“ไทบ้าน เดอะซีรีส์” (สุรศักดิ์ ป้องศร)
หนึ่ง นี่คือ “หนังสนุก” แน่ๆ แต่ผมไม่กล้าบอกว่ามันเป็น “หนังดี” สำหรับทุกคน (ซึ่งจะว่าไปแล้วก็ขึ้นอยู่กับรสนิยมและนิยามว่าด้วยภาพยนตร์ที่ดีของแต่ละคน)
เพราะถึงที่สุด หนังมีจุดบกพร่องตามรายทางเยอะพอสมควร เส้นเรื่องบางส่วนก็ไม่ค่อยเคลียร์ (เช่น คนดูจะไม่รู้ว่า “จาลอด” พระเอกของเรื่อง นั้นไปจีบสาวในหมู่บ้านชื่อ “แนน” ตอนไหน? เพราะตอนเปิดเรื่อง เหมือนบักลอดยังเหงา ยังจีบผู้หญิงไม่เป็น แต่อยู่ดีๆ แนนก็ชวนมันไปเที่ยวในเมือง และหึงหวงจาลอด ยามเมื่อมันไปหมายปองหญิงคนอื่นๆ)
นอกจากนี้ หลายๆ ซีนของ “ไทบ้าน เดอะซีรีส์” ก็เหมือนเป็นการเอามุขมาวางชนๆ กัน (ซึ่งตามรสนิยมส่วนตัว ผมชอบและรู้สึกสนุกตามไปด้วยมากๆ) แต่ในภาพรวม เราคงไม่สามารถป่าวประกาศได้เต็มปากเต็มคำว่าหนังเรื่องนี้เป็นภาพยนตร์ที่เลิศเลอเพอร์เฟ็คท์ ตามมาตรฐานหนังรางวัลอะไรทำนองนั้น
สอง องค์ประกอบแรกที่ผมชอบมากๆ คือ “หมู่บ้านอีสาน” ในหนัง ซึ่งถูกนำเสนอด้วยลักษณะที่ “แปลกดี”
กล่าวคือ หมู่บ้านดังกล่าวไม่ได้ปะทะสังสรรค์กับโลกภายนอกอย่างชัดเจนเสียทีเดียวในแง่กระบวนการ (ไม่มีตัวละครกรุงเทพฯ ที่ใช้ชีวิตแตกต่างจากชาวบ้านอย่างสิ้นเชิง ดุ่มเดินเข้ามาสร้างความแปลกแยกในหมู่บ้าน หรือไม่ได้มีแรงผลัก/อิทธิพลแรงๆ จากภายนอก ที่ระเบิดตูมขึ้นมา จนส่งผลให้ความสัมพันธ์/การดำเนินชีวิตของผู้คนในหมู่บ้านพลิกผันจากหน้ามือเป็นหลังมือ)
ตรงกันข้าม แม้หนังจะมี “ตัวละครที่คล้ายจะแปลกแยก” หรือ “ตัวละครที่มาจากโลกภายนอก” แต่พวกเขากลับมีสถานะเป็นสมาชิกชุมชน ซึ่งสุดท้ายแล้ว สามารถใช้ชีวิตกลมกลืนกับชาวบ้านรายอื่นๆ เช่น ลูกชายผู้ใหญ่บ้านที่กลับมาจากการไปเรียนหนังสือในเมืองหลวง หรือมีชายฝรั่งประจำหมู่บ้าน ซึ่งพอหนังเริ่มเรื่องขึ้นมา หมอนี่ก็เป็นฝรั่งที่ใช้ชีวิตแบบเดียวกับคนในหมู่บ้านไปเรียบร้อยแล้ว จนเราไม่รู้ว่าเขาเข้ามาในหมู่บ้านได้อย่างไร? ต้องปรับตัวนานแค่ไหน?
สาม ไปๆ มาๆ “หมู่บ้านอีสาน” ใน “ไทบ้าน เดอะซีรีส์” จึงมีความเป็น “สังคมชนบท” ที่คล้ายจะดำรงอยู่ได้ด้วยตัวเองมากพอสมควร
และเราก็จะได้เห็นความสัมพันธ์แบบ “บ-ว-ร” บ้าน-วัด-โรงเรียน (แถมด้วยสถานีอนามัย) ภายในหนังเรื่องนี้ (แม้วัดจะมี “หน้าที่” เป็นเพียงพื้นที่ให้หนุ่มสาวได้จีบกันระหว่างพิธีกรรมเวียนเทียนก็ตาม)
หากมองเผินๆ “หมู่บ้าน” ในหนัง จึงคล้ายจะเป็น “ชุมชนอุดมคติในจินตนาการ” เชยๆ ไม่ต่างจากพวกหมู่บ้านในหนังสือเรียนภาษาไทย “มานี มานะ ปิติ ชูใจ”
อย่างไรก็ตาม “หมู่บ้าน” ใน “ไทบ้าน เดอะซีรีส์” ยังมีพลวัตในตัวเองมากพอสมควร ซึ่งก็คือการได้รับอิทธิพลมาจากวัฒนธรรมภายนอก (สังคมเมือง, โลกาภิวัตน์ ฯลฯ) นั่นแหละ เพียงแต่อย่างที่บอกไปแล้วว่าหนังไม่ได้พยายามฉายภาพกระบวนการ “คอนเน็คท์” ระหว่างหมู่บ้านกับโลกภายนอกให้คนดูได้เห็นอย่างชัดๆ
(นอกจากการแสดงให้เห็นว่า “ความเป็นเมือง” มันเริ่มเขยิบเข้ามาใกล้หมู่บ้านมากกว่าเดิม “เมือง” ที่ไม่ใช่ “กรุงเทพกรุงไทย” แต่เป็น “เมือง” ในภาคอีสานนี่แหละ)
ดังนั้น จู่ๆ “หมู่บ้าน” ที่เหมือนจะอยู่ได้ด้วยตัวเอง จึงมีการปรากฏขึ้นของ (เขย) ฝรั่ง, มีคนจำนวนไม่น้อยใช้สมาร์ทโฟนเป็นเครื่องมือสื่อสาร-กล้องถ่ายรูป-เกมกด, ที่นี่เข้าถึงเครื่องคอมพิวเตอร์และแท็บเล็ต, ชาวบ้านชาวช่องต่างรู้จักโซเชียลมีเดียอย่างเฟซบุ๊กและไลน์ ขณะที่ระบบเสียงตามสายก็ยังทรงอิทธิพลอยู่
คน (มีเงิน) ใน “หมู่บ้าน” แห่งนี้ สามารถสั่งซื้อสินค้าราคาเรือนแสนผ่านทางอินเตอร์เน็ตได้, สามารถสั่งพิซซ่าให้มาส่งถึงคันนาได้
และมีคนเปลี่ยนนาเป็นสนามไดรฟ์กอล์ฟ มีคนพยายามค้นหาวิธีการทำนาแบบใหม่ๆ รวมทั้งมีคนใฝ่ฝันอยากเปิด “เซเว่น-อีเลฟเว่น” ขึ้นในหมู่บ้าน
ดังนั้น น่าสนใจมากๆ ว่า ท่ามกลางปรากฏการณ์ของ “ความเปลี่ยนแปลง” นานัปการ ที่เราไม่ค่อยเห็น “แรงผลัก” จากโลกภายนอกอย่างเด่นชัดมากนัก
หนังเรื่องนี้อาจกำลังจะบอกผู้ชมว่า ต่อให้ไม่มีแรงผลักดันใดๆ จากข้างนอก สุดท้าย ภายในสังคมหมู่บ้านก็ต้องพยายามปรับเปลี่ยนตัวเองไปตามกระแสความเปลี่ยนแปลงของประเทศและโลกอยู่ดี
สี่ เส้นเรื่องหลักของ “ไทบ้าน เดอะซีรีส์” คือ ความรักของ “จาลอด”
จากความมึนงง สับสน ริลองรัก หัดมีแฟน
ท้ายสุด จาลอดก็เผชิญหน้ากับทางสองแพร่งที่เจ้าตัวต้องตัดสินใจเลือก ระหว่าง “ครูแก้ว” กับ “หมอปลาวาฬ”
ในวัฒนธรรมหนัง-ละครไทย น่าจะมีไม่กี่ครั้ง ที่ตัวละครไอ้หนุ่มไทบ้าน จบม.6 ทำงานรับจ้างจิปาถะไม่เป็นหลักแหล่ง (ไม่ได้ปลอมตัวมา/ไม่ได้แกล้งยากจน) สามารถ “ใช้สิทธิ์เลือก” อะไรบางอย่างได้
แถมในกรณีนี้ “บักลอด” ของเรา ได้สิทธิ์ “เลือกคนรัก” ซึ่งล้วนเป็น “ตัวเลือกที่ดี” ทั้งคู่
ไม่ใช่แค่ทั้งครูแก้วและหมอปลาวาฬจะเป็นสาวสวย ขาว น่ารัก พวกเธอยังมีสถานะเหนือกว่าจาลอดแทบทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นสถานะทางเศรษฐกิจ, ระดับการศึกษา
ที่สำคัญ ขณะที่จาลอดเป็นชาวบ้านธรรมดา สองสาวกลับมีสถานะเป็น “ตัวแทนของรัฐส่วนกลาง” ซึ่งเข้ามาใช้อำนาจละมุนในท้องถิ่น ผ่านพื้นที่อย่าง “โรงเรียน” และ “สถานีอนามัย”
ยิ่งกว่านั้น ครูแก้วและหมอปลาวาฬยังมีอีกสถานะหนึ่งซึ่งน่าสนใจ
กล่าวคือ ทั้งสองสาวเป็น “คนเมือง” แต่ก็ไม่น่าจะใช่คนกรุงเทพฯ ออกจะเป็นพวกลูกหลานคนจีนตามหัวเมืองใหญ่แถบภาคอีสานมากกว่า (เพราะพวกเธอพอพูดอีสานได้บ้าง)
ความสัมพันธ์ระหว่างหมู่บ้านเล็กๆ ในหนัง กับรัฐส่วนกลางที่กรุงเทพกรุงไทย จึงไม่ได้เชื่อมโยงถึงกันอย่างตรงไปตรงมา แต่ต้องดำเนินผ่านสายสัมพันธ์สามเส้า ระหว่าง “หมู่บ้าน”, “คนกลาง” ซึ่งมีลักษณะเป็นกึ่งคนเมืองกึ่งคนท้องถิ่น และรัฐส่วนกลาง (ซึ่งต้องพึ่งพาทรัพยากรบุคคลของท้องถิ่น หรืออ่อนน้อมต่อภาษาท้องถิ่นอยู่พอสมควร)
ด้วยเหตุนี้ รักสามเส้าระหว่างจาลอดกับครูแก้วและหมอปลาวาฬ จึงมีความสำคัญสองแง่มุม
แง่มุมแรก คือ ชัยชนะใน “การได้สิทธิ์เลือก” ของไอ้หนุ่มไทบ้านคนหนึ่ง (รวมถึงชัยชนะเหนือ “นายตำรวจ” ซึ่งเป็นอีกหนึ่งตัวแทนของภาครัฐ และมีฐานะเป็นแฟนเก่าของครูแก้ว)
แง่มุมที่สอง คือ การได้เผยคลี่ให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างท้องถิ่นกับตัวแทนของรัฐ ซึ่งมีสถานะก้ำกึ่งกำกวมระหว่างการเป็น “คนนอก” และ “คนใน”
ห้า ครูแก้ว ถือเป็นอีกหนึ่งตัวละคร “ครู” ที่น่าสนใจของวงการหนังไทยยุคหลัง
ครูแก้วก็คล้ายๆ กับตัวละครครูสาวสุดเซ็กซี่ในหนังเรื่อง “ป่า”
ที่ชีวิตส่วนตัวบางด้านของครูสาวเหล่านี้ มิได้ทำหน้าที่ประหนึ่ง “แม่พิมพ์” หรือ “แม่แบบ” อันวิเศษดีเลิศเหนือความเป็นมนุษย์ที่ต้องกิน ขี้ ปี้ นอน
ครูแก้วใน “ไทบ้าน เดอะซีรีส์” ยังไม่ต้องเข้าฉากเซ็กส์ร้อนแรงเหมือนครูสาวใน “ป่า”
แต่หนังเรื่องนี้ก็แสดงเห็นว่าครูแก้วนั้นย้ายออกมาใช้ชีวิตอยู่กินกับผู้ชายตั้งแต่ยังเรียนหนังสือไม่จบ (ก่อนจะไปเป็นครูฝึกสอนที่โรงเรียนประจำหมู่บ้านเสียอีก)
มิหนำซ้ำ พอไปอยู่หมู่บ้าน ครูแก้วก็มีสัมพันธ์ที่ค่อนข้าง “ฟรี” กับจาลอด ผู้เป็นภารโรงของโรงเรียน
ในแง่นี้ ครูแก้วจึงเป็นมนุษย์/ผู้หญิงคนหนึ่ง ที่มีอารมณ์ ความรัก ความรู้สึก มีการตัดสินใจผิด/ถูก และมีความทะเยอทะยานใน “การเลือกเดินข้าม” กรอบเส้นแบ่งของจารีตประเพณีแบบเดิมๆ
เอาเข้าจริงแล้ว หมอปลาวาฬก็ต้องพัวพันกับเรื่องสามานย์สามัญ เหมือนๆ กับครูแก้ว
เพราะหน้าที่หลักของคุณหมอในหนัง กลับกลายเป็นการแจกถุงยางอนามัยให้หนุ่มๆ ในหมู่บ้าน หรือการไปสาธิตวิธีการใช้ถุงยางให้นักเรียนในโรงเรียนได้รับชม
รวมถึงการต้องตกเป็น “ตัวเลือก” ในสนามทดลองความรัก (หรือสำเร็จความใคร่) ของจาลอด
ด้านหนึ่ง ครูและหมออาจมีสถานะเป็นตัวแทนของอำนาจรัฐ
แต่อีกด้าน พวกเธอก็ไม่ได้ปลีกตนแยกขาดออกจากวิถีชีวิตของมนุษย์ธรรมดาปกติ (รวมทั้งเรื่องความรักหญิง-ชาย และเรื่องเพศ)
หก ตัวละครอีกรายที่ผมประทับใจสุดๆ ก็คือ “ป่อง” ลูกชายผู้ใหญ่บ้าน
แรกๆ ตัวละครตัวนี้มันมีแนวโน้มจะกลายเป็นพวก “ศรีทน” (ตัวละครเด็กหนุ่มชาวศรีสะเกษที่อยู่ในเพลงเด่นจากอัลบั้มชุดแรกของวงอะลาดิน)
คือเป็นพวก “อีลิท” ประจำหมู่บ้าน ที่พยายามทำตัวเป็นคนเมือง แต่กลวงเปล่า หากินไม่เป็น จมไม่ลง และคงล้มเหลวในท้ายที่สุด
แต่ไปๆ มาๆ ชะตาชีวิตของป่องกลับไม่ได้ล่มจมอย่างนั้น
ป่องอาจจะมีโมเมนต์ตีกอล์ฟกลางท้องนาอย่างไร้แก่นสาร หรือขี่รถยืนไฟฟ้าราคาเรือนแสนไปมาในหมู่บ้านอย่างเกือบๆ จะไร้จุดหมาย
ทว่า สุดท้าย มันก็ประสบความสำเร็จกับการทำนาโยน (จริงๆ หนังคลี่คลายปมปัญหาตรงจุดนี้ง่ายดายไปหน่อย)
ที่ตลกร้าย คือ ป่องไม่ได้ทำนาโยนด้วยมู้ดแอนด์โทนแบบโฆษณา “อีซูซุ” แต่มันเลือกเดินทางนี้ เพราะไม่สามารถ “เอาดี” กับการทำนาดำและนาหว่านได้
“นาโยน” สำหรับป่อง จึงเป็นเหมือนสิ่งช่วยเติมเต็มให้แก่ความปรารถนาที่ยังพร่องแหว่งและความสามารถในการทำนาแบบเดิมๆ ที่มีอยู่อย่างจำกัดจำเขี่ยไม่เพียงพอ
ที่ร้ายกาจกว่านั้น คือ ป่องเฉลิมฉลองความสำเร็จของตนเองด้วยงานเลี้ยงโต๊ะจีนพร้อมการแสดงจากวงดนตรีลูกทุ่งสุดฟู่ฟ่า ไม่ใช่การพอใจกับวิถีชีวิตสงบเงียบ ชิลล์ๆ ในชนบท
ป่องจึงเหมือนจะกลวงแต่ไม่ว่างเปล่าไร้กึ๋น การขี่รถยืนไฟฟ้าไปท้องนาของมันอาจดูเหมือนไม่มี “ฟังก์ชั่น” แต่ก็ดันมีประโยชน์อยู่บ้าง
ดังนั้น ความใฝ่ฝันที่จะเปิด “เซเว่น-อีเลฟเว่น” ประจำหมู่บ้านของมัน จึงไม่ใช่เรื่องเพ้อเจ้อ แต่มีความเป็นไปได้ (ที่ตลก คือ หนังแสดงให้เห็นว่าครูแก้วนั้นทำกับข้าวเองไม่เป็น แต่ใช้วิธีฝากเงินให้ชายขี่รถขายของประจำหมู่บ้าน ออกไปซื้ออาหารกล่องเซเว่นจากในเมือง แล้วนำกลับมามอบให้เธอ)
อีกข้อที่สำคัญ คือ เท่าที่เราได้รับชมหนังเรื่องนี้ ไอ้ป่องถือเป็นลูกหลานในหมู่บ้านเพียงรายเดียว ที่เคยมีประสบการณ์ไปใช้ชีวิตเรียนหนังสือในเมืองกรุง ก่อนจะกลับมาปักหลักที่บ้านเกิด พร้อมกับการ “อิมพอร์ต” องค์ความรู้หรือวัฒนธรรมการดำเนินชีวิตแบบใหม่ๆ เข้ามายังชุมชน
(จาลอดอาจพูดกับน้องชาย ถึงเรื่องเงินที่แม่ไปทำงานแล้วส่งมาให้ แต่หนังก็ไม่ได้บอกว่าแม่ของจาลอดออกไปทำงานที่ไหน และตัวตนของเธอในชุมชนก็ไม่ได้มีอะไรมากไปกว่านั้น)
เจ็ด หลายคนอาจวิเคราะห์ “ไทบ้าน เดอะซีรีส์” รวมถึง “ผู้บ่าวไทบ้าน อีสานอินดี้” ในเรื่องความสำเร็จเชิงการตลาดแบบ “ป่าล้อมเมือง”
คือเป็นหนังทำรายได้ดีในภาคอีสาน ก่อนจะขยับเข้ามาฮิตในแถบกรุงเทพฯ และปริมณฑล (โดยมีคนอีสานพลัดถิ่นเป็นกลุ่มคนดูหลัก)
แต่ประเด็นที่ผมสนใจมากกว่า ก็คือ บรรดาหนังอีสานอินดี้ที่ประสบความสำเร็จเหล่านี้ ต่างพยายามถ่ายทอดเรื่องราวของสภาพสังคม/ชุมชนที่เปลี่ยนแปลงไป ผ่านการมี “อารมณ์ขัน” อย่างซื่อๆ และจริงใจ (“ไทบ้าน เดอะซีรีส์” นั้นถึงขั้นหัวเราะ/จีบ/ร้องไห้ใส่ตัวแทนอำนาจรัฐ ในรูปหญิงสาวสวยๆ กันเลยทีเดียว)
นี่เป็นโทนอารมณ์อันแตกต่างจาก “หนังท้องถิ่น” ของภูมิภาคอื่นๆ ที่เริ่มถูกผลิตออกมามากขึ้น เช่น ถ้าเป็นหนังจากภาคใต้ เรามักได้สัมผัสกับประเด็นรากเหง้า ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และจิตวิญญาณท้องถิ่นบางอย่าง ที่ถูกนำเสนออย่างจริงใจและ “จริงจัง”
ข้อสังเกตเบื้องต้นที่ผมมีจึงได้แก่ แม้อีสานจะเป็นภูมิภาคที่ต้องแบกรับความเจ็บปวด ถูกกระทำ ถูกเหยียดหยามมาตั้งแต่อดีต-ปัจจุบัน
แต่เวลาคนอีสานร่วมสมัยได้โอกาสทำหนังของตัวเอง ให้คนกันเองได้รับชม พวกเขากลับเลือกจะเยียวยาบาดแผลเหล่านั้นด้วย “เสียงหัวเราะ”
(ซึ่งถ้ามองโลกในแง่ร้าย ก็อาจมองได้ว่านั่นคือการหลบหนีออกจากความจริง หรือเป็นการยอมรับยอมเล่นบทบาท “ตัวตลก” ที่พวกคนกรุงเทพกรุงไทยเขาชอบมอบ/แปะยี่ห้อให้คนอีสานอยู่แล้ว)
แปด ผมตีตั๋วเข้าไปดู “ไทบ้าน เดอะซีรีส์” ที่โรงภาพยนตร์ในห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลปิ่นเกล้า รอบสามทุ่มห้าสิบ วันเสาร์
ในเวลาฉายที่ค่อนข้างดึก แถมโรงที่ฉายก็เป็นโรงขนาดเล็ก แต่คนดูกลับมีจำนวนเยอะทีเดียว (คือเกินครึ่งโรง)
ที่สำคัญ ร้อยละ 95 (ได้มั้ง?) เป็นคนอีสาน ที่นั่งพูดคุย หัวเราะ เฮฮา กับมุขตลกและบทสนทนาต่างๆ ภายในหนังกันอย่างคึกคักครึกโครม
แถมบ่อยครั้ง เป็นการหัวเราะนำหน้าหนังไปเลยด้วยซ้ำ กระทั่ง ผม คนกรุงเทพฯ ที่หลงเข้าไปอยู่ในโรงภาพยนตร์ อดหัวเราะตามไปด้วยไม่ได้
เพราะเนื้อหาหนังที่สนุกแบบบ้านๆ (หนังไทยเรื่องสุดท้ายที่ทำได้สนุกมากๆ ในแนวทางใกล้เคียงกัน ตามความเห็นของผม ก็คือ “สวัสดีบ้านนอก” ของ “ปื๊ด ธนิตย์ จิตนุกูล” เมื่อปี 2542) แถมด้วยบรรยากาศรื่นเริงภายในโรงภาพยนตร์
“ไทบ้าน เดอะซีรีส์” จึงถือเป็นหนังไทยที่ทำให้ผมปล่อยเสียงหัวเราะออกมาได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยมากที่สุดเรื่องหนึ่งในรอบหลายปีหลัง