โลกของจันทคาธและสุริยคาธ (2)

เทวดามีหาง, รากหญ้ามีฤทธิ์

ไม่ใช่แค่ “โมหะ” และ “ทาสา” พ่อแม่ขอทานของสุริยคาธ-จันทคาธ เท่านั้น ที่ฉายภาพระบบระเบียบของความสัมพันธ์ทางอำนาจอันกลับหัวกลับหางจนอลหม่านวุ่นวายออกมาได้อย่างน่าสนใจ

หากยังมีตัวละครอีกกลุ่มหนึ่งใน “จันทร์ สุริยคาธ” ที่ฉายภาพปรากฏการณ์พลิกฟ้าคว่ำแผ่นดินออกมาได้อย่างน่าประทับใจเช่นกัน

ตัวละครกลุ่มนี้ก็คือ สองเทวดา “พระรำพัด” และ “พระรำเพย” กับสองรากหญ้า “เขียวขจี” และ “แดงรวี”

ในช่วงเกือบ 10 ตอนแรก ละครจักรๆ วงศ์ๆ “จันทร์ สุริยคาธ” คล้ายจะเดินตามรอยที่ปัญญาสชาดกและนิทานวัดเกาะปูทางเอาไว้อย่างเที่ยงตรง

ขณะที่เรื่องเล่าสองรูปแบบซึ่งมาก่อนหน้า กำหนดให้ “พระอินทร์” และ “พระวิษณุกรรม” เป็นสองเทวดาที่ลงมาช่วยเหลือสุริยคาธ-จันทคาธ ผ่านอุบายการแปลงกายเป็นงูเห่ากับพังพอน ซึ่งต่อสู้กันจนตัวตาย แต่สามารถฟื้นคืนชีพได้ด้วยต้นยา/หญ้าวิเศษ

สองพี่น้องจึงนำต้นยาวิเศษดังกล่าวตระเวนไปใช้ช่วยเหลือสรรพสัตว์บนโลกมนุษย์ เป็นการสั่งสมบุญญาบารมี

ในเรื่องเล่าร่วมสมัยที่เผยแพร่ทางโทรทัศน์ “พระอินทร์” ถูกยกฐานะจากการเป็น “ผู้ช่วยเหลือ” ขึ้นไปสู่การเป็นผู้ควบคุมบงการชะตากรรมของสุริยคาธและจันทคาธ

ความโกรธแค้นที่อดีตสองเทพบุตรทำแก้วทิพยเนตรตกหายจากสวรรค์ จนองค์เทวราชมองไม่เห็นความเป็นไปในสามโลก ก็ยิ่งส่งผลให้อาญาสิทธิ์ซึ่งพระองค์บังคับใช้กับสองพี่น้อง กอปรขึ้นมาจากความชิงชัง ตึงเครียด มิใช่ความเมตตา ปรานี รอยยิ้ม และอารมณ์ขัน

การเลื่อนสถานะของพระอินทร์ ทำให้ตัวละครเทวดาสององค์ที่แปลงกายมาเป็นพังพอนและงูเห่าซึ่งฟื้นคืนชีพได้ด้วยหญ้าวิเศษ ถูกดัดแปลงเป็น “พระวิษณุกรรม” กับ “พระรำพึง”

นั่นถือเป็นเพียงความเปลี่ยนแปลงในรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ

เพราะละคร “จันทร์ สุริยคาธ” มาเดินออกนอกลู่ทางเดิม (อย่างน่าตื่นตาตื่นใจ) จริงๆ ก็เมื่อมีการปรับเรื่องราวให้พระอินทร์ทรงพิโรธที่พระวิษณุกรรมและพระรำพึงคอยหมั่นช่วยเหลือสุริยคาธ-จันทคาธ ซึ่งสำหรับพระองค์ ถือเป็นการกระทำอันโอหัง จึงสาปส่งสองเทวดาให้ไปเกิดเป็นลา

สองเทวดาคู่ใหม่ซึ่งมาทำหน้าที่จับตา กลั่นแกล้ง และผลักดัน (ผ่านการลงทัณฑ์ทรมานต่างๆ นานา) ให้สองพี่น้องเร่งตามหาแก้ววิเศษ ก็คือ “พระรำพัด” กับ “พระรำเพย” (รับบทโดย ดอน จมูกบาน และ ธรรมศักดิ์ สุริยน)

ปัญหามีอยู่ว่าสองเทวดาคู่หลัง คล้ายจะตีความภารกิจของตนเอง ซึ่งรับบัญชามาจากพระอินทร์ ผิดพลาด ทำให้เรื่องราวต่างๆ เถลไถลเลยเถิดหนักขึ้นไปอีก

ตามโครงเรื่องของละครนั้น องค์เทวราชารู้สึกโมโหที่ยังไม่ได้แก้วทิพยเนตรคืนกลับมา จนพระองค์มิสามารถปฏิบัติหน้าที่ตามโครงสร้างอำนาจซึ่งดำรงอยู่ได้ จึงต้องการให้สองอดีตเทพบุตรรีบตามหาแก้ววิเศษโดยเร่งด่วน

แต่ไปๆ มาๆ การกลั่นแกล้งสุริยคาธ-จันทคาธ โดยพระรำพัด-พระรำเพย ได้กลับกลายเป็นอุปสรรคกีดขวางภารกิจตามหาแก้ว มากกว่าจะเป็นตัวเร่งที่ช่วยให้ภารกิจดังกล่าวประสบความสำเร็จโดยรวดเร็ว

สองเทวดาดลบันดาลให้เรื่องราวบนโลกมนุษย์วุ่นวายไปหมด กระทั่งพี่พลัดพรากน้อง ผัวผิดใจเมีย ต่างเมืองรบราฆ่าฟันกัน ผู้คนก็บาดเจ็บล้มตาย

นอกจากนั้น พระรำพัด-พระรำเพย ยังไปทาบทามเทวดาจิ๋วอีกสององค์บนสรวงสวรรค์ ให้ลงมาประกบติดและคอยป่วนสุริยคาธ-จันทคาธ ในฐานะ “เงาที่สอง”

การที่สองเทวดาใช้อำนาจแทรกแซงทำให้มนุษย์มีสองเงา ย่อมถือเป็นความพยายามในการฝ่าฝืนธรรมชาติอย่างไม่ต้องสงสัย

อย่างไรก็ดี สุริยคาธ-จันทคาธ ในละคร ก็มีผู้ช่วยของตนเองเช่นกัน ผู้ช่วยของพวกเขาไม่เคยปรากฏตัวมาก่อนในชาดกหรือนิทานวัดเกาะ แต่น่าจะถูกสรรค์สร้างขยายความเพิ่มเติมจากการดำรงอยู่ของต้นยาวิเศษในเรื่องเล่าสองชนิดแรก

ผู้ช่วยเหล่านี้เป็นตัวละครที่ถูกสร้างขึ้นมาจากเทคนิคคอมพิวเตอร์ กราฟิก (ซีจี) ซึ่งไม่ได้ประณีตละเอียดลออมากนัก ทว่า ก็ไม่แปลกแยกจากโครงสร้างโดยรวมของละคร

ตัวละครซีจีที่ว่า ไม่ใช่สัตว์ ยักษ์ อสูร แต่เป็น “หญ้า” หรือ “รากหญ้า” ซึ่งโผล่ขึ้นมาจากใต้ดิน ชื่อ “หญ้าเขียวขจี” และ “หญ้าแดงรวี”

หญ้าเขียว-หญ้าแดง ไม่ได้เป็นแค่ผู้ช่วยพระเอก ยามเมื่อประสบกับภาวะคับขันตกอยู่ในอันตราย แต่ยังมีสถานะเป็น “สองหญ้าแสบ” ที่รับบทบาทเป็นกันชนคอยปะทะตัดเกม และคอยเป็นคู่ปรับตัวฉกาจของพระรำพัด-พระรำเพย ผู้แสวงหาช่องทางรังแกสุริยคาธและจันทคาธอยู่ทุกเมื่อ

หน้าที่หลักของหญ้าเขียวขจีและหญ้าแดงรวี ซึ่งเป็นรากหญ้ามีฤทธิ์ เนื่องจากบำเพ็ญเพียรอยู่ใต้ดินมาเป็นเวลานาน จึงได้แก่ การด่าว่ากระแหนะกระแหนและเนรมิตตนเองเป็นกำแพงขวางกั้นการเดินทางไปป่วนผู้คนของสองเทวดา การแปลงร่างเป็นหญิงสาวมาล่อลวงพระรำพัด-พระรำเพยให้เกิดกิเลสตัณหา รวมถึงการขึ้นไปบนสวรรค์ เพื่อปล่อยข่าวลือเสียหายเกี่ยวกับเทวดาทั้งคู่

ยิ่งเมื่อเทวดาทั้งสององค์ พยายามขัดขวางกลั่นแกล้งสุริยคาธ-จันทคาธ ทุกวิถีทาง กระทั่งพวกตนถลำลึก ไม่รู้ถูกรู้ผิด พระรำพัด-พระรำเพย ก็ยิ่งต้องพบกับจุดตกต่ำสุดของการเป็นเทพ เมื่อหญ้าเขียว-หญ้าแดง สาปให้สองเทวดามีหางงอกออกมาจากตูด

ยิ่งทำเรื่องผิดมากขึ้นเท่าใด หางของเทวดาคู่หูก็จะยิ่งยาวมากขึ้นเท่านั้น

การปะทะกันระหว่าง “เทวดา” กับ “รากหญ้า” กลายเป็น “ช่วงด้นสดสำคัญ” ในละครเรื่อง “จันทร์ สุริยคาธ”

โดยปกติแล้ว ละครจักรๆ วงศ์ๆ ทุกเรื่อง จะมีช่วงด้นสดประจำเรื่อง ซึ่งเริ่มจากการก่อตัวของพล็อตย่อยๆ ก่อนจะขยายกลายเป็นภาวะต่อเนื่องของการปล่อยมุข เพิ่มตอน และออกทะเลได้บ้างตามสมควร (หรือบางกรณี ก็ออกไปไกลสุดกู่ จนไม่เกี่ยวข้องกับเส้นเรื่องหลัก)

ถ้าการด้นสดครั้งไหนแป้ก ช่วงเวลาของการด้นก็ดำเนินไปได้ไม่นาน แต่หากการด้นสดคราวไหนเวิร์ก ช่วงเวลาแห่งการด้นก็จะถูกพัฒนาให้ครอบคลุมละครเป็นจำนวนหลายสิบตอน กระทั่งกลายเป็นอีกหนึ่งพล็อตหลักของละครเรื่องนั้นในท้ายที่สุด

ดูเหมือนว่า การด้นสดผ่านมุข “เทวดา” ทะเลาะกับ “รากหญ้า” ใน “จันทร์ สุริยคาธ” จะเวิร์กอยู่ไม่น้อย และดีไม่ดี นี่อาจเป็น “การด้นสด” ที่ดี (ไม่หลุดลอยจากเส้นเรื่องหลัก) และสนุกสนานมากๆ ครั้งหนึ่ง ของละครจักรๆ วงศ์ๆ ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา

แถมยังอาจแสดงนัยยะอันฉายภาพให้เห็นถึงสภาวะความขัดแย้งนอกจอโทรทัศน์ได้อย่างกระจ่างชัดอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม พระรำพัด-พระรำเพย ไม่ได้ถูกดิสเครดิตและทำลายโดยฤทธิ์เดชของศัตรูคู่กัด คือ รากหญ้าเขียว-แดง เพียงเท่านั้น

เพราะถึงที่สุดแล้ว สองเทวดาที่ลงมาจากสวรรค์เพื่อปฏิบัติภารกิจบนโลกมนุษย์ ก็ค่อยๆ บ่อนเซาะตนเองไปสู่ความเสื่อม เมื่อทั้งคู่ต้องปรับประสานต่อรองเข้ากับสภาพแวดล้อมดีบ้างเลวบ้าง และกิเลสตัณหาอันสลับซับซ้อน เฉกเช่นที่มนุษย์โลกทั่วไปต้องเผชิญ

นานเข้า พระรำพัด-พระรำเพย จึงมิได้มีเพียงหางโผล่ออกมาจากตูด ทว่า พอไปดื่มเหล้ากับกลุ่มคนพาล คู่อริของสุริยคาธ-จันทคาธ จนเมาหยำเป แก้วทิพยเนตรที่ได้มาครอบครองโดยลักเขามาอีกทีก็หลุดมือไป แม้แต่มงกุฎและเครื่องทรงเทวดาก็ยังถูกลอบขโมย (โดยโมหะและทาสา)

พอเริ่มเป็นมนุษย์ที่เต็มไปด้วยกิเลส ตัณหา และราคะมากขึ้น เทวดาที่เคยเรืองฤทธิ์ ก็ถึงคราเหาะไม่ได้ หายตัวไม่เป็น

แต่จนเกือบค่อนเรื่อง เทวดาทั้งสองก็ยังเชื่อว่า ความถลำลึกเช่นนั้น คือ หน้าที่ที่พวกตนพึงปฏิบัติ

ดังที่ครั้งหนึ่ง พระรำเพยเคยเอ่ยถามคู่หูดูโอของตนว่า การที่เทวดาอย่างพวกเราพยายามหาทางรังแกมนุษย์ โดยไม่คำนึงถึงวิธีการว่ามันจะชั่วช้าแค่ไหนนั้น จะไม่กลายเป็นตัวอย่างไม่ดีให้แก่เด็กๆ ที่กำลังนั่งดูทีวีกันอยู่หรอกหรือ?

พระรำพัดตอบแบบฟันธงว่า พอโตขึ้น เด็กพวกนั้นก็จะไม่ดูละครประเภทนี้กันแล้ว และจะลืมเลือนการกระทำของพวกเราไปจนหมดสิ้น ดังนั้น สิ่งที่เทวดาอย่างพวกเราควรจะทำ จึงเป็นการทำหน้าที่ซึ่งได้รับมอบหมายมาจากองค์อินทร์ต่างหาก

สองเทวดาที่มีหางจึงกลายเป็นตัวตลก ซึ่งค่อยๆ หมดสิ้นความน่าเคารพน่ายำเกรงลงไปเรื่อยๆ ท่ามกลางเสียงหัวเราะชอบใจของสองรากหญ้าผู้มีฤทธิ์

จุดตัดของเส้นเรื่องสองแบบ

สุริยคาธปีนต้นไม้

ปรากฏการณ์ the world turned upside down ที่ฉายภาพผ่านตัวละคร “โมหะ-ทาสา” สองขอทานซึ่งสร้างความปั่นป่วนให้กับทั้งสมมุติเทพบนโลกมนุษย์ และเทวราชาบนสรวงสวรรค์ และ “พระรำพัด-พระรำเพย” เทวดาผู้ถูกหัวเราะเยาะเย้ยโดยสองหญ้าแสบ “เขียวขจี-แดงรวี”

ได้ดำเนินคู่ขนานไปกับการดำรงอยู่ของเส้นเรื่องสองชนิด ดังที่เคยเกริ่นถึงไว้คร่าวๆ แล้วในตอนที่ 2 ของบทความชุดนี้ นั่นก็คือ เส้นเรื่อง “แนวดิ่ง” และ “แนวระนาบ”

อันนำไปสู่จุดตัดของแนวคิดที่แตกต่างกันว่าด้วย “เวลา” 2 ชนิด และ “พื้นที่” 2 แบบ

สุริยคาธและจันทคาธ มีชะตากรรมไม่ต่างจากพระรำพัด-พระรำเพย กล่าวคือ เป็นอดีตเทพบุตรหรือเทวดา ผู้ถูกสาป/ส่งให้ลงมาปฏิบัติภารกิจพิเศษบนโลกมนุษย์

ในกรณีนี้ ก็ได้แก่ ภารกิจตามหาแก้วทิพยเนตรไปถวายคืนพระอินทร์

เมื่อละคร “จันทร์ สุริยคาธ” เปิดเรื่องมาด้วยเทวบัญชาดังกล่าวแล้ว อย่างไรเสีย พระเอกสองพี่น้องก็จำเป็นต้องตามหาแก้ววิเศษ แล้วนำไปถวายแด่องค์เทวราชาในท้ายที่สุด

โดยที่ตอนจบจะเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้

พิจารณาในแง่นี้ ชะตากรรมของสุริยคาธ-จันทคาธ จึงถูกกำหนดมาหมดแล้วจากอำนาจของสวรรค์เบื้องบน ไม่ต่างอะไรกับการเป็นลูกแกะซึ่งโดนไล่ล่าโดยหมาป่า

ไม่ว่าลูกแกะจะพยายามกล่าวอ้างถึงสาเหตุที่ตนเองไม่สมควรจะถูกไล่ล่าเป็นอาหารอย่างสมเหตุสมผลสักเพียงไหน

อย่างไรเสีย หมาป่าก็ยังตัดสินใจขย้ำกินลูกแกะอยู่วันยังค่ำ

ตรรกะแบบ “หมาป่าไล่ล่าลูกแกะ” ก็ไม่ต่างอะไรกับการอธิบายว่าชีวิตในปัจจุบัน ซึ่งถูกกระทำอย่างไม่เป็นธรรมโดยโครงสร้างทางอำนาจอันไม่เท่าเทียมนั้น เป็นผลลัพธ์มาจากการทำกรรมเลวมาแต่ชาติปางก่อน

นี่คือลักษณะของเส้นเรื่อง “แนวดิ่ง” ที่แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์เชิงพื้นที่ในแบบ “บนลงล่าง” รวมทั้งมิติของเวลาอันปราศจากพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เนื่องจากความเชื่อที่ว่าทุกอย่างล้วนถูกกำหนดมาหมดแล้วจาก “อำนาจเบื้องบน” ซึ่งดำรงอยู่สูงส่งพ้นจากการต่อต้านท้าทายโดยพลังและศักยภาพในการเปลี่ยนแปลงโลกของมนุษย์เดินดินปกติธรรมดา

ทว่า เมื่อลงมาใช้ชีวิตแบบโลกย์ๆ บนเมืองมนุษย์ ชะตาชีวิตของอดีตเทพบุตร/เทวดา ก็ยุ่งเหยิงมากยิ่งขึ้น เพราะพวกเขาต้องเผชิญหน้ากับผู้คนและเรื่องราวต่างๆ นานา ตามเส้นเรื่องแนว “ระนาบ”

ลักษณะเด่นประการหนึ่ง (ซึ่งอิงมาจากเรื่องเล่าฉบับชาดก) ที่ส่งผลให้ “จันทร์ สุริยคาธ” ผิดแผกไปจากละครจักรๆ วงศ์ๆ โดยทั่วไป ก็คือ การเล่าถึงความสัมพันธ์ระหว่างเมืองที่สลับซับซ้อนพอสมควร

ไม่ใช่ความสัมพันธ์ระหว่างบ้านเมืองของพระเอก บ้านเมืองของนางเอก และเมืองยักษ์ ที่แฟนละครจักรๆ วงศ์ๆ คุ้นเคย

หากเป็นความสัมพันธ์ระหว่างเมืองขอทาน ภูมิลำเนาของโมหะ-ทาสา เมืองอินทปัถบุรี ที่สุริยคาธไปเป็นเขย เมืองกาสิกนคร ที่จันทคาธไปเป็นเขย เมืองอนุราชบุรี ของสุทัศน์จักร ตัวร้ายประจำเรื่อง และเมืองไชยะบุรี ของพรหมจารี ชายาอีกคนของสุริยคาธ (ขณะที่ในชาดก-นิทานวัดเกาะ กำหนดให้เป็นชายาของจันทคาธ)

นอกจากนั้น สุริยคาธ-จันทคาธ ในวัยเยาว์ ยังหนีพ่อแม่ที่โหดร้ายทารุณ และครอบครัวของอำมาตย์แห่งเมืองกาสิกนครที่คอยรังแก ไปเติบโตบนเรือสินค้าในมหาสมุทร

ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นถึงการเดินทางของมนุษย์หลายคนหลากกลุ่ม ตลอดจนสายสัมพันธ์แบบมิตร/ศัตรู อันดำเนินผ่านการศึก, ความรัก และการค้าขาย ที่แผ่ขยายออกไปเรื่อยๆ ตามพื้นที่ในเชิงระนาบ

เช่นเดียวกับมิติของเวลาบนเส้นระนาบ ที่เป็นแรงผลักดันให้มนุษย์จากอดีตและปัจจุบัน พยายามก้าวเดินไปสู่พัฒนาการซึ่งขยับเคลื่อนคืบหน้าไปกว่าเดิมในอนาคต (หรืออาจรวมถึงภาวะถอยหลังในบางกรณี)

ดังนั้น เทวบัญชาจากสวรรค์เบื้องบนจึงอาจมิใช่ปัจจัยหลักประการเดียว ที่ผลักดันให้สองพี่น้องตามหาแก้วทิพยเนตร

แต่อีกหนึ่งแรงผลักดันสำคัญ ก็คือ การที่พวกเขาทั้งคู่ต้องพยายามแข่งขันแย่งชิงกับมนุษย์กลุ่มอื่นๆ ซึ่งมุ่งมาดปรารถนาในแก้ววิเศษเช่นกัน และท้ายที่สุด ย่อมมีผู้เหมาะสมเพียงกลุ่มเดียวเท่านั้นที่จะได้แก้วไปครอบครอง

อย่างไรก็ตาม เส้นเรื่องทั้งสองแบบนี้ไม่ได้ดำรงอยู่อย่างแยกขาดจากกัน ทว่า มีปฏิสัมพันธ์กัน กระทั่งนำไปสู่จุดตัดแห่งความยอกย้อนหรือขัดแย้ง

เช่น ชีวิตดีๆ ชั่วๆ ของสองขอทาน โมหะ-ทาสา ก็ไม่ได้เดินทางไปป่วนบ้านเมืองต่างๆ บนโลกมนุษย์เท่านั้น แต่ยังสามารถขึ้นไปสร้างเรื่องวุ่นวายถึงบนสวรรค์

พระรำพัด-พระรำเพย ก็อาจมิได้เป็นเพียงตัวแทนของ “อำนาจเบื้องบน” หากยังเป็นภาพแทนแห่งความถดถอยของชีวิตทางโลกย์ เมื่อเทวดาค่อยๆ กลายพันธุ์มาเป็นมนุษย์ แถมยังมีหางอีกต่างหาก

สุริยคาธและจันทคาธเอง ก็มีปมขัดแย้งกันลึกๆ อันเนื่องมาจากจุดตัดของเส้นเรื่องสองชนิดดังกล่าว

ในช่วงท้ายของละคร สองพี่น้องระลึกชาติได้ว่า พวกตนเป็นอดีตเทพบุตรบนสวรรค์ที่เคยประพฤติผิด จึงต้องลงมาเกิดเป็นมนุษย์ผู้ทุกข์เข็ญ ทั้งยังต้องปฏิบัติภารกิจตามหาของวิเศษไปคืนพระอินทร์

แต่พี่น้องคู่นี้กลับมีปฏิกิริยาต่อชาติภพก่อนอย่างผิดแผกจากกัน

สุริยคาธยังคงผูกพันกับโลกมนุษย์ในชาติปัจจุบัน และดูเหมือนจะมีความเป็นพระโพธิสัตว์ยิ่งกว่าจันทคาธ (แตกต่างจากในชาดก-นิทานวัดเกาะ ซึ่งจันทคาธผู้น้อง คือ พระโพธิสัตว์) เพราะเขาต้องการช่วยเหลือพ่อแม่ให้หลุดพ้นจากความทุกข์ของการเป็น “บัวใต้น้ำ” ด้วยความเชื่อที่ว่าสักวันหนึ่งบุพการีจะสามารถเปลี่ยนแปลงกลายเป็นคนดีได้

ถ้าให้เลือกระหว่างการนำแก้ววิเศษไปคืนสวรรค์กับการตอบแทนคุณพ่อแม่ สุริยคาธจะเลือกอย่างหลังก่อน จนส่งผลให้ภารกิจแรกเกิดความล่าช้าไปไม่น้อย

ตรงข้ามกับจันทคาธ ที่เจ็บจำฝังใจกับความทุกข์ทรมานในวัยเด็กอันเกิดจากความโหดร้ายของพ่อแม่ เขาเชื่อว่าอย่างไรเสีย บิดามารดาก็ไม่อาจกลับกลายเป็นคนดี อีกทั้งสามารถลอบทำร้ายตนเองและพี่ชายได้ทุกเมื่อ เพราะมุ่งหวังจะแย่งชิงของวิเศษ

ความปรารถนาสำคัญของจันทคาธจึงมิใช่การช่วยเหลือ “เพื่อนมนุษย์” อย่างพ่อแม่ขอทานให้หลุดพ้นจากห้วงทุกข์

แต่คือการเร่งตามหาแก้ววิเศษไปคืนองค์เทวราช เพื่อตนเองจะได้กลับไปเสวยสุขบนสรวงสวรรค์ หรือใช้ชีวิตครองเมืองกับคนรักในวงศ์กษัตริย์อย่างราบรื่น โดยไม่ต้องถูกรังแกจากอำนาจเบื้องบนอีก

แต่เมื่อลงมาเกิดและใช้ชีวิตแบบโลกย์ๆ สุริยคาธ-จันทคาธ ก็หนีไม่พ้นไปจากความสัมพันธ์แนวระนาบบนโลกมนุษย์

จันทคาธเอง เมื่อทราบว่าเมืองของคนรักกำลังถูกศัตรูบุกยึด ขณะที่ตนเองกำลังเดินทางเพื่อนำแก้วทิพยเนตรไปถวายคืนองค์อินทร์ ก็ยังตัดสินใจเปลี่ยนจุดหมายปลายทางอย่างฉับพลัน โดยหันไปช่วยคนรักก่อนเป็นลำดับแรก

ย้อนไปก่อนหน้านั้น ในช่วงที่ภารกิจตามหาแก้ววิเศษยังไม่ประสบความสำเร็จ จันทคาธผู้อยากกลับสวรรค์เต็มแก่ ก็เฝ้าเอาแต่พูดจาพร่ำเพ้อหวนคำนึงถึงอดีตชาติซึ่งตนเองเคยเสวยสุขในฐานะเทพบุตร

กระทั่งอีกหนึ่งผู้ช่วยรายสำคัญของสองพี่น้อง ที่เป็นยักษ์ป่าชื่อ “ยักษา” ต้องเอ่ยปากตักเตือนอดีตเทพบุตรว่า ก่อนจะคิดกลับไปใช้ชีวิต “ข้างบน” นั้น ท่านควรจะ “มุ่งหน้า” ไปค้นหาแก้ววิเศษให้พบก่อนจะดีหรือไม่

จุดตัด จุดปะทะของเส้นเรื่อง, พื้นที่ และเวลา สองแบบนี่เอง ที่มีส่วนสานสร้างเงื่อนปมภายในจิตใจของตัวละครนำใน “จันทร์ สุริยคาธ” ให้มีความซับซ้อนยิ่งขึ้นอย่างน่าสนใจ

เรือนร่างอปกติในโลกใต้ดิน

ในแง่พื้นที่ โลกของจันทคาธและสุริยคาธ มิได้มีเพียงพื้นที่ “บน” สรวงสวรรค์ และพื้นที่ “ข้างล่าง” ณ โลกมนุษย์ ซึ่งภาวะผสมปนเปของความดีกับความชั่ว ตลอดจนอารมณ์ความรู้สึก รัก โลภ โกรธ หลง ได้ผลักดันให้ชีวิตของมนุษย์และสรรพสัตว์อื่นๆ เคลื่อนไหวไปในแนว “ระนาบ” ไม่ว่าจะก้าวหน้าหรือถอยหลังก็ตามที

หากยังมีพื้นที่แบบที่สาม นั่นก็คือ พื้นที่ใน “โลกใต้ดิน”

หลายคนอาจเคยรู้สึกเคลิบเคลิ้มกับวลี “มองป่าทั้งป่า” ที่เหมือนจะเป็นคมคิดอันเฉียบแหลม

แต่ในความเป็นจริงแล้ว จะมีใครบ้างที่สามารถมองเห็นป่าทั้งป่าได้? สิ่งมีชีวิตชนิดใดก็ตามจะสามารถมองเห็นป่าทั้งป่าได้อย่างไร?

(แม้แต่สิ่งประดิษฐ์ทางเทคโนโลยีระดับสูง ไล่ไปตั้งแต่ “เครื่องบิน” จนกระทั่งถึง “โดรน” ก็ใช่ว่าจะสามารถใช้สอดส่องรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ในผืนป่าหนึ่งๆ ได้อย่างครบถ้วน 100 เปอร์เซ็นต์)

สัตว์ที่บินได้อย่าง “นก” ก็คงไม่สามารถมองเห็นป่าได้ทั้งป่า จะเห็นชัดๆ ก็เพียงแค่ยอดไม้ และแน่นอนว่าคงไม่สามารถมองเห็นความเคลื่อนไหวของสิ่งมีชีวิตที่หลบเร้นอยู่ใต้ดิน

มนุษย์ผู้สร้างสรรค์วลีคมๆ ดังกล่าวเอง ก็อาจมีความมุ่งมาดปรารถนาที่จะมองเห็นและควบคุม “ภาพรวม” ของปรากฏการณ์ต่างๆ ได้อย่างสมบูรณ์

ทว่า ในฐานะของสิ่งมีชีวิตเล็กๆ บนโลกใบใหญ่อันสลับซับซ้อน คงไม่มีมนุษย์/ปัจเจกบุคคลคนไหนสามารถมองเห็นและเข้าใจ “รายละเอียดยิบย่อย” จำนวนมากมายมหาศาล ที่จะกอปรขึ้นเป็น “ภาพรวม” ของปรากฏการณ์หนึ่งๆ ได้อย่างหมดจด

ต่อให้มนุษย์ผู้นั้นเหาะขึ้นไปบนฟ้า แล้วแลตาลงมายังโลกด้วยมุมมองแบบนกหรือพระเจ้าก็ตาม

พระอินทร์หรือเทวดาองค์อื่นๆ ใน “จันทร์ สุริยคาธ” เอง ก็มีข้อจำกัดตรงจุดนี้ (ยังไม่นับตอนที่แก้วทิพยเนตรสูญหายไปจากการครอบครองขององค์เทวราช ส่งผลให้ฤทธานุภาพในการมองเห็นสถานการณ์ในสามโลกของพระองค์เสื่อมสลายไป)

และไม่สามารถควบคุมดุลย์อำนาจในพื้นที่ป่า ตลอดจนโลกใต้ดิน ได้สมบูรณ์เต็มที่

จนบังเกิดสถานการณ์ที่วัชพืชศักดิ์ต้อยต่ำ แต่บำเพ็ญเพียรใต้ดินมาเป็นเวลายาวนาน กระทั่งกลายเป็นรากหญ้ามีฤทธิ์ อย่าง “หญ้าเขียวขจี-แดงรวี” สามารถ “ตั๊น” และสั่งสอนเทวดาเกเรอย่าง “พระรำพัด-พระรำเพย” ได้

นอกจากนั้น ผู้กำกับฯ และคนเขียนบทละครจักรๆ วงศ์ๆ เรื่องนี้ ยังเล่นกับตัวละครที่เป็นสิ่งมีชีวิตในโลกใต้ดินอีกหลายราย (ซึ่งไม่ได้ปรากฏในชาดก-นิทานวัดเกาะมาก่อน)

เริ่มตั้งแต่พญางูจงอางยักษ์สองผัวเมีย ที่ไล่ล่าสุริยคาธและจันทคาธอยู่พักใหญ่ เพราะพระรำพัด-พระรำเพย ไปลอบขโมยไข่งูจงอาง แล้วนำมายัดใส่มือสองพี่น้อง

บทบาทย่อยๆ อีกประการหนึ่ง ซึ่งจงอางยักษ์สองผัวเมียมี ก็คือ การพังทลายระบบการจัดลำดับคุณค่า/ศักดิ์ของ “ของวิเศษ” ในละครเรื่องนี้

เมื่อพญางูตัวผู้ไปพบแก้วทิพยเนตรในหนองน้ำ แต่กลับไม่เห็นว่านั่นเป็นของวิเศษหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์สูงค่าอันใด จึงตัดสินใจกลืนแก้ววิเศษลงไปในท้อง

น่าเสียดาย ที่พล็อตย่อยส่วนนี้ถูกคลี่คลายอย่างง่ายดายและเร่งรีบเกินไป

เมื่อจันทคาธตัดสินใจคืนไข่งูให้แก่สองพญางูเพราะเห็นแก่ชีวิตภายในไข่ที่กำลังจะลืมตาดูโลก จงอางจึงเลิกหวงไข่ และคายแก้วทิพยเนตรคืนให้จันทคาธเป็นการตอบแทน

จนกลายเป็นว่าพญางูที่เพิกเฉยไม่เห็นค่าของแก้ววิเศษ ดันมาตระหนักถึงความศักดิ์สิทธิ์ของแก้วดวงดังกล่าว แล้วส่งมอบมันคืนให้แก่ผู้เหมาะสมซะอย่างงั้น

เช่นเดียวกับนางพญามดยักษ์ ที่มาป่วนภารกิจตามหาแก้ววิเศษของสองพี่น้องอยู่ชั่วครู่ ชนิดที่สองอดีตเทพบุตรแทบจะรับมือไม่ไหว ถ้าไม่ได้รับความช่วยเหลือจากซี้เก่าอย่าง “หญ้าเขียว-แดง”

อาจตีความได้ว่า พญางูจงอางยักษ์ นางพญามดยักษ์ รวมถึงตัวละครอื่นๆ (ที่เป็นอดีตศัตรูซึ่งแปรสภาพมาเป็นพันธมิตรกับสุริยคาธ-จันทคาธ) เช่น ยักษาและยักษี หรือนางไม้ร่างอ้วนใหญ่ คือสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์หรือพลานุภาพอันไพศาล (จนสูสีกับ “อำนาจเบื้องบน”) ของสรรพชีวิตต้อยต่ำใต้ดิน/ในป่าเขาลำเนาไพร

โดยอำนาจสามัญอันไพศาลดังกล่าวก็สำแดงผ่านเรือนร่างที่ใหญ่โตเกินกว่าปกติของสรรพสัตว์เหล่านั้น

นอกจากรูปลักษณ์เรือนร่างที่แปลกประหลาดผิดปกติจะสื่อถึงอำนาจของสิ่งมีชีวิตศักดิ์ต่ำ ซึ่งเร้นกายอยู่ตามป่าเขาและโลกใต้ดินแล้ว

อีกด้านหนึ่ง การสร้างเรือนร่างอปกติให้แก่ตัวละครบางส่วน ก็เป็นกลวิธีในการสร้างเรื่องเล่าที่กร่อนเซาะอำนาจของสิ่งมีชีวิตผู้มีศักดิ์สถานะสูงส่งกว่า

อาทิ หางที่งอกออกมาจากตูดของพระรำพัด-พระรำเพย หรือการที่สองเทพธิดาคู่กิ๊กของพระรำพัด อย่าง “นางฟ้าแน่งน้อย-นุ่มนิ่ม” มีรูปร่างระดับธิดาช้าง จนกลายเป็นตัวตลกประจำสวรรค์ไป

เรื่องราวว่าด้วย “โลกใต้ดิน” ตลอดจนอมนุษย์และสัตว์ผู้มีรูปร่างโหญ่โตผิดปกติ มีหน้าที่ในการช่วยค้ำจุนโครงเรื่องซึ่งฉายภาพปรากฏการณ์ “พลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน” ของละครจักรๆ วงศ์ๆ “จันทร์ สุริยคาธ”

อย่างไรก็ดี องค์ประกอบเกี่ยวกับ “โลกใต้ดิน” ยังมีส่วนในการทำลายโครงเรื่องแบบดังกล่าวลง และนำพาละครเรื่องนี้ไปสู่โครงเรื่องแบบใหม่ในช่วงท้ายด้วยเช่นกัน

ผ่านไปราวค่อนเรื่อง สุริยคาธและจันทคาธสามารถตามหาแก้ววิเศษจนเจอ แล้วนำไปถวายคืนพระอินทร์เป็นผลสำเร็จ แต่ปัญหาอยู่ที่ว่า “โมหะ-ทาสา” สองพ่อแม่ขอทานของทั้งคู่ กลับขอติดสอยห้อยตามลูกๆ ขึ้นไปบนสรวงสวรรค์ด้วย

เมื่อสองขอทานไปด่าว่าและลำเลิกบุญคุณกับองค์เทวราชา ในฐานะมนุษย์ที่ต้องอุ้มท้องสองเทพบุตร ผู้ได้รับมอบภารกิจพิเศษจากสวรรค์ โมหะและทาสาจึงโดนเขี่ยลงมาจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ แถมยังถูกธรณีสูบอีกต่างหาก

ทว่า เทวอำนาจของพระอินทร์ก็ได้ทำแค่เขี่ยสองขอทานถ่อยเถื่อนให้ตกลงมาจากสวรรค์และจมดินลงไปเท่านั้น

เพราะสิ่งที่อยู่นอกเหนือจากการควบคุมของพระองค์ ก็คือ สถานการณ์ที่สองพ่อแม่ขอทานของสุริยคาธ-จันทคาธ ดันไปพบเจอกับยักษ์วิโยคพสุธา ซึ่งต้องทัณฑ์สวรรค์จนต้องมาถูกกักขังอยู่ในโลกใต้ดิน

ยักษ์ตนนี้เคยเป็นทวารบาลสวรรค์ ซึ่งแอบรักนางฟ้าสังคเทวีและลีลาวดี (ที่เทพบุตรสุริยคาธและจันทคาธหลงรักอยู่เช่นกัน) กระทั่งถูกเทวดาหนุ่มๆ เยาะเย้ย

ด้วยความโกรธแค้น วิโยคพสุธาจึงไปดื่มน้ำจากลำธารแห่งหนึ่ง ซึ่งบรรดาสรรพสัตว์ใต้ดินทั้งหลายเคยคายพิษทิ้งเอาไว้ จนมีฤทธานุภาพสูงส่ง นอกจากนั้น ยักษ์ทวารบาลยังไปดื่มสุรามาจนมึนเมาได้ที่ เมื่อขึ้นไปป่วนสวรรค์ มันจึงถูกลงโทษจากพระอินทร์

วิโยคพสุธา (ซึ่งมีทั้งเรือนร่างใหญ่โตกว่าปกติและดำรงชีวิตในโลกใต้ดิน) ผู้หลับใหลใต้ดินมาเป็นเวลานาน ถูกปลุกให้ตื่นขึ้นโดยโมหะและทาสา

ยิ่งไปกว่านั้น สองขอทานยังคิดอุบายแก้เผ็ดเทวดา ด้วยการยุแยงให้ยักษ์ที่อยู่ใต้ดินบุกขึ้นไปขโมยแก้วทิพยเนตรบนสรวงสวรรค์

แก้ววิเศษที่เพิ่งถูกถวายคืนองค์เทวราชจึงโดนขโมยหายไปอีกหน ด้วยฝีมือของอดีตยักษ์ทวารบาลผู้บุกขึ้นไปก่อความวุ่นวายบนสวรรค์ ขณะที่พระอินทร์กำลังบรรทมอยู่

องค์เทวราชาจึงกลับมาทำหน้าที่สอดส่องความเป็นไปในสามโลกไม่ได้อีกครั้งหนึ่ง

แล้วสุริยคาธและจันทคาธก็ได้รับเทวบัญชาให้ไปตามหาแก้ววิเศษกลับคืนมา ซ้ำเป็นครั้งที่สอง

จากนั้น โครงเรื่องของ “จันทร์ สุริยคาธ” ก็ค่อยๆ บิดผัน จากโครงเรื่องที่มุ่งเน้นพฤติการณ์ยั่วล้อท้าทายอำนาจเทวดา/สวรรค์ โดยสามัญชน-รากหญ้า

ไปสู่โครงเรื่องว่าด้วย “เทวดาปราบยักษ์” ตามจารีต “นารายณ์สิบปาง”

1 Comment

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.