หนึ่ง
ในบันทึกชิ้นก่อนหน้านี้ เคยตั้งข้อสังเกตถึงลักษณะเด่นเชิง “พื้นที่” ซึ่งปรากฏในละครเรื่อง “กรงกรรม”
นั่นคือ เครือข่ายของจักรวาลน้อยๆ ที่มีศูนย์กลางอยู่ ณ “บ้านแบ้” ในตลาดชุมแสง ซึ่งมีสายสัมพันธ์เชื่อมโยงกับผู้คนในอีกหลายๆ ตำบลของอำเภอชุมแสง ตลอดจนอำเภออื่นๆ ร่วมจังหวัดนครสวรรค์
ถ้าเปรียบคนเขียนนิยาย คนเขียนบทละครโทรทัศน์ ผู้กำกับ หรือกระทั่งคนดู เป็นเหมือน “นักมานุษยวิทยา” ที่เดินทางไปทำงานภาคสนามเพื่อศึกษาชีวิตของ “คนบ้านแบ้”
“สนาม” ที่พวกเขาศึกษา ก็มิใช่หมู่บ้านชนบทอันห่างไกล เดี่ยวๆ โดดๆ หากเป็นโครงข่ายความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ในหลายๆ พื้นที่
แต่ยิ่งละครดำเนินไป อีกมิติหนึ่งที่เริ่มปรากฏเด่นชัดขึ้นมาคู่ขนานกัน ก็คือ มิติเรื่อง “เวลา”
น่าสนใจว่า เอาเข้าจริงเหตุการณ์/ชะตากรรมของ “คนบ้านแบ้” ที่ผกผันไปอย่างเข้มข้นนั้น ไหลเลื่อนเคลื่อนไหวอยู่ภายในกรอบเวลาหนึ่งปี ระหว่าง พ.ศ.2510-2511 เท่านั้นเอง (และกลายเป็นว่า “ช่วงชีวิต” ของเหล่าตัวละคร จะถูกถ่างขยายออกไปให้กว้างไกลขึ้นในตอนอวสาน)
การสัมผัสกับชีวิตและโลกของ “คนอื่น” ประมาณหนึ่งปี ก็ไม่ต่างอะไรกับช่วงเวลาทำงานภาคสนามโดยปกติของ “นักมานุษยวิทยา” (อีกแล้ว)
ด้วยเหตุนี้ สิ่งพึงระวัง ไม่ว่าเราจะบริโภคละคร นิยาย หรือกระทั่งงานชาติพันธุ์นิพนธ์ของนักวิชาการอยู่ ก็คือ เราอาจหลงเชื่อได้ง่ายๆ ว่า พลวัต ความเปลี่ยนแปลง-เปลี่ยนผ่าน การคลี่คลายตัวตน การเติบโตเรียนรู้ การเริ่มต้นชีวิตใหม่ การถือกำเนิดของอีกหลายชีวิต และความตายของบางชีวิต นั้นเป็นภาพรวมชิ้นสมบูรณ์ที่ช่วยให้เราเข้าใจ “จักรวาลบ้านแบ้” อย่างถ่องแท้กระจ่างแจ้งในทุกแง่มุม
ทั้งที่ในความเป็นจริง เราเพียงได้สัมผัสกับช่วงชีวิตสั้นๆ ในระยะแค่ 1 ปีของ “คนบ้านแบ้” และบรรดาเพื่อนมนุษย์รายรอบพวกเขา (บวกด้วยบทสรุปที่ตัดข้ามช่วงเวลาอีกนิดหน่อย)
สอง
“กรงกรรม” อาจพูดถึงสังคมชนบท/ต่างจังหวัดไทยก่อนจะเข้าสู่ “ภาวะสมัยใหม่” เต็มตัว ทั้งด้วยการแผ่อิทธิพลของจักรวรรดิอเมริกันในยุคสงครามเย็น และโอกาสที่สะดวกง่ายดายขึ้นในการเชื่อมโยงกับศูนย์กลางประเทศที่กรุงเทพฯ
แต่ท่ามกลางความคืบหน้าและพุ่งทะยานดังกล่าว กลับไม่มีตัวละครหลักรายไหนที่แลดู “สูงส่ง” กว่าตัวละครรายอื่นๆ หรือพูดง่ายๆ ว่าตัวละครหลักใน “กรงกรรม” ล้วนมี “ความเท่าเทียม” กันอย่างน่าทึ่ง (และชวนตั้งคำถามในบางแง่)
เหล่าตัวละครหลักนั้นมีภูมิหลังทางการศึกษาที่เหลื่อมล้ำกันแน่ๆ ก่อนเกณฑ์ทหาร “อาไช้” เรียนจบ ป.4 “อาตง” กับ “อาซา” ตลอดจนบรรดาตัวละครรุ่นพ่อแม่หรือ “เรณู” ก็ไม่น่าจะต่างกันมากนัก
ใน “บ้านแบ้” อาจมีแค่ “อาสี่” คนเดียว ซึ่งได้ร่ำเรียนสูงถึงระดับช่างกลที่อำเภอเมือง คล้ายกับ “วรรณา” หรือ “พิไล” ที่มีการศึกษาสูงกว่าชาวบ้านธรรมทั่วไป โดยคนแรกได้เรียนวิชาชีพตัดเสื้อ ส่วนคนหลังจบชั้นมัธยมปลาย หรือ ม.ศ.5
ไม่นับรวม “คนนอก” อย่าง “ปลัดจินกร” ที่ต้องจบปริญญาตรี (ไม่สิงห์ดำก็คงสิงห์แดง)
ทว่าแม้การศึกษาจะไม่เท่ากัน แต่ทั้งหมดกลับมีชีวิตที่ทั้งดีงามและย่ำแย่ในบ่วงแห่งความรัก โลภ โกรธ หลง หรือกิเลสตัณหาของมนุษย์ ไม่ต่างกัน
แม้หลายคนอาจรู้สึกว่าการอธิบายความแบบนี้จะเป็นการใช้ศาสนาอย่างง่าย เชย และใหญ่โตเกินไป แต่ก็ต้องยอมรับ “ความเท่าเทียม” ของเหล่าตัวละครใน “กรงกรรม” เกิดจากองค์ประกอบดังกล่าวจริงๆ
นอกจากนั้น “ไสยศาสตร์” ก็เป็นอีกหนึ่งพลัง ที่ช่วยปรับเปลี่ยนดุลยภาพทางอำนาจระหว่างหลายๆ ตัวละคร
(ในละครเรื่องนี้ “ไสยศาสตร์” ถูกยอมรับนับถือมากกว่า “เจ้าหน้าที่รัฐ” อย่าง “ตำรวจ” จึงไม่แปลกที่ “พิไล” จะค่อยๆ ปลีกตัวเองจากการพยายามขึ้นไปแจ้งความบนโรงพัก มาสู่การแสวงหา “อาจารย์ดี” และความเปลี่ยนแปลงส่วนบุคคลมาสู่ด้านสว่างของเธอ ก็บังเกิดจาก “อาจารย์สมดี” ไม่ใช่กระบวนการยุติธรรมใดๆ)
ส่งผลให้คนมีเงินน้อยกว่าสามารถทำของใส่คนที่มีฐานะดีกว่าได้ ส่วนคนจบ ม.ศ.5 เองก็สามารถปั่นป่วนและเชื่อถือ/พึ่งพา/ลุ่มหลงใน “ไสยศาสตร์” ไม่ต่างจากอีตัวที่ไม่ได้เรียนหนังสือมามากมายนัก
อีกข้อที่ผมรู้สึกแปลกใจและตั้งคำถามกับละคร (โดยยังไม่ได้อ่านฉบับนิยาย) ก็คือ เหมือนตัวละครหลักทุกคนที่เข้าถึงการศึกษาอย่างไม่ทัดเทียมกันนั้น จะ “รู้หนังสือ” เท่าๆ กันหมด ดังจะเห็นได้ว่าพวกเขาและเธอต่างติดต่อสื่อสารกันผ่านจดหมายจนเป็นกิจวัตร
ทั้งๆ ที่ระดับการอ่านออกเขียนได้ของแต่ละคนอาจไม่เสมอกัน
“อาตง” ที่ผ่านการบวชเรียนและชอบอ่านหนังสืออาจรู้หนังสือมากหน่อย (คงไม่เท่า “พิไล” หรือ “ปลัดจินกร”)
แต่น่าสงสัยว่า ถ้าย้อนไปยังอำเภอชุมแสงตอนต้นทศวรรษ 2510 จริงๆ คนเช่น “ย้อย” หรือ “เรณู” จะเขียนและอ่านหนังสือได้มากน้อยขนาดไหน? และสามารถสื่อสารผ่านจดหมายโดยไม่ติดขัดเหมือนในละครหรือไม่?
สาม
ถ้าอิงกับวิธีคิดแบบฝรั่ง ตำแหน่งแห่งที่ของ “ผู้หญิง” มักถูกผูกติดอยู่กับ “โลกภายในบ้าน/ครัวเรือน” (ตัวอย่างชัดๆ คือ หนังเรื่อง “Mother!”)
อย่างไรก็ดี สำหรับโลกใน “กรงกรรม” “บ้าน” หรือ “ครัวเรือน” กลับเป็นพื้นที่หรือฐานที่มั่นของฝ่าย “ผู้ชาย” (ส่วนหนึ่งเป็นเพราะนี่คือเรื่องราวของครอบครัวคนจีน ซึ่งมีประเพณีแต่งสะใภ้เข้าบ้าน)
แต่ “บ้านแบ้” ก็ไม่ใช่พื้นที่แห่งการสถาปนาอำนาจนำของผู้ชายโดยสัมบูรณ์สิ้นเชิง เพราะผู้ชายคนแล้วคนเล่าในบ้านนี้ไม่ได้อยู่ในภาวะ “กระตือรือร้น” หรือเป็นฝ่ายใช้อำนาจอย่างแข็งขันสักเท่าไหร่นัก
“หลักเซ้ง” ก็ถูกกดและกลบโดย “ย้อย” “อาตง” มีบุคลิกลักษณะคล้ายๆ พ่อ “อาสี่” ได้ไปท่องโลกนอกบ้านแต่ก็ยังไม่โต และไม่มีโอกาสได้เติบโต
“อาซา” มีโอกาสเดินออกจาก “บ้านแบ้” ถึงสองหน หนแรก ถูกผลักออกโดยไม่เต็มใจ หนหลัง เขาเป็นฝ่ายก้าวเท้าออกจากบ้านเพื่อขึ้นรถไฟไปเริ่มต้นชีวิตคู่และผจญภัยในดินแดนไกลโพ้นอย่าง “เชียงใหม่” ด้วยเจตจำนงเสรีของตัวเอง
แต่น่าเสียดายที่ท้ายสุด “อาซา” ดันเป็นฝ่ายต้องย้อนคืนกลับมาชุมแสง/นครสวรรค์ทุกคราวไป ราวกับเขาต้องคำสาปมิให้หลุดพ้นจาก “บ้านแบ้”
กระทั่งผู้ชายที่ไม่ได้อยู่ติดบ้านเช่น “อาไช้” ก็ออกไปโดนผู้หญิงทำของใส่ ออกไปโดนลูกสาวเจ้านายกดขี่ และสุดท้าย เขาก็ (เหมือนจะ) ต้องจำใจ “กลับคืนบ้าน” พร้อมสภาพร่างกายที่ไม่สมบูรณ์
เป็นฝ่ายตัวละครหญิงเสียอีกที่มักต้องออกเดินทาง (ไกล) และต้องพยายามอย่างหนักหน่วงเพื่อปรับตัวให้เข้ากับโลกภายนอก พวกเธอต่างต้องปรับเปลี่ยนตัวเองให้สอดคล้องลงรอยกับ “บ้าน/โลกของฝ่ายชาย” (หรือมากกว่านั้น คือ เพื่อครอบงำ/ยึดครอง/ทวงคืน “บ้านผู้ชาย”) ไม่ว่าจะเป็น “ย้อย” “เรณู” “จันตา” “พิไล” กระทั่ง “บุญปลูก” หรือ “วรรณา” รวมถึงพันธมิตรของ “เรณู” ที่ “ตาคลี”
ในละครเรื่อง “กรงกรรม” “บ้าน” ที่เป็นของ “ผู้หญิง” จริงๆ (โดยไม่ต้องมีการประลองอำนาจ หรืออาจผ่านสถานการณ์นั้นมาเนิ่นนานแล้ว) คือ “บ้าน” ของ “อาม่า” และ “แจ้หมุ่ยนี้” ที่ไม่มีผู้ชายหลงเหลืออยู่
ขณะเดียวกัน ผู้ชายและผู้หญิงอาจมี “บ้าน” เป็นสินทรัพย์ส่วนบุคคลของตัวเองได้ ดังกรณีของ “ก้าน” กับ “เพียงเพ็ญ” ซึ่งใช้ชีวิตอยู่ใน “หมู่บ้านชนบท” (เชิงอุดมคติ?) ซึ่งรายล้อมด้วยท้องนาและแม่น้ำลำคลอง ไม่ใช่ตึกแถวในสังคม/ชุมชนเมือง
ยิ่งกว่านั้น ยังมีประเด็นที่ผิดแผกออกไป เมื่อตัวละคร “ผู้หญิง” บางคน “ก้าวหน้า/ถอนรากถอนโคน?” ขึ้นอีกขั้น ด้วยการไม่ยอม “เข้าครัว” ไม่ว่าจะเป็น “พิไล” “เพียงเพ็ญ” และ “อรพรรณี”
การยืนกรานปฏิเสธภารกิจที่จะเติมเต็มภาพลักษณ์ของ “ครัวเรือน” ในอุดมคติดังกล่าว อาจเกิดจากทั้งสถานภาพเฉพาะส่วนบุคคล (ลูกสาวบ้านเล็กเถ้าแก่ที่จบมัธยมปลาย, ลูกสาวกำนัน และลูกสาวนายทหาร) หรือสถานภาพโดยรวมของสตรีในสังคมไทยที่เปลี่ยนแปลงไปนับแต่ทศวรรษ 2510