หัวร่อให้ถึงขีดสุดไปกับ “แก้วหน้าหมา”

(มติชนสุดสัปดาห์ 4-10 ธันวาคม 2558)

“แก้วหน้าม้า” เวอร์ชั่นละครโทรทัศน์จักรๆ วงศ์ๆ ประจำปี 2558 นั้น ฮิตติดลมบนไปเรียบร้อยแล้ว โดยทะยานขึ้นเป็นรายการโทรทัศน์ที่มีเรตติ้งสูงสุดในประเทศ มาหลายต่อหลายสัปดาห์ อย่างยากที่ใครจะโค่นลงได้ง่ายๆ

เว้นเสียแต่ละครเย็นวันธรรมดาของค่ายเดียวกัน อย่าง “สาวน้อยอ้อยควั่น” (ที่ไม่สามารถยืดตอนได้ยาวเท่ากับ “แก้วหน้าม้า” เพราะเวลาละครเย็นเป็นช่วงเวลาที่ทางช่อง 7 ถือครองอยู่ และนำมาแบ่งสันปันส่วนให้แก่หลายๆ ค่ายละคร ขณะที่เวลาเช้าเสาร์-อาทิตย์ เป็นช่วงเวลาที่สามเศียร-ดีด้า ซื้อไปบริหารจัดการเอง) หรือการถ่ายทอดสดการแข่งขันนัดสำคัญของทีมฟุตบอลทีมชาติไทย ซึ่งกำลังสร้างผลงานได้ดี

ก็คงต้องถกเถียงกันต่อไป ว่าทำไม “แก้วหน้าม้า” ถึงฮิตได้ขนาดนี้?

เพราะสังคมไทยและโลกทัศน์ของผู้คนส่วนใหญ่ในสังคมไทย ไม่เคยเดินหน้าไปไหนไกล แถมยังหมุนวนกลับหลังอยู่เรื่อยๆ ดังนั้น ละครกึ่งลิเกอย่าง “แก้วหน้าม้า” จึงเป็นที่นิยม

หรือเพราะสภาพสังคมร่วมสมัยที่น่าอึดอัด ได้บีบบังคับให้ละคร/ภาพยนตร์หัวก้าวหน้า ซึ่งควรบอกเล่าเรื่องราวสลับซับซ้อน, รายการข่าว-รายการสัมภาษณ์-รายการสารคดีชั้นดี และวงเสวนาวิชาการอันเข้มข้น ไม่สามารถทำหน้าที่ของตนเองได้อย่างเที่ยงตรง เต็มเม็ดเต็มหน่วย

(ผู้กำกับภาพยนตร์บางรายถึงกับเลือกไม่นำผลงานของตนมาเผยแพร่ในบ้านเกิด เพราะไม่ต้องการสร้างความชอบธรรมให้แก่ระบอบ/ระบบปัจจุบัน ที่กำลังกุมหางเสือของประเทศอยู่)

แต่มหรสพพื้นบ้านอย่าง “แก้วหน้าม้า” กลับสามารถแสวงหาช่องว่างเก่าๆ เครื่องมือเดิมๆ และกลยุทธ์ทางวัฒนธรรมแบบบ้านๆ มาใช้ช่วยระบายความอึดอัดคับข้องใจดังกล่าว ได้อย่างทรงพลานุภาพ

ใครจะเห็นอย่างไร คงขึ้นอยู่กับมุมมองส่วนบุคคลของแต่ละคน ทว่า โดยส่วนตัว ผมค่อนข้างเชื่อในสมมุติฐานแบบหลังมากกว่าแบบแรก

สมมุติฐานแบบหลังที่ว่า ถูกตอกย้ำให้มีความหนักแน่นยิ่งขึ้นไปอีก ด้วยละครเวที “แก้วหน้าหมา” ผลงานของคณะละครอนัตตา กำกับการแสดงโดย ประดิษฐ ประสาททอง ซึ่งออกแสดงในเทศกาลละครกรุงเทพ ครั้งที่ 13 เมื่อเดือนพฤศจิกายน ที่ผ่านมา

“แก้วหน้าหมา” มีรูปแบบการแสดงเป็นละครชาตรี ดูเผินๆ คล้ายมีผู้แสดงเป็น “ชาย” ล้วน แต่ข้อเท็จจริง คือ มีนักแสดงข้ามเพศฝีมือเยี่ยมมารับบทเด่นอยู่หลายคน

แก้วหน้าหมา

เรื่องย่อมีอยู่ว่า เมื่อพระอินทร์ส่งนางมณีสุนัขามาสืบทายาท กุลาหลหรรษาก็บังเกิด ปลิ้นทองจะเสียว่าวหรือเสียตัว ท้าวกระบองโตจะปั้นลูกคนได้ทันการหรือไม่ หรือดวงเมืองจะถึงการแตกดับ?

ในเชิงรูปแบบ ประดิษฐและคณะละครอนัตตา เล่นสนุกกับรูปแบบการแสดงของมหรสพพื้นบ้านอย่างเต็มศักยภาพ

คือ มีทั้งการพร่าเลือนพรมแดนระหว่างละครกับคนดู โดยพยายามเปิดโอกาสให้นักแสดงได้หยอกล้อกับคนดู ซึ่งอาจถูกกำหนดเอาไว้แล้วล่วงหน้าในบทละคร หรือเกิดจากการด้นสดเอาเองของผู้แสดง

ด้วยเหตุนี้ จึงมีการหยอกล้อคนดูเซเลบบางราย ที่มานั่งชมละคร ขณะที่เมื่อจบการแสดง คนดูมีชื่อซึ่งถูกหยอกเย้า ก็ได้โอกาสเล่นหัว/มอบรางวัลกลับไปยังคณะนักแสดงเช่นกัน

จนถือเป็นบรรยากาศการเล่นและชมมหรสพที่สนุกสนาน เปี่ยมไปด้วยมิตรจิตมิตรใจอยู่มิใช่น้อย

นอกจากนี้ พรมแดนระหว่างนักแสดงกับคนเบื้องหลังที่อยู่ด้านหน้าเวที อย่างคนบอกบท ก็ถูกทุบทำลายลง ด้วยการเปิดช่องให้คนบอกบทเข้าไปมีส่วนร่วมแทรกแซงในการแสดง ในฐานะตัวประกอบ คอยเดินตามเหล่าตัวละครหลัก แต่มักสร้างความจี๊ดจ๊าดให้แก่ละครได้อย่างสม่ำเสมอ (แถมยังต้องรับผิดชอบถึง 3 บทบาท เสียด้วย)

ลูกเล่นดังกล่าวสร้างเสียหัวเราะให้แก่คนดูได้เป็นอย่างมาก และเป็นองค์ประกอบอันน่าประทับใจลำดับต้นๆ ของละครเวทีเรื่องนี้

ในแง่เนื้อเรื่อง นอกจากการเล่นตลกกับชื่อตัวละคร เช่น แก้วหน้าหมา หรือ “ปลิ้นทอง คล่องชักว่าว” แล้ว ผู้กำกับฯ และคณะละครยังพยายามฉวยใช้ประโยชน์จาก “สภาวะยกเว้น” ซึ่งดำรงอยู่ในการแสดงแบบพื้นบ้านอย่างเต็มที่ และอาจกล่าวได้ว่า พวกเขาผลักดันละครของตนเองไปถึง “ขีดสุด” ของข้อยกเว้นเลยด้วยซ้ำ

ประดิษฐเล่นหัวกับสภาวะกลับหัวกลับหาง ที่สามารถเกิดมีขึ้นได้ในละครนอก/ละครชาตรี/ละครจักรๆ วงศ์ๆ เช่น การพลิกกลับสถานะของ “แก้วหน้าม้า” ลูกสาวชาวบ้าน ให้กลายเป็น “แก้วหน้าหมา” ธิดาเจ้าเมือง ส่วน “เจ้าชายปิ่นทอง” ก็กลับถูกลดขั้นให้เป็นเพียงชายหนุ่มสามัญชนนาม “ปลิ้นทอง”

เช่นเดียวกับการเล่นตลกใส่ตัวละครเจ้าเมืองและมเหสี ที่สามารถเกิดขึ้นได้ในการแสดงลักษณะนี้ โดยไม่ต้องยึดถือขนบธรรมเนียมประเพณีมากมาย

ยิ่งกว่านั้น “แก้วหน้าหมา” ในละคร ยังมิใช่หญิงสาวแสนดีผู้มองโลกในแง่บวก แต่กลับเป็นตัวละครตลกร้ายที่ฆ่าคนราวผักปลา จนเหลือเพียงแค่พระอินทร์และปลิ้นทองเท่านั้น ที่เธอไม่กล้าเอาชีวิต

แต่นั่นก็ไม่ได้เป็นเพราะว่า “แก้วหน้าหมา” เกรงกลัวเกรงใจเทวดาและชายคนรัก ทว่า ละครสร้างคำอธิบายเอาไว้ว่า การปลิดชีวิตบุรุษทั้งสอง จะทำให้โครงสร้างเรื่องเล่าปรัมปราที่ถูกถ่ายทอดแบบมุขปาฐะต่อเนื่องกันมาเนิ่นนาน โดนทำลายทิ้งไปต่างหาก

เมื่อพล็อตจักรๆ วงศ์ๆ ธรรมดา ถูกพลิกเหลี่ยมมุมนิดหน่อย และมีการหยอดมุขตลกที่มีความร่วมสมัยลงไปเป็นระยะๆ ละครของประดิษฐและคณะละครอนัตตาจึงเต็มเปี่ยมไปด้วยความสนุกอย่างไม่น่าเชื่อ

ทั้งนี้ มุขตลกร่วมสมัยที่ผู้สร้างละครประดิษฐ์ขึ้น ก็ถือเป็นตัวชูรสสำคัญของ “แก้วหน้าหมา” จนส่งผลให้ละครเวทีเรื่องนี้ “ไปไกล” กว่าละครทีวีเรื่อง “แก้วหน้าม้า” (แต่ขณะเดียวกัน ก็เข้าถึงคนดูวงเล็กกว่ามาก)

ทั้งยังช่วยผลักดันให้คนดูได้เปล่งเสียงหัวเราะ (ต่อสิ่งที่ไม่น่าหัวร่อใส่) ออกมาอย่างเต็มเหนี่ยว โดยไม่ต้องพึ่งพามิคาอิล บัคติน ตลอดจนการประท้วงเชิงสัญลักษณ์ที่ไหน

น่าเสียดาย ที่ผมคงไม่สามารถเฉลยมุขตลกเหล่านั้นในพื้นที่คอลัมน์นี้ได้

จึงได้แต่หวังว่า “แก้วหน้าหมา” จะกลับมาขึ้นเวทีการแสดงอีกครั้งในวาระอื่นๆ ภายภาคหน้า เพื่อให้ผู้ชมกลุ่มอื่นๆ ได้มีโอกาสสัมผัส ซึมซับ และหัวร่อไปกับมุขตลกร่วมสมัยของละครเรื่องนี้ ด้วยตนเอง

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.