“พี่ชาย My Hero” : ภาวะสยบยอม, โลกใบกระดำกระด่าง และหลักการนามธรรมอันพิสุทธิ์

“และเมื่อถามว่า แล้วใครเป็นคนที่ชักจูงเขา พี่จะขอตอบให้ชัดๆ เลยว่า สังคมไทยยังไงล่ะ เพราะสังคมไทย 10 ปีที่ผ่านมา หล่อหลอมลูกชายพี่ตั้งแต่เรียนมัธยม จนเข้าสู่มหาวิทยาลัย สังคมทำให้เขากลายเป็นคนแบบนี้ สังคมไทยและผู้ใหญ่ไทยที่สร้างปัญหาไว้ให้เด็กต้องมารับปัญหา มันไม่ใช่ความผิดของเด็ก”

เรวดี สิทธิสุราษฎร์

มารดาของ รัฐพล ศุภโสภณ หนึ่งใน 14 นักกิจกรรมกลุ่มประชาธิปไตยใหม่

“พี่ชาย My Hero” หรือในชื่อภาษาอังกฤษไม่มีไทยปนว่า How to Win at Checkers (Every Time) ภาพยนตร์ไทยผลงานการกำกับของ “จอช คิม” ลูกครึ่งเกาหลี-อเมริกัน ซึ่งมีเนื้อหาดัดแปลงมาจากเรื่องสั้นภาษาอังกฤษ ของ “รัฐวุฒิ ลาภเจริญทรัพย์” กำลังเข้าฉายในโรงภาพยนตร์

หากพิจารณาจากองค์ประกอบข้างต้น ดูเหมือนหนังเรื่องนี้จะ “ไม่ค่อยไทย” มากนัก

อย่างไรก็ตาม หนังกลับสามารถสะท้อนสภาพสังคมไทยร่วมสมัยได้อย่างน่าสนใจ ผ่านขอบข่ายประเด็นอันกว้างขวาง

ตั้งแต่เรื่องความหลากหลายทางเพศสภาพที่ดำรงอยู่ในวิถีชีวิตปกติธรรมดาของสามัญชน, ชีวิตนอกกฎหมายในโลกใต้ดิน (ธุรกิจค้าบริการทางเพศ, การเล่นยา และมาเฟียท้องถิ่น), ความเชื่อทางไสยศาสตร์ เรื่อยไปจนถึงปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้

ทั้งหมดถูกปกคลุมด้วยธีมหลักสองประเด็น คือ หนึ่ง ความสัมพันธ์ระหว่างพี่ชาย-น้องชาย และ สอง การต้องไปเกณฑ์ทหาร (และการพยายามต่อสู้ขัดขืนกับระบบดังกล่าว) ของทั้งคู่ ซึ่งมีนัยยะสื่อถึงความไม่เป็นธรรมหรือความไม่เท่าเทียมที่ดำรงอยู่ในสังคมไทย

“พี่ชาย My Hero” เล่าเรื่องราวของ “โอ๊ต” เด็กชายวัย 11 ปี ที่กำพร้าพ่อแม่ ซึ่งอาศัยอยู่กับพี่ชาย ป้า และลูกสาวของป้า (ที่น่าจะเป็นใบ้หรือมีอาการผิดปกติทางร่างกายบางอย่าง)

“เอก” ผู้เป็นพี่ชาย คอยดูแลและประคบประหงมโอ๊ตอย่างดี อย่างไรก็ตาม หนังฉายภาพให้เห็นว่า เอกเป็นเกย์ เขามีคนรักเป็นเพื่อนชายวัยเดียวกันแต่ฐานะดีกว่า นอกจากนี้ เอกยังมีเพื่อนเกย์ ที่แต่งตัวเป็นหญิงอย่างเปิดเผย

ตัวละครกลุ่มนี้ไม่ได้ถูกกำหนดให้มีพฤติกรรมวี้ดว้ายกระตู้วู้ แต่พวกเขาดำเนินชีวิตเฉกเช่นคนปกติธรรมดา และทั้งหมดก็ดีกับโอ๊ต

จุดเปลี่ยนพลันเกิดขึ้น เมื่อเอกต้องไปเกณฑ์ทหาร โอ๊ตตัดสินใจขโมยของมีค่าไปมอบให้เสี่ยผู้มีอิทธิพลประจำตลาด เพื่ออ้อนวอนขอให้เสี่ยช่วยเหลือพี่ชายของตน แต่เรื่องกลับวุ่นวายหนักขึ้นไปอีก

แล้วหนังก็คลี่คลายปมต่างๆ ออก โอ๊ตมีโอกาสได้รับรู้ถึงชีวิตการทำงาน/ชีวิตนอกกฎหมาย/ชีวิตนอกบรรทัดฐานหลักของสังคม ของพี่ชายอย่างแจ่มชัดมากขึ้น แม้จะเริ่มต้นด้วยความผิดใจ แต่สุดท้ายก็ค่อยๆ แปรเปลี่ยนเป็นความเข้าใจ

ท้ายสุด เอกจับได้ใบแดง ก่อนจะเข้ากรมกอง เขาตัดสินใจบอกเลิกกับแฟนผู้มีเส้นสายจนไม่ต้องถูกเกณฑ์เป็นทหาร ขณะเดียวกัน แฟนก็รู้สึกผิดหวังกับ “หน้าที่การงานบางอย่าง” ซึ่งเอกต้องทำเพื่อหาเลี้ยงน้องและครอบครัว

เอกถูกส่งตัวไปชายแดนใต้ ซึ่งนั่นจะเปลี่ยนแปลงชีวิตของเขาและน้องชายไปตลอดกาล

หลายปีต่อมา โอ๊ตเติบโตเป็นหนุ่ม และถึงคราวที่เขาจะต้องไปคัดเลือกทหารบ้าง โอ๊ตมีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้นมาก (หนังไม่ได้บอกไว้ชัดๆ ว่าเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น?) เขามียานพาหนะเป็นมอเตอร์ไซค์คันใหญ่หรู ซึ่งเข้ามาแทนที่จักรยานยนต์คันโทรมๆ อันเป็นมรดกตกทอดของพ่อ ที่ถูกส่งต่อมายังเอกและโอ๊ต

แน่นอน โอ๊ตเรียนรู้มาเป็นอย่างดีถึงวิธีการอันแน่นอนที่จะทำให้ตนเองจับได้ใบดำ โดยไม่ต้องหวังพึ่งพาแต่เพียงเทพีแห่งโชคชะตา เขา “เข้าใจ” โลกมากพอ ที่จะไม่เหยียบซ้ำลงไปบนรอยก้าวเดิมๆ ของผู้เป็นพี่ชาย

เรื่องราวทั้งหมดของ “พี่ชาย My Hero” ดำเนินคู่ขนานไปกับ “สัญลักษณ์” สำคัญภายในหนัง นั่นคือ การแพ้-ชนะ บนกระดานหมากฮอส

โอ๊ตชอบเล่นหมากฮอสกับเอก เขาพ่ายแพ้มาโดยตลอด จนมาเอาชนะได้ก่อนหน้าที่พี่ชายจะต้องไปรับราชการทหาร และนั่นทำให้เขามีโอกาสติดตามไปพบกับความลับในชีวิตของเอก

หลังจากนั้น โอ๊ตก็เลือกจะใช้ชีวิตอย่าง “ผู้ชนะ” และหมั่นเสาะหาไขว่คว้าผลประโยชน์จากระบบสังคมอันไร้ความเป็นธรรม โดยไม่ยอมถูกระบบกดขี่ขูดรีดเอาอย่างง่ายๆ เหมือนที่พี่ชายและครอบครัวของเขาเคยโดน

หลังดูหนังจบ มีอยู่ 3-4 ประเด็นที่ผมคิดต่อขึ้นมาได้

ข้อแรก “พี่ชาย My Hero” เล่าเรื่องราวของสามัญชนที่สยบยอมต่อระบบ ทว่ารูปแบบการสยบยอมก็มีลักษณะแตกต่างกันไป หลายคนยอมถูกกฎเกณฑ์และความฉ้อฉลไม่เป็นธรรมกดขี่ ขณะที่บางคนพยายามแสวงหาช่องทางที่จะอยู่รอดหรืออยู่ได้ดี ภายในระบบพิกลพิการดังกล่าว

แม้อาจต้องแลกด้วยการสูญเสียทรัพย์สินบางส่วน, การแอบล่วงละเมิดกฎหมายอย่างแนบเนียน และการเอารัดเอาเปรียบสามัญชนคนอื่นๆ อีกต่อหนึ่ง

น่าสนใจที่เอกนั้นละเมิดบรรทัดฐานทางสังคมบางประการ อาทิ การมีพฤติกรรมรักคนเพศเดียวกัน, การหาเงินจากธุรกิจขายบริการทางเพศ หรือการใช้ยาเสพติด

แต่เขากลับยินยอมอยู่ใต้กฎเกณฑ์บางอย่าง นั่นคือ การยอมถูกเกณฑ์ไปเป็นพลทหารแต่โดยดี

ส่วนโอ๊ต แม้จะหาทาง “เอาคืน” จากสังคมซึ่งเคยกดทับตนเองและคนรอบข้าง แต่เขาก็ไม่เคยปฏิเสธหรือต่อต้านสังคมอันฟอนเฟะแต่อย่างใด

ข้อสอง ลักษณะการตัดต่อที่โดดเด่นประการหนึ่งของหนังเรื่องนี้ ก็ได้แก่ การที่ผู้กำกับและผู้ลำดับภาพมักเล่นกับห้วงคำนึงในหัวของตัวละคร ที่ชอบคิดไปไกลว่า “worst-case scenario” ของสถานการณ์ย่ำแย่ที่เขากำลังเผชิญอยู่นั้น จะไปจบลงตรงจุดไหน

ถ้าจำไม่ผิด หนังมีการลำดับภาพลักษณะนี้อยู่สองครั้ง ครั้งแรก ตอนที่โอ๊ตเข้าไปหาเสี่ย เพื่อขอให้ช่วยเหลือพี่ชายในการเกณฑ์ทหาร กับครั้งที่สอง ตอนที่โอ๊ตไปดูเอกเล่นยากับเพื่อนๆ

น่าสนใจว่า สุดท้ายแล้ว เรื่องราวในโลกใต้ดินนอกกฎหมายของมนุษย์สามัญดีๆ เลวๆ กลุ่มนี้ กลับไม่ได้นำพาตัวละครไปสู่ “กรณีเลวร้ายที่สุดที่จะสามารถเกิดขึ้นได้” ตามห้วงคำนึงของตัวละครบางคน

กลับกลายเป็นว่าภาวะชั่วๆ ดีๆ ผิดๆ ถูกๆ ได้ช่วยประคับประคองให้ตัวละครเกือบทั้งหมดดำเนินชีวิตล้มลุกคลุกคลานต่อไปได้ เช่นเดียวกับที่ไม่มีใครในโลกใบกระดำกระด่างดังกล่าว ซึ่งเป็นคนชั่วสุดๆ หรือดีสุดๆ

ภาวะการประคับประคองตัวเองให้อยู่รอดในโลกกึ่งดิบกึ่งดี หรือทำอย่างไรให้ชนะหมากฮอสได้ทุกตา จึงมิได้หมายถึง “การเอาชนะ” ให้ได้ทุกครั้งในเกมชีวิต แต่หมายถึงการเลือกจะได้และเลือกจะเสียอย่างถูกที่ถูกเวลา เพื่อให้สมประโยชน์ของตนเองและผู้เกี่ยวข้องรายอื่นๆ ในแต่ละสถานการณ์มากกว่า

กรอบความคิดกลางๆ ประนีประนอมเช่นนี้ อาจบีบให้ชะตากรรมของตัวละครส่วนใหญ่ในหนังเดินไปไม่สุดทางมากนัก เช่น ตัวละครบางรายที่สมควรจะถูกกระทืบเสียบ้าง ก็กลับไม่โดนแก้แค้นอย่างสาสม

หรือผู้ชมไม่อาจรู้โดยกระจ่างชัดว่า สุดท้ายโอ๊ตตอนโตมีชีวิตความเป็นอยู่และทำมาหากินอย่างไร เขาต้องทำอะไรบ้างเพื่อที่จะจับไม่ได้ใบดำ และหลังจากผ่านพ้น “จุดอับ” ที่เอกเคยผ่านไปไม่พ้นแล้ว โอ๊ตขี่มอเตอร์ไซค์ไปที่ไหนและทำอะไรต่อในตอนจบ (คนดูรู้คร่าวๆ แค่ว่า เขาอยู่ในที่พักที่หรูหรากว่าแต่ก่อน)

คนดูบางส่วนจึงเห็นว่าหนังมีบทจบที่รวบรัดและสั้นจนเกินไป ทั้งๆ ที่ได้เล่าเรื่องราวจิปาถะหรือสัญลักษณ์ระหว่างทางมาอย่างค่อนข้างชัดเจนโดยตลอด

ทว่า อีกด้านหนึ่ง ลักษณะไปไม่สุดหรือคลุมเครือ ก็ช่วยให้หนังมีเสน่ห์และเปิดกว้างต่อการคิดต่อตีความมากยิ่งขึ้น

ข้อสาม ตรงข้ามกับการถูไถเอาตัวรอดไปได้ในโลกอันสามานย์สามัญ การ “ต้อง” (หรือ “ถูกบังคับไป”) ปฏิบัติหน้าที่ภารกิจ เพื่อเป้าหมายอันพิสุทธิ์สูงส่งบางประการ หรือเพื่อหลักการนามธรรมที่ใหญ่โตมากๆ เช่น แนวคิดการเสียสละเพื่อชาติ ฯลฯ เสียอีก ซึ่งผลักไสให้ตัวละครบางคนต้องเผชิญหน้ากับ “กรณีที่เลวร้ายที่สุด” ในชีวิตของตนอย่างน่าเศร้า

มาถึงข้อสุดท้าย ผู้อ่านคงสงสัยว่าแล้วเรื่องราวของหนัง “พี่ชาย My Hero” มีความข้องเกี่ยวอย่างไรกับคำพูดของ เรวดี สิทธิสุราษฎร์ ที่ผมยกมาอ้างอิงตอนต้นบทความ

ชีวิตของโอ๊ตในหนังกับชีวิตของรัฐพล ลูกชายคุณเรวดี ในโลกความจริงนั้น มีทั้งความคล้ายคลึงสอดคล้องและความแตกต่างกันอย่างลิบลับ

ทั้งคู่เกิด เติบโต และถูกหล่อหลอมกล่อมเกลา โดยสังคมที่เต็มไปด้วยความอยุติธรรมและไร้ซึ่งความเสมอภาคของพลเมืองเหมือนๆ กัน ที่ต่างกันคือ ปฏิกิริยาสนองตอบต่อระบบสังคมดังกล่าว

ในขณะที่โอ๊ตพยายามเคี่ยวกรำตนเองให้อยู่รอดปลอดภัย และเสาะแสวงหาการมี “ชีวิตที่ดี” ภายใต้ระบบเดิมอันย่ำแย่ผุกร่อน

รัฐพลและเพื่อนกลุ่มเล็กๆ ของเขา กลับพยายามลุกขึ้นต่อสู้ส่งเสียงเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคม และเพื่อยืนหยัดใน “หลักการประชาธิปไตย”

หลักการประชาธิปไตยอันเป็นเป้าหมายพิสุทธิ์สูงส่งอีกชนิดหนึ่ง ที่นับวันจะอยู่ตรงกันข้ามกับนามธรรมใหญ่โตสูงค่า ซึ่งสามารถแปรสภาพกลายเป็นรูปธรรมหรือผืนธงชาติที่ใช้ห่มคลุมเรือนกายของมนุษย์ตัวเล็กๆ

อันปรากฏอยู่ในตอนท้ายของ “พี่ชาย My Hero” มากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ


(adsbygoogle = window.adsbygoogle || []).push({});

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.