ย้อนอ่าน A Day หน้าปกละครจักรๆ วงศ์ๆ สมัย “เทพสามฤดู 2546” กำลังพีค!

เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2547 นิตยสาร A Day ฉบับที่ 42 เคยนำเสนอภาพหน้าปกในธีมละครจักรๆ วงศ์ๆ พร้อมคำโปรย “กาลครั้งนี้…สวรรค์มีเรื่องราว”

อันสอดรับกับภาวะ “ดังระเบิด” ของละคร “เทพสามฤดู” เวอร์ชั่นปี 2546-47

ในนิตยสารดังกล่าว มีสกู๊ปหลัก พ่วงด้วยบทสัมภาษณ์สองชิ้นใหญ่ๆ ว่าด้วยละครจักรๆ วงศ์ๆ

บล็อกคนมองหนังขออนุญาตนำเสี้ยวเนื้อหาบางส่วนจากงานเหล่านั้นมานำเสนอเรียกน้ำย่อย ส่วนใครอยากอ่านฉบับเต็มๆ คงต้องไปตามหาแถวห้องสมุดหรือร้านหนังสือเก่ากันครับ

ส่วนแรกที่ขอคัดลอกมาให้อ่านกัน คือบทสัมภาษณ์ “คำอาจารย์บอกเล่า”

ซึ่ง “ทรงกลด บางยี่ขัน” ไปพูดคุยกับ “รองศาสตราจารย์สุกัญญา สุจฉายา” (ปัจจุบันเป็นศาสตราจารย์) ผอ.ศูนย์คติชนวิทยา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ในขณะนั้น

คำถาม-คำตอบสองข้อนี้ น่าสนใจเลยครับ

การนำนิทานพื้นบ้านมาทำเป็นละครโทรทัศน์ก็ถือเป็นการช่วยต่อลมหายใจวิธีหนึ่ง?

ก็เป็นการช่วย อย่าง แก้วหน้าม้า ทำใหม่ตั้งกี่เวอร์ชั่น ตราบใดที่มันยังถูกเอามาทำเป็นละคร ตราบนั้นมันก็จะยังอยู่ เพราะเด็กรุ่นใหม่ไม่ได้รู้จักนิทานพื้นบ้านผ่านการอ่าน การฟัง ไม่เคยดูลิเก นอกจากในหนังสือเรียนแล้วก็อาศัยดูโทรทัศน์ เด็กๆ ตื่นเช้ามาแล้วไม่มีอะไรทำก็มานั่งดูเรื่องจักรๆ วงศ์ๆ มาดูเจ้าชาย เจ้าหญิง ยักษ์ มันอยู่ในความฝันของเขา พออายุได้สัก 9-10 ขวบ เขาก็หลุดจากความฝัน พอต้องการความจริงแล้วเขาก็เลิกดู

ตอนนี้คนกลุ่มไหนที่ยังอยู่ในความฝันของละครจักรๆ วงศ์ๆ บ้างครับ?

คนชนชั้นล่าง กลุ่มใหญ่ด้วย นั่นทำให้ละครจักรๆ วงศ์ๆ อยู่มาได้ 30-40 ปี เพราะมันอยู่ในพื้นฐานชีวิต อยู่ในขนบของเขา พอมาเพิ่มฉาก เพิ่มแอนิเมชัน เพิ่มเทคนิคพิเศษ คนก็ยิ่งชอบ ทั้งๆ ที่เรื่องที่เอามาทำก็เป็นเรื่องเดิม แต่คนดูก็ไม่สนใจ เหมือนเมื่อก่อนเวลาที่คนไทยดูลิเก เราไม่ได้สนใจว่าเนื้อเรื่องจะเป็นอย่างไรเพราะรู้เรื่องอยู่แล้ว ลิเกนี่เห็นชัดมากเพราะในแต่ละวันที่เขาเล่น เขาไม่เคยเล่นตอนต่อกันเลย คนดูเขาอยากจะดูแค่พระเอกกับนางเอก ดูว่าคนนี้เล่นบทนี้เหมาะไหม เราดูแบบเน้นศิลปินเดี่ยว คนไทยไม่ชอบอะไรที่เป็นกลุ่มๆ

a day 42
ขอบคุณภาพจาก http://www.daypoets.com

ส่วนอีกชิ้นหนึ่ง คือ บทสัมภาษณ์กึ่งสกู๊ปหัวข้อ “THE KING OF FANTASIA”

ซึ่ง “สืบสกุล แสงสุวรรณ” (และ “วชิรา รุธิรกนก”) ไปพูดคุยกับ “ไพรัช สังวริบุตร” บิ๊กบอสใหญ่ของดาราวิดีโอ บุคคลสำคัญที่อยู่คู่ละครจักรๆ วงศ์ๆ ช่อง 7 มาตั้งแต่วันแรกจนถึงปัจจุบัน

ในสกู๊ปดังกล่าว คุณไพรัชเปิดเผยเบื้องหลังของกระบวนการผลิตละครประเภทนี้ที่น่าสนใจหลายประเด็น ทั้งเรื่องการลงทุนที่ต้องใช้เงินเยอะ จนค่ายอื่นๆ จากช่องอื่นๆ ไม่สามารถยืนระยะในการผลิตละครจักรๆ วงศ์ๆ ได้ยาวนานเท่ากับค่ายสามเศียร ในเครือดาราวิดีโอ

แม้แต่หากเปรียบเทียบกับผลประกอบการของบริษัททั้งหมดในเครือดาราวิดีโอเอง ก็ดูเหมือนว่าละครจักรๆ วงศ์ๆ จะถือเป็น (หรืออย่างน้อยก็เคยเป็น) แหล่งรายได้ก้อนใหญ่สุด ดังคำบอกเล่าของไพรัชที่ว่า

“…แต่ตอนนั้นเนื่องจากว่าหนังจักรวงศ์เนี่ย เป็นตัวหาเงินมาเลี้ยงละคร (หลังข่าว) เพราะจักรวงศ์มันเป็นเวลาของเราเอง (สามเศียรซื้อเวลาช่อง 7 เพื่อนำมาผลิตละครจักรๆ วงศ์ๆ) พอได้ผลกำไรก็เอาไปเลี้ยงละคร ละครนี่เป็นงานรับจ้างนะ (สถานี คือ ช่อง 7 เป็นผู้ว่าจ้างให้ดาราวิดีโอและดีด้าผลิตละครหลังข่าวเรื่องต่างๆ) กำไรมันตายตัวอยู่ บางทีก็ขาดทุน แล้วอาศัยพวกดาราที่แพงๆ ขาดทุนก็อาศัยตรงนี้ (ละครจักรๆ วงศ์ๆ) ไปเลี้ยง…”

หมายเหตุ ข้อความในวงเล็บ เป็นการอธิบายขยายความเพิ่มเติมโดยบล็อกคนมองหนัง

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.