“หนังอาเซียน” ในเทศกาลภาพยนตร์โตเกียว 2016
(มติชนสุดสัปดาห์ 23-29 กันยายน 2559)
กลับมาอีกครั้ง สำหรับเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติโตเกียวครั้งที่ 29 ประจำปี 2016
โดยเมื่อปีที่แล้ว มีหนังไทยเดินทางไปร่วมประกวดในเทศกาลนี้ถึงสองเรื่อง ได้แก่ “สแน็ป แค่…ได้คิดถึง” ของ คงเดช จาตุรันต์รัศมี ที่เข้าฉายในสายการประกวดหลัก
และ “มหาสมุทรและสุสาน” ของ พิมพกา โตวิระ ที่เข้าฉายในสายเอเชี่ยน ฟิวเจอร์ และได้รับรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมประจำสายการประกวดดังกล่าวมาครอง
คงต้องจับตาดูกันว่า ปีนี้ จะมีหนังไทยเรื่องใดถูกคัดเลือกเข้าฉาย/ประกวดในเทศกาลภาพยนตร์โตเกียวหรือไม่
อย่างไรก็ตาม ภาพยนตร์จากภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน ตลอดจนเรื่องราวว่าด้วยประเทศแถบนี้ ยังได้รับความสนใจจากผู้จัดเทศกาลหนังโตเกียวเช่นเคย
ในเทศกาลครั้งนี้ จะมีการเปิดตัวผลงานชื่อ “Asian Three-Fold Mirror 2016 : Reflections” โปรเจ็กต์รวมหนังสั้น 3 เรื่องจากผู้กำกับภาพยนตร์ชาวเอเชียสามคน ซึ่งพูดถึงการเดินทางไปมาหาสู่กันของผู้คนในทวีปเอเชีย
หนังสั้นตอนแรก คือ “Pigeon” ผลงานของผู้กำกับฯ ชาวญี่ปุ่น อิซาโอะ ยูกิซาดะ ที่มีฉากหลังเป็นพื้นที่แห่งหนึ่งในประเทศมาเลเซีย ซึ่งเคยถูกบุกเข้ายึดครองโดยกองทัพญี่ปุ่น สมัยสงครามโลกครั้งที่สอง
แต่ปัจจุบัน พื้นที่แห่งนี้กลับกลายเป็น “บ้านหลังสุดท้าย” ที่บรรดาคนชราวัยหลังเกษียณจากประเทศญี่ปุ่นได้เดินทางเข้ามาพำนักพักพิงในช่วงปัจฉิมบทของชีวิต
โดยเรื่องราวของหนังจะมีจุดศูนย์กลางอยู่ที่ชายชราชาวญี่ปุ่นผู้ใช้ชีวิตบั้นปลายอยู่กับการเลี้ยงนกพิราบ, ความบาดหมางระหว่างเขากับลูกชาย และสายสัมพันธ์ของเขากับลูกจ้างสาวชาวมาเลเซีย
พร้อมๆ กับการใช้ชีวิตประจำวันในปัจจุบัน ความทรงจำเมื่อครั้งสงครามโลกก็ได้หวนย้อนกลับมาหาชายชราผู้นี้
หนังสั้นอีกหนึ่งตอน คือ “SHINIUMA Dead Horse” ผลงานของ บริลแลนเต้ เมนโดซ่า คนทำหนังชาวฟิลิปปินส์ที่เคยคว้ารางวัลผู้กำกับฯ ยอดเยี่ยม จากเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์มาแล้ว
หนังของเขามักถ่ายทอดเรื่องราวของสามัญชนชาวฟิลิปปินส์ที่ต้องเผชิญหน้ากับสถานการณ์อันไม่ธรรมดา
ในหนังสั้นเรื่องนี้ เมนโดซ่าเลือกเล่าเรื่องราวของแรงงานข้ามชาติชาวฟิลิปปินส์ซึ่งเดินทางเข้าญี่ปุ่นอย่างผิดกฎหมาย และใช้ชีวิตอยู่ที่นั่นนานนับทศวรรษ ก่อนจะถูกเจ้าหน้าที่จับกุมตัวได้และส่งตัวกลับประเทศ เพื่อชี้ให้เห็นถึงภาวะของการสูญเสียอัตลักษณ์ประจำชาติและพลัดพรากจากบ้านเกิดเมืองนอน
ปิดท้ายด้วย “Beyond the Bridge” หนังสั้นของ โสโท กูลิการ์ ผู้กำกับฯ หญิงชาวกัมพูชา ที่สร้างชื่อเสียงจากหนังยาวเรื่องแรกในชีวิต คือ “The Last Reel” ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวพันกับประวัติศาสตร์การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ยุคเขมรแดง
หนังสั้นของโสโทจะบอกเล่าเรื่องราวความรักที่อยู่เหนือกาลเวลาและเส้นแบ่งเขตแดน โดยมีฉากหลังเป็นเหตุการณ์สงครามกลางเมืองในประเทศกัมพูชา และสะพานมิตรภาพ “กัมพูชา-ญี่ปุ่น” ซึ่งถูกก่อสร้างขึ้น ณ กรุงพนมเปญ
นอกจากนี้ อีกหนึ่งโปรแกรมพิเศษที่กลายเป็นจุดเด่นของเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติโตเกียวไปแล้ว ก็คือ โปรเจ็กต์ “CROSSCUT ASIA” ซึ่งทางเทศกาลร่วมกับเจแปน ฟาวเดชั่น เอเชีย เซ็นเตอร์ ได้นำหนังจากประเทศต่างๆ ของทวีปเอเชีย มาจัดฉายในเทศกาล
โดยในสองปีแรกเป็นคิวของภาพยนตร์ไทยและฟิลิปปินส์ ตามลำดับ
ล่าสุด ในเทศกาลประจำปีนี้ คณะผู้จัดงานได้เลือกหนังจากประเทศที่มีความแตกต่างหลากหลายทางวัฒนธรรมอย่าง “อินโดนีเซีย” มานำเสนอ
ผลงานที่ถูกคัดเลือกเข้ามาจัดฉายจะเป็นหนังของบรรดาผู้กำกับภาพยนตร์รุ่นใหม่ชาวอินโดนีเซีย ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงสภาวะของสังคมร่วมสมัยในหลายแง่มุม อาทิ แง่มุมด้านศาสนา, ชาติพันธุ์, เพศสภาพ และความรักหลากรูปแบบ
ยกตัวอย่างเช่น ภาพยนตร์เรื่อง “Lovely Man” ของ เท็ดดี้ โซเรียอัตมัดจา คนทำหนังที่เกิดในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเล่าเรื่องราวของพ่อผู้ประกอบอาชีพขายบริการทางเพศ ที่กลับมาเจอลูกสาวผู้เป็นมุสลิม
ขณะที่ภาพยนตร์เรื่อง “Something in the Way” ของผู้กำกับฯ คนเดียวกัน พูดถึงชายหนุ่มผู้โดดเดี่ยว ที่ใช้ชีวิตด้านหนึ่งไปกับการเสพติดหนังโป๊อย่างหมกมุ่น ทว่า ในอีกด้าน เขากลับกลายเป็นผู้มีศรัทธาอย่างเปี่ยมล้นต่อศาสนาอิสลาม
เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติโตเกียว 2016 จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 25 ตุลาคม – 3 พฤศจิกายนนี้ หากมีความคืบหน้าน่าสนใจใดๆ จะนำมาบอกเล่าในพื้นที่คอลัมน์นี้ต่อไป
ของแถม
ล่าสุด เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติโตเกียว 2016 ได้ประกาศรายชื่อหนังทั้งหมดที่จะเข้าร่วมเทศกาลออกมาแล้ว น่าเสียดาย ที่ในปีนี้ไม่ปรากฏรายชื่อของหนังไทยแม้เพียงเรื่องเดียว
(ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะหนังไทยอิสระหลายๆ เรื่อง ถูกคัดเลือกไปฉายในเทศกาลภาพยนตร์ปูซาน ประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นพันธมิตรกับเทศกาลหนังโตเกียว แถมยังจัดขึ้นในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน)
อย่างไรก็ดี ยังมีหนังอาเซียนน่าสนใจอีกหลายเรื่องที่จะเดินทางมายังโตเกียว
รวมถึง “Diamond Island” ผลงานของดาวี่ ชู ผู้กำกับภาพยนตร์ชาวกัมพูชาที่อาศัยอยู่ในฝรั่งเศส ซึ่งได้รับรางวัลจากสัปดาห์นักวิจารณ์นานาชาติ ซึ่งเป็นงานคู่ขนานของเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์ ปีล่าสุด
และที่น่าสนใจสุดๆ ก็คือ การมาเยือนญี่ปุ่นของ “A Lullaby to the Sorrowful Mystery” ผลงานความยาวกว่า 8 ชั่วโมง ที่ส่งผลให้คนทำหนังสุดฮ็อตจากฟิลิปปินส์อย่างลาฟ ดิแอซ คว้ารางวัลสำคัญในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเบอร์ลินเมื่อช่วงต้นปี
อ่านข้อมูลเกี่ยวกับ Diamond Island และดาวี่ ชู ได้ที่นี่
อ่านข้อมูลเกี่ยวกับ A Lullaby to the Sorrowful Mystery ได้ที่นี่