3 หนังไทยเล็กๆ ที่น่าจดจำ ในปี 2558

(มติชนสุดสัปดาห์ 1-7 มกราคม 2559)

 

ปี 2558 ผ่านพ้นไป พร้อมกับภาวะค่อนข้างเซื่องซึมของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย

อย่างไรก็ตาม หากมองอีกแง่หนึ่ง ความเคลื่อนไหวอันเร่าร้อนกลับไปเกิดขึ้นในแวดวงหนังอิสระหรือหนังอินดี้

ซึ่งนอกจากคนทำหนังสายนี้จะมีความชำนาญในการแสวงหาตำแหน่งแห่งที่ตามเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติให้แก่ตนเองแล้ว พวกเขาก็ยังคล่องแคล่วมากขึ้น กับการยึดกุมพื้นที่ฉายงานภายในประเทศ

ในปีที่ผ่านมา มีหนังอินดี้ไทยสามเรื่องที่ผมได้ดูและรู้สึกประทับใจ ได้แก่ “สแน็ป แค่…ได้คิดถึง” ของ คงเดช จาตุรันต์รัศมี (หนังเรื่องนี้จะเข้าฉายจริงในวันที่ 31 ธันวาคม 2558 ต่อเนื่องไปถึงเดือนมกราคม 2559), “พี่ชาย My Hero” ของผู้กำกับฯ อเมริกันเชื้อสายเกาหลี จอช คิม และ “อนธการ” ของ อนุชา บุญยวรรธนะ

ในบทความชิ้นนี้ ผมอยากจะเขียนถึง “จุดร่วม” 2-3 ประการ ที่ผู้กำกับหนังทั้งสามเรื่องต่างสื่อสารออกมาพ้องกัน (โดยมิได้นัดหมาย?) อย่างน่าสนใจ

ประการแรก คล้ายกับว่าหนังทั้งสามเรื่องต่างพูดถึงประเด็นการเผชิญหน้ากับความทรงจำ, เรื่องราวในอดีต หรือประสบการณ์อันสืบเนื่องจากอดีตมาถึงปัจจุบัน ซึ่งมีส่วนสร้างความยากลำบาก หรือสร้างกรงกักขังจิตวิญญาณเสรีและความใฝ่ฝันถึงอิสรภาพ ของตัวละครหลักในหนังแต่ละเรื่อง

“สแน็ปฯ” พูดเรื่องความทรงจำเกี่ยวกับความรักช่วงวัยรุ่น ทั้งยังตั้งคำถามอย่างแหลมคมต่อสถานะของ “ความทรงจำ” ที่ล้วนแล้วแต่แหว่งวิ่นขาดเกิน และถูกปรับแต่งตามทัศนคติ ความต้องการ ประสบการณ์ และปัญหาชีวิต ของปัจเจกบุคคลแต่ละคน

“พี่ชาย My Hero” พูดถึงความทรงจำดีๆ และความโศกาอาดูรที่น้องชายคนหนึ่ง มีต่อพี่ชายผู้จากไป

ขณะที่ “อนธการ” พูดถึงประสบการณ์เลวร้ายน่าอึดอัดของครอบครัว ครอบครัวหนึ่ง จากมุมมองของลูกชายคนเล็ก ซึ่งมีพฤติกรรมรักร่วมเพศ และถูกทำร้ายร่างกาย ตลอดจนถูกกดขี่ทางจิตใจอยู่เป็นระยะๆ

ประการต่อมาที่ต่อเนื่องกัน ก็คือ เมื่อต้องเผชิญหน้ากับความทรงจำ, ภาพอดีต หรือประสบการณ์ชีวิตอันยากลำบาก จนเสมือนไร้ทางออก ตัวละครหลักของหนังทั้งสามเรื่อง จึงพยายาม “ละทิ้ง” หรือ “หลบหนี” จากภาวะเหล่านั้น

เมื่อตัวละครหลักสองคนของ “สแน็ปฯ” ต้องเผชิญหน้าซึ่งกันและกัน/เผชิญหน้ากับคนรักในอดีต ณ ภาวะปัจจุบัน พวกเขาพยายามทดลองสานต่ออดีตดังกล่าวให้มีความสมบูรณ์ ก่อนจะตระหนักว่า ความพยายามเช่นนั้นเป็นการขัดขืนปัจจุบัน จนยากจะบรรลุภารกิจให้ลุล่วง

ด้วยเหตุนี้ ตัวละครทั้งคู่จึงต้องย้อนกลับคืนสู่วิถีชีวิตและคนรักในปัจจุบันของตน โดยตัวละครรายหนึ่งถึงกับเลือกจะ “ลบ” ภาพคนรักในอดีตออกจากโทรศัพท์มือถือ

ความทรงจำจึงประกอบด้วยสิ่งที่ไม่สามารถทำใจให้จดจำได้ และสิ่งที่สามารถทำใจให้จดจำได้อย่างราบรื่นลงรอยกับชีวิตในปัจจุบัน อาทิ ภาพถ่ายสวยๆ ในโทรศัพท์มือถือ หรือเพลงเพราะๆ สมัยวัยรุ่น ซึ่งมีศักยภาพในการช่วยโรแมนติไซส์/ลบเลือนรอยปริแยกแตกหักระหว่างอดีตกับปัจจุบัน

โดยไม่ต้องคำนึงว่า การสร้างภาวะโรแมนติกดังกล่าวจะทำร้าย ละทิ้ง และเพิกเฉยต่อใครไปบ้าง

ขณะเดียวกัน ตัวละครน้องชายใน “พี่ชาย My Hero” ก็พยายาม “หลีกหนี” เพราะไม่ต้องการเดินซ้ำรอยเท้า/การตัดสินใจอันผิดพลาดของผู้เป็นพี่ นั่นคือ การเข้ารับการเกณฑ์ทหารโดยปราศจากเส้นสาย ดังเช่นสามัญชนคนปกติทั่วไป

แต่ก็น่าตั้งคำถามเช่นกันว่า การไม่ยอมเลือกเดินตามรอยพี่ชาย แสดงให้เห็นถึงการอยู่ในสังคมฟอนเฟะ “เป็น” ของน้องชาย หรือจะถือเป็นการเหยียบรอยเท้าลงไปบนวงจรอุบาทว์เดิมๆ ที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า และครอบงำสังคม ตลอดจนกดขี่ผู้ขาดโอกาสรายอื่นๆ มาเป็นเวลาเนิ่นนาน?

ทางด้าน “อนธการ” ก็สร้างบ่อขยะและสระว่ายน้ำร้างให้กลายสถานะเป็นโลกชั่วคราวกึ่งจริงกึ่งฝัน ที่เปิดโอกาสให้วัยรุ่นชายขอบสองคนได้ “หลบหนี” เข้ามาใช้เสรีภาพทางเพศสภาพอย่างเต็มที่ ทั้งยังสามารถจินตนาการถึงการปฏิวัติล้มล้างอำนาจบางอย่างในโลกแห่งความเป็นจริงภายนอก

ก่อนที่ทั้งคู่จะแปรพลังแห่งจินตนาการดังกล่าวให้กลายเป็นการลงมือปฏิบัติจริง อันประสบความสำเร็จอย่างงดงามในท้ายที่สุด

ประการสุดท้าย น่าสะดุดใจเป็นอย่างยิ่งว่า หนังทั้งสามเรื่องไม่พยายามแยกขาดตัวเองออกจากบริบททางสังคม-การเมืองร่วมสมัย ในปี 2557-2558

“สแน็ปฯ” มีฉากหลังเป็นเหตุการณ์ทางการเมืองช่วงประกาศกฎอัยการศึก จนถึงรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 นอกจากนี้ หนังยังมุ่งเน้นประเด็นไปที่สภาวะการเติบโตและเปลี่ยนผ่านของคนรุ่นอายุยี่สิบกว่าๆ ซึ่งจบการศึกษาระดับมัธยม ในช่วงหลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ไม่นานนัก ก่อนที่วัยรุ่นกลุ่มนี้จะหวนกลับมาพบกันในงานแต่งงานของเพื่อน เมื่อเดือนพฤษภาคม ของอีกแปดปีถัดมา

หนังเรื่องล่าสุดของคงเดชยังเล่าเรื่องราวเล็กๆ เกี่ยวกับเพื่อนที่ทะเลาะเบาะแว้งกันบนหน้าเฟซบุ๊ก ด้วยประเด็นเห็นต่างทางการเมือง จนต้องอันเฟรนด์และเลิกคบหากันในชีวิตจริง

ที่สำคัญ นางเอกของเรื่องยังถูกห้อมล้อมด้วยสมาชิกครอบครัวที่เป็นนายทหาร ทั้งพ่อและว่าที่สามี (ในบรรยากาศที่กองทัพกำลังเคลื่อนพลเข้ามาบริหารจัดการประเทศอีกครั้ง ภายในระยะเวลาไม่ถึงสิบปี)

เช่นเดียวกับพล็อตหลักของ “พี่ชาย My Hero” ที่กล่าวถึงและวิพากษ์ช่องโหว่ของระบบการเกณฑ์ทหารในประเทศไทย อย่างนุ่มนวล ทว่า เจ็บแสบเสียดลึก

ส่วน “อนธการ” แม้จะแตะประเด็นความขัดแย้งทางการเมืองร่วมสมัยน้อยที่สุด (หรือแทบไม่มีเลย) และแสดงภาพตัวละครที่เป็นทหารน้อยที่สุด (หรือแทบไม่ปรากฏเลยเช่นกัน)

อย่างไรก็ตาม น่าสังเกตว่าหนึ่งในตัวละคร “ไร้หน้า/ไร้เสียง” ผู้ถูกปฏิวัติโค่นล้มอำนาจโดยเด็กชายวัยรุ่นสองคน และถูกสังหารโหดในช่วงท้ายเรื่อง กลับสวมใส่เสื้อยืดลายพรางอยู่ตลอดเวลา (แม้จะมีคำอธิบายจากตัวละครอีกราย ที่ระบุว่า ตัวละครรายนี้ไม่ได้เป็นทหาร แต่เขาเพียงแค่ชอบใส่ยูนิฟอร์มเท่านั้นก็ตาม)

โดยสรุป อาจสามารถกล่าวได้ว่า “สแน็ปฯ” คือหนังที่พยายามตั้งคำถามหรือโยนปัญหานานัปการใส่แนวคิดเรื่อง “ความทรงจำ”

ส่วน “พี่ชาย My Hero” ก็พูดถึงตัวละครปัจเจก ที่พยายามกำหนดปัจจุบันของตนเอง ไม่ให้ไปซ้ำรอยเดิมของอดีตที่เคยเกิดขึ้นกับคนใกล้ชิด

ขณะที่ “อนธการ” กล่าวถึงการพยายามหนีออกจากประสบการณ์เลวร้ายของอดีตถึงปัจจุบัน อันแล้งไร้ความหวังสำหรับอนาคต

หรืออาจกล่าวได้อีกอย่างหนึ่งว่า หนังทั้งสามเรื่องล้วนพยายามตั้งคำถามหรือแสดงท่าทีท้าทายต่อความทรงจำ, ประสบการณ์จากอดีต รวมถึงประสบการณ์ปัจจุบันที่สืบเนื่องจากวันวานและกำลังจะกลายเป็นอดีตในไม่ช้า

แต่ในทางกลับกัน หนังอินดี้ไทยเหล่านี้ ก็ถือเป็นบทบันทึกยุคสมัยผ่านสื่อภาพยนตร์ ที่ชวนฉุกคิดและน่าจดจำเป็นอย่างยิ่ง

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.