“คนทำหนังอินดี้ตัวพ่อ” จากฟิลิปปินส์ และผลงานเรื่องล่าสุดของเขา

(ปรับปรุงแก้ไข จากบทความที่ตีพิมพ์ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับประจำวันที่ 20-26 พฤศจิกายน 2558)

“คิดลัท ทาฮิมิก” เป็นผู้กำกับภาพยนตร์วัย 73 ปี คนไทยบางส่วนอาจเคยเห็นชื่อเขาแบบผ่านๆ เมื่อ 3 ปีก่อน เพราะเขาเป็นผู้ได้รับรางวัล “ฟุกุโอกะ ไพรซ์” ในปีเดียวกับ “ชาญวิทย์ เกษตรศิริ” นักประวัติศาสตร์ชาวไทย

เมื่อ พ.ศ.2555 (ค.ศ.2012) ขณะที่อาจารย์ชาญวิทย์ได้รับรางวัลดังกล่าวในสาขา “วิชาการ” ทาฮิมิก ก็ได้รับรางวัลในสาขา “ศิลปะและวัฒนธรรม”

แท้จริงแล้ว “คิดลัท ทาฮิมิก” ซึ่งเป็นภาษาตากาล็อกที่แปลว่า “ฟ้าแลบอันเงียบงัน” เป็นนามแฝงของ “อีริก เดอ กีอา”

เดอ กีอา มีชีวิตที่น่าสนใจไม่น้อย เขาจบการศึกษาระดับปริญญาตรีที่บ้านเกิด จากยูนิเวอร์ซิตี้ ออฟ เดอะ ฟิลิปปินส์ โดยได้ชื่อว่าเป็นนักศึกษานักกิจกรรมตัวยง

หลังจากนั้น เขาเดินทางไปเรียนต่อที่ “วอร์ตัน สคูล” อันโด่งดัง แห่งมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา และจบการศึกษาระดับปริญญาโท ในสาขาบริหารธุรกิจ

ระหว่าง ค.ศ.1968-72 (พ.ศ.2511-15) เดอ กีอา ได้เข้าทำงานเป็นนักวิจัยประจำองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส

แต่แล้วเขากลับหันหลังให้แก่วิถีชีวิตที่กำลังก้าวไปสู่จุดหมายปลายทางของการเป็นชนชั้นนำใน “สังคมตะวันตก” เสียดื้อๆ แล้วเดินทางไปใช้ชีวิตในคอมมูนของเหล่าศิลปินมังสวิรัติ ที่เบอร์ลิน

ณ ที่แห่งนั้น คนทำหนังนาม “คิดลัท ทาฮิมิก” ได้ถือกำเนิดขึ้น โดยเขาเรียนรู้กระบวนการสร้างภาพยนตร์จากสมาชิกคอมมูนหลายๆ คน จนสามารถสร้าง กำกับฯ และนำแสดงในภาพยนตร์ที่มีชื่อว่า “Perfumed Nightmare” ที่ได้รับรางวัลจากสหพันธ์นักวิจารณ์นานาชาติ ในเทศกาลภาพยนตร์เบอร์ลิน เมื่อ ค.ศ.1977

หลังใช้ชีวิตที่เบอร์ลินอยู่ห้าปี ทาฮิมิกก็เดินทางกลับมายังฟิลิปปินส์ พร้อมภรรยาผู้เป็นศิลปินชาวเยอรมัน และลูกชายที่เป็นลูกครึ่งสองคน

เขายังเคลื่อนไหวทางสังคมและทำหนังอิสระอย่างต่อเนื่อง จนได้รับการขนานนามให้เป็น “บิดาแห่งวงการภาพยนตร์อิสระของฟิลิปปินส์”

ผลงานของทาฮิมิก ถูกจัดเป็นภาพยนตร์จากโลกที่สาม ซึ่งวิพากษ์วิจารณ์ผลกระทบหรือผลต่อเนื่องจากยุคอาณานิคม ตลอดจนสภาวะอาณานิคมแบบใหม่ ในยุคโลกาภิวัตน์ร่วมสมัย เช่นเดียวกับผลงานเรื่องล่าสุดชื่อยาวมากของเขา “BalikBayan#1: Memories of Overdevelopment Redux III.5 (Working Title, 1979-2015)”

balikbayan

BalikBayan#1

หนังเรื่องนี้ ใช้เวลาสร้างยาวนานกว่า 3 ทศวรรษ โดยถูกบันทึกผ่านฟิล์ม 16 มิลลิเมตร วิดีโอ เรื่อยมาจนถึงไฟล์ดิจิตอล และเล่าเรื่องราวคู่ขนาน ระหว่างประวัติศาสตร์อันเป็นจุดเริ่มต้นของการล่าอาณานิคมเมื่อราว 5 ศตวรรษก่อน ที่ถูกรื้อสร้างกลับหัวกลับหางเสียใหม่ กับชีวิตการเดินทางหวนคืนสู่ “บ้านเกิดเมืองนอน” ของตัวทาฮิมิกและครอบครัว

นี่จึงเป็นหนังที่บอกเล่าประวัติศาสตร์โลกเคียงคู่ไปกับประวัติส่วนตัว ทั้งยังถูกนำแสดงโดยเหล่าสมาชิกครอบครัวและคนใกล้ตัวของผู้กำกับฯ เอง

ใน ค.ศ.2021 จะครบวาระ 500 ปี แห่งการเดินทางรอบโลกเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของคณะเดินทางที่นำโดย “เฟอร์ดินานด์ มาเจลลัน”

อย่างไรก็ตาม ทาฮิมิกได้พยายามตีความใหม่และยั่วล้อประวัติศาสตร์หน้าดังกล่าว ด้วยการนำเสนอแบบทีเล่นทีจริงผ่านหนังเรื่องนี้ว่า การเดินทางรอบโลกครั้งนั้น ประสบสำเร็จได้ด้วย “เอ็นริเก้” ทาสและล่ามชาวมะละกา (รับบทโดยทาฮิมิก) มากกว่า ขณะที่มาเจลลันนั้นต้องเสียชีวิต เพราะถูก (ฮีโร่) ชนพื้นเมืองสังหาร ที่เกาะมักตัน

นอกจากนี้ หนังยังเล่าเรื่องราวของหนุ่มฝรั่งในช่วงเวลาปัจจุบัน (รับบทโดยลูกชายลูกครึ่งของทาฮิมิก) ที่มุ่งมั่นออกเดินทางตามหาศิลปินพื้นบ้านชาวฟิลิปปินส์คนหนึ่ง ซึ่งมีรูปลักษณ์คล้ายทาสชื่อเอ็นริเก้กลับชาติมาเกิด (เพราะตัวละครรายนี้ก็รับบทโดยทาฮิมิกเช่นเดียวกัน)

ขณะที่ยังพูดถึงการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่าง “ยุโรป” กับ “เอเชีย” หรือ “ตะวันตก” กับ “ตะวันออก” แต่ความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นในโลกปัจจุบันของหนังกลับมีลักษณะพลิกกลับด้าน เมื่อผู้มีรูปลักษณ์เป็นทาสเมื่อ 500 ปีก่อน กลายเป็น “ผู้รู้” ที่เป็นแรงบันดาลใจของชาวต่างชาติจากแดนไกล แถมยังมีชื่อว่า “เฟอร์ดินานโด้” (คล้ายชื่อแรกของมาเจลลัน) อีกต่างหาก

ในทางตรงกันข้าม ฝรั่งที่บุกป่าฝ่าดงขึ้นเขาไปแสวงหาความรู้จากชายชราร่างเล็กชาวฟิลิปปินส์ กลับมีชื่อว่า “เอ็นริเก้” ดุจเดียวกับตัวละครทาสชาวมะละกา

ตัวละครเอ็นริเก้ในยุคปัจจุบัน ที่รับบทโดยลูกชายของทาฮิมิก ยังอาจเป็น “ตัวแทน” ของทาฮิมิกเอง ซึ่งเติบโตและสั่งสมความรู้ใน “สังคมตะวันตก” ก่อนจะเดินทางกลับมายังฟิลิปปินส์ แล้วมุ่งมั่นเรียนรู้ในสิ่งที่อาจจะเรียกได้ว่า “ภูมิปัญญาท้องถิ่น” ที่คนท้องถิ่นใช้ในการฟื้นฟูสภาพป่าและวัฒนธรรมพื้นถิ่น

“BalikBayan” นั้นแปลเป็นภาษาไทยได้ว่า “กลับบ้าน”

สอดคล้องกับที่ “ชิมิสึ ฮิโรมุ” ศาสตราจารย์ทางด้านมานุษยวิทยา จากมหาวิทยาลัยเกียวโต ซึ่งติดตามงานของทาฮิมิกมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน ตีความเอาไว้ว่า นอกจากหนังเรื่องล่าสุดของผู้กำกับฯ อาวุโสชาวฟิลิปปินส์ จะเริ่มต้นเรื่องราวด้วยการกล่าวถึงประวัติศาสตร์ ณ จุดเริ่มต้นของกระแสโลกาภิวัตน์แล้ว

หนังยังพูดถึงการเดินทางทางจิตวิญญาณไปสู่ “ความเป็นชาวฟิลิปปินส์ที่แท้จริง”

เช่นเดียวกับที่ทาฮิมิกเฝ้าย้ำอยู่เสมอว่า ตนเองทำหนังโดยให้ความสำคัญกับ “มุมมองแบบเอเชีย” โดยมุมมองอันมีลักษณะเฉพาะดังกล่าวก็ถูกสำแดงผ่านสัญลักษณ์ “กล้องถ่ายหนังไม้ไผ่” ที่เขาพกพาติดตัวไปตามเทศกาลภาพยนตร์ต่างๆ จนกลายเป็นภาพชินตา รวมถึงเมื่อครั้งที่เขาเดินทางมาสนทนากับคนดูในงานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติโตเกียวครั้งล่าสุดด้วย

ก่อนการเริ่มต้นสนทนากับผู้ชม หลังหนังที่มีความยาว 150 นาทีปิดฉากลง ทาฮิมิกเดินเข้ามาในโรงภาพยนตร์ ด้วยเครื่องแต่งกายคล้ายบัณฑิตใหม่ พร้อมมีม้วนกระดาษเสมือนปริญญาบัตรถืออยู่ในมือ เขาเริ่มต้นแสดงละครขนาดสั้นๆ ที่วิพากษ์วิจารณ์การได้มาซึ่งปริญญาบัตรของตัวเอง (ทาฮิมิกระบุว่าเป็นปริญญาบัตรจากฮอลลีวู้ด)

ก่อนที่ผู้กำกับฯ วัย 73 ปี จะถอดเสื้อครุยทิ้ง เหลือเพียงเรือนร่างเล็กๆ กับชุดพื้นเมือง เขาหยิบฆ้องขึ้นมาตี พร้อมกล่าวถึงการเดินทางกลับมาหา “แม่พระธรณี” หรือการกลับคืนสู่ธรรมชาติ

ทาฮิมิกยกกล้องไม้ไผ่ขึ้นมาทำท่าถ่ายผู้คนในโรงภาพยนตร์ แล้วจึงนั่งลงตอบคำถาม

อย่างไรก็ดี น่าตั้งคำถามไม่น้อยว่า อะไรกันคือ “ความเป็นชาวฟิลิปปินส์ที่แท้จริง”? และอะไรกันคือ “มุมมองแบบเอเชีย”?

“ความเป็นชาวฟิลิปปินส์ที่แท้จริง” หรือ “มุมมองแบบเอเชีย” ถูกประดิษฐ์หรือกล่าวอ้างขึ้นมา เพียงเพื่อเป็นขั้วตรงข้ามของ “โลกตะวันตก” โดยปราศจากพลวัตความหลากหลายใดๆ?

หรือว่าแท้จริงแล้ว “อัตลักษณ์เฉพาะ” ดังกล่าว ก็มีความหลากหลาย ความเปลี่ยนแปลง และความสลับซับซ้อน ในตัวเอง รวมทั้งมีความสัมพันธ์ที่แยกไม่ขาดจาก “อัตลักษณ์อื่นๆ” เช่น “ความเป็นฝรั่ง” หรือ “ความเป็นตะวันตก” ฯลฯ

เพราะกระทั่งทาฮิมิกเอง ก็มีภรรยาเป็นชาวเยอรมัน มีลูกชายที่มีรูปลักษณ์เป็นฝรั่ง และก็ได้รับความรู้ในการทำหนัง “ด้วยมุมมองแบบเอเชีย” มาจากฝรั่ง

ตัวละครทาสชาวมะละกาที่ชื่อเอ็นริเก้ใน BalikBayan ก็จับพลัดจับผลูได้เมียเป็นเจ้าหญิงฝรั่ง และแลกเปลี่ยนเรียนรู้อะไรหลายอย่างกับสังคมฝรั่ง ขณะที่ตัวละครฝรั่งชื่อเดียวกัน ก็ไม่ได้มีลักษณะเป็นปฏิปักษ์ต่อ “ความเป็นฟิลิปปินส์”

ยิ่งกว่านั้น ช่วงเวลาปัจจุบันของหนังเรื่องดังกล่าว ยังฉายภาพให้เห็นการเดินทางไปยังพื้นที่ต่างๆ ในประเทศฟิลิปปินส์ ของปราชญ์ท้องถิ่นอย่างเฟอร์ดินานโด้ เพื่อเรียนรู้ภาษาอันแตกต่างหลากหลายบนหมู่เกาะแห่งนี้

แม้ถ้าพิจารณาจากการพูดจา ทาฮิมิกจะมีท่าทีต่อต้านฝรั่งตะวันตกและเชิดชูคุณค่าของ “เอเชีย” แบบโต้งๆ ชัดๆ ทว่า สารที่ซ่อนอยู่ในหนังของเขา และวิถีชีวิตของตัวเขาเอง กลับมีความสลับซับซ้อนมากกว่านั้น

และหนังเรื่องล่าสุดของทาฮิมิกอาจมีความสลับซับซ้อนมากขึ้นไปอีก ดังที่ศาสตราจารย์ชิมิสึตั้งข้อสังเกตไว้ว่าสัญลักษณ์และตัวเลข “#1” ที่อยู่ต่อท้ายชื่อหนังเรื่องนี้นั้น หมายความว่า หนังที่เริ่มออกตระเวนฉายตามเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเรื่องนี้ ยังไม่ใช่เวอร์ชั่นสมบูรณ์ที่สุด

แต่หนังเวอร์ชั่นสมบูรณ์น่าจะถูกจัดฉายในปี ค.ศ.2021 อันเป็นวาระครบรอบ 500 ปี แห่งการเดินทางรอบโลกของมาเจลลัน

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.