The Mask Singer : เมื่อ “กระบวนการ” สำคัญกว่า “ผลลัพธ์”

(มติชนสุดสัปดาห์ 27 ม.ค.-2 ก.พ. 2560)

นี่คือบทความที่พยายามจะวิเคราะห์รายการเกมโชว์/ประกวดร้องเพลง “The Mask Singer : หน้ากากนักร้อง” ซึ่งออกอากาศทางช่องเวิร์คพอยท์ทีวี จากมุมมองของผู้ชมคนหนึ่งที่ติดตามดูรายการนี้ผ่านทางจอโทรทัศน์ คอมพิวเตอร์ และสมาร์ตโฟนอยู่พอสมควร (แม้จะไม่ถึงขนาดเป็น “แฟนพันธุ์แท้”)

ก่อนอื่น ขออนุญาตออกตัวถึง “สามสิ่ง” ที่งานเขียนชิ้นนี้จะไม่ทำหรือไม่มีความสามารถจะทำได้ คือ

หนึ่ง การวิเคราะห์เทียบเคียง The Mask Singer ของไทย กับรายการต้นฉบับจากเกาหลี (เพราะคนเขียนไม่เคยดูรายการต้นฉบับมาก่อน)

สอง การวิเคราะห์ว่าทำไมเรตติ้งของ The Mask Singer จึงสูงกว่าละครหลังข่าวช่อง 3 และ 7 ที่ออกอากาศในช่วงเวลาเดียวกัน

สาม การวิเคราะห์ความสำเร็จแบบ “แพ็กคู่” (ที่เกิดขึ้นไม่บ่อยและไม่ง่ายนัก) เมื่อเวิร์คพอยท์ตัดสินใจเผยแพร่รายการ The Mask Singer อย่างคู่ขนานทั้งในสื่อโทรทัศน์และสื่อออนไลน์

ทว่า บทความนี้จะมุ่งความสนใจไปยัง “รูปแบบ” และ “เนื้อหา” ของตัวรายการ

ที่ดูเหมือนจะให้ความสำคัญกับ “กระบวนการ” มากกว่า “ผลลัพธ์/เป้าหมาย” หรือให้ความสำคัญกับ “รายละเอียดระหว่างทาง” มากกว่า “เส้นชัยตรงปลายทาง”

ข้อแรกที่น่าสนใจในมุมมองของคนดูขาจรอย่างผม คือ กระบวนการหรือรูปแบบระหว่างทางบางอย่างของ “The Mask Singer : หน้ากากนักร้อง” นั้นมิได้มีลักษณะหยุดนิ่งตายตัว

หากเต็มไปด้วยพลวัต ความเปลี่ยนแปลง และยักย้ายถ่ายเทได้ตามสมควร

อาทิ ทีมพิธีกร ที่มีการสับเปลี่ยนหมุนเวียนกันอยู่เรื่อยๆ จนผ่านไปสักระยะ ทั้งคนทำและคนดูจึงเริ่มรู้ว่ากรรมการคนไหนเวิร์ก คนไหนไม่เวิร์ก คนไหนควรเป็นตัวนำ-ตัวสร้างสีสัน คนไหนควรเป็นแค่ตัวเสริม

นอกจากนี้ พิธีกรยังสามารถโยกตนเองไปใส่หน้ากากในฐานะผู้เข้าแข่งขันได้ชั่วครั้งชั่วคราว (และการตกรอบแต่เนิ่นๆ ก็อาจเป็นหนทางที่ดีที่สุด ในการนำพากรรมการให้กลับมาทำหน้าที่ดั้งเดิมของตน)

ยิ่งกว่านั้น กติกาที่น่าจะสำคัญอย่างจำนวนผู้เข้าแข่งขันและจำนวนกลุ่มการแข่งขันของ The Mask Singer ประเทศไทย ก็ยังมีความไหลลื่นเป็นอย่างสูง

ในอีพีแรก มีการระบุว่ารายการนี้จะประกอบด้วยผู้เข้าแข่งขัน 24 คน 24 หน้ากาก โดยแบ่งสายการแข่งขันออกเป็น 3 กลุ่ม (เอ, บี และซี) กลุ่มละ 8 คน

แต่พอขึ้นอีพีที่สี่ รายละเอียดตรงจุดดังกล่าวกลับเปลี่ยนแปลงไป เพราะมีการเพิ่มจำนวนผู้เข้าแข่งขันเป็น 32 คน 32 หน้ากาก และแบ่งสายการแข่งขันออกเป็น 4 กลุ่ม (เอ, บี, ซี และดี) กลุ่มละ 8 คน

แม้ด้านหนึ่ง นี่อาจแสดงให้เห็นถึง “ความไม่สม่ำเสมอ” หรือ “ความไม่คงเส้นคงวา” ในทางกติกา/หลักการ

แต่อีกด้าน นี่ก็แสดงให้เห็นว่ากระบวนการหรือรูปแบบของรายการ The Mask Singer เวอร์ชั่นไทยๆ นั้น มีความพร้อมที่จะ “ปรับตัว” และ “ยืดหยุ่น” ได้อยู่เสมอ

อย่างไรก็ตาม องค์ประกอบอันชัดเจนที่สุด ซึ่งบ่งชี้ยืนยันว่าผู้ผลิต “The Mask Singer : หน้ากากนักร้อง” น่าจะให้ความสำคัญแก่ “กระบวนการ” ยิ่งกว่า “ผลลัพธ์” คือ บรรยากาศโดยรวมและ “ธีมหลัก” ของตัวรายการ

เราอาจจัดประเภทให้ The Mask Singer เป็นรายการ “ประกวดร้องเพลง” แต่มันกลับเป็นรายการ “แข่งขันร้องเพลง” ซึ่งไฮไลต์ของแต่ละตอน (อีพี) ไม่ได้ไปตกอยู่กับ “ผู้ชนะ” ที่ร้องเพลงดีกว่าคู่แข่งขัน จนสามารถ “เอาชนะใจ” คนดูและกรรมการในสตูดิโอ

เพราะแสงสปอตไลต์ได้ฉายส่องไปยัง “กระบวนการปลดเปลื้องหน้ากาก” ของ “คนแพ้” หรือ “ผู้ตกรอบ” มากกว่า

ฟังก์ชั่นแท้จริงของคณะกรรมการประจำรายการ จึงมิใช่การทำหน้าที่ตัดสินผู้แพ้/ชนะด้านเสียงร้อง แต่เป็นการทายปริศนาว่าผู้แพ้ซึ่งอยู่ภายใต้หน้ากากรูปลักษณ์ต่างๆ นั้น คือใครในโลกความเป็นจริง

ขณะเดียวกัน มุขตอบโต้ระหว่างบุคคลลึกลับผู้ใส่หน้ากากกับบรรดากรรมการ ซึ่งนำไปสู่เสียงหัวเราะเฮฮาของผู้ชม ก็คล้ายจะมีความสำคัญกว่ากระบวนการลงคะแนนเลือกสรรผู้ชนะในแต่ละแมตช์

น่าสังเกตว่าแม้ขั้นตอนการลงคะแนนเลือกผู้ชนะของแต่ละแมตช์แข่งขันใน The Mask Singer ประเทศไทย จะมีหลักเกณฑ์แน่นอนพอสมควร (ว่าใครคือผู้ร่วมลงคะแนนเสียงบ้าง) แถมยังมี “สปอนเซอร์” มาร่วมสนับสนุนกระบวนการส่วนนี้โดยเด่นชัด

แต่สุดท้าย กลับไม่มีการแจกแจงผลการนับคะแนนอย่างชัดเจน ว่าผู้ชนะ-ผู้แพ้ได้คะแนนเท่าไหร่ มีระยะห่างกันกี่คะแนน, กรรมการแต่ละคนโหวตให้ผู้เข้าแข่งขันรายไหน หรือผลโหวตของผู้ชมในสตูดิโอมีสัดส่วน-รายละเอียดเป็นอย่างไร

ด้านหนึ่ง “ช่องว่าง” ตรงจุดนี้ อาจทำให้ผู้ชมบางส่วนตั้งข้อสงสัยได้ว่า เกมการแข่งขันใน The Mask Singer มีความบริสุทธิ์ยุติธรรมหรืออิงกับเสียงโหวตอย่างจริงจังแค่ไหน

ทว่า ในอีกด้าน ก็มิอาจปฏิเสธได้ว่านี่เป็น “ช่องว่าง” ที่ถูกละเลย-ไม่ให้ความสำคัญ ด้วยความยินยอมพร้อมใจกันของทั้งคนผลิตรายการ คนร้อง/แสดง และคนดู

หรืออาจสรุปได้สั้นๆ ว่า เมื่อคนผลิต-คนร้องไม่เน้น “ผลคะแนน” คนดูก็ไม่สนใจ “ผลลัพธ์” ดังกล่าวเช่นเดียวกัน

(ยังไม่ต้องพิจารณาถึง “เสียงร้อง” ของผู้เข้าแข่งขัน ที่เริ่มมีข้อถกเถียงกันว่าเป็น “เสียงจริง” หรือ “ลิปซิ้ง” แต่ไม่ว่าเหรียญจะออกหน้าไหน ท้ายสุด “เสียงร้อง” ใน The Mask Singer ก็ยังเป็นรอง “เสียงหัวเราะ” หรือ “เสียงอุทานอู้หู” ด้วยความตลกขบขัน/เซอร์ไพรส์ของคนดูอยู่ดี)

อย่างไรก็ดี คงพูดได้ไม่เต็มปากเต็มคำนักว่า “The Mask Singer : หน้ากากนักร้อง” คือ นวัตกรรมใหม่ล่าสุดของวงการโทรทัศน์ไทยหรือของเวิร์คพอยท์

เพราะอย่างน้อย กระบวนท่าที่ให้ความสำคัญกับ “กระบวนการ” ตลอดจน “มุขตลก” และ “เรื่องคาดไม่ถึง” ตามรายทาง ก็ถือเป็นมรดกตกทอดมาจากรายการระดับ “เรือธง” อย่าง “ชิงร้อยชิงล้าน” ที่ช่วง “สามช่า” กลายเป็นจุดขายสำคัญมากกว่าช่วง “เกมโชว์”

หรือกระทั่งรายการสร้างชื่อของช่องเวิร์คพอยท์ทีวีอย่าง “ปริศนาฟ้าแลบ” ที่วางกรอบให้คนดูทั่วไปสามารถจดจำปฏิกิริยาตลกๆ หรือความผิดพลาดในเรื่องง่ายๆ ของผู้เข้าแข่งขัน ได้มากกว่ารายชื่อและสถิติการครองแชมป์ของผู้ชนะ

ซึ่งเอาเข้าจริงก็สอดคล้องกับวัฒนธรรมการรับชม “มหรสพพื้นบ้าน” จำนวนมาก ที่แทบไม่เคยมีใครจำได้ว่า “ตอนจบ” ของมันเป็นอย่างไร

เนื่องจากการ “ด้นสด” ระหว่างทาง เพื่อเรียกเสียงหัวเราะและดึงอารมณ์ร่วมจากคนดูนั้น คือ องค์ประกอบสำคัญสูงสุด

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.