มติชนสุดสัปดาห์ 25 ก.ย. – 1 ต.ค. 2558
เพจเฟซบุ๊กบริษัทดีด้า วิดีโอ โปรดักชั่น ซึ่งอยู่เครือเดียวกับบริษัทสามเศียร ผู้ผลิตละครจักรๆ วงศ์ๆ ของช่อง 7 เผยแพร่ข้อมูลว่า เมื่อวันที่ 19-20 กันยายนที่ผ่านมา “แก้วหน้าม้า” สามารถโกยเรตติ้งสูงสุดไปได้ถึง 11.0
นับว่าเป็นเรตติ้งสูงที่สุดนับแต่ละครจักรๆ วงศ์ๆ เรื่องนี้ออกอากาศมา
ทั้งยังผลให้ “แก้วหน้าม้า” กลายเป็นรายการทีวีที่ครองเรตติ้งสูงสุด ในระหว่างวันที่ 14-20 กันยายน
ผมเคยเขียนบทความตีความ “แก้วหน้าม้า” ฉบับล่าสุดมาแล้วถึงสองชิ้น ดังนั้น ในงานเขียนชิ้นนี้ จึงจะทดลองขยับขยายเปลี่ยนแง่มุมการนำเสนอดูบ้าง
ด้วยการริเริ่มตั้งประเด็นจากความเห็นของคนดูละครจักรๆ วงศ์ๆ เรื่องนี้ แล้วจากนั้น จึงค่อยนำเสนอความเห็นของตนเองเข้ามาประกอบ
พร้อมๆ กับข่าวคราวเรตติ้งทะลุถึงหลัก 11.0 ของ “แก้วหน้าม้า” ก็เกิดกระทู้สนทนาน่าสนใจขึ้นสองกระทู้ ในเว็บบอร์ดพันทิป
ละครในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา นำเสนอเรื่องราวไปถึงตอนที่ว่า แก้วถูกกล่าวหาจากเมียอีกคนของพระปิ่นทอง ว่าเป็นผู้วางยาพิษพระมเหสี (แม่ยาย) นางจึงถูกพ่อตาคือท้าวภูวดลฯ สั่งประหารชีวิต
สุดท้าย พระมเหสีต้องหอบสังขารอันอ่อนเพลีย ออกมาขอพระราชทานอภัยโทษให้แก้ว และเสนอให้ลดหย่อนโทษ จากการประหารชีวิต เป็นการเนรเทศ
ด้วยเหตุนี้ จึงมีสมาชิกพันทิปผู้หนึ่ง เข้าไปตั้งกระทู้มีเนื้อหาว่า
“ดูแก้วหน้าม้าแล้ว ถ้าประเทศไทยมีโทษเนรเทศจะดีมั้ย?
“คือบางเรื่องจริงเท็จ ผิดถูกก็คลุมเครือ
“โทษอะไรก็คลุมเครือ
“อย่างแก้วหน้าม้าที่ถูกใส่ร้าย
“แต่เมื่อรังเกียจแก้วหน้าม้าไม่อยากให้อยู่ ไม่อยากเห็นหน้า
“แทนที่จะลงโทษทำร้ายกัน คนไทยได้ชื่อ (ได้ชื่อนะ…จริงรึป่าวไม่รู้) ว่าใจบุญมีเมตตา
“ไม่อยากเห็นหน้าก็เนรเทศเค้าไปอยู่ต่างประเทศซะไม่ต้องลงโทษกันแรงๆ
“เพราะผิดถูกก็ยังเห็นต่าง บางทีก็เป็นโทษที่ไม่สากล
“ส่วนโทษที่เป็นสากลต่างประเทศเค้าไม่ให้เข้าอยู่แล้ว ก็ดำเนินการตามขั้นตอนไป
“ถือซะว่าเลิกแล้วต่อกัน
“อย่าต่อความยาวสาวความยืดกันอีกเลย”
(ที่มา http://pantip.com/topic/34200077 สืบค้นเมื่อวันที่ 22 กันยายน 2558)
ผู้ที่มาโพสต์ความเห็นเพื่อตอบคำถามของกระทู้นี้ ล้วนแสดงทัศนะน่าสนใจทั้งสิ้น
คนแรกแสดงความเห็นว่า
“เข้าท่า… ทั้งนี้ ต้องขึ้นกับสลิ่มมวลมหาประชาธิกัดว่าจะพอใจมั้ย…
“ไม่งั้นเดวปลุกระดมออกมาเป่านกหวีดปิดกรุงเตบอีกซาวบ้านสิเดือดฮ้อน…
“จบ แก้วหน้าม้าตอนเนรเทศออกจากสลิ่มแลนด์
“ปล. คิดว่าสลิ่มคงไม่เนรเทศแต่จะใช้วิธีไล่ให้ไปอยู่ประเทศอื่น
“แต่ไม่วายท้าเหยงๆ ให้กลับมาสู้คดี (กับผีจิเล่นตัดสินเล่นงานอยู่ข้างเดว)”
คนที่สองระบุว่า
“มีเมตตาใจบุญกับสิ่งงมงายไร้สาระ
“แต่กับคนเห็นต่างทางการเมืองกลับล้างทำลายกันอย่างเหี้ยมโหด ใจบุญจริงเหรอ”
ด้านคนที่สามโพสต์ว่า “เนรเทศ แล้วจะให้ไปอยู่ไหน เมื่อเขาเป็นคนไทย” คล้ายคลึงกับคนที่สี่ ซึ่งเห็นว่า “ใช้สิทธิ์อะไรในการเนรเทศ”
ขณะที่คนสุดท้าย แสดงทัศนะจากอีกมุมว่า “เนรเทศตัวเองไปก็แล้วกัน ดูไบมั่ง นิวซีแลนด์มั่ง ไปแล้วก็อย่าโฟนอินมาปลุกปั่น ก็จบ”
คําถาม-คำตอบในกระทู้นี้ แสดงให้เห็นว่า การตีความ “แก้วหน้าม้า” ให้เกี่ยวข้องกับประเด็นความขัดแย้งทางการเมืองร่วมสมัยนั้น มิใช่พฤติกรรมของคนดูเนิร์ดๆ หรือผู้มีโลกส่วนตัวเฉพาะกลุ่ม
ทว่า มีกลุ่มคนดูในวงกว้างพอสมควร ที่เห็นว่าละครจักรๆ วงศ์ๆ เรื่องนี้/แนวนี้ มีศักยภาพ เหมาะแก่การนำมาใช้ “กระทบชิ่ง” ทางการเมือง
ไม่ว่าผู้ฉวยใช้ จะสังกัดฝ่ายใด สีเสื้อใด ก็ตามที
กระทู้ต่อมา ที่ผมอ่านแล้วถึงกับหัวเราะก๊าก ก็คือ กระทู้ที่มีสมาชิกพันทิปอีกรายเข้ามาตั้งคำถามเอาไว้ว่า
“อยากรู้ว่าละครพื้นบ้าน แก้วมณี ศรีอาชา สอนอะไร??
“ที่เราดูๆ มาก็ไม่เห็นข้อคิดอะไรเลย ความคิดของเราที่ได้ดูเห็นแค่ว่า พระปิ่นทองดูคนที่ภายนอก เจ้าชู้มากเมีย ตัดสินใจไม่เป็น หูเบาพึ่งลูกพึ่งเมียอย่างเดียว สรุปเราเห็นแค่ว่า ผู้หญิงเก่งอดทนและเข้มแข็งกว่าเยอะ??!!”
ผู้ที่มาตอบคำถามนี้โดยส่วนใหญ่ จะโพสต์ตอบทำนองว่า ละครเรื่อง “แก้วหน้าม้า” สอนคนดูให้รู้ว่า อย่าตัดสินใครจากเพียงรูปกายภายนอก
แต่ก็มีคำตอบแหวกแนวโผล่เข้ามา และสร้างความประทับใจให้แก่ผมเป็นอย่างมาก นั่นคือ คำตอบที่ว่า “สอนว่าเมียทุกคนควรมีอีโต้ติดตัวไว้ อีโต้ช่วยแก้ปัญหาได้ทุกอย่าง”
(ที่มา http://pantip.com/topic/34205374 สืบค้นเมื่อวันที่ 22 กันยายน 2558)
เมื่อราวสองสัปดาห์ก่อน “อีโต้วิเศษ” ที่ชื่อ “คมสัน” ในละคร “แก้วหน้าม้า” ก็เพิ่งตกเป็นประเด็นสนทนาของผู้คนบางส่วนในโซเชียลมีเดีย หลังจากมีผู้แคปเจอร์ภาพ ขณะ “มีดอีโต้” กำลังสนทนากับ “ไก่ฟ้า” อยู่ในจอโทรทัศน์ แล้วนำมาเผยแพร่ (ทั้งสองสิ่ง/ตัว ล้วนถูกประดิษฐ์ขึ้นจากเทคนิคซีจีแบบหยาบๆ ลวกๆ ไร้ซึ่งความประณีตพิถีพิถัน)
บางส่วนแสดงความเห็นในลักษณะกึ่งทึ่งกึ่งขำขัน ถึงภาวะสัจนิยมมหัศจรรย์อันเกิดขึ้นในละครจักรๆ วงศ์ๆ ไทย (หรือสังคมไทยโดยรวม) ที่ความเหนือจริงและสมจริง ผสมปนเปกันไปหมด
ขณะที่อีกหลายคนพากันบ่นถึงความล้าสมัยของเทคนิคซีจี ซึ่งปรากฏอยู่ในจอโทรทัศน์ และคล้ายจะมีข้อสรุปร่วมกันว่า ละครทีวีประเภทนี้พายเรือวนอยู่ในอ่าง และไร้ซึ่งพัฒนาการใดๆ
แม้จะเคยเขียนถึง “อีโต้วิเศษ” ไปอย่างละเอียดพอสมควร ในพื้นที่คอลัมน์นี้เมื่อหลายเดือนก่อน แต่พอเจอกระแสโจมตี “พี่อีโต้” ระลอกล่าสุด ผมในฐานะแฟนที่เหนียวแน่นของแก จึงอยากขออนุญาตแก้ตัวแทนสักหน่อย
ในด้านรูปลักษณ์และประโยชน์ใช้สอยขั้นพื้นฐาน “อีโต้” ถือเป็นเครื่องครัวของสามัญชน หรือเป็นของมีคมด้อยค่า หากนำไปเปรียบเทียบกับสรรพาวุธอื่นๆ
คำตอบเชิงทีเล่นทีจริงของสมาชิกพันทิป แสดงให้เห็นอีกว่า “อีโต้” ใน “แก้วหน้าม้า” มีสถานะเป็นของใช้ติดตัวของผู้หญิง/แม่/เมีย
ทว่า ของมีคมต่ำๆ บ้านๆ หญิงๆ กลับกลายเป็น “แก้วสารพัดนึก” ที่ใช้แก้ไขปัญหาหนักหน่วงรุนแรงได้เกือบทุกอย่าง ทุกสถานการณ์
“อีโต้คมสัน” สามารถต่อสู้กับยักษ์ และตัดเขี้ยวยักษ์ได้
มันสามารถไล่ฟันท้าว พญา มหาอำมาตย์ ตลอดจนขุนทหารและนางกำนัล จนป่วนกันไปทั้งวัง
มันหาญกล้าไม่ยอมรับอาญาสิทธิ์ของท้าวภูวดลฯ เช่น ในฉากการประหารแก้วหน้าม้าเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ก็มีเพียงแค่พระมเหสี และ “อีโต้วิเศษ” เท่านั้น ที่แสดงความไม่เห็นด้วยกับวินิจฉัยของผู้ครองกรุงมิถิลาอย่างชัดแจ้งตรงไปตรงมา
แน่นอนว่ารูปลักษณ์ของ “อีโต้” ในจอโทรทัศน์นั้นห่วย เทคนิคในการสร้างภาพพิเศษเป็น “มีดบินพูดได้” นั้นอยู่ในขั้นแย่
อย่างไรก็ดี บทบาทการพลิกกลับและก่อความวุ่นวายให้แก่ลำดับฐานานุศักดิ์ในจักรวาลจักรๆ วงศ์ๆ ของมัน กลับสร้างความหมายในทางการเมืองวัฒนธรรมอย่างลึกซึ้งกว้างไกล ทั้งยังเปิดกว้างต่อการตีความในหลากหลายแง่มุม
การหลอกล่อคนดูให้ตีความจากมุมไหนก็ได้ ทว่า พอพวกเขาและเธอเชื่อ/ตีความความตามที่ตนเองตั้งธงเอาไว้ไปจนสุดทาง ก็กลับพบกับ “ความเป็นไปได้” หรือ “ข้อโต้แย้ง” อื่นๆ ยืนดักรออยู่เสมอ
คงเป็นมนต์เสน่ห์ที่มหรสพสำหรับมหาชนทุกชนิดพึงมี
เช่น หลายคนให้ค่า “อีโต้วิเศษ” ว่าเป็นงานเทคนิคชั้นแย่ ดูถูกคนดู ไม่ลงทุน แต่ในอีกแง่มุมหนึ่ง ความหมายเชิงสัญลักษณ์ของมันอาจมีคุณค่าอย่างมากมายหาศาลต่อจิตใจผู้ชม ซึ่งเป็นคนเล็กคนน้อย และเข้าไม่ถึงแหล่งอำนาจชนิดต่างๆ ในโลกความจริง
หรือคนดูบางท่าน อาจเบื่อพระปิ่นทอง ที่รูปหล่อ แต่โง่เขลา วันๆ ไม่ทำอะไร แถมยังรำคาญบรรดาตัวละครหญิง ไม่ว่าจะเป็นธิดากษัตริย์ต่างเมือง ลูกยักษ์ และสาวชาวบ้านหน้าเป็นม้า (ผู้แอบซ่อนรูปลักษณ์สวยงามเอาไว้ภายใน) ซึ่งมารุมตบตีกันเพื่อยื้อแย่งอีตาทึ่มคนนี้
ก่อนจะสรุปว่า นี่มันเป็นการ “กดขี่” สตรีเพศกันชัดๆ
แต่ถ้าตามดู “แก้วหน้าม้า” ทุกตอน เราก็จะพบว่า ในอภิมหาบรรยายเรื่อง “พระปิ่นทองกดขี่ผู้หญิง” นั้น มีซับเซ็ตย่อยๆ อีกเยอะแยะมากมายซ่อนแฝงอยู่
เนื่องจาก “สตรี” ที่มารุมรักเจ้าชายหนุ่มรูปงามแห่งมิถิลา ไม่ได้เป็น “ผู้หญิง” ประเภทเดียวกันเสียทั้งหมด
พวกเธอมีทั้งผู้หญิง ที่เป็นมนุษย์ ลูกกษัตริย์ แต่มีนิสัยขี้อิจฉาริษยา, ผู้หญิง ที่เป็นลูกพญายักษ์ แต่พวกเธอดันไม่อยากเป็นยักษ์ และต้องการมีความรักกับมนุษย์ และผู้หญิง ลูกสามัญชนบ้านป่า ที่มีใบหน้าประหนึ่งม้า
ท่ามกลางกระบวนการในภาพใหญ่ ที่บรรดาตัวละครหญิงต่างยื้อแย่งเจ้าชาย ซึ่งคล้ายจะดำรงตนอยู่สูงกว่า จึงเกิดเรื่องราวปลีกย่อยรายทาง ที่ผู้หญิงได้กดขี่ ดูถูก ข่มเหงกันเอง ตลอดจนเรื่องราวมิตรภาพดีๆ อันเกิดจากความร่วมมือ ร่วมใจ ระหว่างลูกผู้หญิงที่มีภาพลักษณ์เป็น “คนนอก” เหมือนๆ กัน คือ ยักษ์ และ ม้า
การซ่อนความหมายหลากแง่มุมไว้ในมหรสพบันเทิงแบบบ้านๆ หรือการสร้างความบันเทิง อันเปิดกว้างต่อการตีความนั้น ทำได้ไม่ง่ายเลย
แต่ “แก้วหน้าม้า” กลับทำภารกิจดังกล่าวได้สำเร็จ
จึงไม่น่าแปลกใจอะไร ที่ละครจักรๆ วงศ์ๆ เรื่องนี้ จะมีเรตติ้งแตะไปถึงหลัก 11.0
และคงไม่หยุดอยู่แค่นั้นแน่ๆ
(เครดิตภาพประกอบ : เพจเฟซบุ๊ก แก้วหน้าม้า)