เผยแพร่ครั้งแรกใน “มติชนสุดสัปดาห์” ฉบับประจำวันที่ 13-19 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2558
เพิ่มเติมภาพประกอบและจัดเรียงย่อหน้าใหม่ในวันที่ 4 กันยายน พ.ศ.2563 เพื่อรำลึกถึงการจากไปของ “เดวิด เกรเบอร์” (ค.ศ.1961-2020)
“หุ่นล้อการเมือง” ในงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ ครั้งล่าสุด เพิ่งตกเป็นประเด็นข่าวที่ถูกพูดถึงกันอย่างเกรียวกราว ในฐานะของ “เครื่องมือ” (ร่วมกับป้ายผ้าและกิจกรรมแปรอักษร) ที่คนรุ่นใหม่ใช้ท้าทายอำนาจและวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลทหาร
บทความชิ้นนี้จะไม่ได้กล่าวถึง “หุ่นล้อการเมือง” ของนักศึกษาธรรมศาสตร์ เมื่อวันเสาร์ที่ 7 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
แต่จะขออนุญาตพาผู้อ่านไปทำความรู้จักกับ “ความหมาย” ของ “หุ่นล้อการเมือง” ในวัฒนธรรมการประท้วงของ “โลกตะวันตก” ผ่านการอ่านงานของ “เดวิด เกรเบอร์” นักมานุษยวิทยาและนักอนาธิปไตยฝ่ายซ้าย ซึ่งปัจจุบันเป็นศาสตราจารย์อยู่ที่ The London School of Economics and Political Science (LSE) สหราชอาณาจักร
มีงานชิ้นหนึ่งของเกรเบอร์ ที่กล่าวถึงบทบาทสำคัญของ “หุ่นล้อการเมือง” (Giant Puppets) ท่ามกลางการประท้วงของขบวนการต่อต้านโลกาภิวัตน์ ในช่วงต้นทศวรรษ 2000s ที่ทวีปอเมริกาเหนือ
โดยเขาได้พยายามอ่าน “ความหมาย” ที่มีอยู่หลายแง่มุมของหุ่นกระดาษเหล่านี้
ความหมายประการแรก รูปลักษณ์ของหุ่นกระดาษ “ล้อการเมือง” ขนาดยักษ์ทั้งหลายนั้นล้วนอยู่ในสภาพที่เปราะบางถูกทำลายทิ้งได้ง่าย มันจึงอาจถูกสรรค์สร้างขึ้นเพื่อยั่วล้อต่อบรรดา “อนุสาวรีย์” ขนาดใหญ่ของรัฐ ซึ่งโดยส่วนใหญ่มักถูกก่อสร้างขึ้นอย่างแข็งแรง เพื่อสื่อถึงความปรารถนาที่จะมีสภาพคงทนถาวรและเป็นอมตะของผู้ถือครองอำนาจรัฐ
ความหมายประการถัดมา “หุ่นล้อการเมือง” แทบทั้งหมด ต้องถูกสร้างขึ้นผ่านกระบวนการ “ร่วมกันทำร่วมกันคิด” ของเหล่านักกิจกรรมหรือผู้ชุมนุมประท้วง
“หุ่นล้อการเมือง” ไม่สามารถถูกประดิษฐ์หรือถูกกำหนดควบคุมแนวคิดเบื้องหลังได้โดยปัจเจกบุคคลคนใดคนหนึ่ง เพราะหุ่นพวกนี้ถือเป็นภาพแทนของจินตนาการ/ความคิดสร้างสรรค์ร่วมกัน ของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมทั้งขบวน
การคิดและสร้าง “หุ่นล้อการเมือง” จึงต้องเกิดจากกระบวนการอันเป็น “ประชาธิปไตยทางตรง” อย่างยิ่ง
ความหมายประการที่สาม “หุ่นล้อการเมือง” มักถูกนำมาใช้ในการประท้วงซึ่งมีรูปแบบเป็นงานคาร์นิวัลอันครื้นเครงสนุกสนาน หรือเป็นพื้นที่/ช่วงเวลาแห่ง “การปลดปล่อย” ผู้คนออกจากบรรทัดฐานหรือจารีตประเพณีที่ครอบงำสังคมอยู่ จนระบบระเบียบต่างๆ ถูกกลับหัวกลับหางไปหมด
ยิ่งกว่านั้น เมื่อ “หุ่นล้อการเมือง” มีความหมายสอดร้อยอยู่กับการต่อสู้ทางการเมืองอย่างมีอารมณ์ขันและเต็มไปด้วยความรื่นเริงบันเทิงใจ พวกมันจึงถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ของ “การรักษาสันติภาพ” หรือ “การผ่อนคลายความรุนแรง” หากสถานการณ์การชุมนุมตกอยู่อยู่ในภาวะตึงเครียด เพราะผู้ประท้วงกับเจ้าหน้าที่รัฐมีปัญหากระทบกระทั่งกัน
ในความหมายประการสุดท้าย เกรเบอร์พยายามผลักสถานะด้านบวกของ “หุ่นล้อการเมือง” ให้ไปสุดทาง ด้วยการเสนอว่า “หุ่นล้อการเมือง” อาจถือเป็น “สิ่งศักดิ์สิทธิ์” ของชุมชนนักกิจกรรมและผู้ชุมนุม
เนื่องจากหุ่นเหล่านี้แสดงให้เห็นถึง “อำนาจ” อันเกิดจากการนำจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ที่ล่องลอยอยู่ในอากาศของบรรดานักประท้วง มาสร้างสรรค์ก่อรูปให้กลายเป็นความจริง ผ่านรูปธรรมอย่าง “หุ่นกระดาษ”
แนวคิดดังกล่าวของเกรเบอร์ได้รับอิทธิพลมาจากนักสังคมวิทยาชาวฝรั่งเศสกลุ่มหนึ่งในช่วงทศวรรษ 1930 ที่เสนอว่า การปฏิวัติสังคมจะเกิดขึ้นได้ ก็ด้วยการนำเอาเทศกาลรื่นเริงของชาวบ้าน ซึ่งมีเนื้อหาข้องเกี่ยวเชื่อมโยงกับ “ความศักดิ์สิทธิ์” และอำนาจของตำนานพื้นบ้านปรัมปราต่างๆ ผนวกเข้ามาเป็นปัจจัยในการก่อการ
เพราะนักคิดเหล่านั้นมองว่ายุคสมัยของโลกทุนนิยมสามานย์ ที่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ซึ่งเคยยึดโยงผู้คนเข้าด้วยกันได้ถูกทำลายลง จนมนุษย์ต่างแปลกแยกออกจากกัน ควรถูกแทนที่ด้วยการรื้อฟื้นแนวคิดเรื่องความศักดิ์สิทธิ์และงานเทศกาลรื่นเริง อันจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสังคมด้วยประสบการณ์ร่วมของผู้คนจำนวนมาก ที่ออกมาทำกิจกรรมเคลื่อนไหวและยึดถือคุณค่าบางอย่างร่วมกัน
อย่างไรก็ตาม จากประสบการณ์การเคลื่อนไหวต่อต้านโลกาภิวัตน์ของเกรเบอร์ เขาชี้ให้เห็นว่า “ความหมาย” ของ “หุ่นล้อการเมือง” ในมุมมองของนักกิจกรรมและผู้ชุมนุมนั้น แตกต่างจาก “ความหมาย” ของมัน ที่ถูกนิยามโดยเจ้าหน้าที่รัฐ (ในบริบทดังกล่าว คือ เจ้าหน้าที่ตำรวจ)
นักมานุษยวิทยา/นักอนาธิปไตยผู้นี้ เสนอว่ามุมมองอันแตกต่างเช่นนั้น เกิดขึ้นจากการที่ทั้งสองฝ่ายตระหนักใน “ภาวะความจริง” อย่างผิดแผกจากกัน
ขณะที่ตำรวจมองเห็นว่า การใช้กำลังและความรุนแรง สามารถช่วยแก้ปัญหาสลับซับซ้อนต่างๆ ในสังคมได้
นักกิจกรรมกลับเชื่อว่า จินตนาการ/ความคิดสร้างสรรค์ต่างหาก ที่เป็นบ่อเกิดของ “อำนาจทางเลือก” ซึ่งใช้ต่อต้านอำนาจรัฐหรืออำนาจของระบบทุนนิยม รวมทั้งนำเสนอวิถีทางแก้ปัญหาแบบใหม่ๆ ให้แก่สังคม
ด้วยเหตุนี้ “หุ่นล้อการเมือง” จึงกลายเป็น “สิ่งศักดิ์สิทธิ์” ที่ยึดโยงผู้ชุมนุมเข้าหากัน เพราะมันเป็นรูปธรรมแห่ง “อำนาจ” แบบไม่เป็นทางการ ที่เกิดขึ้นจากการใช้จินตนาการร่วมกันของผู้ชุมนุมประท้วงเหล่านั้น
ในทางตรงกันข้าม การทำหน้าที่รักษาระเบียบสังคมของตำรวจ ซึ่งมุ่งจัดการ “ภาวะไร้ระเบียบ” ในรูปลักษณ์ของหุ่นกระดาษและการประท้วงด้วยท่วงทำนองแบบเทศกาลงานรื่นเริง ก็กลับกลายเป็น “กำแพง” ที่คอยกีดกันคั่นขวาง ไม่ให้ความคิดสร้างสรรค์ของผู้ชุมนุมถูกแปรสภาพกลายเป็นความจริง
เกรเบอร์พรรณนาด้วยว่า ในช่วงเวลาแห่งการเคลื่อนไหวของขบวนการต่อต้านโลกาภิวัตน์เมื่อต้นทศวรรษ 2000 สิทธิอำนาจในการเข้าควบคุมสถานการณ์ของเจ้าหน้าที่ตำรวจนั้นถูกท้าทายและป่วนปั่นอยู่ตลอดเวลา ด้วยจินตนาการ/ความคิดสร้างสรรค์ของบรรดาผู้ประท้วง
บ่อยครั้ง ที่ “หุ่นล้อการเมือง” ถูกขับเคลื่อนเข้ามา เพื่อเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ตึงเครียดให้มีความผ่อนคลายลง
แม้ผู้ชุมนุมจะประเมินว่า นั่นคือบทบาทในการรักษาสันติภาพของหุ่นกระดาษ ทว่าตำรวจกลับรู้สึกหงุดหงิดทุกครั้งเมื่อได้เห็นหุ่นเหล่านี้
เนื่องจากพวกเขามองว่าการใช้ “หุ่นล้อการเมือง” ถือเป็นเพียงเล่ห์เหลี่ยมประการหนึ่งของกลุ่มผู้ประท้วง ที่เพิ่งจะทะเลาะเบาะแว้งกับเจ้าหน้าที่ไปหมาดๆ แต่พอสถานการณ์มีแนวโน้มรุนแรงยิ่งขึ้น จนเจ้าหน้าที่ตำรวจมีสิทธิใช้อำนาจตามกฎหมาย อยู่ดีๆ ผู้ชุมนุมเหล่านั้นก็ปรับเปลี่ยนบรรยากาศการประท้วงทั้งหมดให้กลายเป็นงานคาร์นิวัลแสนรื่นเริง ไร้พิษภัย ผ่านการเคลื่อนตัวเข้ามายังท้องถนนของ “หุ่นล้อการเมือง”
จากมุมมองของเกรเบอร์ เหตุผลหลักสำคัญที่ทำให้เจ้าหน้าที่รัฐในทวีปอเมริกาเหนือรู้สึกรำคาญใจกับบรรดา “หุ่นล้อการเมือง” นั้นเกิดจากการปะทะของ 2 แนวคิด ซึ่งมีรากฐานแตกต่างกัน ดังได้กล่าวไปแล้ว
นั่นคือแนวคิดที่เชื่อว่ารัฐสามารถใช้กำลังและความรุนแรง จัดการหรือตัดตอนปัญหาต่างๆ ได้ทุกเรื่อง กับแนวคิดที่เชื่อว่าสามัญชนพอจะต่อกรกับอำนาจรัฐได้ ก็ด้วยหนทางแห่งการใช้จินตนาการและ/หรือความคิดสร้างสรรค์
เจ้าหน้าที่รัฐผู้เคยผูกขาดสิทธิในการใช้กำลังจัดการปัญหา จึงย่อมว้าวุ่นใจเป็นธรรมดา เมื่อพวกเขาค้นพบว่าอำนาจอันเกิดจากจินตนาการของฝ่ายตรงข้ามที่ไร้อาวุธนั้น สามารถยืนหยัดท้าทายอำนาจรัฐ ที่พยายามจะเข้ามาควบคุมสถานการณ์การชุมนุมของพลเมืองให้ดำเนินไปอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย
มิหนำซ้ำ จินตนาการ/ความคิดสร้างสรรค์เหล่านั้น ซึ่งมี “หุ่นล้อการเมือง” เป็นหนึ่งในตัวอย่างอันเป็นรูปธรรม ยังสามารถพลิกเกม หรือเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ความขัดแย้งที่กำลังดำเนินอยู่ ให้แปรผันไปสู่สถานการณ์รูปแบบอื่นๆ ได้โดยไม่รู้จบ
นั่นหมายความว่า “หุ่นล้อการเมือง” อาจมีนัยยะเชื่อมโยงกับการมีจินตนาการถึงสถาบันทางสังคม-การเมืองรูปแบบใหม่ๆ ที่เป็น “ทางเลือก” จากระบอบอำนาจเดิมๆ ด้วย