ในส่วนหนึ่งของปาฐกถา “งานทางปัญญาในสังคมอับจนปัญญา” ที่สถาบันปรีดี พนมยงค์
อาจารย์ธงชัย วินิจจะกูล ตั้งข้อสังเกตกรณี “นักแสดงตลกเสียดสี” ในสังคมไทย ดังที่เว็บไซต์ประชาไทได้เก็บความเอาไว้ว่า
“ความแตกต่างระหว่างหม่ำ จ๊กม๊ก กับพวก จอห์น วิญญู, จอห์น โอลิเวอร์, จอน สจ๊วต คือ อย่างแรกเป็นนักแสดงตลก อย่างหลังคือนักแสดงตลกเสียดสี ซึ่งอย่างหลังนี้ไม่เห็นในผังรายการทีวีไทย แต่สำหรับสังคมฝรั่งพวกนี้อยู่ในรายการช่วงไพรม์ไทม์
“การแสดงตลกของไทยมีแบบแผนการพัฒนาเหมือนกับทั่วโลก นั่นคือ มีตลกผู้ดีกับชาวบ้าน ลักษณะที่ต่างกันระหว่างสองอย่างนี้ คือ อะไรล้อเล่นได้และอะไรห้ามล้อเล่น ตรงนี้ไทยไม่เหมือนกันกับประเทศตะวันตก การล้อเลียนอำนาจได้แก่ เจ้า พระ และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เป็นเรื่องปกติในวัฒนธรรมชาวบ้านในทุกสังคม ล้อเป็นประจำพร้อมๆ กับเคารพนับถือด้วย ซึ่งจะอธิบายก็ดูจะยาวเกินไปว่าทำไมชาวบ้านสามารถจัดการความย้อนแย้งนี้ได้ ตัวอย่างที่รู้จักกันดีคือ ศรีธนญชัย
“แคทธารีน โบวี่ พบว่าพระเวสสันดรชาดกเวอร์ชั่นชาวบ้าน นอกจากการให้ทานแล้วยังล้อเลียนทำให้อำนาจเป็นเรื่องตลก ดังนั้นตัวเด่นมากคือ ชูชก ในวัฒนธรรมของชนชั้นสูงโดยเฉพาะอยุธยา-กรุงเทพฯ โบวี่พบว่ามันกลยเป็นเวอร์ชั่นที่ชูชกเป็นคนน่าเกลียด อัปลักษณ์และสมควรถูกประณาม วัฒนธรรมล้อเลียนอำนาจอยู่ในวัฒนธรรมทั้งแบบของผู้ดีและแบบของชาวบ้านในช่วงก่อนยุคสมัยใหม่ แต่เมื่อเกิดการขยายตัววัฒนธรรมมาตรฐานเมื่อร้อยกว่าปีที่ผ่านมานี้ มันได้เบียดขับให้วัฒนธรรมชาวบ้านเป็นวัฒนธรรมที่ต่ำกว่าของกรุงเทพฯ ซึ่งไม่มีการล้อเลียนอำนาจ มันจึงกลายเป็นมาตรฐานปัจจุบันที่ตลกไทยไม่ใช่ตลกเสียดสีล้อเลียนอำนาจ ประเด็น เจ้า พระ และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ กลายเป็นเรื่องเกินขอบเขต ตลกของสังคมไทยสมัยใหม่ถูกจำกัดกรอบ มีแดนที่ห้ามละเมิดมากมายเหลือเกิน จึงกลายเป็นแค่ตลกโปกฮา มีแพทเทิร์นหลักอยู่ 2 แบบ คือ 1. ความโง่ เซ่อเซอะ เปิ่นเชยของคนบ้านนอก คนกลุ่มน้อย คนช้ำต่ำ 2. เอาความเบี่ยงเบนผิดเพี้ยนจากภาวะที่ถือว่าปกติมาทำให้เป็นเรื่องตลก เช่น คนพิการ คนไม่สมประกอบ กระเทย คนจีนที่พูดไทยไม่ชัด เป็นต้น ทั้งนี้แดนหวงห้ามที่เป็นสากลสำหรับตลกทั่วโลก คือ เรื่องเพศ แต่แดนหวงห้ามของไทยคือ อำนาจของชนชั้นสูง ตลกไทยไม่เสียดสีขนบของสังคม มีเพียงบางคนที่ทำเป็นบางครั้ง”
(ที่มา http://prachatai.com/journal/2016/09/68064)
อาจสรุปข้อสังเกตส่วนนี้ของอาจารย์ธงชัยได้ว่า
หนึ่ง อุตสาหกรรมบันเทิงไทย ไม่มีพื้นที่-เวลาให้แก่ “นักแสดงตลกเสียดสี”
สอง การแสดงตลกเสียดสีผูกพันอยู่วัฒนธรรมชาวบ้าน ที่มีกลไกในการ “ล้อเลียนอำนาจ” แต่สำหรับกรณีของไทย การขยายตัวของวัฒนธรรมมาตรฐานแบบกรุงเทพฯ เมื่อร้อยกว่าปีก่อน ได้ส่งผลให้วัฒนธรรมการเสียดสีผู้มีอำนาจแบบชาวบ้าน ถูกลบหายตามไปด้วย
สาม “นักแสดงตลกเสียดสี” อาจมีอยู่ในสังคมไทยร่วมสมัย แต่ไม่ได้อยู่ในรายการทีวีช่วงไพรม์ไทม์ โดยคนเหล่านี้ ตามทัศนะของอาจารย์ธงชัย ก็ได้แก่ จอห์น วิญญู และ โน้ส อุดม (ชื่อหลังถูกระบุถึงในคลิปปาฐกถา) เป็นต้น
แม้ว่าผมจะเห็นด้วยกับเนื้อหาโดยรวมของปาฐกถาดังกล่าว แต่ผมกลับมีความเห็นแย้งต่อข้อสังเกตกรณี “นักแสดงตลกเสียดสี” ของอาจารย์ธงชัยอยู่นิดๆ
จากการเป็น “แฟนละครจักรๆ วงศ์ๆ” ผมรู้สึกว่าอุตสาหกรรมบันเทิงไทยหรือวงการโทรทัศน์ไทย ยังมีที่ทางให้กับ “เรื่องตลกเสียดสีอำนาจ”
เพราะเรื่องตลกแนวนั้นถูกนำเสนอในละครจักรๆ วงศ์ๆ ซึ่งมีที่มาจากวัฒนธรรมชาวบ้าน (ที่ไม่ได้ถูกลบหายไปเสียหมด) และแม้ละครประเภทนี้จะไม่ได้อยู่ในช่วงไพรม์ไทม์ค่ำ แต่ก็แพร่ภาพในช่วงเวลาเช้าวันเสาร์-อาทิตย์ ซึ่งจัดเป็น “เวลาทอง” ของวงการทีวีเช่นกัน ส่งผลให้ละครจักรๆ วงศ์ๆ กลายเป็นรายการมีเรตติ้งสูงอันดับต้นๆ ในสมรภูมิการแข่งขันยุคทีวีดิจิทัล
แน่นอนว่า ในมุมมองของผม “นักแสดงตลกเสียดสี” ที่อาจเข้าถึงคนดูระดับชาวบ้าน เสียยิ่งกว่า “นักแสดงตลกเสียดสีคนชั้นกลางกรุงเทพฯ” เช่น จอห์น วิญญู และ โน้ส อุดม ก็คือ เหล่านักแสดงสมทบ (เรื่อยไปจนถึงตัวละครแอนิเมชั่นแบบหยาบๆ) ทั้งหลายในละครจักรๆ วงศ์ๆ นั่นเอง
ลองไปชมตัวอย่างของฉาก “ตลกเสียดสี” ในละครประเภทนี้กัน
โดยตัวอย่างที่ผมใช้ นำมาจากละครสองเรื่อง คือ “จันทร์ สุริยคาธ” และ “แก้วหน้าม้า” ซึ่งตามความเห็นส่วนตัว นี่เป็นละครจักรๆ วงศ์ๆ ที่ล้อเลียนอำนาจได้อย่างน่าสนใจที่สุด ในช่วงทศวรรษหลัง
1. เมื่อรากหญ้ามีฤทธิ์ เสกให้เทวดามีหาง
(นาทีที่ 29.14-30.58)
2. ตัวตลกและบัลลังก์ ณ อินทปัถบุรี
(นาทีที่ 16.45-18.50)
3. เมื่อเทวดาสิ้นฤทธิ์สิ้นเครื่องทรง
(นาทีที่ 15.41-17.07, 18.18-20.18 และ 35.36-36.55)
(นาทีที่ 2.56-4.05, 5.44-8.42 และ 12.00-13.07)
4. อิทธิฤทธิ์พี่อีโต้
(นาที่ 2.39-6.46)
5. ใบหน้าใหม่ของท้าวภูวดล
(นาทีที่ 28.04-32.50)
นี่อาจเป็นการโต้แย้งในระดับ “ข้อมูล” แต่ผมยังเชื่อว่าการได้มองเห็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์อย่างกว้างขวางรอบด้านขึ้น อาจส่งผลให้การประมวลความคิดรวบยอดเปลี่ยนแปลงไปบ้าง ไม่มากก็น้อย