โลกของจันทคาธและสุริยคาธ (จบ)

ชุบชีวิตขึ้นมาเพื่อฆ่าซ้ำ

เมื่อบทบาทของ “วิโยคพสุธา” ถูกเพิ่มเข้ามาในช่วงท้ายของ “จันทร์ สุริยคาธ” โครงเรื่องทั้งหมดของละครจักรๆ วงศ์ๆ เรื่องนี้ ก็หันเหกลับไปสู่จารีตของเรื่องเล่าแบบ “นารายณ์สิบปาง” ที่คนไทยคุ้นชิน รวมทั้งจารีตของเรื่องเล่าแบบ “จักรๆ วงศ์ๆ” ตามมาตรฐานปกติ

นั่นก็คือ เรื่องเล่าว่าด้วยวีรกรรมของเทวดาหรือราชาผู้พิฆาต “ความเป็นอื่น” ในรูปของ “ยักษ์”

“ภาคที่สอง” ของ “จันทร์ สุริยคาธ” เริ่มต้นจากพฤติการณ์การบุกขึ้นไปขโมยแก้วทิพยเนตรของวิโยคพสุธา จากนั้น อดีตทวารบาลสวรรค์ก็นำเอาดวงแก้ววิเศษไปฝังไว้ในลูกนัยน์ตา กระทั่งตนเองกลายเป็นยักษ์ผู้มีอิทธิฤทธิ์แก่กล้ามากยิ่งขึ้นไปอีก เพราะสามารถมองเห็นความเป็นไปใน 3 โลก แทนที่พระอินทร์

เมื่อมีอำนาจแข็งแกร่ง วิโยคพสุธาก็เปิดศึก “ชิงนาง” ด้วยการบุกไปชิงตัว “สังคเทวี” และ “ลีลาวดี” เมียของสุริยคาธ-จันทคาธ ซึ่งเคยเป็นนางฟ้าที่ตนเองหมายปอง ครั้งทำหน้าที่รักษาประตูสวรรค์

สุริยคาธและจันทคาธจึงต้องไล่ล่ายักษ์ ทั้งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ตามเทวบัญชาครั้งที่สอง และเพื่อปกป้องหญิงคนรัก

แน่นอนว่า วิโยคพสุธาย่อมต้องตายในท้ายที่สุด ทว่าเรื่องราวระหว่างทางก่อนยักษ์ตนนี้จะถูกเด็ดชีพต่างหากซึ่งน่าสนใจ

ที่น่าสนใจประการแรก ก็คือ องค์เทวราชบนสรวงสวรรค์ไม่สามารถเล่นงานอดีตทวารบาลได้มากนัก (อย่างน้อย ก็นอนหลับจนถูกขโมยของวิเศษข้างตัวไป)

ครั้นทรงเสกพระขรรค์และจักรวิเศษมอบให้อดีตเทพบุตรสองพี่น้องไปใช้รบรากับวิโยคพสุธา อาวุธวิเศษจากสวรรค์กลับทำอะไรยักษ์ไม่ได้มากอย่างที่คิด และไม่สามารถใช้เผด็จศึกฝ่ายตรงข้ามลงได้โดยเด็ดขาด

มิหนำซ้ำ พอฝ่ายมนุษย์ อันประกอบด้วยราชาและอำมาตย์จากหลายเมือง ซึ่งเป็นศัตรูกับสุริยคาธ-จันทคาธ อยู่แต่เดิม รวมทั้งโมหะ-ทาสา พ่อแม่ขอทานของสองตัวเอก ได้หันไปผนึกกำลังกันเพื่อเป็นมิตรร่วมรบกับฝ่ายยักษ์ เหตุการณ์ความขัดแย้งเลยยิ่งชุลมุนหนัก

แล้วใครกันล่ะที่พอจะ “ตั๊น” กับวิโยคพสุธาได้?

ตัวละครที่สามารถคานอำนาจกับยักษ์ผู้ทรงฤทธานุภาพ กลับกลายเป็น “นางไม้ร่างอ้วนนิรนาม” ซึ่งต้องมนต์เสน่ห์ของวิโยคพสุธาเข้าโดยบังเอิญ

หลังจากจับตัวสองอดีตเทพธิดามาแล้ว อดีตทวารบาลสวรรค์ก็พยายามเสกมนต์เสน่ห์เข้าใส่พวกนาง เพื่อหวังจะให้ทั้งคู่ตกเป็นเมียของตน ด้วยลักษณะเสมือนมีความยินยอมพร้อมใจ

แต่เวทมนตร์กลับพุ่งพลาดเป้าไปยังต้นไม้ใหญ่ต้นหนึ่ง นางไม้ที่สิงสถิตอยู่ในต้นไม้ดังกล่าว จึงออกมาวิ่งไล่ปล้ำวิโยคพสุธา ขณะที่ยักษ์ผู้มีฤทธิ์กำลังตามล่าหาความรักจากบรรดาอดีตนางฟ้าบนสรวงสวรรค์

ฉากนางไม้อ้วนวิ่งไล่ ส่วนยักษ์ใหญ่วิ่งหนี ที่ถูกฉายวนซ้ำอยู่หลายครั้งหลายหน ก็ชวนให้นึกถึงอารมณ์ขันแบบซื่อๆ ของ “หนังไทยเกรดบี” เมื่อสักราว 20 ปีก่อน ทั้งยังสามารถช่วยยืดความยาวของละครจักรๆ วงศ์ๆ เรื่องนี้ ไปได้อีกหลายตอน

ที่น่าสนใจยิ่งกว่านั้นก็คือ ฉากขำๆ ที่ว่า ได้ช่วยฉายภาพของวงจรความสัมพันธ์ทางอำนาจอันปราศจากผู้ถือครองอำนาจโดยสัมบูรณ์ เมื่อฝ่ายเทพก็เอายักษ์ไม่ไหว แต่ยักษ์เองก็เอานางไม้ไม่อยู่

และที่สำคัญ นางไม้ผู้กำลังหลงยักษ์ก็สามารถทำการ “ต่อรอง” กับฝ่ายเทพได้อีกด้วย

เพราะแม้ในที่สุด สุริยคาธ-จันทคาธ จะค้นหาหนทางในการประสานฤทธานุภาพของพระขรรค์และจักรวิเศษจนพบ กระทั่งสามารถตัดร่างของวิโยคพสุธาขาดเป็นสองท่อน

ทว่า นางไม้ร่างอ้วนก็เริ่มกระบวนการเจรจาต่อรองทันที ด้วยการนำสังคเทวี-ลีลาวดี ไปกักขังไว้ในต้นไม้ และจะยินยอมปล่อยตัวนางทั้งสอง ต่อเมื่อสองอดีตเทพบุตรใช้หญ้าวิเศษชุบชีวิตยักษ์ผู้เป็นที่รักของตน

ดังที่เคยกล่าวไปแล้วว่า การชุบคนตายให้ฟื้นคืนชีวิต ถือเป็นองค์ประกอบที่โดดเด่นประการหนึ่งของละครจักรๆ วงศ์ๆ เรื่องนี้ (และเป็นลักษณะเด่นที่รับสืบทอดมาจากชาดก)

ผิดกับพระเอกนิทานจักรๆ วงศ์ๆ ส่วนใหญ่ หลังจาก “จันทร์ สุริยคาธ” ดำเนินไปราวค่อนเรื่อง สุริยคาธและจันทคาธ แทบไม่เคยฆ่าใครตายจริงๆ เลย

เพราะนอกจากทั้งคู่จะใช้หญ้า/ต้นยาวิเศษ ชุบชีวิตคนรักอย่างสังคเทวี ลีลาวดี ตลอดจนท้าวพรหมจักร (พ่อตาของสุริยคาธ) และท้าวกาสิกราช (พ่อตาของจันทคาธ) ซึ่งถูกสังหารจากความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างนคร และการเมืองภายในนครแล้ว

สองพี่น้องยังช่วยชุบชีวิตคนเล็กคนน้อยที่ล้มตายจากศึกสงครามระหว่างเมือง รวมถึงสรรพสัตว์ต่างๆ

จนแทบจะกล่าวได้ว่า สุริยคาธ-จันทคาธ ถือเป็นพระเอกจักรๆ วงศ์ๆ ในแนวทาง “สันติวิธี”

อย่างไรก็ดี น่าพิจารณาว่า การชุบคนตายให้ฟื้นคืนชีวิต มีความหมายสื่อไปในทางใดได้บ้าง?

ในบางแง่มุม การตายแล้วเกิดใหม่ อาจสื่อแสดงถึงความตายของบุคคลผู้เป็นตัวแทนแห่งระบบ ระเบียบ ความเชื่อแบบเก่าๆ เพื่อจะเปลี่ยนผ่านไปสู่การถือกำเนิดขึ้นของความรู้ วิทยาการใหม่ๆ หรืออนาคตที่ก้าวหน้ากว่าเดิม

แต่ในอีกแง่มุมหนึ่ง การตายแล้วฟื้น ก็อาจหมายถึงความเปลี่ยนแปลงซึ่งมิอาจดำเนินไปได้อย่างถอนรากถอนโคน ด้วยเพราะยังมีความพยายามที่จะธำรงรักษาระบบ ระเบียบ สถานะทางสังคมแบบเดิมๆ เอาไว้ให้คงอยู่ (ตลอดไป)

บุคคลผู้เป็นสัญลักษณ์ของ “โลกเก่า” “ความเชื่อแบบเก่า” จึงต้องตายแล้วฟื้น คนเหล่านี้จะตายไม่ได้ เพราะถ้าตาย ระบบระเบียบของสังคมแบบเดิมที่ดำรงคงอยู่เคียงคู่กับชีวิตของพวกเขา ก็จะถึงคราวโกลาหลวุ่นวายตามไปด้วย

ถ้าความหมายของการฟื้นคืนชีพมีอยู่อย่างน้อยที่สุด 2 แง่มุม แล้วการชุบชีวิตวิโยคพสุธาของสุริยคาธและจันทคาธ มีความสอดคล้องลงรอยกับความหมายแบบไหน?

การชุบชีวิตอดีตทวารบาลสวรรค์ที่ร่างขาดสองท่อนด้วยฤทธิ์ของพระขรรค์และจักรวิเศษ อาจสื่อถึง “ความเปลี่ยนแปลง” ได้ ถ้าการชุบชีวิตดังกล่าวมีลักษณะเดียวกันกับเมื่อครั้งที่สุริยคาธ-จันทคาธ ในวัยเยาว์ ใช้หญ้าวิเศษช่วยปลุกชีพของยักษ์ป่าอย่าง “ยักษี” ซึ่งตายด้วยพิษงู

กระทั่ง “ยักษี” และ “ยักษา” ผู้เป็นสามี ซึ่งเคยเป็นศัตรูที่คิดจับสองพี่น้องกินเป็นอาหาร หันกลับมาเป็นมิตรคอยช่วยเหลือทั้งคู่ในยามเติบใหญ่

การชุบชีวิต “ยักษี” จึงเป็นดั่งการสลาย “ความเป็นอื่น” และทำลายโครงเรื่องแบบ “เทวดาปราบยักษ์” ลงอย่างน่าประทับใจ

แต่เพราะโครงเรื่องตามจารีต “นารายณ์สิบปาง” ได้ยึดกุมโครงสร้างของเรื่องเล่าใน “จันทร์ สุริยคาธ ภาคที่สอง” ไว้อย่างหมดจด

วิโยคพสุธาที่ฟื้นคืนชีพขึ้นมาจึงถูกเขียนให้เป็น “ยักษ์เลว” ผู้ไม่รู้คุณคนชุบชีวิต สุริยคาธและจันทคาธจึงต้องหาทางปราบยักษ์กันต่อไป

ดังนั้น การชุบชีวิตอดีตทวารบาลสวรรค์ จึงมิได้สื่อถึง “ความเปลี่ยนแปลง” จากความเชื่อแบบเก่า ไปสู่โลกทัศน์แบบใหม่

หากเป็นการปลุกชีพยักษ์ขึ้นมาเพื่อฆ่าซ้ำและตอกย้ำจารีตแบบดั้งเดิม

ผู้หญิงชื่อ “พรหมจารี”

ในตอนอวสานของ “จันทร์ สุริยคาธ” มิใช่เพียงแค่ยักษ์อย่าง “วิโยคพสุธา” ที่ต้องถูกฆ่าซ้ำ

หากการ “ฆ่าซ้ำ” มีความหมายเชื่อมโยงไปสู่การธำรงรักษาหรือฟื้นฟูระบอบระเบียบดั้งเดิม และการขจัดชำระล้าง “ความไร้ระเบียบอันกลับหัวกลับหาง” ทั้งหลาย

นอกจากวิโยคพสุธาแล้ว จึงยังมีตัวละครซึ่งเป็นตัวแทนของความไร้ระเบียบอีกหลายคนที่ต้องถูกจัดการ

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บรรดามนุษย์ผู้หาญกล้ามาแย่งชิง “แก้วทิพยเนตร” จากสุริยคาธและจันทคาธ

เนื่องจากแก้ววิเศษแห่งสรวงสวรรค์ถือเป็น “ของสูง” ที่ต้องส่งคืน “ข้างบน” ไม่ใช่สิ่งของสามัญธรรมดาซึ่งบรรดามนุษย์ผู้มีกิเลสตัณหาทั้งหลายบนโลก “ข้างล่าง” จะสามารถครอบครองเอาไว้ได้

กระบวนการชำระสะสางที่ว่าจะถูกกล่าวถึงอย่างละเอียดในตอนหน้า ซึ่งเป็นตอนจบของบทความชุดนี้

สําหรับบทความตอนนี้ จะขอกล่าวถึงตัวละครหญิงคนสำคัญๆ ใน “จันทร์ สุริยคาธ”

ในฐานะนักประพันธ์นวนิยาย “นันทนา วีระชน” ผู้เขียนบทของละครจักรๆ วงศ์ๆ เรื่องนี้ ถือเป็นนักเขียนหญิงคนหนึ่ง ซึ่งเคยสร้างสรรค์ชะตาชีวิตตลอดจนบุคลิกลักษณะของตัวละครสตรีเพศที่เต็มเปี่ยมไปด้วยสีสันเอาไว้มากมาย

เช่นเดียวกันกับชะตาชีวิตและบุคลิกลักษณะของบรรดาตัวละครหญิงใน “จันทร์ สุริยคาธ”

อย่างไรก็ตาม ชะตากรรมของตัวละครสตรีเพศที่น่าสนใจในละครจักรๆ วงศ์ๆ เรื่องนี้ อาจมิได้ฉายแสดงจุดยืนซึ่ง “อยู่ข้างผู้หญิง” มากนัก

สองนางเอกอย่าง “สังคเทวี” และ “ลีลาวดี” ก็มีชะตาชีวิตที่น่าสนใจ

ทั้งคู่เป็นเทพธิดาซึ่งต้องโทษและถูกส่งลงมาเกิดในเมืองมนุษย์ ทั้งที่ไม่ได้ทำผิดอะไร

เรื่องราวทั้งหมดเริ่มต้นขึ้นเมื่อมีสองเทวดาหนุ่มแอบชอบพวกนาง สองเทวดาจึงพยายามดึงดูดใจสองนางฟ้า ด้วยการไปขโมยแก้ววิเศษของพระอินทร์มาขว้างเล่น

แต่พอสองเทพบุตรพลั้งพลาดทำของวิเศษพลัดตกจากสวรรค์ สองเทพธิดากลับพลอยโดนหางเลขต้องโทษตามไปด้วย โดยไม่มีเหตุผลอันชอบธรรมมารองรับคำพิพากษาดังกล่าวสักเท่าใดนัก

ในฐานะมนุษย์โลก ชะตาชีวิตของทั้งคู่ก็ยังน่าสนใจ

สังคเทวีลงมาเกิดเป็นธิดากษัตริย์เมืองอินทปัถบุรี ขณะที่ลีลาวดีเป็นธิดากษัตริย์เมืองกาสิกนคร

กษัตริย์ทั้งสองเมืองไม่มีโอรสสืบทอดราชสมบัติ อย่างไรก็ดี สังคเทวีและลีลาวดี กลับไม่ได้ถูกเลี้ยงดูให้เติบโตมาเป็นเจ้าหญิงผู้อ่อนแออ่อนโยน ซึ่งรอคอยโอรสกษัตริย์เมืองอื่นมาสู่ขอ

ตรงกันข้าม ธิดาสองเมืองถูกเลี้ยงดูให้มีความพร้อมที่จะขึ้นครองราชย์ เมื่อออกเดินทางไปเรียนสรรพวิชาจากพระอาจารย์ในป่าเขาไม่ได้ พระบิดาก็เชิญพระฤาษีมาสอนวิชาอาคมให้ถึงในเมือง

ถ้าพิจารณาจากความถี่ในการ “ปล่อยแสง” แล้ว ดูเหมือนว่าสังคเทวีและลีลาวดีจะมีความเชี่ยวชาญในการใช้เวทมนตร์คาถาต่างๆ มากกว่าตัวละครเพศชายรายอื่นๆ รวมถึงสุริยคาธ-จันทคาธ เสียด้วยซ้ำไป

มิหนำซ้ำ ในยามที่สังคเทวีและลีลาวดี พบเจอกับสุริยคาธและจันทคาธเมื่อครั้งเป็นเด็กขอทาน กลับเป็นตัวละครฝ่ายหญิงที่แนะนำฝ่ายชายให้หมั่นศึกษาหาวิชาความรู้ติดตัวเอาไว้

ทว่าสุดท้าย สังคเทวี-ลีลาวดี ก็เป็นได้แค่มเหสีของกษัตริย์ แม้ราชาผู้เป็นพระสวามีของพวกนางจะเกิดในตระกูลขอทานยากเข็ญ แต่ปัญหาดังกล่าวก็ไม่กลายเป็นเงื่อนไขติดขัด เพราะแท้จริงแล้วทั้งคู่เป็นเทพบุตรที่จุติลงมายังโลกมนุษย์

สังคเทวี, ลีลาวดี, สุริยคาธ และจันทคาธ จึงใช้ชีวิตอย่างแฮปปี้ เอ็นดิ้ง เนื่องจากอดีตเทพบุตร-เทพธิดา ได้หวนกลับมาพบรักกันอีกครั้ง ตามโครงเรื่องหรือชะตาชีวิตที่ถูกลิขิตมาแต่ชาติปางก่อน

ไปๆ มาๆ ตัวละครหญิงที่มีชะตาชีวิตน่าสนใจและเดินไปสุดทางจริงๆ กลับกลายเป็น “พรหมจารี”

“พรหมจารี” เป็นธิดากษัตริย์เมืองไชยะบุรี ซึ่งอภิเษกสมรสกับ “สุทัศน์จักร” เจ้าชายแห่งเมืองอนุราชบุรี

เมื่อครั้งที่สังคเทวีต้องพลัดพรากจากสุริยคาธเพราะเหตุการณ์เรือสำเภาล่ม (ตามคำอธิบายของละคร เรือล่มเพราะฤทธิ์ของพระรำพัด-พระรำเพย) นางได้พบกับสุทัศน์จักร ซึ่งเพิ่งพ่ายศึกจากการยกทัพไปตีกาสิกนคร (เมืองของลีลาวดี ชายาจันทคาธ)

สุทัศน์จักรพาตัวสังคเทวีกลับไปอนุราชบุรี และหวังจะอภิเษกสมรสกับนาง พร้อมกันนั้น ก็ตัดสินใจลงโทษพรหมจารี ซึ่งไม่เห็นด้วยกับการอภิเษกสมรสดังกล่าว ด้วยการสั่งลอยแพชายาของตนเองออกจากเมือง

พรหมจารีต้องลอยเคว้งคว้างกลางมหาสมุทรอยู่หลายวันหลายคืน จนได้รับการช่วยเหลือจากสุริยคาธ จากนั้น นางก็เริ่มรู้สึกหลงรักชายผู้ช่วยชีวิต

ต่อมา พรหมจารีถูกแยกออกจากสุริยคาธโดยผู้ทรงศีลสตรีรายหนึ่ง นางได้เรียนวิชากับผู้ทรงศีลรายนั้น กระทั่งมีฤทธิ์เดชแกร่งกล้า (ทัดเทียมสังคเทวี-ลีลาวดี) แต่ขณะเดียวกัน ความแค้นที่คุกรุ่นในจิตใจอันเกิดจากการเป็นฝ่ายถูกกระทำกลับยังไม่มีวี่แววจะลดน้อยถอยลง

เมื่อพรหมจารีเดินทางกลับเมืองไชยะบุรี นางจึงยุพระบิดาให้ยกทัพไปเผาเมืองอนุราชบุรี พร้อมกับฆ่าพ่ออดีตสามีทิ้ง

แล้วในที่สุด พรหมจารีก็ได้สมรสกับสุริยคาธ ผู้มาช่วยชีวิตนางเป็นหนที่สอง ระหว่างการต่อสู้ของพรหมจารีกับสุทัศน์จักร อดีตพระสวามี

การอภิเษกสมรสครั้งนี้นำไปสู่ศึกระหว่างไชยะบุรีกับอินทปัถบุรี เมื่อพรหมจารีต้องการแย่งชิงสามีจากสังคเทวี รวมทั้งต้องการแก้แค้นฝ่ายหลัง ผู้เคยเป็นต้นเหตุให้ตนเองต้องตกระกำลำบากจากการถูกลอยแพ

ศึกระหว่างสองเมือง ส่งผลให้มีคนล้มตายมหาศาล รวมถึงท้าวพรหมจักร (พ่อของสังคเทวี) แต่ทั้งหมดก็ได้รับการชุบชีวิตด้วยต้นยาวิเศษของสุริยคาธ-จันทคาธ

หลังเสร็จสงคราม พรหมจารีดูคล้ายจะมีความรู้สึกผิดบาป และมีท่าทีที่จะพยายามคืนดีกับสังคเทวี

แต่เมื่อวิโยคพสุธาบุกมาชิงตัวสังคเทวีและลีลาวดี พรหมจารีกลับพลอยโดนลูกหลงถูกจับตัวไปด้วย ทั้งที่นางไม่ได้เป็นอดีตเทพธิดา ที่ทวารบาลสวรรค์เคยแอบหมายปอง

ตัวละคร “พรหมจารี” ไม่มีปัญหาในเชิงสถานะหรือตำแหน่งแห่งที่ใน “ชาดก-นิทานวัดเกาะ” ซึ่งเรื่องราวว่าด้วยเทพเจ้าบนสรวงสวรรค์มิได้เป็นเส้นเรื่องสำคัญของเรื่องเล่าฉบับดังกล่าว

พรหมจารีในเรื่องเล่าสองแบบแรก มีศักยภาพถึงขนาดที่จะบรรลุอรหันต์ เมื่อมาเกิดเป็น “พระเขมาเถรี” ในอนาคตชาติ

ทว่า การไม่ได้เป็นอดีตเทพธิดาที่จุติลงมาบนโลกมนุษย์ กลับกลายเป็นจุดอ่อนสำคัญที่ค่อยๆ ผลักไสตัวละครสตรีรายนี้ออกจากโครงสร้างของเรื่องเล่าในฉบับละครจักรๆ วงศ์ๆ

ใน “จันทร์ สุริยคาธ” การดำรงอยู่ของพรหมจารี ดูจะมีสถานะเป็น “ตัวขัดขวาง” มิให้อดีตเทพบุตร-เทพธิดาอย่างสุริยคาธและสังคเทวีได้ครองรักครองเมืองกันอย่างสมบูรณ์แบบ ตามแรงกำหนดของอดีตชาติ (ตลอดจนแนวคิดสมัยใหม่เรื่อง “ผัวเดียวเมียเดียว”)

ทางออกจึงกลายเป็นว่า ในตอนท้ายของละคร พรหมจารีที่คล้ายจะยอมคืนดีกับสังคเทวีแล้ว กลับถูกกำหนดบทบาทให้เป็นตัวละครที่ยังไม่สามารถสลัดความรู้สึกแค้นเคืองออกจากจิตใจได้อย่างหมดสิ้น

พรหมจารีกลายเป็นมนุษย์เปี่ยมกิเลสตัณหา ผู้เป็นหนึ่งในกลุ่มคนที่ทะเยอทะยาน หวังจะยื้อแย่งแก้วทิพยเนตรมาครอบครอง

สำหรับพรหมจารี แก้ววิเศษจากสวรรค์คือสัญลักษณ์ของการถือครองอำนาจ (ทางการเมือง) เมื่อพระสวามีคนปัจจุบันรักหญิงอื่นมากกว่านาง นางจึงหันไปแสวงหาอำนาจ (ทางการเมือง) แทนที่คนรัก/ความรัก

แต่แก้ววิเศษจากเบื้องบนก็แผลงฤทธิ์ ด้วยการเปล่งแสงพิฆาตพรหมจารีจนถึงแก่ชีวิต ชนิดที่ร่างต้องแหลกระเบิดจนไร้ซาก

ส่วนสุริยคาธผู้เป็นสวามี กลับไม่ได้แสดงบทบาทอาลัยรักหนึ่งในภรรยาของตนเองมากนัก เพราะหลังจากพรหมจารีถูกปลิดชีวิตลงอย่างช็อกอารมณ์คนดู สุริยคาธก็แสดงสีหน้าตกใจอยู่ประมาณ 2 วินาที ก่อนละครจะตัดเข้าสู่ช่วงโฆษณา

เมื่อโฆษณาเบรกนั้นจบลง สุริยคาธ, จันทคาธ, สังคเทวี และลีลาวดี พร้อมมิตรสหาย ก็ปรากฏกายบนจอโทรทัศน์ ท่ามกลางบรรยากาศอันชื่นมื่นบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ซึ่งพวกเขาและเธอกำลังนำแก้วทิพยเนตรไปถวายคืนองค์อินทร์ผู้เพิ่งแย้มสรวลเป็นครั้งแรก (ในขณะที่ละครเรื่องนี้ดำเนินมาถึงตอนที่ 62)

พรหมจารีจึงเป็นหนึ่งในตัวละครมนุษย์ผู้ปรารถนาอำนาจอันน่ารังเกียจและสกปรกโสโครก ที่ต้องถูกขจัดชำระล้างลงให้หมดจดสิ้นซาก

เพื่อทุกอย่างจะได้กลับคืนสู่ระบอบระเบียบดั้งเดิม ตามครรลองที่ถูกกำหนดมาแล้วโดยเทวบัญชาของอำนาจเบื้องบนจากสรวงสวรรค์

“จันทราธิปไตย” และ/หรือ “The Empire Strikes Back”

ปกจันทร์สุริยะคาธ

ปัจจัยสำคัญอันส่งผลต่อการขมวดปมต่างๆ ในตอนอวสานของ “จันทร์ สุริยคาธ” ก็คือ บทบาทของ “พระราหู” และอำนาจของ “แก้วทิพยเนตร” (อำนาจสวรรค์)

“พระราหู” เทวดาผู้มีรูปลักษณ์เป็นยักษ์ มีบทบาทโดดเด่นอยู่ในช่วงต้นของละครจักรๆ วงศ์ๆ เรื่องนี้

เพราะนอกจากพระอินทร์จะบัญชาให้พระรำพัด-พระรำเพย ลงมาป่วนชะตากรรมของสุริยคาธและจันทคาธแล้ว

องค์เทวราชยังบัญชาให้พระราหูออกไปไล่ล่าสองพี่น้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “จันทคาธ” ในคืนพระจันทร์เต็มดวง จนกลายเป็นปรากฏการณ์ “ราหูอมจันทร์”

แต่ยิ่งละครดำเนินเรื่องไป โดยมีตัวละครหลากสีสันมากหน้าหลายตา ทั้งเทวดา รากหญ้า สรรพสัตว์ และมนุษย์ดีๆ เลวๆ เข้ามาร่วมแสดงบทบาทมากบ้างน้อยบ้าง

บทบาทของพระราหูก็ค่อยๆ ถูกกลืนหายไป

สำหรับละครจักรๆ วงศ์ๆ หลายเรื่อง ตัวละครอย่างพระราหู อาจถูกตัดบทบาทให้หายสาบสูญจากละครไปเสียดื้อๆ

ทว่า “นันทนา วีระชน” ผู้เขียนบท (ในนามปากกา “เกล้าเกลศ”) กลับดึงพระราหูให้หวนมามีบทบาทสำคัญ 2 ประการ ในตอนจบของ “จันทร์ สุริยคาธ”

เมื่อสุริยคาธ-จันทคาธ ใช้ต้นยาวิเศษชุบชีวิตวิโยคพสุธา ตามข้อเรียกร้องของนางไม้ ผู้ต้องมนต์เสน่ห์ของยักษ์ ซึ่งจับกุมตัวบรรดาชายาของสองพี่น้องเอาไว้เป็นตัวประกัน เหตุการณ์ก็กลับมาวุ่นวายและไม่มีอะไรดีขึ้น

แก้วทิพยเนตรยังคงอยู่ในนัยน์ตาของวิโยคสพุธา ขณะที่สังคเทวี, ลีลาวดี (และพรหมจารี) ก็ยังถูกควบคุมตัวโดยยักษ์ผู้เพิ่งฟื้นคืนชีพ

สุริยคาธและจันทคาธจึงต้องคิดค้นอุบายพิเศษ ซึ่งใช้ยักษ์ (กึ่งเทพ) มาปราบยักษ์

ทั้งสองรอเวลาที่พระราหูออกมาไล่ล่าจันทคาธในคืนพระจันทร์เต็มดวง แล้วยุให้เทวดาในร่างยักษ์ไปสู้กับวิโยคพสุธา

สุดท้าย อดีตทวารบาลสวรรค์ก็ถูกปราบลงอย่างราบคาบด้วยฤทธิ์เดชของพระราหู ส่วนแก้วทิพยเนตรก็ตกมาอยู่ในมือของอดีตเทพบุตรสองพี่น้อง

เป็นอันว่าพระราหูปฏิบัติภารกิจแรกของตนเองสำเร็จเสร็จสิ้นลงอย่างสมบูรณ์

ณ จุดนี้ ขอพักเรื่องราวภารกิจของพระราหูเอาไว้ก่อน

เพราะหลังจากสุริยคาธ-จันทคาธ ได้แก้ววิเศษคืนมา พวกเขาก็ต้องเผชิญหน้ากับอุปสรรคกลุ่มใหญ่ คือ บรรดา “เพื่อนมนุษย์” ผู้พยายามแก่งแย่งชิงเอาแก้วทิพยเนตรไปเป็นทรัพย์สมบัติหรือสัญลักษณ์แห่งการถือครองอำนาจของตนเอง

“อุปสรรค” กลุ่มนี้ มีทั้งโมหะและทาสา พ่อแม่ขอทานของสองพี่น้อง, สุทัศน์จักร เจ้าชายไร้บัลลังก์จากเมืองที่ถูกเผาทำลายอย่างอนุราชบุรี ซึ่งเป็นคู่แค้นของสุริยคาธ-จันทคาธ และเป็นสวามีเก่าของพรหมจารี, อำมาตย์เทพฤทธิ์และลูกชาย อดีตขุนนางเมืองกาสิกนคร (เมืองของลีลาวดี ชายาจันทคาธ) ซึ่งก่อรัฐประหารหวังยึดครองราชบังลังก์ แต่ก็พลาดหวังซ้ำแล้วซ้ำเล่า

รวมถึงพรหมจารี ชายาอีกคนของสุริยคาธ

สุทัศน์จักร, อำมาตย์เทพฤทธิ์ และบริวารในเครือข่าย ต้องพบจุดจบเช่นเดียวกันกับพรหมจารี ซึ่งถูกแก้วทิพยเนตรเปล่งประกายทำลายชีวิตจนสิ้นซาก

โมหะ-ทาสา สองขอทานผู้ชอบก่นด่า ท้าทาย และทวงบุญคุณจากเทวดาบนสวรรค์ (ในฐานะที่ตนเองเป็นพ่อแม่ของสองเทพบุตร) ต้องประสบกับจุดจบที่แตกต่างจากพรรคพวกไปสักนิด เพราะทั้งคู่ถูกพระอินทร์เปล่งแสงวิเศษฟาดเปรี้ยงลงมาจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ กระทั่งร่างแหลกระเบิด

อย่างไรก็ดี ทั้งหมดล้วนเป็นตัวแทนของมนุษย์ผู้ละโมบโลภมากและปรารถนาไขว่คว้าอำนาจจนเกินตัว พวกเขาและเธอจึงต้องพบพานจุดจบอันน่าอเนจอนาถในท้ายที่สุด

จันทคาธ ตลอดจนสุริยคาธ ไม่สามารถช่วยเหลือ “เพื่อนมนุษย์” กลุ่มนี้ให้หลุดพ้นจากความทุกข์ได้ เพราะนี่คือเรื่องเล่าในแบบจักรๆ วงศ์ๆ ที่ขับเน้นฤทธานุภาพของเทวดา มิใช่เรื่องราวของพระโพธิสัตว์ในชาดก

ตอนอวสานของ “จันทร์ สุริยคาธ” ได้ฉายภาพของอำนาจวิเศษจากสวรรค์ (ไม่ว่าจะในรูปแก้วทิพยเนตรและฤทธิ์เดชขององค์อินทร์) ที่ค่อยๆ ชำระล้างเสี้ยนหนาม หรือปัจจัยแห่งความไร้ระเบียบทั้งหลาย จนตายเรียบ และไม่อาจฟื้นคืนชีวิต (ทั้งๆ ที่ “การฟื้นคืนชีพ” คือหนึ่งในธีมสำคัญ ซึ่งดำรงอยู่มาตั้งแต่ต้นจนเกือบจบของละครจักรๆ วงศ์ๆ เรื่องนี้)

ทั้งนี้ ก็เพื่อฟื้นฟูระบอบ/ระเบียบอำนาจดั้งเดิมให้กลับคืนมาแข็งแกร่งอีกคำรบ

ในกระบวนการฟื้นฟูระบอบ/ระเบียบอำนาจดังกล่าว เทวดาเกเรก็กลับกลายมาเป็นเทวดาฝ่ายดีคอยช่วยเหลือพระเอก (หางที่งอกจากตูดจึงหดหายไป พร้อมๆ กับอิทธิฤทธิ์ที่หวนกลับคืนมา) นางไม้ที่หลุดพ้นจากมนต์ครอบงำของยักษ์ตัวร้ายก็กลับคืนเข้าไปสิงสถิตในที่ที่ตนควรอยู่ คือ ต้นไม้ใหญ่

ด้านเทพบุตร-เทพธิดา ที่จุติลงมายังโลกมนุษย์ ก็สามารถนำแก้ววิเศษไปคืนสรวงสวรรค์ได้สำเร็จ หลังจากนั้น ทั้งหมดจึงได้ครองเมือง ครองรัก มีลูก กันอย่างเปี่ยมสุข

ส่วนองค์เทวราชก็ทรงแย้มสรวลเป็นครั้งแรก เมื่อได้รับแก้วทิพยเนตรกลับคืนและสามารถมองเห็นความเป็นไปในสามโลกอีกครั้ง (แต่รอยยิ้มของพระอินทร์ก็เกิดขึ้นพร้อมกับสภาวะที่เสียงหัวร่อท้าทายอำนาจของพระองค์ได้ถูกหรี่ระดับความดังจนเงียบหงอยลงไป)

ดังนั้น โครงสร้างอำนาจแบบเดิมๆ ในโลกของจันทคาธและสุริยคาธ จึงกลับมาทำงานเป็นปกติ เมื่อสรรพชีวิตที่เหลือรอด ต่างปฏิบัติ “หน้าที่” ของตนเองอย่างมีวินัย ในฐานะกลไกส่วนหนึ่งของโครงสร้างอำนาจทั้งระบบ

ดังที่ สุริยคาธและจันทคาธ พูดย้ำถึงคำว่า “หน้าที่” อยู่หลายรอบมากในตอนอวสานของละคร กระทั่งทั้งคู่ไม่ลังเลที่จะปล่อยให้พ่อแม่ของตนเองถึงแก่ชีวิต เพราะความตายดังกล่าวได้ช่วยให้สองพี่น้องสามารถปฏิบัติ “หน้าที่” ของตนเอง คือ การนำแก้วทิพยเนตรไปถวายคืนสวรรค์ อย่างสำเร็จลุล่วง

เมื่อ “the empire strikes back” อย่างเป็นระบบเช่นนี้ “โครงสร้าง-การหน้าที่” ซึ่งช่วยค้ำจุนระบอบ/ระเบียบอำนาจแบบเก่า ก็คล้ายจะยิ่งมั่นคงขึ้นเป็นทวีคูณ

อย่างไรก็ตาม น่าตั้งคำถามว่า “โครงสร้าง-การหน้าที่” ของสังคมใดๆ ก็ตาม จะ “แน่นิ่ง-คงเดิม” ได้ขนาดนั้นเชียวหรือ?

ภารกิจประการที่สองของพระราหูในตอนจบของ “จันทร์ สุริยคาธ” อาจให้คำตอบต่อคำถามข้อนี้ได้

ในฉากอวสาน ผู้เขียนบทและผู้กำกับละครจักรๆ วงศ์ๆ เรื่องนี้ ได้ทิ้งเงื่อนปมให้คนดูนำกลับไปขบคิดอย่างน่าสนใจ

นั่นคือ แม้สุริยคาธ-จันทคาธ จะนำแก้ววิเศษไปคืนสวรรค์ และได้ครองเมืองเป็นกษัตริย์แล้ว ทว่าพระราหูกลับยังคงปฏิบัติหน้าที่ดั้งเดิมของตนเองโดยไม่ยอมหยุดหย่อน ภารกิจที่ว่า ก็ได้แก่ การไล่อมจันทคาธในคืนพระจันทร์เต็มดวง

ด้านหนึ่ง ภารกิจประการนี้ของพระราหู อาจช่วยตอกย้ำอย่างหนักแน่นว่า สรรพสิ่งล้วนต่างต้องปฏิบัติหน้าที่ของตนเองไปเรื่อยๆ ในโครงสร้างความสัมพันธ์ทางอำนาจแบบเดิมๆ อันปราศจากพลวัตความเปลี่ยนแปลงใดๆ

แต่อีกด้านหนึ่ง พฤติการณ์ของพระราหูก็ถูกกำหนดโดยวิถีวงโคจรของดวงจันทร์ ที่ย่อมมีทั้งวันพระจันทร์เต็มดวง และวันเดือนมืด

โดยนัยยะเช่นนี้ ความสัมพันธ์ทางอำนาจในจักรวาลวิทยาของจันทคาธและสุริยคาธ จึงอาจมีทั้งวันแห่งการเฉลิมฉลองและการเปล่งเสียงหัวเราะ (เยาะอำนาจ) ของรากหญ้าสามัญชน

และวันที่ความเคร่งเครียดของอาชญาสิทธิ์สวรรค์ (ซึ่งอาจปรากฏผ่านรอยยิ้มแห่งชัยชนะของผู้ถือครองอำนาจ) จะคืบคลานเข้ามาปกคลุมโลก

บทสรุปของละครจักรๆ วงศ์ๆ “จันทร์ สุริยคาธ” จึงไม่แปลกใหม่ เพราะคนดูยังคงได้ยินเสียงแห่งอำนาจอันเงียบสงัดอย่างกระจ่างชัด เป็นเสียงเงียบอันสะท้อนความหวาดกลัวของผู้คน ที่ดังกระทบโสตประสาทของพวกเขาและเธอมาเที่ยวแล้วเที่ยวเล่า ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน (เข้าทำนอง “โปรดฟังอีกครั้งหนึ่ง”)

อย่างไรก็ดี ทิวทัศน์รายทางของละครเรื่องนี้ได้ช่วยเปิดเปลือยให้คนดูมองเห็นกระบวนการต่อต้านอำนาจนำ รวมทั้งวิถีที่อำนาจนำจะตั้งหลัก แล้วซัด/ครอบงำกระบวนการต่อต้านเหล่านั้นกลับอย่างหมดจด

แต่เมื่อวงโคจรของดวงจันทร์มิได้เปิดเผยแต่เพียงรอยยิ้มแห่งชัยชนะขององค์เทวราชบนสวรรค์ สองหญ้าแสบอย่าง “หญ้าเขียวขจี” และ “หญ้าแดงรวี” จึงอาจหวนกลับมาเปล่งเสียงหัวเราะเยาะใส่ผู้มีอำนาจที่ใช้อำนาจในทางที่ผิด ไม่วันใดก็วันหนึ่ง

บทบาทของสองหญ้าแสบอาจรางเลือนไป เมื่อละคร “จันทร์ สุริยคาธ” พลิกผันโครงเรื่องเข้าสู่จารีต “เทวดาปราบยักษ์”

ทว่ารากหญ้าเหล่านี้ยังไม่ตาย พวกเขา/เธอเพียงแค่เร้นกายอยู่ท่ามกลางคืนเดือนมืดเท่านั้นเอง

2 Comments

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.