(บทความชิ้นนี้เขียนโดย “อรดี อินทร์คง” นักศึกษาปริญญาเอก สาขาวิชามานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยคอร์แนล)
Soil without Land
ดินไร้แดน
**spoil เต็มๆ เลยเน้อ**
ดินไร้แดน เป็นหนังสารคดีเล่าถึงประสบการณ์ชีวิตของ จายแสงลอด เด็กหนุ่มชาวไทใหญ่ที่เคยเข้ามาทำงานในเชียงใหม่ แต่ด้วยเงื่อนไขสำคัญเรื่องบัตรประจำตัว ทำให้เขาตัดสินใจเลือกกลับไปอยู่บ้าน บริเวณชายแดนไทย-รัฐฉาน และเข้าฝึกทหารที่ดอยก่อวัน ซึ่งเป็นหนึ่งในฐานที่ตั้งกองกำลังกู้ชาติรัฐฉาน
หากก้าวข้ามเรื่องราวชีวิตของจายแสงลอดไปแล้ว สิ่งที่น่าสนใจที่สุดสำหรับเราก็คือ การเข้าไปนั่งฟังเสียงต่างๆ ในหนังเรื่องนี้ ทั้งเสียงสนทนา เสียงที่บันทึกสด เสียงเพลงประกอบ เสียง effect ต่างๆ ที่ถูก design ขึ้นมาเฉพาะ
หนังเริ่มด้วยเสียงของจายแสงลอดที่เล่าถึงตัวเองเป็นภาษาไทใหญ่ บอกเลยตอนนั้นรู้สึกตื่นเต้นว่าจะได้ดูหนังที่เป็นเสียงไทใหญ่ทั้งเรื่อง แต่ตื่นเต้นได้แป๊บเดียวก็มีเสียงคนสัมภาษณ์ถามคำถามเป็นภาษาไทย และจายแสงลอดตอบคำถามเป็นภาษาไทย
บทสนทนาถามตอบภาษาไทยนี้เกิดขึ้นตลอดทั้งเรื่อง โดยที่คนดูจะไม่เห็นว่าใครเป็นคนถาม จะเห็นก็แต่ภาพของจายแสงลอดและภาพ insert ต่างๆ แน่นอนว่าสิ่งที่จายแสงลอดเล่าออกมามันไม่พรั่งพรูเหมือนตอนที่เขานั่งคุยกับเพื่อนทหารด้วยภาษาไทใหญ่ คิดว่าอาจจะเป็นเพราะกำแพงของภาษา แล้วก็ rapport (ความมีมิตรจิตมิตรใจ – คนมองหนัง) ระหว่างคนถามกับคนตอบด้วยที่ทำให้บางคำตอบมันยังไปไม่ลึก
เรื่องนี้ทำให้นึกถึงตัวเองตอนทำ fieldwork ใหม่ๆ เวลาที่เราถามคำถามออกไป บางทีมันเดาได้ว่าเขาจะตอบกลับมาแบบไหน บางคนก็ keep look เหมือนนักเรียนคุยกับคุณครู แต่พอพวกเขาคุยเองกับเพื่อนด้วยภาษาของเขา โอ้โห..คนละเรื่อง สิ่งที่อยู่ในใจมันพรั่งพรูออกมาหมด
ในหนังก็เหมือนกัน เรากลับรู้สึกว้าวตอนที่จายแสงลอดคุยกับเพื่อนเป็นภาษาไทใหญ่มากกว่า คุยกันเรื่องทหารพม่า ทหารว้า คุยกันเรื่องหนีทหาร รู้สึกว่าอันนั้นมันมาจากใจ
และยิ่งรู้สึกพีคมากสุด คือช่วงที่มีทหารต้องโทษออกมา ทหารคนนี้โดนล่ามโซ่ไว้ที่ข้อเท้าทั้งสองข้าง ตอนที่เขาเดินออกมากินข้าว เพื่อนทหารคนอื่นพูดคุยถึงเขาเป็นภาษาไทใหญ่ แต่ช่วงที่เขานั่งกินข้าวอยู่คนเดียว เพื่อนทหารคนหนึ่งเดินเข้าไปคุยกับเขาด้วยภาษาจีน และตอนที่กลับไปที่เรือนนอน เพื่อนทหารอีกคนก็นั่งคุยกับเขาด้วยภาษาพม่า เดาว่าทหารที่ต้องโทษคนนี้ไม่น่าจะใช่คนไทใหญ่ (ช่วงที่สนทนาด้วยภาษาจีนและภาษาพม่า ในหนังไม่ขึ้น sub)
เคสทหารที่พยายามหนีออกจากค่ายฝึก ทำให้นึกถึงวงดนตรีของทหารบนดอยไตแลง ซึ่งเป็นอีกหนึ่งฐานที่ตั้งของกองกำลังกู้ชาติรัฐฉาน เพื่อนนักดนตรีชาวไทใหญ่เล่าให้ฟังว่า สมาชิกในวงนั้นมาจากหลายกลุ่มชาติพันธุ์ มีทั้งไทใหญ่ ปะโอ กะเหรี่ยง แต่ก็มาร้องเพลงไทใหญ่อยู่ในค่ายด้วยกัน
เคยไปดูวงนี้เล่นสดครั้งหนึ่งในงานวันชาติ พบว่านักร้องที่ผลัดกันมาร้องมีหลายสำเนียงมาก แต่พอมาเข้าห้องอัดเสียง ความหลากหลายที่ว่านี้โดนลดทอนออกไป ทุกคนต้องร้องให้ชัดด้วยสำเนียงเดียวกัน อย่างไรก็ตามอัลบั้มนี้ยังไม่แล้วเสร็จ เพราะนักร้องหนีออกจากค่ายฝึกไปซะก่อน
ในค่ายฝึกของกองกำลังกู้ชาติไทใหญ่ มันไม่ได้มีแต่ทหารที่เป็นคนไทใหญ่ ในรัฐฉานก็ไม่ได้มีแต่คนไต มันมีอีกหลายกลุ่มชาติพันธุ์อยู่ในรัฐฉานและอยู่ในกองทัพ มันมีเสียงที่หลากหลายอยู่ในนั้น แต่ในกองทัพและในงานพิธีการที่สำคัญของกองทัพ ดูเหมือนไม่มีเสียงอะไรจะดังเกินกว่าเสียงเพลงไทใหญ่ โดยเฉพาะเพลงปลุกใจให้รักชาติ
ในหนังใส่เพลงพวกนี้มา 4-5 เพลง มีเพลงดังๆ อย่างเพลง “ไตตึกตองอยู่” เป็นเพลงที่มันต้องมี และต้องร้องได้กันทุกคนไม่ว่าหนุ่มหรือแก่ เพลงพวกนี้มีพื้นที่ของมันค่อนข้างกว้าง ทั้งในกองทัพ งานสำคัญต่างๆ แต่ในพื้นที่ที่โคตรจะเป็น private zone กลับพบว่า พวกเขาก็ไม่ได้ร้องเพลงแบบนี้กันสักเท่าไหร่
อย่างในหนังจะเห็นว่า ช่วงต้นเรื่องที่จายแสงลอดนั่งอยู่ในวงเหล้ากับเพื่อนๆ ก็ร้องเพลงเกี่ยวกับสาวปางซาง แถมเพลงนี้ยังชวนให้ระลึกถึงอิสระของวัยหนุ่มเมื่อครั้งที่เขาเคยทำงานในคาราโอเกะบาร์ที่เชียงใหม่ด้วยซ้ำ
ความเรียลของหนังเรื่องนี้จึงไม่ได้อยู่แค่การพยายามออกแบบ sound effect ต่างๆ ให้มันส่งให้หนังดูสมจริง ซึ่งทำออกมาได้จริงยิ่งกว่าของจริงซะอีก แต่มันยังรวมไปถึงการถ่ายทอด “ความหล่นหายไปของเสียงที่หลากหลาย” ออกมาด้วย ก็คือความจริงมันเป็นเช่นนี้ ในกองทัพมันมีเพลงให้ได้ยินประมาณนี้ เขาอนุญาตให้เราได้ยินแค่นี้ เสียงที่คนดูหนังจะได้ยิน จึงมีเสียงเพลงในกองทัพ เสียงครูฝึก เสียงปราศรัยปลุกระดมของหัวหน้ากลุ่มการเมือง
มีฉากนึงที่น่าสนใจมากเช่นกัน ซึ่งเราคิดว่ามันน่าจะเป็นโอกาสให้คนดูได้ฟังเสียงในแง่มุมอื่นบ้าง คือฉากงานฉลองวันชาติที่ครอบครัวของทหารได้มาเยี่ยมทหารที่ค่ายฝึก บรรยากาศของงานฉลอง เพลงรำวง และเสียงของพ่อแม่ คนรัก มันถูกกลบไปด้วย score แทนเสียงสดที่บันทึกมาจากเหตุการณ์ขณะนั้น อาจจะเป็นความตั้งใจของผู้กำกับและคนทำ film score ก็เป็นได้
แต่เรารู้สึกเสียดายที่เสียงสดช่วงนั้นหายไป และสิ่งนี้แหละที่มันเรียลเกินไปจริงๆ เพราะใน fieldwork เราก็ถูกอนุญาตให้ได้ยินแค่บางเสียงเหมือนกัน
วันที่ไปดูหนังเรื่องนี้มีคนไทใหญ่มาดูเยอะเหมือนกัน คนไทใหญ่ที่มาดู (และที่ไม่มาดู) บอกว่า มันเหมือนนั่งดูชีวิตตัวเอง ชีวิตที่วนเวียนอยู่กับการดิ้นรนเอาตัวรอด หนีออกจากบ้านเกิด หนีสงคราม ฝึกภาษาใหม่ๆ ขายแรงงานแลกกับค่าแรงน้อยนิด อยู่แบบหลบๆ ซ่อนๆ ถ้าไม่มีบัตร
พี่คนหนึ่งขับรถมอเตอร์ไซค์มาจากฝาง เพื่อมาดูหนังเรื่องนี้ที่ Maya บอกว่า หนังมันจริงซะยิ่งกว่าจริง ยิ่งเรื่องเกณฑ์ทหาร ถ้าเป็นคนจนยังไงก็ไม่มีทางเลือก ความจนมันไม่แบ่งกลุ่มชาติพันธุ์ ทุกวันนี้แกไม่คิดจะกลับไปบ้านที่เมืองกึ๋งอีกแล้ว จะอยู่ทำงานจนตายในเมืองไทยนี่แหละ แต่แกส่งเงินไปช่วยเหลือทหาร แล้วก็ไปให้กำลังใจกองทัพในวันชาติไทใหญ่ทุกปี
แกบอกด้วยว่า ดูหนังเรื่องนี้แล้วปีหน้าอยากไปให้กำลังใจทหารที่ดอยก่อวัน พูดแล้วพี่แกก็ร้องเพลงจายมูกับจายต่าอูให้ฟังอีกหลายเพลง แน่นอนว่าเพลงที่เลือกมาเป็นเพลงเพื่อชีวิต มันก็จะปลุกใจหน่อยๆ