Chungking Express: บางเราในนคร
บางเราในนคร โดย ไม้หนึ่ง ก.กุนที
อยู่ไกลกันนั้นหรือ?
ลมก็อาจกระพือถึง
โบกไปพร้อมคำนึง
ระหว่างเรา ระหว่างเรายามใกล้กันนั้นหรือ?
คุไฟฮือขึ้นแผดเผา
ริกลน และ รุมเร้า
กันและกัน กันและกันเปลวไฟแห่งเราหรือ?
อาจโหมฮือช่วงสั้นๆ
สถานที่และคืนวัน
จะผันพลัดเราพรากไกลด้วยสองเรานี้หรือ?
ถือจาริกในเมืองใหญ่
ดุ่มมาและดุ่มไป
ตามนาฏกรรมชาวนครคืนวันในเมืองหรือ?
คืออีกไฟกรุ่นสุมขอน
ลนเราระทวยอ่อน
และปิ้งเราแข็งกร้านเกรียม
สมัยเรียน ม.6 ตอน พ.ศ.2542 อาจารย์ที่สอนวิชาสังคมเสริม มอบหมายให้ผมและเพื่อนๆ ไปเขียนบทวิจารณ์ภาพยนตร์มาคนละหนึ่งเรื่อง
ผมเลือกเขียนถึงหนังเรื่อง “Chungking Express” ของ “หว่องกาไว” โดยตั้งชื่อบทวิจารณ์ของตนเองว่า “Chungking Express: บางเราในนคร”
ผมจดจำเนื้อหาในงานเขียนชิ้นนั้นไม่ได้แล้ว จำได้รางๆ แต่เพียงผมเขียนข้อความปิดท้ายบทวิจารณ์ด้วยวลีราวๆ ว่า “…เช่นเดียวกับความเปลี่ยวเหงาของบางเราในนคร”
(ถ้าจำไม่ผิด ดูเหมือนอาจารย์จะตรวจงานแล้วคอมเมนต์กลับมาว่า “บางเรา” คืออะไร? แกไม่ค่อยเข้าใจความหมายของมัน 555)
แน่นอนว่าพร้อมๆ กับที่กำลังอินหนังเท่ๆ เหงาๆ ของ “หว่องกาไว” ผมในช่วงวัย 17-18 ปี ก็กำลังซาบซึ้งกับบทกวีในมติชนสุดสัปดาห์ของ “ไม้หนึ่ง ก.กุนที” จนถึงขั้นหยิบยืมชื่องานเขียนชิ้นเอกของเขา ณ ยุคสมัยนั้น มาใช้ในบทวิจารณ์หนังของตนเอง
อย่างไรก็ดี พอมาย้อนคิดถึงสถานการณ์ตอนนั้น ผมกลับพบเรื่องแปลกอยู่อย่างหนึ่ง นั่นคือ จริงๆ แล้วเนื้อหาของบทกวี “บางเราในนคร” ดูจะค่อนข้างสอดคล้องกับเรื่องราวในครึ่งแรกของหนังเรื่อง “Chungking Express” ที่แสดงนำโดย “หลินชิงเสีย” และ “ทาเคชิ คาเนชิโร”
แต่ต้องยอมรับว่าสมัยดูหนังเรื่องนี้ตอน ม.ปลาย ผมนั้นไม่อินกับเนื้อหาในพาร์ตแรกเอาเลย ทว่ากลับลุ่มหลงดื่มด่ำในครึ่งเรื่องหลังที่นำแสดงโดย “เหลียงเฉาเหว่ย” และ “เฟย์ หว่อง” อย่างหนักหน่วง
ผมในวัยใกล้ 40 จึงเริ่มงุนงงสงสัย ว่าตนเองในวัยไม่ถึง 20 เขียนอะไรลงไปบ้างในบทวิจารณ์หนัง “Chungking Express: บางเราในนคร” เมื่อครั้งกระโน้น?
“ผู้หญิงผมทอง” และนายตำรวจ “223”
ต้องสารภาพว่าผมคือคนหนึ่งที่ดูหนังเรื่อง “Chungking Express” ครึ่งแรก ในครั้งแรกสุด แบบแหว่งๆ วิ่นๆ ผ่านม้วนวิดีโอพากย์ไทย ซึ่งมีการตัดทอนเนื้อหาบางส่วนออกไป รวมทั้งใส่บทพากย์ตลกๆ เข้ามาอย่างไม่ค่อยถูกกาลเทศะ เช่น การพากย์ว่าตำรวจ “223” ชอบเพลง “แรงบันดาลใจ” ของ “แร็พเตอร์” เป็นต้น
ดังนั้น นอกจากเนื้อหาในครึ่งแรกจะจี๊ดจ๊าดโดนใจวัยรุ่นหนุ่มสาวในยุค 90 น้อยกว่าครึ่งเรื่องหลังแล้ว อรรถรสของเนื้อหาพาร์ตนี้เมื่อแรกชมยังบกพร่องหายไป เพราะการถูกดัดแปลงให้เข้ากับบริบทแบบไทยๆ
แต่พอมาดู “Chungking Express” หนล่าสุดในปัจจุบัน ผมก็คงเป็นเช่นเดียวกับผู้ชมอีกหลายราย ที่รู้สึกชอบและอินกับเนื้อหาในครึ่งแรกขึ้นมาก
ผมรู้สึกว่าเรื่องราวในส่วนแรกของหนังนั้นมีรสชาติกลมกล่อม เนื่องจากสามารถคละเคล้าความไม่สมหวังแต่เปี่ยมกำลังใจ ความหงอยเหงาโดดเดี่ยวกับความเอื้ออาทร รวมถึงความงดงามและความโหดเหี้ยมอัปลักษณ์ในมหานครใหญ่ ให้ผสมผสานกันได้อย่างเข้มข้นลงตัว
ที่สำคัญ ในฐานะแฟนหนังสือของไม้หนึ่งผู้ล่วงลับ ผมมีความเห็นว่าสายสัมพันธ์ที่ทั้งเหินห่างและชิดใกล้ระหว่าง “ผู้หญิงผมทอง” กับ “223” นั้นสอดประสานกลืนกลายเข้ากับบทกวี “บางเราในนคร” ได้อย่างเหมาะเจาะพอสมควร
ทั้งนี้ ในซีนที่ “223” ไปวิ่งออกกำลังเพื่อให้เหงื่อไหลออกจากร่างกายแทนน้ำตาแห่งความอกหักนั้น ก็ทำให้ผมอดคิดถึงเพลง “ไม่เป็นไรเลย” ของ “นูโว” ไม่ได้
ซึ่งในประเด็นนี้ต้องยอมรับว่า “นิติพงษ์ ห่อนาค” ผู้เขียนคำร้องของเพลงดังกล่าวเมื่อปี 2531 “มาก่อน” เฮียหว่องจริงๆ
“อาเฟย” และนายตำรวจ “663”
แม้หลายคนจะรู้สึกประทับใจครึ่งหลังของ “Chungking Express” น้อยลง เมื่อมาดูซ้ำในปัจจุบัน แต่โดยส่วนตัว ผมกลับยังรู้สึกชอบเรื่องราวในพาร์ตดังกล่าวอยู่ (และแม้จะมีจุดที่อยากวิพากษ์มัน ก็มิใช่เพราะเรื่องราวส่วนนี้เวิ่นเว้อ ฟุ้งฝัน หรือแอบจิตแต่อย่างใด)
ด้านหนึ่ง ผมชอบเรื่องราวส่วนหลังของหนัง เหมือนกับที่ตัวเองยังสามารถรู้สึกอิ่มเอมเมื่อได้ฟังเพลงยุค 90 ที่เราเคยชื่นชอบหลงใหลช่วงวัยรุ่น (ไม่ว่าคนแต่งเพลง คนร้องเพลง จะเป็นใคร มีจุดยืนแบบไหนก็ตาม)
พูดอีกอย่างคือผมชอบความเยาว์วัยบางอย่างที่ยังล่องลอยเวียนวนเป็นบรรยากาศรายล้อม “เหลียงเฉาเหว่ย” และ “เฟย์ หว่อง” เอาไว้ แม้จะตระหนักดีว่ามันเป็นเพียงความเพ้อฝันอันเลื่อนลอย
อีกด้านหนึ่ง ตัวละคร “อาเฟย” ทำให้ผมนึกถึงแนวคิดเรื่อง “imaginative/interpretive labour” ของ “เดวิด เกรเบอร์” นักมานุษยวิทยา ปัญญาชนฝ่ายซ้าย และนักอนาธิปไตยผู้ล่วงลับไปเมื่อปีก่อน
เมื่อนำแนวคิดดังกล่าวมาวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่าง “อาเฟย” กับ “663” เราจะเห็นว่าหญิงสาวร้านฟาสต์ฟู้ดนั้นต้องรับภาระหนักหนาเหลือเกินในการจินตนาการถึงความรักที่เธอมีต่อตำรวจหนุ่ม
เธอเฝ้าคิดถึงแต่เขา เป็นห่วงเป็นใยเขา คิดจะ (แอบไป) ปรับเปลี่ยนปรับปรุงวิถีชีวิตหงอยเหงาเศร้าหม่นของเขา เป็นทุกข์ร้อนแทนเขา และพยายามจะเข้าแทนที่คนรักเก่าของเขา
หมายความว่าทุกสิ่งที่ “อาเฟย” ครุ่นคิด (และลงมือทำ) นั้น ดำเนินไปเพื่อยังประโยชน์ให้แก่ “663” ผู้แทบไม่รู้เรื่องรู้ราวอะไรเลย
จนสามารถพูดได้ว่า “อาเฟย” กำลังถูกขูดรีดจินตนาการอยู่ภายในโครงสร้างความสัมพันธ์ทางอำนาจที่ไม่เท่าเทียมกันระหว่างเธอกับผู้ชายที่เธอแอบรัก
น่าสนใจว่า การที่ “663” พลิกบทบาทมาเป็นคนขายอาหารฟาสต์ฟู้ดในตอนจบของหนัง อาจถือเป็นความพยายามจะชดใช้แรงงานเพื่อทดแทนน้ำพักน้ำแรงที่ผู้หญิงเช่น “อาเฟย” เคยต้องอุทิศไป
แต่ต้องไม่ลืมว่าอดีตนายตำรวจนายนี้ก็มีสถานะเป็น “นายทุน” หรือเจ้าของธุรกิจด้วยเช่นกัน
ขออนุญาตปิดท้ายด้วยการพูดถึงเพลงประกอบ
ต้องยอมรับว่าเมื่อได้ดูหนังพาร์ตนี้ตอนเป็นวัยรุ่น ผมก็ดื่มด่ำกับความโดดเด่น ความมีเสน่ห์ และความเท่ของเพลง “Dream Lover” และ “California Dremin’” คล้ายคลึงกับคนทั่วไป
แต่ปรากฏว่าคราวนี้ เพลงที่ตรึงตราหัวใจผมมากกว่า กลับเป็น “What a Difference a Day Makes” ไปเสียอย่างนั้น ส่วนหนึ่งคงเพราะมันถูกใช้ไม่เยอะ (แต่ทรงพลัง) และไม่ฟูมฟายเท่ากับสองเพลงแรก 555