“ชิโนบุ ฮาชิโมโตะ” ผู้เขียนบทภาพยนตร์คลาสสิกเรี่อง “Rashomon” และ “Seven Samurai” ซึ่งกำกับโดย “อากิระ คุโรซาวะ” ได้ถึงแก่กรรมด้วยอาการปอดบวม ที่บ้านพักในกรุงโตเกียว เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา ขณะมีวัย 100 ปี
ฮาชิโมโตะเป็นบุคลากรสำคัญคนหนึ่งใน “ยุคทอง” ของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ญี่ปุ่นช่วงทศวรรษ 1950 โดยสไตล์การเขียนบทของเขามีความโดดเด่นจากการมุ่งสำรวจตรวจสอบธรรมชาติของมนุษย์ ผ่านประเด็นคู่ตรงข้ามอันขัดแย้งกัน อาทิ ความดีกับความเลว หรือความรักกับความเกลียดชัง
ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ฮาชิโมโตะถูกเกณฑ์ไปเป็นทหาร ทว่ากลับล้มป่วยด้วยโรควัณโรคระหว่างการฝึก จึงถูกส่งไปรักษาตัวในโรงพยาบาลทหารผ่านศึกรวมเวลาสี่ปี
ณ สถานที่ดังกล่าว มีคนไข้บางรายได้แนะนำให้เขารู้จักกับนิตยสารภาพยนตร์ ฮาชิโมโตะจึงเริ่มอ่านนิตยสารเหล่านั้น และมีความสนใจในงานเขียนบทหนัง
หลังสงคราม ฮาชิโมโตะทำงานเป็นเสมียนบัญชี ไปพร้อมๆ กับการเคี่ยวกรำฝึกเขียนบทภาพยนตร์

ในที่สุด “Rashomon” บทภาพยนตร์ชิ้นแรกของเขา ก็ส่งผลให้ฮาชิโมโตะได้ร่วมงานกับคุโรซาวะ ก่อนที่หนังเรื่องนี้จะข้ามน้ำข้ามทะเลไปคว้ารางวัลสิงโตทองคำจากเวนิสในปี 1951(รวมทั้งได้ออสการ์เกียรติยศ ในฐานะหนังภาษาต่างประเทศที่มีความโดดเด่น)
หลังจากนั้น ฮาชิโมโตะได้สร้างสรรค์ผลงานร่วมกับยอดผู้กำกับญี่ปุ่นผู้นี้ในภาพยนตร์หลายเรื่อง อาทิ “Seven Samurai” “To Live” และ “The Hidden Fortress” (เป็นแรงบันดาลใจสำคัญให้แก่หนังชุด “Star Wars”)
โดยรวมแล้ว ฮาชิโมโตะมีผลงานการเขียนบทภาพยนตร์กว่า 70 เรื่อง และเคยลงมือกำกับหนัง 3 เรื่อง รวมทั้ง “I Want to Be a Shellfish” หนังดราม่าว่าด้วยสภาพสังคมญี่ปุ่นยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งดัดแปลงจากบทละครโทรทัศน์ที่เขาเขียนขึ้น
ฮาชิโมโตะเพิ่งเลิกเขียนบทภาพยนตร์ในช่วงที่มีอายุขึ้นต้นด้วยเลข 9 เพราะล้มป่วยด้วยโรคหลอดเลือดสมอง
เมื่อปี 2013 ฮาชิโมโตะได้รับรางวัล “ฌอง เรอนัวร์ อวอร์ด” จากสมาคมวิชาชีพผู้เขียนบทแห่งอเมริกาฟากตะวันตก ร่วมกับคุโรซาวะ, เรียวโซ คิคุชิมะ และฮิเดโอะ โอกุนิ
ทั้งหมดนี้คือทีมงานเขียนบทภาพยนตร์ของคุโรซาวะ ผู้ชื่นชอบสร้างสรรค์เรื่องราวด้วยวิธีการระดมสมอง (ฮาชิโมโตะเป็นคนสุดท้ายในทีมเขียนบทชุดนี้ ซึ่งยังมีชีวิตอยู่ในงานมอบรางวัล)
ครั้งหนึ่งฮาชิโมโตะเคยสนทนากับ “โยจิ ยามาดะ” ยอดนักทำหนังอีกรายของญี่ปุ่น โดยเขาได้เปรียบเปรยการเขียนบทภาพยนตร์กับการเพาะปลูกพืชพันธุ์ มีใจความว่า
“คนเขียนบทภาพยนตร์เป็นดั่งเกษตรกรผู้หว่านเพาะเมล็ดพันธุ์ลงบนผืนดิน ในกาลต่อมา เขายังต้องคอยเอาใจใส่ต้นพืชดังกล่าวในเรื่องสภาพน้ำและอากาศ รวมถึงต้องคอยวิตกกังวลเรื่องฝูงแมลงศัตรูพืชโดยต่อเนื่องสม่ำเสมอ นี่คืองานที่คนทำต้องมีความอดทนและมุ่งมั่นเป็นอย่างยิ่ง”
นอกจากจะเป็นการได้ร่วมงานกันครั้งแรกระหว่างฮาชิโมโตะกับคุโรซาวะ “Rashomon” ยังเป็นหนังญี่ปุ่นเรื่องแรกที่ได้รับการยอมรับกว้างขวางในระดับนานาชาติ
ขณะเดียวกัน ชื่อภาพยนตร์เรื่องนี้ยังกลายเป็นคำศัพท์ที่บ่งชี้ถึงสภาวะการดำรงอยู่ของมุมมองต่อความจริงอันแตกต่างหลากหลาย
เช่นเดียวกับการรำลึกถึงเหตุการณ์เมื่อคราวที่ฮาชิโมโตะและคุโรซาวะได้พบปะกันหนแรกสุดในปี 1949
ยอดนักเขียนบทเล่าไว้ในหนังสือบันทึกความทรงจำของตนเองว่า เขานั่งรถไฟไปหาคุโรซาวะที่บ้าน ซึ่งตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันตกของกรุงโตเกียว
“การพบกันครั้งแรกของพวกเราจบลงอย่างเรียบง่าย แต่ไม่สมบูรณ์ เราปริปากพูดคุยกันแค่ 1-2 นาที แล้วจากนั้น ผมก็เป็นฝ่ายเก็บต้นฉบับงานเขียนของตนเองใส่ลงกระเป๋า”
นี่คือความทรงจำของฮาชิโมโตะ ซึ่งผิดแผกจากหนังสือบันทึกความทรงจำของคุโรซาวะอย่างสิ้นเชิง
ยอดผู้กำกับชาวญี่ปุ่นเล่าถึงสถานการณ์เดียวกันเอาไว้ว่า
“ฮาชิโมโตะมาพบผมที่บ้าน แล้วผมกับเขาก็ได้พูดคุยกันนานหลายชั่วโมง เขาดูเป็นคนมีของเลยทีเดียวแหละ”
ที่มาข้อมูล