รีวิวหนังสารคดี Salaya Doc: นิรันดร์ราตรี

นิรันดร์ราตรี (วรรจธนภูมิ ลายสุวรรณชัย)

หนังสารคดีที่เล่าเรื่องราวของ “สัมฤทธิ์” ชายชาวชนบท ซึ่งเข้ามาประกอบอาชีพฉายหนังในโรงภาพยนตร์สแตนด์อะโลน (โรงหนังชั้นสอง) แถวฝั่งธนบุรี

เอาเข้าจริง ดูเหมือนช่วงเวลา “รุ่งเรือง” สำหรับชายผู้นี้จะเกิดขึ้นเพียงแค่ในระยะสั้นๆ คือ ระหว่างปี 2534 ที่เขาเริ่มเข้ามาหางานทำในกรุงเทพฯ จนถึงก่อนวิกฤตเศรษฐกิจ 2540

ขณะที่จากปี 2540-กลางทศวรรษ 2550 กลับกลายเป็นช่วงซบเซาซึมเศร้ายาวของธุรกิจโรงหนังประเภทนี้

และ “การปิดตัว” ก็กลายเป็นสิ่งที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้

หนังถ่ายทอดและเล่าเรื่องราวชีวิตของชายฉายหนัง (ตลอดจนเพื่อนร่วมงานของเขา) ได้อย่างสนุก มีอารมณ์ขัน น่าติดตาม แฝงอารมณ์เศร้าหม่นอยู่ลึกๆ และละเอียดลออมากพอสมควร

นี่ก็คือแกนเรื่องหลักใน “ครึ่งทางแรก” ของ “นิรันดร์ราตรี” ซึ่งเชื่อมร้อยอยู่กับประเด็นเรื่อง “ความเปลี่ยนแปลง” อันเป็นนิรันดร และ “อวสาน” ของโรงภาพยนตร์

ก่อนที่หนังจะเดินทางไปสู่ “ครึ่งหลัง” ที่สัมฤทธิ์เดินทางกลับไปใช้ชีวิตยังบ้านเกิด

ความชำนาญเฉพาะจากการทำงานในโรงภาพยนตร์มาเป็นเวลาหลายสิบปีของเขา แทบจะไร้ประโยชน์โดยสิ้นเชิง จากมุมมองของภรรยา ซึ่งต้องหาเลี้ยงครอบครัว (ทั้งคู่มีลูกสาวหนึ่งคนชื่อ “น้องฟิล์ม”) ด้วยการเป็น “ชาวสวนยาง”

ภรรยามองว่าสามีผู้เพิ่งล้มเหลวกลับมาจากกรุงเทพฯ มีสภาพประหนึ่ง “ผีดิบ” ที่คุ้นเคยและแทบไม่เคยปลีกตนออกมาจากการทำงานแบบ “อินดอร์” หรือ “ในร่ม”

สำหรับเธอ ความพ่ายแพ้ที่เขาประสบไม่ได้เกิดจาก “ความเปลี่ยนแปลง” แต่เป็นเพราะเขา “ไม่เคยเปลี่ยนตัวเอง” ต่างหาก

ชายฉายหนังกลายเป็นคนกรีดยางที่ย่อหย่อนประสิทธิภาพและไร้ประสิทธิผล เขาปรับตัวและหางาน (กลางแจ้ง) ในชนบทไม่ได้

แม้กระทั่งสิ่งที่สัมฤทธิ์น่าจะรับมือได้สบายๆ อย่างการซ่อมแซมเครื่องเล่น “ดีวีดี” ในบ้าน เขาก็ยังทำมันไม่สำเร็จ

ที่ กทม. ชายฉายหนังพยายาม “หลีกหนี” จากภาวะอวสานของโรงภาพยนตร์ ด้วยการอ่านศึกษาหนังสือธรรมะ แต่ที่บ้านนอก สัมฤทธิ์เลือกจะเยียวยาตนเองด้วย “สุรา” ซึ่งส่งผลให้สายสัมพันธ์ระหว่างเขากับลูกสาวที่ไม่ค่อยได้ใช้ชีวิตอยู่ด้วยกัน ยิ่งมีความห่างเหินกันมากขึ้น

“นิรันดร์ราตรี” ปิดฉากลงโดยไม่ได้เฉลยคำตอบแน่ชัดใดๆ หนังค่อยๆ ปลดปล่อยอารมณ์ความรู้สึกร้าวลึกและภาวะห้วงฝันอันล่องลอยลี้ลับ ให้ออกมาเอ่อท้นท่วมจอภาพยนตร์

ขณะที่คนดูก็ได้ตระหนักถึงภาวะ “กลับไม่ได้ไปไม่ถึง” ของชายฉายหนังผู้เป็น subject หลักของเรื่อง

นิรันดร์ราตรี

ระหว่างชมภาพยนตร์ ผมรู้สึกว่ามันมี “สององค์ประกอบน่าสนใจ” ที่ดำรงอยู่เคียงคู่กันในหนังสารคดีเรื่องนี้

องค์ประกอบแรก คือ ความเป็นศิลปินรุ่นใหม่ผู้เชี่ยวชาญช่ำชองในงานด้านภาพเคลื่อนไหวที่เล่นกับ “แสง” อย่างหนักหน่วงพริ้วไหวของวรรจธนภูมิ

องค์ประกอบเหล่านี้ปรากฏอยู่ตามรายทางในทั้งสองพาร์ทของหนัง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ช่วงเปลี่ยนผ่าน” จากครึ่งแรกมายังครึ่งหลัง และ “ช่วงทิ้งท้าย” ก่อนหนังจะจบ

ภาวะภาพฝันอันแปลกประหลาดและเป็นปริศนา ก็ถือกำเนิดขึ้นจากความสามารถเยี่ยมยอดตรงจุดนี้

แต่อีกองค์ประกอบหนึ่ง คนดูอาจพอจับได้ว่า วรรจธนภูมิ (ซึ่งเพิ่งทำหนังยาวเป็นเรื่องแรก) นั้นเลือกจะเล่าเรื่องของ subject ผ่าน “กระบวนท่า” ที่ไม่ยากหรือสลับซับซ้อนจนเกินไปนัก

นี่นำมาสู่การตัดแบ่งหนังออกมาเป็นสองช่วงอย่าง “เด่นชัด” และ “สมมาตร” ซึ่งด้านหนึ่ง คงทำให้ผู้ชมสามารถตามเรื่องได้อย่างไม่ยากลำบาก แต่อีกด้าน มันกลับเหมือนเป็นการลดทอนเสน่ห์หรือความซับซ้อนในชีวิตและวิธีการมองโลกของสัมฤทธิ์ให้ “ซอฟท์” ลง

ไม่แน่ใจว่าความเป็นระบบระเบียบเรียบร้อยเช่นนั้น จะส่งผลถึงการเลือกเพลงประกอบด้วยหรือไม่ เพราะการเลือกใช้เพลงลูกทุ่งคลาสสิคระดับมาตรฐานอย่าง “คิดถึงพี่ไหม” มาปิดท้ายครึ่งแรกของหนัง ก็เป็นอะไรที่ซาบซึ้งพอสมควร แต่ไม่ใหม่หรือไม่น่าตื่นเต้นถึงขีดสุด

ไปๆ มาๆ ช่วงที่ผมชอบและคิดว่ามันดิ้นไกลออกไปจากโครงสร้างการเล่าเรื่องแบบชัดๆ ที่วรรจธนภูมิจัดวางเอาไว้ กลับกลายเป็นเรื่องเล่าย่อยๆ เล็กๆ ในหนัง เช่น เรื่องราวเกี่ยวกับ “นที” เพื่อนร่วมงานของสัมฤทธิ์ หรือเรื่องราวที่ภรรยาสัมฤทธิ์ไปเจอสิ่งที่เธอเชื่อว่าน่าจะเป็นภูตผีดวงวิญญาณในระหว่างการกรีดยาง (ซึ่งอาจเชื่อมโยงมาถึงชะตากรรมของสัมฤทธิ์ก่อนหนังจบ)

เชื่อว่าในผลงานลำดับถัดไป วรรจธนภูมิคงจะค่อยๆ สามารถถ่ายทอดบอกเล่าเรื่องราวต่างๆ ได้อย่างผ่อนคลายยืดหยุ่นมากขึ้น และมีลักษณะเป็นโครงสร้างแข็งแรงตายตัวน้อยลง

ซึ่งความลื่นไหลเช่นนั้นน่าจะสอดรับกันเป็นอย่างดีกับศักยภาพในการทำงานด้านภาพเคลื่อนไหวอันแพรวพราวของเขา

หมายเหตุ “นิรันดร์ราตรี” เพิ่งจะคว้ารางวัล Special Mention จากสายการประกวด NEXT:WAVE Award ในเทศกาล CPH:DOX ที่กรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก

Leave a comment

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.