“เทพสามฤดู” เรตติ้งแซง “หน้ากากนักร้อง” แล้ว

ถือว่าปิดท้ายเดือนกรกฎาคมได้อย่างสวยงามทีเดียว สำหรับ “เทพสามฤดู 2560”
เมื่อละครตอนที่แพร่ภาพในช่วงเช้าวันเสาร์ที่ 29 และวันอาทิตย์ที่ 30 ก.ค. สามารถโกยเรตติ้งไปได้ 6.5
ถึงแม้ว่าเรตติ้งดังกล่าวจะทำให้ละครจักรๆ วงศ์ๆ เรื่องนี้ อยู่เพียงลำดับที่ห้าของอันดับโปรแกรมยอดนิยมประจำช่องเจ็ดสี ระหว่างวันที่ 24-30 ก.ค. 2560 รองจากละครเย็น “มือปืนพ่อลูกติด” ละครค่ำ “มือเหนือเมฆ” ข่าวภาคค่ำช่วงที่ 2 และเส้นทางบันเทิง
แต่ตัวเลขเรตติ้ง 6.5 ก็เพียงพอจะทำให้ “เทพสามฤดู” ได้รับความนิยมแซงหน้า “The Mask Singer 2” รายการยอดนิยมอันดับหนึ่งของช่องเวิร์คพอยท์ไปแล้วเรียบร้อย เพราะในสัปดาห์ล่าสุด รายการประกวดร้องเพลงดังกล่าวได้เรตติ้งไปเพียง 6.1 (ที่มา เอจีบีนีลเซ่น)
คงต้องจับตาดูว่า “เทพสามฤดู 2560” จะมีเรตติ้งขึ้นต้นด้วยเลข 7 ภายในระยะเวลาเร็วๆ นี้หรือไม่?
อีกหนึ่ง “ภารตะสไตล์” ใน “เทพสามฤดู 2560”
ดังที่ได้ตั้งข้อสังเกตเอาไว้เมื่อหลายสัปดาห์ก่อนว่า “เทพสามฤดู” เวอร์ชั่นล่าสุด คล้ายจะรับอิทธิพลจากซีรีส์มหากาพย์อินเดียมามากเป็นพิเศษ (อ่านรายละเอียดที่นี่)
นอกจากฉาก “ศิวนาฏราช” ขององค์อิศรา และบทพูด “อาร้าย อาราย” ของมาตุลีเทพบุตรแล้ว
เมื่อวันที่ 29 ก.ค. ละครพื้นบ้านเรื่องนี้ ยังมีฉากที่วานร “วิปริตนันทเสน” เข้าไปเจรจากับท้าวตรีภพในท้องพระโรง ก่อนจะเนรมิตหางของตนเองให้กลายเป็นที่นั่งสูงเทียมบัลลังก์ของคู่เจรจา
(คลิกดูคลิปนาทีที่ 22.44-24.20)
ซึ่งถ้าใครคุ้นเคยกับ “รามายณะ-รามเกียรติ์” ก็คงพอจะจำได้ว่าฉากทำนองนี้มีความสอดคล้องกับตอนที่ “องคต” รับบททูตเข้าไปเจรจากับ “ทศกัณฐ์” ถึงในกรุงลงกาเป็นอย่างยิ่ง
ของแถม
เมื่อสัปดาห์ก่อน มีโอกาสไปดูนิทรรศการศิลปะ “Sacrifice” ของคุณนักรบ มูลมานัส ที่หอศิลป์ กทม. สี่แยกปทุมวันมาครับ (น่าเสียดายที่นิทรรศการนี้ปิดฉากลงไปแล้วเมื่อวันที่ 30 ก.ค.)
คุณนักรบเป็นศิลปินภาพปะติดที่มีชื่อเสียง แต่จริงๆ แล้ว เขาจบการศึกษามาจากภาควิชาภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
นี่ส่งผลให้คุณนักรบมีความผูกพันกับวรรณคดีไทยมากเป็นพิเศษ
และงานศิลปะจำนวนมากในนิทรรศการก็บ่งชี้ถึงความผูกพันดังกล่าวเป็นอย่างดี
เท่าที่เดินดูนิทรรศการ ผมชอบผลงานศิลปะของคุณนักรบในระดับ “มากๆ” อยู่สองชิ้น ซึ่งล้วนเกี่ยวพันกับละครพื้นบ้าน/จักรๆ วงศ์ๆ ทั้งคู่
นั่นคือ ผลงานที่นำเสนอตัวละคร “สังข์ทอง” และ “แก้วหน้าม้า” ได้อย่างมีเสน่ห์
เพราะด้านหนึ่ง คุณนักรบก็นำตัวละครเหล่านี้มาเล่นกับประเด็นการผสมผสานข้ามสายพันธุ์ทางวัฒนธรรมระหว่าง “ความเป็นฝรั่ง” กับวรรณคดีไทย
แต่อีกด้าน คุณนักรบก็พยายามเล่นกับ “มุมมอง” ของผู้เข้าชมงาน
โดยถ้าเรามองงานทั้งสองชิ้นนี้จากมุมหนึ่ง เราก็จะเห็นพระสังข์เป็นคนดำ และเห็นแก้วเป็นสตรีหน้าม้า แต่หากมองจากอีกมุม พระสังข์ก็จะกลายเป็นชายผิวขาว ส่วนแก้วก็จะกลายเป็นหญิงสาวรูปงาม
ถือเป็นผลงานศิลปะที่น่าประทับใจทีเดียวครับ