“ผี” : “ปริศนา” ในร้านกาแฟ และ “ความเด่นชัดที่ไม่น่ากลัว” ในละครโทรทัศน์

มติชนสุดสัปดาห์ 28 ก.ย. – 3 ส.ค. 2558

เมื่อสัปดาห์ก่อน ขณะไปนั่งเขียนบทความวิจารณ์ภาพยนตร์เรื่อง “อนธการ” เพื่อส่งให้มติชนสุดสัปดาห์ ที่ร้านกาแฟแห่งหนึ่ง

ระหว่างผมก้มหน้าก้มตาเขียนงานลงไปในกระดาษเอสี่ 2-3 แผ่น หูก็แอบได้ยินลูกค้าโต๊ะข้างๆ คุยกัน

เท่าที่จำแนกแยกแยะเสียงพูดคุย พวกเขาและเธอน่าจะมากัน 3 คน คนหนึ่ง เป็นผู้หญิงค่อนข้างอาวุโส พูดน้อย (แต่ต่อยหนัก) ที่สุด อีกคนเป็นผู้ชาย ส่วนรายสุดท้าย เป็นผู้หญิงสาว ซึ่งมีข้อเสนอนู่นนี่เยอะแยะเต็มไปหมด

ยามแรกฟัง ผมทึกทักไปเองว่า พวกเขาและเธอทั้งสาม กำลังจับกลุ่มนินทา “บุคคลที่สาม” คนหนึ่ง ซึ่งน่าจะมีชื่อว่า “วรนาถ”

หรือไม่ ทั้งหมดก็คงกำลังหารือกัน เรื่องจะฟ้องร้องขึ้นโรงขึ้นศาล โดยมี “คุณวรนาถ” เป็นคู่กรณี อันเป็นสถานการณ์ที่พบเห็นได้ทั่วไปตามร้านกาแฟ ซึ่งมักมีลูกความไปนั่งปรึกษาทนายเรื่องคดีต่างๆ

แต่พอฟังไปฟังมา ผมกลับเริ่มรู้สึกมึนงงสับสนว่า ทำไมสามคนนั้น จึงพยายามคิดแทน “คุณวรนาถ” กันเป็นวรรคเป็นเวรและเป็นคุ้งเป็นแคว

โดยคุณผู้หญิงสาวคล้ายจะพยายามสวมบทบาทเป็น “คุณวรนาถ” และหมั่นเสนอว่า “วรนาถ” น่าจะทำอย่างนั้น “วรนาถ” น่าจะทำอย่างนี้ เธอน่าจะคิดอย่างนั้น เธอน่าจะคิดอย่างนี้

ก่อนที่คุณผู้ชายและคุณผู้หญิงที่อาวุโสหน่อย จะคอย “ยิง” คอย “โต้” คอย “ตบ” ว่าไม่ใช่นะ “วรนาถ” ไม่น่าจะคิดอย่างนั้น แถมบางครั้งทั้งคู่ยังตั้งคำถามกลับไปยังหญิงสาวว่า ทำไม เธอไม่คิดว่า “วรนาถ” จะคิดหรือทำอีกแบบหนึ่งบ้าง?

หลายสิบนาทีผ่านไป นอกจาก “วรนาถ” ที่ตกเป็น “ตุ๊กตาตัวหลัก” ในวงสนทนาดังกล่าวแล้ว ทั้งสามคนก็เริ่มเอ่ยถึงบุคคลที่สามรายใหม่ชื่อ “นัยเนตร”

และพยายามสร้างโจทย์-ตั้งคำถามขึ้นมามากมายว่า “วรนาถ” จะรู้ไหมว่า “นัยเนตร” คิดจะทำอย่างนั้นอย่างนี้?

ฉับพลัน ผมจึงเกิด “ปิ๊ง” และระลึกได้ขึ้นมาทันทีว่า “วรนาถ” (ซึ่งจริงๆ คือ “วรนาฏ”) และ “นัยเนตร” ที่สามคนนั้นกำลังพูดถึงกัน คือตัวละครของละครโทรทัศน์แนวสยองขวัญเรื่อง “ทายาทอสูร” นี่หว่า

หลังจากนั้น จึงลองเสิร์ชข้อมูลผ่านทางโทรศัพท์มือถือ จนพบว่าทางช่อง 3 ร่วมกับบริษัทในเครือ “กันตนา” กำลังสร้าง “ทายาทอสูร” ฉบับใหม่อยู่พอดี

ข้อมูลในอินเตอร์เน็ต ระบุชัดถึงขนาดที่ว่า ใครคือผู้เขียนบทของละครเวอร์ชั่นใหม่ ผมเลยทดลองค้นหารูปของนักเขียนบทรายนั้นผ่านเว็บไซต์กูเกิ้ล และค้นพบว่า คุณผู้หญิงที่มีอาวุโสสูงสุด ซึ่งนั่งอยู่โต๊ะกาแฟข้างๆ ก็คือ ผู้เขียนบท “ทายาทอสูร 2558” นั่นเอง

โดยสรุปแล้ว บุคคลทั้งสามที่นั่งอยู่ใกล้ๆ ผมในร้านกาแฟ เป็นทีมงานซึ่งกำลังเขียนบทละครเรื่อง “ทายาทอสูร” และกำหนดชะตากรรมของ “คุณยายวรนาฏ” กันอยู่

ถ้าประเด็นการปรึกษาหารือของพวกเขาและเธอข้องแวะกับเรื่อง “ตะขาบ” เสียหน่อย ผมอาจฉุกคิดได้แต่แรก

ทว่า เมื่อบทสนทนาของทั้งสามไร้ซึ่งตัวตนของ “ตะขาบ” ก็เป็นหน้าที่ของผู้แอบฟังอย่างผม ที่จะต้องพยายามไขปริศนาให้กระจ่างแจ้งว่า แท้จริงแล้ว คนเหล่านั้นกำลังพูดคุยเรื่องอะไรอยู่กันแน่

“คุณยายวรนาฏ” “ตะขาบ” และ “ทายาทอสูร” นั้นข้องแวะอยู่กับเรื่อง “ผี”

“ผี” จะทรงอำนาจ ต่อเมื่อปรากฏกายแบบผลุบๆ โผล่ๆ ซ่อนเร้นไม่เด่นชัด หรือดำรงตนเป็นปริศนาอันคลุมเครือ กระทั่งท้าทายขีดความสามารถในการรับรู้ถึงสรรพสิ่งรายรอบตัวของมนุษย์เดินดินปกติธรรมดา

นอกจาก “ทายาทอสูร 2558” ผมอยากพูดถึง “เจ้านาง 2558” ละครโทรทัศน์ผลงานการผลิตของ “กันตนา” เช่นกัน แต่แพร่ภาพทางช่อง 7 ซึ่งอวสานไปเมื่อวันอังคารที่ 25 สิงหาคมที่ผ่านมา

จุดน่าสนใจ (ซึ่งอาจพิจารณาเป็น “จุดเด่น” หรือ “จุดด้อย” ก็ได้) ของ “เจ้านาง” เวอร์ชั่นใหม่ ก็คือ ตัวตนอัน “ชัดเจน” เหลือเกินของ “ผี” ในละคร

ขณะที่ “ผีเจ้า” ในละครเวอร์ชั่นเก่า เมื่อปี 2537 ดำรงอยู่อย่างปราศจากตัวตนอันเป็นรูปธรรม ทว่าแสดงอำนาจผ่าน “เสียง”

“ผีเจ้า” ในละครเวอร์ชั่นใหม่ กลับมีรูปกายที่ชัดเจน โดยตัวละครรายนี้ซึ่งรับบทบาทโดย “อำภา ภูษิต” ก็แสดงให้เห็นถึงการได้รับอิทธิพลมาจาก “ผีอีเม้ย” และ “ผีอีเฟือง” ของฝั่งช่อง 3 อย่างเด่นชัด

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องรูปลักษณ์, การเคลื่อนไหวร่างกาย และการใช้น้ำเสียง

อย่างไรก็ดี แม้จะมีลักษณะคล้ายคลึงกัน แต่เมื่อมาช้ากว่า ก็ย่อมสร้างความน่ากลัวให้เกิดขึ้นได้น้อยลงเป็นธรรมดา

ยังไม่ต้องนับว่า “ผีเจ้า” นั้น ปรากฏกายออกมาชัดๆ บ่อยๆ เสียจนคนดูรู้สึกคุ้นเคย และไม่ตกใจกลัวแต่อย่างใด

นอกจากนี้ “ผีเจ้านางละอองคำ” ในเวอร์ชั่นก่อน ก็ปรากฏกายเป็นแสงเรืองๆ ไม่ชัดเจนนัก (อาจด้วยข้อจำกัดทางด้านเทคนิค) ทว่า ภาวะคลุมเครือดังกล่าว เมื่อผนวกรวมกับน้ำเสียงดุๆ ของ “กวินนา สุวรรณประทีป” ผู้รับบท “เจ้านางละอองคำ 2537” กลับสามารถสร้างพลังอำนาจในการคุกคามคนดูได้เป็นอย่างดี

ผิดกับเวอร์ชั่นปัจจุบัน ที่ “เจ้านางละอองคำ” กลายเป็นตัวละครซึ่งถูกแต่งหน้าให้แก่ และกลายเป็นยายแก่มีเลือดมีเนื้อที่คอยจู้จี้วุ่นวายกับคนรุ่นหลัง มากกว่าจะเป็น “ผี” ที่คุกคามมนุษย์

ขณะเดียวกัน “เจ้านาง 2558” ยังนำเสนอวิญญาณของคนตายหลายๆ ราย ในรูปลักษณ์ที่คล้ายๆ กับการสร้างภาพแบบ “โฮโลแกรม” ซึ่งในแง่หนึ่ง ก็แลดูทันสมัยดี

อย่างไรก็ตาม น่าสังเกตว่า ในภาพยนตร์ไซ-ไฟ ฮอลลีวู้ด มักจะมีเพียงตัวละครหลักๆ หรือตัวละครผู้มีบทบาทลึกลับซ่อนเร้นเท่านั้น ที่เผยร่างพรางกาย (แท้จริง) ด้วยเทคโนโลยีการสร้างภาพดังกล่าว

กระทั่งในโลกความเป็นจริง นักเคลื่อนไหวที่ประเทศสเปนก็พยายามต่อต้านท้าทายกฎหมายการชุมนุมอันเข้มงวด ซึ่งสั่งห้ามการชุมนุม (ของคนจริง) ในพื้นที่สาธารณะ ด้วยการฉายภาพโฮโลแกรมการเดินขบวนของกลุ่มผู้ชุมนุมเบื้องหน้าสถานที่สำคัญ อันถือเป็นประท้วงอำนาจรัฐ โดยไม่ผิดกฎหมาย

เทคโนโลยีโฮโลแกรมจึงถูกนำเสนอไม่บ่อยครั้งนัก และมักถูกฉวยใช้ในวาระสำคัญ หรือยามอับจนหนทางอื่นๆ มิใช่ถูกใช้บ่อยๆ จน “เฟ้อ”

นี่จึงเป็นหลักการที่สวนทางกับภาพโฮโลแกรมดวงวิญญาณต่างๆ ใน “เจ้านาง 2558” ซึ่งมีเยอะ เสียจน “เฝือ” และไม่นำมาซึ่งความตื่นเต้น ตกใจ หรือน่าหวาดกลัวใดๆ

มองในแง่ดี “ผี” ใน “เจ้านาง” ฉบับใหม่ อาจถูกสร้างสรรค์ขึ้นให้มีสถานะเป็นดังเผ่าพันธุ์หรือชาติพันธุ์อีกกลุ่มหนึ่ง ที่ดำรงอยู่เคียงคู่มนุษย์

“ผี” ประเภทนี้ อาจ “หลอน” อาจคอยติดตามมนุษย์ ในฐานะ “อดีต” หรือ “บาดแผล” บางอย่าง แต่เธอ/เขา กลับมิได้ “หลอก” มิได้คุกคาม หรือเขย่าขวัญมนุษย์ เหมือนอย่าง “ผี” ในละครโทรทัศน์ยุคทศวรรษ 2530

“ผี” ใน “เจ้านาง” ยุคใหม่ จึงแตกต่าง แปลกแยก แต่ไม่ “แปลกปลอม” จากมนุษย์

ทีนี้ ก็ขึ้นอยู่กับว่าคนดูทีวีในยุคปัจจุบันจะชื่นชอบ “ผี” แบบไหน มากกว่ากัน?

อย่างไรก็ดี เมื่อ “ผี” ไม่ได้มีสถานะ “เป็นอื่น” อีกต่อไป ก็น่าตั้งคำถามพร้อมๆ กันว่า “ผี” ยังสามารถเป็นฝ่ายทิ้งปริศนา ที่กระตุ้นให้คนดูรู้สึกสงสัย ใคร่รู้ กระทั่งสยองพองขน ได้อยู่หรือไม่?

ถ้าการสร้างปริศนาเช่นนั้น ยังถือเป็น “หน้าที่” สำคัญของ “ผี” อยู่ ก็ดูเหมือน “ผี” ที่มีรูปลักษณ์, พฤติกรรม และวิธีคิด ชัดเจนเสียเหลือเกิน ใน “เจ้านาง 2558” จะทำหน้าที่ดังกล่าวได้ไม่ค่อยดีนัก

(เครดิตภาพประกอบ : http://www.ch7.com)

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.