ และสร้างขึ้นจากบทประพันธ์ภาษาอังกฤษ แต่มันกลับพูดถึงประเด็นปัญหาแบบ “ไทยๆ” ที่หนังและนิยายไทยแท้ๆ ไม่ค่อยกล้าพูดถึงกัน นั่นคือ ประเด็นความเหลื่อมล้ำอันเกิดจากระบบเกณฑ์ทหาร
พี่ชาย My Hero ยังมีลักษณะคล้ายคลึงกับสแน็ป คือ ต่อให้ไม่พิจารณาถึงประเด็นทางการเมือง-สังคมใหญ่ๆ ที่ปรากฏชัดเจนภายในหนัง ภาพยนตร์เหล่านี้ก็ยังมีฐานะเป็นเรื่องเล่าชั้นดี
ถ้าสแน็ปเล่าเรื่องราวความรักวัยรุ่นและการเติบโตของคนหนุ่มสาวชนชั้นกลางอย่างมีชั้นเชิง พี่ชายฯ ก็เล่าเรื่องราวของกลุ่มคนข้ามเพศและความสัมพันธ์ระหว่างพี่ชาย-น้องชาย ได้อย่างน่าประทับใจ (และสะเทือนใจ)
อันดับ 4 “ฟรีแลนซ์..ห้ามป่วย ห้ามพัก ห้ามรักหมอ” (นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์)
สำหรับบางคน นี่อาจเป็นหนึ่งในหนังปิดท้ายของสตูดิโอใหญ่อย่าง “จีทีเอช” ที่ต่อมาแปลงกายเป็น “จีดีเอช 559” โดยตัด “ที” ออกไป
แต่เมื่อมองอีกด้านหนึ่ง เราก็จะพบเห็นทางเดินที่น่าสนใจของคนทำหนังอย่าง นวพล บัณฑิตคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ซึ่งเอาจริงเอาจังกับการเล่าเรื่องผ่านภาพเคลื่อนไหว ตั้งแต่หนังสั้น หนังอินดี้โกยรางวัล จนมาถึงหนังเมนสตรีมรายได้เกือบหนึ่งร้อยล้านบาท
ขณะเดียวกัน เรายังได้เห็นอีกหนึ่งจุดเด่นอันดำเนินมาอย่างต่อเนื่องในงานของนวพล ได้แก่ ลักษณะ “ประนีประนอม” ตั้งแต่การประนีประนอมระหว่างโจทย์สะอาดๆ ของหน่วยงาน/องค์กรต่างๆ กับความเป็นหนังสั้นที่ดี มีคำถามเปิดกว้างชวนถกเถียง, การประนีประนอมระหว่างความเป็นหนังอินดี้ กับความพยายามในการแสวงหาคนดูกลุ่มก้อนใหญ่ขึ้น
มาจนถึงการประนีประนอมระหว่างการเล่าเรื่องราวชีวิตอันหนักหน่วงของหนุ่มสาวร่วมสมัย กับการสร้างหนังตลาดที่ต้องเข้าถึงมวลชนจำนวนมหาศาล
อันดับ 5 “2538 อัลเทอร์มาจีบ” (ยรรยง คุรุอังกูร)
ภาพยนตร์เรื่องนี้อาจไม่ใช่หนังดีมากนัก ถ้าวัดกันในแง่คุณภาพอาจด้อยกว่า “รุ่นพี่” ของ วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง ด้วยซ้ำ
แต่โดยรสนิยมส่วนตัว ผมกลับอินกับ 2538ฯ มากกว่า ส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะมันย้อนไปเล่าเรื่องราวและทบทวนความทรงจำเกี่ยวกับยุคสมัยใกล้ตัว ผ่านบทเพลงที่ตนเองคุ้นเคยเมื่อ 20 ปีก่อน
ปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่ง ก็คือ แม้ 2538ฯ จะมีจุดบกพร่องอยู่ค่อนข้างเยอะ แต่น่าเชื่อว่าผู้ชมหลายคนคงนั่งนอนดูหนังเรื่องนี้ได้อย่างสบายอารมณ์ เพราะคนทำ (ซึ่งไม่ได้เก่งกาจถึงขีดสุด) ไม่พยายามบีบดัดผลงานของตน ด้วยจุดประสงค์เข้มข้นแข็งกร้าวอย่างใดอย่างหนึ่งมากเกินไป
ทว่า เขากลับเล่ามันออกมาอย่างเบามือ ผ่อนคลาย ได้แค่ไหนก็ไปแค่นั้น
ท็อปเทน ภาพเคลื่อนไหวนานาชนิด (ขออนุญาตลดขนาดเป็นท็อปไฟว์เช่นกัน)
อันดับ 1 ละครโทรทัศน์จักรๆ วงศ์ๆ “แก้วหน้าม้า” (หนำเลี้ยบ-ภิพัชพนธ์ อภิวรสิทธิ์)
แก้วหน้าม้า อาจเหมือนละครจักรๆ วงศ์ๆ หลายต่อหลายเรื่องที่ผ่านมา ที่เปิดตัวด้วยการยั่วล้ออำนาจอันสูงส่งอย่างหาญกล้า และพลิกกลับป่วนปั่นฐานานุศักดิ์ต่างๆ อย่างสนุกสนาน ก่อนจะคลี่คลายกลายเป็นเรื่องราวว่าด้วยการ “ปราบยักษ์” ธรรมดาๆ และเริ่มยืดเยื้อเรื่องเล่าไปสู่ชีวิตของตัวละครรุ่นลูก
อย่างไรก็ดี สิ่งที่น่าสนใจมากที่สุด กลับเป็นตำแหน่งแห่งที่ของละครเรื่องนี้ ท่ามกลางการเคลื่อนเข้าสู่ยุคสมัยใหม่แห่งทีวีดิจิตอล ซึ่งสถิติการวัดเรตติ้งได้บ่งชี้ว่า ละครจักรๆ วงศ์ๆ ที่เคยถูกสร้างมาซ้ำแล้วซ้ำเล่าอย่างแก้วหน้าม้า ถือเป็นโปรแกรมโทรทัศน์ยอดนิยมอันดับต้นๆ ของปี 2558 (อาจไม่ใช่ที่หนึ่ง แต่ก็ไม่ต่ำกว่าท็อปห้า)
นี่เป็นเพราะความแน่นิ่งเน่าสนิทของสังคมไทย หรือเพราะว่ามหรสพกึ่งสมัยใหม่กึ่งโบราณเรื่องนี้มี “หน้าที่” ที่ถูกต้องเหมาะสมบางประการ ต่อผู้คนในสังคมเก่าๆ ที่กำลังเผชิญหน้ากับระลอกคลื่นความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่กันแน่?
อันดับ 2 ภาพยนตร์เรื่อง “Mad Max : Fury Road” (จอร์จ มิลเลอร์)
โดยส่วนตัว Mad Max ภาคนี้ ทำให้ผมนึกถึง The Matrix ภาคแรก ที่จะมองเป็นหนังแอ๊กชั่นดูเอามัน เอาสนุก เอาความตื่นตาตื่นใจก็ได้ หรือจะมองเป็นหนังที่สร้างขึ้นบนพื้นฐานของแนวคิดทฤษฎีอันลึกซึ้งก็ยังได้
ดังที่มีผู้วิเคราะห์หนังเรื่องนี้ไว้อย่างกว้างขวางหลากหลาย ผ่านกรอบความคิดว่าด้วยสตรีนิยม, นิเวศวิทยา, เรือนร่าง เรื่อยไปจนถึงอำนาจ ฯลฯ
อันดับ 3 ภาพยนตร์เรื่อง “The Assassin” (โหวเสี่ยวเซี่ยน)
นี่อาจไม่ใช่หนังจีนกำลังภายในที่ดูง่ายนัก แต่ก็ดูไม่ยากจนเกินไป ถ้าเราพยายามปรับตัวเข้าหาไวยากรณ์การเล่าเรื่องในลักษณะวิสามัญ ซึ่งผู้กำกับเลือกใช้
นอกจากนี้ เมื่อดูหนังไปเรื่อยๆ เราก็จะได้พบกับหลายๆ องค์ประกอบและตัวละคร ที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับองค์ประกอบของเรื่องเล่ากำลังภายในอื่นๆ
รวมทั้งยังอาจเพลิดเพลินใจไปกับการจับภาพวิวทิวทัศน์อันงดงามสะดุดตา ซึ่งไม่อาจถูกทำลายลง ด้วยความรู้สึก “ดูไม่รู้เรื่อง” หลังชมหนังจบ
อันดับ 4 ภาพยนตร์เรื่อง “Boyhood” (ริชาร์ด ลิงค์เลเทอร์)
นานวันเข้า คนดูจำนวนมาก (รวมทั้งผมเอง) อาจจดจำรายละเอียดของเรื่องราวในหนังเรื่องนี้แทบไม่ได้แล้ว จำได้แต่เพียงว่าหนังถ่ายทอดความเปลี่ยนแปลงตลอดระยะเวลา 12 ปี ของตัวละครเด็กชายรายหนึ่ง ที่ค่อยๆ เติบโตสู่การเป็นวัยรุ่น พร้อมชีวิตของผู้คนมากหน้าหลายตาที่สับเปลี่ยนหมุนเวียนเข้ามาข้องเกี่ยวกับเขา
แต่อย่างน้อย การมีโอกาสได้ชมภาพยนตร์ที่ใช้เวลาถ่ายทำนานถึง 12 ปี เท่ากับระยะเวลาของการดำเนินเรื่องราวภายในหนัง ก็ถือเป็นประสบการณ์ที่มีค่าและน่าจดจำพอสมควร
อันดับ 5 คลิปการเล่นดนตรีในเพจเฟซบุ๊ก “พนเทพ สุวรรณะบุณย์ . Page” และ “ดึกดำบรรพ์ Boy Band”
คนที่เติบโตมาในยุครุ่งเรืองของอุตสาหกรรมเทปและซีดี คงคุ้นเคยกับชื่อของ “พนเทพ สุวรรณะบุณย์” ไม่มากก็น้อย แม้ในช่วงเวลาที่บรรดา “นักแต่งเพลง” ได้รับการยอมรับนับถืออย่างสูง สถานะของคนแต่งทำนอง-เรียบเรียงดนตรี-โปรดิวซ์อัลบั้มอย่างพนเทพ (และคนที่ทำงานลักษณะเดียวกันรายอื่นๆ) อาจแลดูอ่อนด้อยกว่าสถานะของนักเขียนเนื้อร้องอยู่บ้าง
แต่ความคุ้นเคยก็จางหายไปตามกาลเวลา ที่ค่อยๆ กัดกร่อนคนรุ่นเก่า ในระบบการผลิตแบบเก่า
อย่างไรก็ดี ผมหวนกลับมาตระหนักว่าพนเทพยัง “มีของ”
เมื่อได้เริ่มติดตามคลิปการร้องเพลง-เล่นดนตรี เพราะๆ ในเพจ “พนเทพ สุวรรณะบุณย์ . Page” ที่มีทั้งโชว์เดี่ยวของเจ้าตัว และการร่วมเล่นดนตรีกับกลุ่มเพื่อนสนิท โดยเฉพาะ “ชรัส เฟื่องอารมย์” และ “ไพบูลย์เกียรติ เขียวแก้ว” (ปั่น)
ยิ่งเมื่อได้ไปชมคอนเสิร์ต “รักนิรันดร์” ก็ยิ่งรู้สึกว่า นอกจากพนเทพจะเป็นนักแต่งเพลงฝีมือดี ที่มีผลงานดังๆ มากมายแล้ว เขายังเป็นคนคุยสนุก และเป็นผู้อาวุโสที่อ่อนน้อมถ่อมตนต่อเทคโนโลยีใหม่ๆ ตลอดจนศักยภาพของคนรุ่นใหม่ อย่างน่าทึ่ง
จึงไม่แปลกเลย ที่หลังคอนเสิร์ตจบลง พนเทพจะยังคงเดินหน้าเข้าถึงแฟนเพลงขาประจำ (อาจมีหน้าใหม่ผสมมาบ้าง) ผ่านอีกหนึ่งเพจใหม่ คือ “ดึกดำบรรพ์ Boy Band” ซึ่งขับเน้นถึงการทำงานร่วมกันของสามทหารเสือ “พนเทพ-ชรัส-ปั่น”
หรือต่อให้ตัดคำสรรเสริญเยินยอมากมายออกไป อย่างน้อยที่สุด คลิปการเล่นดนตรีในสองเพจดังกล่าว ก็ยังถือเป็นเพลงฟังสบายๆ ที่เหมาะสมกับคนรุ่นอายุ 30 อัพ ซึ่งเหน็ดเหนื่อยกับภาระหน้าที่การงานต่างๆ และต้องการหาอะไรมาผ่อนคลายหัวสมอง อารมณ์ ความรู้สึก ก่อนเข้านอน
ก็เป็นอันว่า ได้หนัง-ภาพเคลื่อนไหวครบ “สิบอันดับ” พอดี แต่ต้องนำสองหัวข้อมารวมกัน แทนที่จะเป็นหัวข้อละสิบเรื่อง/ชิ้น ตามคำขอเบื้องต้น
หมายเหตุ
อย่างไรก็ตาม พอมานึกทบทวนให้มากขึ้น จึงเห็นว่ามีงานอีกสองชิ้น ที่ควรถูกผนวกเพิ่มเติมเข้าไปในบัญชีท็อปเทนภาพเคลื่อนไหว ได้แก่
ภาพยนตร์เรื่อง “The Inerasable” (โยชิฮิโร นากามูระ)
หนังผีญี่ปุ่นที่เล่าเรื่องราวซับซ้อนแนวสืบสวนได้อย่างสนุกและน่าติดตาม
หนังเริ่มต้นทุกอย่างด้วยผีที่คล้ายจะผูกติดอยู่กับ “พื้นที่/สถานที่” ตามขนบปกติ ก่อนจะพาคนดูไปสำรวจประเด็นปัญหาทางสังคม อย่างเรื่องที่ดิน/ที่อยู่อาศัยในสังคมเมือง, ประวัติศาสตร์สังคมของชุมชน, ประวัติศาสตร์บาดแผลของท้องถิ่น ตลอดจนวันวัยที่เปลี่ยนผ่านของคนโดนผีหลอก ขณะเดียวกัน ผีก็เหมือนจะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ตามการไล่ย้อนไทม์ไลน์ทางประวัติศาสตร์
ก่อนที่ทุกอย่างจะถูกขมวดจบว่า ถ้าผีมันจะหลอกหลอนคุณ มันก็คุกคามไปได้ในทุกกาละและเทศะนั่นแหละ
ภาพยนตร์สารคดีเรื่อง “The Look of Silence” (โจชัว ออปเพนไฮเมอร์)
ถ้า The Act of Killing ผลงานก่อนหน้านั้นของออปเพนไฮเมอร์ ที่พูดถึงการสังหารหมู่ทางการเมืองในอินโดนีเซีย เมื่อช่วงทศวรรษ 1960 เช่นเดียวกัน ยังมีลูก “เล่นหัว” ท่ามกลางความโศกเศร้า และความโหดเหี้ยม อยู่บ้าง จากกลวิธีการทำหนังซ้อนหนัง ที่ผู้กำกับเลือกใช้
The Look of Silence ก็ถือเป็นหนังสารคดีต่อเนื่อง ที่โหดเหี้ยมกว่า โศกเศร้ากว่า และสงบนิ่งกว่า เพราะหนังนำพาผู้เกี่ยวข้องกับ “เหยื่อ” ที่จดจำเหตุการณ์อันโหดร้ายไม่ได้ หรือยังไม่อาจรับรู้ถึงสถานการณ์ดังกล่าว เมื่อครั้งยังเยาว์วัย ออกตระเวนเดินทางไปพบกับบรรดาฆาตกร ทั้งทางตรงและทางอ้อม บางคนคือผู้มีอิทธิพล บางคนกลายเป็นคนใกล้ตัว ส่วนบางคนก็ไม่ได้มีชีวิตที่ดีอะไรมากมายนัก
การเผชิญหน้าระหว่างผู้กระทำ กับ ตัวแทนของผู้ถูกกระทำ จึงส่งผลให้หนังเต็มไปด้วยความกดดันและความตึงเครียด
หนังสารคดีทั้งสองเรื่องของออปเพนไฮเมอร์อาจเป็น “แม่แบบ” หนึ่ง ที่นักทำหนังชาวไทยในอนาคต (อันใกล้หรือไกล) จะเลือกนำมาใช้ถ่ายทอดบอกเล่าเรื่องราวของประเทศตนเอง ที่โหดเหี้ยมและเศร้าสลดไม่ต่างกัน