เมื่อ “อภิชาติพงศ์” เล่าเรื่อง “ผีที่หลากหลาย” และการเล่นกับแสง ณ สถานทูตเนเธอร์แลนด์

เมื่อวันที่ 13 มิถุนายนที่ผ่านมา สถานเอกอัครราชทูตเนเธอร์แลนด์ประจำประเทศไทย ได้จัดพิธีเฉลิมฉลองให้แก่ให้แก่อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ในฐานะผู้ได้รับรางวัล the Principal Prince Claus Award ประจำปี 2016 ณ สถานเอกอัครราชทูตที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นธรรมเนียมของงานมอบรางวัลดังกล่าว ที่จะเชิญศิลปินไปรับมอบรางวัลที่เนเธอร์แลนด์ ก่อนจะมีจัดงานฉลองที่ประเทศบ้านเกิดของศิลปินรายนั้นในเวลาต่อมา

โดยในงานดังกล่าว เอกอัครราชทูตเนเธอร์แลนด์ประจำประเทศไทย Karek Hartogh ได้ยกย่องนักทำหนังชาวไทยผู้นี้ว่า

“อภิชาติพงศ์ได้อุทิศตนเองให้แก่เสรีภาพในการแสดงออกซึ่งความเห็น ผ่านการปฏิเสธที่จะประนีประนอมกับบรรทัดฐานทางศิลปะต่างๆ ตลอดจนเพดานข้อจำกัดอื่นๆ ซึ่งบางครั้งก็เป็นการกำหนดบังคับจากแรงกดดันภายนอก มาโดยต่อเนื่อง”

ทางด้านอภิชาติพงศ์ได้ย้อนเล่าเรื่องราวสมัยที่เขายังเป็นเด็กและใช้ชีวิตอยู่ที่จังหวัดขอนแก่น ณ เวลานั้น เขาชอบใช้ไฟฉายส่องไปยังความมืดมิด เพื่อหวังจะมองหาสัตว์ประหลาดหรือภูตผีปีศาจ แม้ว่าลึกๆ แล้ว เขาจะหวาดกลัวสิ่งลึกลับเหล่านั้นก็ตาม

“ย้อนกลับไปตอนนั้น ความเชื่อเรื่องผีมีอยู่อย่างแตกต่างหลากหลาย เช่น ผีหัวขาดที่เดินถือศีรษะตนเองไปมา ผีเปรตที่ตัวสูงและผอมมากๆ ผีโพงจมูกเขียวที่มีร่างเรืองแสง ผีกระสือที่ลอยไปมาพร้อมอวัยวะภายใน”

อย่างไรก็ตาม เจ้าของรางวัลปาล์มทองคำชาวไทยตั้งข้อสังเกตว่า ในยุคสมัยต่อมา ลักษณะของภูตผีต่างๆ ในสังคมไทยกลับเปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ผีในหนังไทย” ซึ่งเริ่มกลายสภาพเป็น “ผีตลก” มากขึ้นเรื่อยๆ ผีเหล่านั้นทำได้แค่วิ่งไปวิ่งมา แถมยังถูกหลอกล่อโดยมนุษย์ ผีพวกนั้นปรากฏกายแม้กระทั่งตอนกลางวัน จนคนดูสามารถสังเกตเห็นได้ว่าบรรดาผีทั้งหลาย คือ ผีปลอมๆ ที่ถูกสร้างขึ้น

“นี่กลายเป็นความโศกเศร้าของผม ที่ผีเหล่านี้ไม่ได้มีความน่าเชื่อถืออีกต่อไป พวกเขากลายเป็นแค่ตัวละครในนิยาย”

เจ้าของรางวัล the Principal Prince Claus Award 2016 กล่าวต่อว่า เราอาจจัดให้เรื่องราวของ “ลุงบุญมี” (จากภาพยนตร์ “ลุงบุญมีระลึกชาติ”) เป็นนิยายหรือเรื่องแต่งได้เช่นกัน อย่างไรก็ดี เขาอยากจะคิดจินตนาการว่า พวกเราทุกคนต่างดำรงชีวิตอย่างมีหลากมุมหลายมิติเช่นเดียวกับที่ “ลุงบุญมี” ต้องเผชิญ

ในบางมิติของการดำรงชีวิต ภูตผีปีศาจอาจมีอยู่จริง ขณะที่ในมิติอื่นๆ ความเชื่อว่าประเทศไทยเป็นชาติที่ร่ำรวย เป็นแผ่นดินทอง ทั้งยังเต็มไปด้วยทหารกล้าจำนวนมาก อาจถูกพิจารณาว่าเป็นความจริง

“ผมต้องการเพียงแค่จะสื่อว่าอัตลักษณ์และความเชื่อที่หลากหลายของพวกเรา นั้นดำรงอยู่ภายในกระบวนการแห่งความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา หรือบางทีนี่อาจอธิบายจากแง่มุมของความเชื่อทางพุทธศาสนาได้ว่า พวกเราต่างเวียนวนอยู่กับวงจรแห่งการเวียนว่ายตายเกิดอันไร้จุดสิ้นสุด

เจ้ยรับรางวัลที่ไทย 2

“ในฐานะผู้กำกับภาพยนตร์ ผมรู้สึกมีความสุขกับการเวียนว่ายตายเกิดเช่นนี้ ผมยังคงสนุกสนานที่ได้เล่นกับแสง ไฟฉายซึ่งอยู่ในมือผมตั้งแต่เมื่อครั้งเยาว์วัย ยังคงเสาะแสวงหาภูตผีอันแตกต่างหลากหลายต่อไปเรื่อยๆ”

อภิชาติพงศ์กล่าวปิดท้ายปาฐกถาที่แสดง ณ สถานเอกอัครราชทูตเนเธอร์แลนด์ประจำประเทศไทยว่า เขาหวังว่าสังคมนี้จะเปิดโอกาสให้แก่เสียงที่หลากหลายมากขึ้น พร้อมๆ กับการมีความอดทนอดกลั้นและการมีเสรีภาพเพิ่มขึ้น

“แล้ววันหนึ่ง เราจะสามารถขจัดทิ้งซึ่งความหวาดกลัว เราต้องมาร่วมกันทำให้สิ่งดังกล่าวเป็นความจริง ด้วยแสงสว่างที่พวกเราพร้อมใจกันฉายส่องออกไป ขอบคุณมากๆ ครับ”

นอกจากนั้น ในงานดังกล่าวยังได้มีการฉายหนังสั้นเรื่อง “จดหมายถึงลุงบุญมี” โดยมีสมาชิกครอบครัววีระเศรษฐกุล ทีมงานนักแสดงและเบื้องหลังจากภาพยนตร์ของอภิชาติพงศ์ เพื่อนๆ และบุคลากรทางด้านวัฒนธรรมของประเทศไทย มาร่วมเฉลิมฉลองกับความสำเร็จของนักทำหนังชาวไทยผู้นี้

ขอบคุณเนื้อหาจากhttps://www.nederlandwereldwijd.nl/landen/thailand/nieuws/2017/06/13/prince-claus-fund-awards และ http://www.princeclausfund.org/en/news/apichatpong-weerasethakul-receives-prince-claus-award-in-bangkok.html

ขอบคุณภาพประกอบจากhttps://www.facebook.com/netherlandsembassybangkok/

1 Comment

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.