ออกอากาศมาได้ 15 ตอนแล้ว (ณ วันที่ 11 พฤษภาคม) สำหรับ “ขวานฟ้าหน้าดำ 2562”
ในฐานะที่เคยได้ยินแค่ชื่อเสียง แต่แทบไม่เคยรับชม “ขวานฟ้าหน้าดำ” มาก่อนเลย (เวอร์ชั่นปี 2526 ออกฉายขณะที่ผู้เขียนยังเด็กเกินจะดูทีวีรู้เรื่อง ส่วนเมื่อเวอร์ชั่นปี 2540-41 ออกฉาย ผู้เขียนก็อยู่ในช่วงวัยรุ่นก่อนเข้ามหาวิทยาลัย ซึ่งกำลังมองว่าละครจักรๆ วงศ์ๆ เป็นสื่อบันเทิงที่เชยและล้าหลัง)
ผู้เขียนค่อนข้างชื่นชอบองค์ประกอบหลายๆ อย่าง ของ “ขวานฟ้าหน้าดำ” ฉบับปัจจุบัน ที่แลดูผิดแผกแตกต่างจากละครจักรๆ วงศ์ๆ ส่วนใหญ่ทั่วไป
โดยไม่แน่ใจว่านี่คือองค์ประกอบที่รับสืบทอดมาจากละครฉบับก่อนๆ รวมถึงงานประพันธ์ต้นฉบับของ “เสรี เปรมฤทัย” หรือว่าเป็นสิ่งที่เพิ่งสร้างขึ้นมาใหม่โดย “บางแวก” หรือ “อัศศิริ ธรรมโชติ” ผู้เขียนบทละครเวอร์ชั่นปัจจุบัน
ทีนี้ ก็มาว่าถึงองค์ประกอบหรือลักษณะเด่นที่น่าสนใจในเรื่องราวของ “ขวานฟ้าหน้าดำ 2562” กันเลยดีกว่า
ใครๆ ต่างก็มีวิชาดี
สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจ คือ ผู้มีฤทธิ์มีวิชาอาคมใน “ขวานฟ้าหน้าดำ” นั้น ไม่ได้กระจุกตัวอยู่ที่พระเอก-เทพ-ฤษี-ยักษ์-ปีศาจ-อสูร อันเป็นโครงสร้างเรื่องราวที่พวกเราคุ้นชิน
ทว่ามนุษย์ระดับ “ชนชั้นนำ” แทบทั้งหมดในละครเรื่องนี้ ต่างมีฤทธิ์ (ไม่มากก็น้อย) กันเกือบถ้วนหน้า
ต้องไม่ลืมว่าตัวร้ายสำคัญสูงสุดที่มีฤทธิ์มากมายและมีเครือข่ายเป็นอมนุษย์สุดแสนกว้างขวาง คือ “อำมาตย์แสงเพชร” แห่งบุรีรมย์นคร
ขณะเดียวกัน “อำมาตย์โสฬส” แห่งนครคันธมาทน์ ก็มีฤทธิ์เดชใช่ย่อยเช่นกัน หากพิจารณาจากการชุบเลี้ยงสองกุมาร “รัก-ยม” และการมีดาบประจำตระกูล
เท่ากับว่าตัวละคร “อำมาตย์” ซึ่งปกติจะไม่ค่อยมีวิชาเก่งกล้ามากนักในละครจักรๆ วงศ์ๆ เรื่องอื่นๆ ได้กลับกลายเป็นผู้มีฤทธิ์เดชใน “ขวานฟ้าหน้าดำ”
นอกจากนี้ ตัวละครผู้มีฤทธิ์ใน “ขวานฟ้าหน้าดำ 2562” ยังแพร่กระจายไปไกลอย่างน่าทึ่ง “บุรีรมย์ราชา” ผู้มีสุขภาพอ่อนแอ ก็มีวิชาดีติดตัวอยู่ไม่น้อย, ตัวละคร “พราหมณ์” ซึ่งเพิ่งปรากฏตัวในตอนที่ 15 ก็น่าจะมีของดีพอสมควร (ส่วนจะต่อกรกับ “นางยักษ์กาขาว” ได้หรือไม่? เป็นอีกประเด็นหนึ่ง)
และแน่นอน เราต้องไม่ลืม “เจ้าพ่อเขาเขียว” แห่งศาลตายายที่เป็นแหล่งยึดเหนี่ยวจิตใจชาวบ้าน ซึ่งบทบาทเริ่มห่างหายไปในช่วงนี้
อำนาจของคนตัวเล็กตัวน้อย
การปรากฏตัวขึ้นของสองกุมารตัวจิ๋ว “รัก-ยม” ผู้เป็น “ลูก” ของ “อำมาตย์โสฬส” นอกจากจะสร้างความบันเทิง (ประเภทเสกม้าไม้ให้วิ่งได้ หรือคอยต่อว่า “พ่ออำมาตย์” ด้วยถ้อยคำแสบๆ คันๆ ว่าเป็น “เผด็จการ”) และทำให้ตัวละครเด็กใน “ขวานฟ้าหน้าดำ 2562” มีความหลากหลายยิ่งขึ้นแล้ว
สองกุมารร่างมินิยังช่วยตอกย้ำให้เรามองเห็นถึงเหล่าคนเล็กคนน้อยผู้มีฤทธิ์เดช/อำนาจใหญ่โตเกินตัว
“รัก-ยม” คือ ตัวแทนคนเล็กคนน้อยเหล่านั้น “เจ้าพ่อเขาเขียว” ก็เช่นเดียวกัน
ต้องยอมรับว่าเราแทบไม่ได้เห็นตัวละครที่มีบุคลิกลักษณะดังกล่าวในละครจักรๆ วงศ์ๆ ร่วมสมัย เรื่องอื่นๆ
คู่เปรียบเทียบที่ใกล้เคียงกับ “รัก-ยม-เจ้าพ่อเขาเขียว” มากที่สุด ก็เห็นจะเป็น “หญ้าเขียว-หญ้าแดง” ใน “จันทร์ สุริยคาธ”
ขอบคุณภาพประกอบจาก ยูทูบสามเศียร