ข้อสังเกตสั้นๆ หลังได้ชมหนังเรื่อง “ดาวคะนอง”

ดาวคะนอง (อโนชา สุวิชากรพงศ์)

ถูกชวนให้ไปดูหนังเรื่องนี้ในรอบพิเศษ เพื่อรำลึกวาระ 40 ปี 6 ตุลาฯ ต้องขอขอบคุณทีมงานผู้สร้างมา ณ ที่นี้ ด้วยครับ

เมื่อได้ดูหนังแล้ว ก็พบว่าเป็นงาน “ยาก” มากๆ ที่จะเรียบเรียง-ประมวลความคิดออกมา เพื่อเขียนถึงหนังเรื่องนี้อย่างเป็นระบบ

เลยคิดว่า คงยังไม่เขียนบทความถึง “ดาวคะนอง” อย่างเป็นทางการ จนกว่าจะได้ดูซ้ำอีกอย่างน้อยสักหนึ่งรอบในช่วงปลายปี ที่หนังจะเข้าฉายในเชิงพาณิชย์

ดังนั้น ที่จะเขียนต่อไปนี้ จึงเป็นเพียงข้อสังเกต-ความรู้สึกสั้นๆ ที่กระจัดกระจาย และไม่เป็นระบบระเบียบเท่าไหร่ครับ

หนึ่ง

“40 ปี พวกเขาไม่ได้จากไปเลย ไม่ได้จากพวกคุณ แม้กระทั่งคุณที่อายุ 20 ต้นๆ เพราะคนที่จากไปทุกชีวิต ล้วนกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตพวกเราแต่ละคน ไม่ใช่แค่อยู่ในความทรงจำ แต่เราเป็นเราทุกวันนี้ได้ เพราะมีคนที่เสียสละเหล่านั้น ทำให้เกิดและเป็นอยู่ทุกวันนี้ พวกเขาให้โอกาสแก่ผมที่จะมีชีวิตอยู่ เขาผลักดันให้สังคมไทยได้เป็นอย่างที่เป็น ส่วนเล็กๆ น้อยๆ ของพวกเขาอยู่ในชีวิตของทุกคน แม้คนรุ่นหลังที่เกิดไม่ทันเหตุการณ์ เราทุกคนเป็นเราได้ เพราะคนที่เสียสละชีวิตในเช้านั้นทุกคนและอีกหลายคนที่มุ่งมั่นกระทำการด้วยความหวังและความศรัทธาที่ต้องการให้สังคมไทยดีขึ้น เขาเหล่านั้นถามเราและเตือนเราอยู่เสมอว่า ถ้าสมัครใจจะใช้ชีวิตทำนองนี้ ดื้อ รั้น เสี่ยง ต้องกล้าเผชิญความทุกข์ยากขวากหนามลำเค็ญ เราจึงจะยืนเด่นโดยท้าทาย”

ธงชัย วินิจจะกูล, ปาฐกถา “คนยังคงยืนเด่นโดยท้าทาย” 6 ตุลาคม 2559 ที่หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

http://prachatai.com/journal/2016/10/68230

ผมคิดว่าคำกล่าวช่วงท้ายๆ ก่อนจบปาฐกถาดังกล่าวของอาจารย์ธงชัย น่าจะมีความสอดคล้องกับความตั้งใจของคุณอโนชาระหว่างเขียนบท-ถ่ายทำ “ดาวคะนอง” อยู่ไม่น้อย

คือ ส่วนเล็กๆ น้อยๆ ของอดีตที่เป็นบาดแผลนั้นแฝงฝังอยู่ในชีวิตของทุกคน แม้แต่คนที่เกิดไม่ทันเหตุการณ์ หรือคนที่ไม่คิดว่าตัวเองจะมีความเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์

เพียงแต่ว่าวิธีการเปิดเผยสิ่งที่แฝงเร้นอยู่ อาจไม่จำเป็นจะต้องกระทำผ่านการรำลึก 6 ตุลาฯ แบบที่เราๆ คุ้นชินกัน

สอง

คีย์สำคัญตอนต้นเรื่อง ที่ช่วยอธิบายวิธีการเล่าเรื่องของหนังได้ดีระดับหนึ่ง ก็คือ การตั้งคำถาม/ข้อเสนอแนะของตัวละครแม่บ้านที่พูดกับนักเขียนหญิง (คนเดือนตุลา) และผู้กำกับภาพยนตร์สาว ซึ่งกำลังสัมภาษณ์นักเขียน เพื่อเขียนบทภาพยนตร์ที่สร้างขึ้นจากชีวิตจริงของเธอ ว่า ก็ในเมื่อจะทำหนังเกี่ยวกับนักเขียน ทำไมถึงไม่ให้นักเขียน เขียนบท/เรื่องราวของตัวเองซะเลยล่ะ?

น่าคิดต่อว่า ถ้าให้นักเขียนหญิง/คนเดือนตุลา เขียนบทภาพยนตร์เรื่องนี้ เรื่องราวของมันก็คงจะวนเวียนอยู่กับประวัติศาสตร์การต่อสู้ของนักศึกษาปัญญาชน การตกเป็นเหยื่อ และการทนอยู่ในสังคมไทยอันโหดเหี้ยมไม่ได้ ดังที่เราคุ้นเคย (และปรากฏเป็นส่วนเสี้ยวเล็กๆ ใน “ดาวคะนอง”)

แต่พอลองให้เรื่องราวความทรงจำที่ว่าถูกเขียนโดยผู้กำกับภาพยนตร์สาว/คนรุ่นหลัง ความทรงจำก็ถูกนำเสนอผ่านแง่มุมอันกระจัดกระจาย

บางส่วนส่องสะท้อนซึ่งกันและกัน บางส่วนเชื่อมต่อกัน บางส่วนทับซ้อนกันอยู่ บางส่วนปริ/แปลกแยกจนแทบไม่รู้ว่ามันเกี่ยวข้องกับส่วนอื่นๆ ยังไง และหลายๆ ส่วน ไม่ได้มีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกับเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ อย่างแน่ชัดเป็นรูปธรรม

จนเอาเข้าจริง เราสามารถพิจารณาสถานะของ “ดาวคะนอง” ว่าเป็นทั้ง “หนังว่าด้วยความทรงจำเกี่ยวกับเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ” และหนังที่เล่นกับประเด็น “การเมืองเรื่องความทรงจำ” โดยหยิบยืม 6 ตุลาฯ มาเป็นจุดตั้งต้นเล็กๆ เพียงเท่านั้น

ผมคงจะเขียนถึงภาพรวมของหนังแค่นี้ก่อน

จากนี้ จะขอลงรายละเอียดยิบๆ ย่อยๆ ที่ไม่ใช่ประเด็นหลัก แต่มันตรงกับความชอบ ความสนใจส่วนตัว หรือคลิกกับความหมกมุ่นบางอย่างของผมพอดี

สาม

เริ่มจากตัวละครนักเขียนหญิง/คนเดือนตุลา (รับบทโดยคุณรัศมี เผ่าเหลืองทอง) จุดหนึ่งที่ผมลองจินตนาการเล่นๆ ก็คือ เออ! ณ ปัจจุบัน ตัวละครรายนี้จะเป็นคนรุ่น 6 ตุลาฯ ขั้วเหลือง/สลิ่ม หรือขั้วแดงวะ?

ดูเหมือนคำตอบอาจมีแนวโน้มเป็นอย่างแรกมากกว่าอย่างหลัง ถ้าอ้างอิงจากตอนที่เธอให้สัมภาษณ์กับตัวละครผู้กำกับสาว โดยบอกทำนองว่าคนยุคเธอออกมาประท้วงด้วยใจ ด้วยความหวังที่จะเปลี่ยนแปลงสังคม ไม่ได้ถูกจ้างให้ออกมาประท้วง

สี่

จุดหนึ่งที่ผมชอบมากใน “ดาวคะนอง” ก็คือ วิธีการนำเสนอภาพลักษณ์ “ผิวพรรณ” ของนักแสดง (หญิง) ในหนัง (เข้าใจว่าหลายๆ คนแทบไม่ได้แต่งหน้า) ที่ดิบกร้านและเผยให้เห็นไฝฝ้าริ้วรอยต่างๆ อย่างชัดเจน เช่น คุณวิศรา วิจิตรวาทการ ซึ่งเป็นตัวละครหลักในช่วงครึ่งเรื่องแรก ที่เราจะเห็นตั้งแต่ไฝไปจนถึงปานของเธอ

อีกจุดที่ชอบเกี่ยวกับคุณวิศราคือฉากที่เธอร้องเพลง “ดวงจันทร์” ผลงานการแต่งของหลวงวิจิตรวาทการ ซึ่งเป็นบรรพบุรุษในชีวิตจริงของตัวเธอเอง เข้าใจว่านี่เป็นหนึ่งในการเล่นกับภาวะส่องสะท้อน/ทับซ้อนบางอย่าง อันเป็นกระบวนท่าหลักสำคัญของหนังเรื่องนี้

ห้า

ประมาณครึ่งหลังของหนัง เมื่อดาราใหญ่ๆ (เพ็ญพักตร์, ทราย เจริญปุระ, สายป่าน, เป้ อารักษ์) เริ่มปรากฏกายขึ้น พร้อมโครงสร้างที่คล้ายจะผลิตซ้ำ/ขยายความเรื่องราวในครึ่งแรก ผมเริ่มรู้สึกใจชื้นว่า หนังคงดูง่าย หรือจับตัวเป็นกลุ่มก้อนมากขึ้น แต่เปล่าเลย (555) การปรากฏขึ้นของกลุ่มนักแสดงมืออาชีพ กลับมีสถานะเป็นอีก “ชั้นหนึ่ง” ของ “เรื่องราวหลากหลายชั้น” ภายใน “ดาวคะนอง” และยิ่งทำให้หนังมีความสลับซับซ้อนมากยิ่งขึ้นไปอีก

หก

แน่นอน กลายเป็นว่า ไปๆ มาๆ ตัวละครที่โดดเด่นมากๆ แบบสุดๆ ก็คือ น้องแม่บ้านในช่วงแรก ที่ปรากฏตัวอยู่ในแทบทุก “ชั้น” ของหนัง โดยสถานภาพของเธอได้พลิกแพลงกลับกลายไปเรื่อยๆ กระทั่งกลายเป็น “แม่ชี” โน่นเลย

ไม่มีคำอธิบายชัดๆ ถึงสาเหตุแห่งความแปรเปลี่ยนพลิกผันในตัวตนของเธอ

ทว่า ตัวตนอันหลากหลายดังกล่าว อาจช่วยขับเน้นถึงสิ่งที่อาจารย์ธงชัยพูดไว้ (ก่อนหน้า “ดาวคะนอง” จะฉายรอบปฐมทัศน์ในเมืองไทย เพียงไม่ถึงหนึ่งชั่วโมง)

นั่นคือ “…เพราะคนที่จากไปทุกชีวิตล้วนกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตพวกเราแต่ละคน ไม่ใช่แค่อยู่ในความทรงจำ แต่เราเป็นเราทุกวันนี้ได้ เพราะมีคนที่เสียสละเหล่านั้น ทำให้เกิดและเป็นอยู่ทุกวันนี้ พวกเขาให้โอกาสแก่ผมที่จะมีชีวิตอยู่ เขาผลักดันให้สังคมไทยได้เป็นอย่างที่เป็น ส่วนเล็กๆ น้อยๆ ของพวกเขาอยู่ในชีวิตของทุกคน…”

สำหรับผม ตัวตนอันหลากหลายของ “น้องแม่บ้าน” จึงอาจเป็นสัญลักษณ์ที่สื่อถึง “ชีวิตของทุกคน” ในสังคมไทยยุคปัจจุบัน ที่บรรจุไว้ซึ่งส่วนเสี้ยวเล็กๆ น้อยๆ ของประวัติศาสตร์บาดแผล 6 ตุลาฯ

2 Comments

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.