หนึ่ง
นี่ไม่ใช่หนังที่อิงกับ “ไซอิ๋ว” ฉบับดั้งเดิม แต่สร้างมาจากนวนิยายทางอินเตอร์เน็ตที่ได้รับแรงบันดาลใจจาก “ไซอิ๋ว” มาอีกที ดังนั้น มันเลยมี “พลัง” และ “ความแปลกใหม่” หลายๆ อย่าง ที่ดีและน่าสนใจเลย
สอง
สำหรับผม ประเด็นหลักหรือจุดใหญ่ใจความจริงๆ ของหนัง คือ การฉายภาพให้เห็นถึงความขัดแย้งระหว่างแนวคิดเกี่ยวกับ “พื้นที่และเวลา” สองแบบ
แบบแรก ถ้าเรียกเป็นไทยๆ ก็คงเรียกได้ว่า “พรหมลิขิต” คือ แนวคิดที่เชื่อว่าทุกสิ่งทุกอย่าง ทุกชะตากรรมของสรรพชีวิต ล้วนถูกกำหนดมาหมดแล้วจากอำนาจ “เบื้องบน”
นี่คือความสัมพันธ์ทางอำนาจแบบ “บนลงล่าง” ขณะเดียวกัน ช่วงเวลาหลักร้อยปีพันปีหมื่นปีก็ไม่ส่งผลอะไร เพราะทุกอย่าง “เปลี่ยนแปลงแก้ไข” หรือมี “พัฒนาการ” ไม่ได้ เนื่องจากถูกลิขิตมาเรียบร้อยเสร็จสรรพแล้ว
มองเผินๆ ภาพแทนของแนวคิดเกี่ยวกับ “พื้นที่และเวลา” ชนิดแรก ถูกหนังเรื่องนี้นำเสนอผ่านเครื่องจักรกลที่เรียกว่า “จักรลิขิต” บนสวรรค์
แต่จริงๆ แนวคิดดังกล่าวกลับฝังตรึงและทำงานลงไปในวิธีคิด-วิธีการมองโลกของบุคคล/เทพเจ้ารุ่นแล้วรุ่นเล่า จาก “เจ้าแม่เทียนจุน-ตัวร้าย” สู่ “เทพสามตา-เอ้อหลางเสิน” (ซึ่งในหนังเรื่องนี้ ดูเป็นตัวละครที่มีมิติลุ่มลึกดี ผิดกับ “หนัง-ละครไซอิ๋ว” เวอร์ชั่นก่อนๆ ที่เขาเป็นแค่คู่กัดหรือคู่ขัดแย้งของ “หงอคง”)
น่าสนใจว่าจริงๆ แล้ว “เทพสามตา” เผชิญหน้ากับเงื่อนไขต่างๆ มากมาย ซึ่งน่าจะทำให้เขาสามารถเปลี่ยนแปลงความคิดของตนเองที่ว่า “ทุกสิ่งถูกกำหนดมาหมดแล้ว เราไปเปลี่ยนแปลงแก้ไขอะไรไม่ได้” ได้สำเร็จ
แต่สุดท้าย เขากลับรับสืบทอดความคิดดังกล่าวมาจาก “เจ้าแม่ตัวร้าย” (ที่เขามีส่วนร่วมล้มล้างอำนาจอธรรมของนาง)
ที่สำคัญ ดูเหมือน “เอ้อหลางเสิน” จะนำแนวคิดว่าด้วยความสัมพันธ์ทางอำนาจแบบบนลงล่างและเวลาที่ปราศจากพัฒนาการ ไปผูกติดกับออปชั่นเสริมเพิ่มเติม เรื่องการแบ่งแยกเบ็ดเสร็จเด็ดขาดเป็น “ขั้วตรงข้าม” ไร้หนทางบรรจบระหว่าง “เทพ” กับ “มาร” หรือระหว่างเขากับ “ซุนหงอคง”
แนวคิด “พื้นที่และเวลา” แบบที่สอง ก็คือ ความสัมพันธ์แนวระนาบ-เท่าเทียมและศักยภาพในการเปลี่ยนแปลงปรับปรุงสรรพสิ่งต่างๆ
หรือการเชื่อว่าความร่วมมือร่วมใจกัน (ของเหล่าผู้ถูกกดขี่) จะสามารถผลักดันให้กาลเวลารุดเคลื่อนหน้าหรือมีพัฒนาการในทางที่ดีขึ้นได้
แน่นอน ตัวละครที่เป็นแกนหลักของแนวคิดนี้ คือ วานรผู้หาญกล้าท้าทายอำนาจสวรรค์อย่าง “ซุนหงอคง” ร่วมด้วย “เทพเจ้าหนุ่มสาว” ที่ยังมีความรัก มีอารมณ์ความรู้สึก และมนุษย์ ทั้งบัณฑิตอ้วนนักมายากลจอมปล่อยมุขแป้ก ไปจนถึงเหล่าชาวบ้านคนเล็กคนน้อยในสลัมเสื่อมโทรม ซึ่งกลายสภาพมาจากภูเขางดงามที่ถูกสวรรค์ทำลายล้าง
ทั้งหมดพยายามปลดปล่อยตนเองออกจากอำนาจในการกำหนดชะตากรรมของเทพเจ้าเบื้องบน
(ผมเคยเขียนถึงการปะทะกันระหว่างแนวคิดเรื่อง “พื้นที่และเวลา” สองแบบนี้ เอาไว้แล้วครั้งหนึ่ง ในบทความเกี่ยวกับละครจักรๆ วงศ์ๆ “จันทร์ สุริยคาธ” สามารถคลิกอ่านได้ที่นี่ครับ)
สาม
อีกจุดหนึ่งที่ผมรู้สึกว่าน่าสนใจในหนังเรื่องนี้ก็คือ ดูคล้ายหนังจะพูดถึงการปะทะกันของชุดความรู้สองแบบด้วย
แบบแรก คือ ความรู้เชิงเทคนิควิธีหรือความรู้ในรูปแบบวิทยาการ ที่สำแดงตนผ่านการมีอำนาจหรือการอ้างอิงอำนาจในการกำหนดชะตาชีวิตผู้คน จากการครอบครอง-เข้าถึง-เรียนรู้วิธีจัดการและแก้ไข “จักรลิขิต” อันยิ่งใหญ่ เช่นเดียวกับการเคี่ยวกรำตัวละครบางรายให้กลายเป็นเทพ ซึ่งต้องผ่าน “กลไก” ทำนองนี้เหมือนกัน
(ตลกร้ายที่ตัวละครอีกรายที่เข้าถึงองค์ความรู้ลักษณะนี้ ก็คือ มนุษย์อย่าง “เจวียนเหลียน” ซึ่งท้ายสุด ความรู้เรื่องเครื่องจักรกล-มายากลกึ่งขบขันของเขา ก็ไม่สามารถต้านทานอำนาจอธรรมและ “จักรลิขิต” ของสวรรค์ได้ นอกจากนั้น ศักยภาพขั้นสูงสุดในฐานะมนุษย์ของบัณฑิตร่างอ้วนก็ถูกเปล่งประกายออกมาผ่านการใช้เรือนร่างรับอาวุธจากฟากฟ้า และการใช้หัวใจคำนึงถึงเด็กน้อยคนหนึ่งมากกว่า)
แบบต่อมา คือ การตื่นรู้ที่พระโพธิสัตว์ “สุโพธิ” สั่งสอน “หงอคง” ซึ่งการตื่นรู้ที่ว่ามีที่มาจากการทบทวนประสบการณ์และอารมณ์ความรู้สึกต่างๆ ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันของตนเอง (ความรู้ประเภทหลังนี้ แค่จะสร้างพระอาทิตย์ตกดินจำลอง ก็ยังสร้างไม่เหมือนและไม่อลังการเลย)
แล้วแปรเปลี่ยนหลอมรวมมันให้กลายเป็นพลังในการต่อสู้ปลดแอกของสามัญชน/สรรพสัตว์
หากกล่าวให้ถึงที่สุดแล้ว ความรู้และกระบวนการเข้าถึง/ต่อต้านอำนาจใน “Wu Kong” (2017) ก็อาจแบ่งแยกอาจเป็น “สองสายสำคัญ”
สายแรก คือ ความรู้และการเข้าถึงอำนาจอันเป็น “รูปธรรม” ตั้งแต่จักรกลบนสวรรค์ เรื่อยไปถึงก้อนหิน “ศิลาหัวใจเทวะ” (จะกล่าวถึงต่อไป)
สายที่สอง คือ ความรู้และการต่อต้านอำนาจที่สั่งสมก่อตัวมาจากประสบการณ์และความรู้สึกอันคั่งแค้น ซึ่งคุกรุ่นเป็น “พลังรุนแรงเชิงนามธรรม” อยู่ภายในจิตใจของ “หงอคง” ตลอดจนสิ่งมีชีวิตอื่นๆ บนโลกมนุษย์
สี่
อย่างไรก็ดี ไม่ใช่แค่ “เทพสามตา” ที่มีวิธีคิดแบบแบ่งแยกขั้วตรงข้าม แต่คำสอนตอนท้ายที่ “สุโพธิ” มีต่อ “หงอคง” ก็มีลักษณะเป็นคู่ตรงข้ามที่ซ้อนคู่ตรงข้ามอีกทีหนึ่ง
พระโพธิสัตว์เตือนหงอคงไม่ให้ยึดติดกับ “ศิลาหัวใจเทวะ” ที่เคยเป็นอันหนึ่งอันเดียวอันเดียวกันกับร่างของตัวเอง เพราะด้านหนึ่ง ศิลาดังกล่าวก็คือเครื่องมือที่ “เจ้าแม่หนี่วา” ใช้กีดกันแบ่งแยกปิดกั้น “เทพ” ออกจาก “มาร”
ดังนั้น พญาวานรจึงไม่จำเป็นต้องผูกติดพึ่งพาเครื่องมือชนิดนี้ หากเขาคิดจะเผชิญหน้ากับเทพเจ้าบนสรวงสวรรค์
การปลดปล่อยตนเองให้เป็นอิสระจาก “ศิลาหัวใจเทวะ” ของหงอคง ถือเป็นการก้าวข้ามจากเครื่องมือแบ่งแยก “เทพ/มาร” ที่กำหนดสร้างสรรค์ขึ้นโดย “เทพเจ้า”
เป็นการประกาศอิสรภาพโดยไม่ขึ้นตรง ไม่ขอเป็นส่วนหนึ่งของ “กระบวนคิด-วิธีการ-วิทยาการ” ของ “ฝ่ายเทพ” อีกต่อไป เพื่อจะได้ซัดกับ “สวรรค์” ให้เต็มที่เต็มเหนี่ยว
มองจากจุดนี้ จึงน่าเสียดายที่ชื่อไทยของหนังดันกลายเป็น “หงอคง กำเนิดเทพเจ้าวานร” ซึ่งนับว่าผิดฝาผิดตัวกับเนื้อหาเป็นอย่างยิ่ง!
ห้า
ที่ชวนขบคิดไม่แพ้กัน คือ กระบวนการ “คัดคนแพ้ออก” ของฝ่ายอำนาจบนสรวงสวรรค์
เมื่อ “เจ้าแม่เทียนจุน” ได้ครอบครอง “ศิลาหัวใจเทวะ” และคิดก่อการยึดสวรรค์ ทว่า ต้องตกเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ถูกปลิดชีพ ณ เบื้องท้าย
นอกจากถูกสังหารโดย “ซุนหงอคง” และ “เทพสามตา” แล้ว เจ้าแม่ยังโดนดิสเครดิตใน “บันทึกของสวรรค์” ที่เสกสรรปั้นแต่งให้นางกลายเป็น “เทพ” ที่ไปร่วมมือกับ “มาร” จนต้องถูกกำจัดทิ้ง (เพราะทำให้ “คู่ตรงข้ามอันเหมาะสม” เกิดความเลอะเทอะพร่าเลือน)
ทั้งๆ ที่ข้อผิดพลาดแท้จริงของนาง คือความพยายามจะกำจัด “มาร” ด้วยท่าทีเผด็จการสุดขั้ว ในนามของ “ตัวแทนสวรรค์” ต่างหาก
หก
ระหว่างนั่งดูและหลังจากดูหนังเรื่องนี้จบ ผมคิดถึง “สัมพันธบท” อื่นๆ จำนวนหนึ่ง
เช่น ละครจักรๆ วงศ์ๆ “จันทร์ สุริยคาธ” ดังได้กล่าวไปแล้ว
นอกจากนี้ ยังคิดถึงหนังชุด “Rise of the Planet of the Apes-Dawn of the Planet of the Apes-War for the Planet of the Apes” อยู่รางๆ
แล้วก็คิดถึงเพลงอีกสองเพลง
เพลงแรก คือ “Something Changed” ของ Pulp โดยเฉพาะท่อนที่ร้องว่า
Do you believe that there’s someone up above?
And does he have a timetable directing acts of love?
Why did I write this song on that one day?
Why did you touch my hand and softly say
“Stop asking questions that don’t matter anyway
Just give us a kiss to celebrate here today”
Something changed
เพลงต่อมา คือ เพลงประกอบละครเรื่อง “พระทิณวงศ์” ซึ่งมีท่อนแยกที่เกรี้ยวกราดพอตัว ฟังได้ตามลิงก์ด้านล่างครับ