อ่าน “เนรเทศ”

(ปรับปรุงแก้ไข จากบทความที่เผยแพร่ครั้งแรกในมติชนสุดสัปดาห์ 30 มกราคม – 5 กุมภาพันธ์ 2558)

เนรเทศเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา เพิ่งมีโอกาสได้อ่านนวนิยายความยาว 200 กว่าหน้า เรื่อง “เนรเทศ” ของ “ภู กระดาษ” จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์มติชน

นวนิยายเรื่องนี้ บอกเล่าเรื่องราวชีวิตของตัวละครชื่อ “สายชน ไซยปัญญา” และคนในครอบครัวของเขา ซึ่งเป็น “ลูกอีสาน” ยุคใหม่ ที่ออกเดินทางไกลไปทำงานยังต่างบ้านต่างเมือง

“เนรเทศ” มีสถานการณ์หลักจริงๆ อยู่เพียงสถานการณ์เดียว นั่น คือ สถานการณ์ที่สายชนพยายามพาแม่และลูกสาวของตนเอง เดินทางกลับบ้านเกิด หลังจากทั้งสองคนมาเยี่ยมเยือนเขา ซึ่งทำงานอยู่ ณ จังหวัดภาคตะวันออก

จากนั้น เรื่องราวก็วนเวียนอยู่กับการรอรถโดยสารประจำทาง, การติดค้างอยู่ที่สถานีขนส่ง, ความยากลำบากในการใช้บริการระบบขนส่งมวลชนสาธารณะของคนเดินดินธรรมดา ตลอดจน เรื่องเล่าว่าด้วยตำนาน-ประวัติศาสตร์ ที่ถูกแทรกคั่นเข้ามาเป็นครั้งคราวในตัวเรื่อง

ถ้าจะให้อุปมา นวนิยายเรื่องนี้ก็เสมือนเป็นหนังประเภท “โร้ดมูฟวี่” เรื่องหนึ่ง

“เนรเทศ” ก็เป็นเช่นเดียวกับหนังแนวดังกล่าวจำนวนมาก นั่นคือ ต้นทางกับปลายทางของตัวละครที่ออกเดินทาง อาจไม่ได้มีความสำคัญหรือไม่ได้มีเสน่ห์มากเท่ากับ “จังหวะ” และ “เวลา” ของบรรดาเรื่องเล่าและสัญลักษณ์ที่หลั่งไหลเข้ามาตรงระหว่างทาง

เรื่องเล่าและสัญลักษณ์ประดามีในนวนิยายเรื่องนี้ ต่างไหลวนเป็น “วงกลม” ในลักษณะของการเกิดขึ้น “ซ้ำแล้วซ้ำอีก” เพื่อเน้นย้ำถึง “อำนาจ” บางอย่าง (รวมถึงความพยายามในการต่อต้านอำนาจดังกล่าว) ที่กดทับบีบอัดสังคมการเมืองไทย ให้มีสภาพ “นิ่งงัน” จนแทบจะไร้ซึ่งพลวัตความเปลี่ยนแปลง

ยิ่งเมื่อการเดินทางผ่านระบบขนส่งมวลชนสาธารณะของตัวละครภายในเรื่อง ที่ถูกถ่ายทอดออกมาผ่านบรรยากาศอืด หนืด เหนื่อย และไม่ค่อยไปไหน ถูกนำมาสอดร้อยเข้ากับ “จังหวะ/เวลา” ในลักษณะวงกลม อันเป็นโครงสร้างหลักที่ปกคลุมเรื่องเล่าต่างๆ ในนวนิยายเอาไว้ ด้วยแล้ว

คนอ่านก็จะยิ่งสัมผัสถึงอารมณ์ความรู้สึกอึดอัดคับข้องใจในระหว่างการเดินทางของบรรดาตัวละครได้เด่นชัดมากขึ้น

จุดเด่นประการหนึ่งของ “เนรเทศ” ก็คือ การนำเอาประวัติศาสตร์นิพนธ์และตำนานพื้นบ้านสอดแทรกเข้ามาในสถานการณ์หลักของนวนิยายอยู่เป็นระยะๆ

ประวัติศาสตร์ที่ถูกนำมาบอกเล่า ดูเหมือนจะมีหน้าที่เปิดโปงกระบวนการกดขี่ขูดรีดผู้ด้อยอำนาจ โดยผู้มีอำนาจเหนือกว่าหรือรัฐส่วนกลาง

ขณะที่ตำนานกลับแสดงให้เห็นถึงชัยชนะหรือช่วงเวลาแห่งการได้ลืมตาอ้าปากของคนเล็กคนน้อย ผู้เคยถูกปกครอง

อย่างไรก็ดี แม้ตำนานพื้นบ้านทุกเรื่องที่ถูกนำมาเล่าในนวนิยาย (ตั้งแต่จันทคาธชาดก จนถึงพญาคันคาก) คล้ายจะบ่งชี้ถึง “ความเป็นไปได้” ที่ “คนข้างล่าง” ผู้ถูกกดขี่ จะได้รับชัยชนะในอนาคต

ทว่า ท่าทีในการสรุปปมของตำนานพื้นบ้านทุกเรื่องโดย “ภู กระดาษ” เอง กลับย้ำเตือนคนอ่านให้ระลึกอยู่เสมอว่า เราไม่อาจไว้วางใจได้ว่าเมื่อคนที่เคยตกระกำลำบากหรือถูกกระทำ กลายเป็นฝ่ายชนะได้อำนาจขึ้นมาจริงๆ แล้วพวกเขาจะไม่เปลี่ยนไป หรือไม่หันมาเอารัดเอาเปรียบผู้ด้อยอำนาจรายอื่นๆ ที่ยังหลงเหลืออยู่ อีกทอดหนึ่ง

เนื่องจากเรื่องราวการบริหารปกครองบ้านเมืองของผู้ชนะที่เคยถูกกดขี่ข่มเหงมาก่อน มักจะไม่ปรากฏหรือไม่ถูกเล่าถึงในตำนานใดๆ เพราะตำนานพื้นบ้านโดยส่วนใหญ่จะปิดฉากลงตรงชัยชนะของตัวละครเอกเพียงเท่านั้น

การฝันไม่ไกลเกินตัว หรือการไม่โรแมนติไซส์การต่อสู้ของสามัญชนให้เลิศหรูเกินจริง จึงเป็นจุดเด่นอีกข้อหนึ่งของ “เนรเทศ”

ตัวละครหลักอย่างสายชน ไซยปัญญา อาจเป็น “ลูกอีสานหัวก้าวหน้า” ที่เรียนจบปริญญาตรี นั่งอ่านหนังสือวิชาการ “การเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ” ของอาจารย์ทักษ์ เฉลิมเตียรณ อยู่ตรงศาลารอรถประจำทาง แต่เขาก็ไม่ได้มีฐานะดีไปกว่าน้องๆ ซึ่งมีพื้นฐานการศึกษาด้อยกว่า

อย่าว่าแต่การไปต่อสู้ขัดขืนอำนาจรัฐใดๆ เลย เพราะกระทั่งอำนาจของผู้บริหารบริษัทที่เขาทำงานอยู่ สายชนก็เคยแค่พยายามจะคัดง้าง ก่อนจะต้องเป็นฝ่ายล่าถอยออกมาอย่างเจียมตัวในท้ายที่สุด

นอกจากนี้ “ภู กระดาษ” ก็ไม่ได้ทึกทักว่า “ลูกอีสาน” ยุคปัจจุบัน จะต้องเป็นเหมือนสายชนกันเสียทั้งหมด ยกตัวอย่างเช่น โจ้ หลานชายของสายชนเอง ก็มีลักษณะเป็นคนอีสานแบบที่คนเมืองส่วนใหญ่เข้าใจ (ผิดบ้าง ถูกบ้าง) คือ เรียนไม่สูง เข้ามาทำงานในเมืองใหญ่ตั้งแต่อายุไม่เยอะ เห่อผู้หญิง/โทรศัพท์/มอเตอร์ไซค์ ตามประสาวัยรุ่นทั่วไป

เช่นเดียวกับ “ผี” ในนวนิยายเล่มนี้ ซึ่งไม่มีฤทธิ์เดชอะไรมากมาย หากเป็นเหมือนความทรงจำรางๆ เป็นคล้ายบาดแผลที่ไม่มีวันเนียนแนบสนิทกับผิวหนัง เป็นดังหลักยึดเหนี่ยวในหัวใจของคนเล็กๆ ที่มีทางเลือกในชีวิตอยู่ไม่มากนัก

“ผี” ใน “เนรเทศ” อาจปรากฏตัวอยู่ในนวนิยายเกือบตลอดเวลา แต่ก็ดำรงตนอย่างสงบเงียบเรียบร้อย โดยไม่ได้มีอิทธิพลหรืออิทธิฤทธิ์มากพอที่จะพลิกผันหรือกำหนด “ปัจจุบัน” และ “อนาคต” ให้แก่มนุษย์ที่ตนรักและห่วงใยได้

“ผี” ที่ไร้อำนาจ จึงไม่ต่างอะไรจากเรื่องเล่าว่าด้วย “สี่รัฐมนตรี” หรือ “บุญราศี” ซึ่งล้วนตอกย้ำถึงความเจ็บปวดของการตกเป็นฝ่ายถูกกระทำ แต่ “ผี” แห่งอดีตอันรวดร้าวดังกล่าว ก็ไม่สามารถพลิกสถานะของคนแพ้ ผู้เต็มเปี่ยมไปด้วยความทรงจำ ให้กลับมาเป็นฝ่ายชนะได้ แม้กระทั่งในปี 2553 และหลังจากนั้น

อย่างไรก็ตาม ภายใต้โครงสร้างของ “เวลา” ที่เป็นวงกลม และสัญลักษณ์แห่งอำนาจที่ปรากฏขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า ฉากจบของนวนิยายเรื่องนี้กลับมิได้เป็น “จุดจบ” เดิมๆ เสียทีเดียว

ทว่า เป็นการเดินทางอันเหนื่อยล้า ที่ยังมิถึงจุดหมายปลายทาง และไม่มีใครแน่ใจได้ว่า จะมีเหตุการณ์หรือปัจจัยใดๆ ซึ่งสอดแทรกขึ้นมาอย่างแปลกปลอม

จนส่งผลให้ทุกๆ อย่าง เปลี่ยนแปลงไป ไม่เหมือนเดิม หรือไม่?

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.