(มติชนสุดสัปดาห์ 29 มกราคม-4 กุมภาพันธ์ 2559)
“อวสานโลกสวย” หนังไทยผลงานการกำกับของ ปัญญ์ หอมชื่น และ อรอุษา ดอนไสว ถูกขยายต่อเติมมาจากหนังสั้นชื่อเดียวกัน
ผมไม่เคยชมหนังสั้นเรื่องดังกล่าว จึงจะขอกล่าวถึง “อวสานโลกสวย” เวอร์ชั่นหนังยาวของค่ายกันตนา ซึ่งเพิ่งออกฉายตามโรงภาพยนตร์ทั่วไป
หนังเล่าเรื่องราวของเน็ตไอดอลสาว วัยมัธยมฯ ที่โด่งดังในโลกอินเตอร์เน็ต เธอมีเพื่อนสนิทวัยเดียวกัน เป็นนักเขียน “แฟนฟิค” ในชุมชนออนไลน์ ซึ่งมีส่วนปั้นเน็ตไอดอลรายนี้ ให้มีชื่อเสียงในหมู่วัยรุ่นมากยิ่งขึ้นไปอีก
แต่เมื่อมีคนรัก คนนิยม ก็ย่อมมีคนชัง และหวังร้าย
ตัวละครหลักอีกคู่หนึ่งของหนัง จึงได้แก่ นักศึกษาหนุ่ม มีบุคลิกเป็นโอตาคุ (ติดเกม ชอบอ่านการ์ตูน และสะสมตุ๊กตาคอสเพลย์) ผู้คลั่งไคล้ใหลหลงในตัวเน็ตไอดอลสาวด้วยอารมณ์หื่นกาม และเพื่อนหญิงที่อาศัยอยู่ในบ้านหลังเดียวกับเขา ผู้เป็นตัวละครเอกของหนังเรื่องนี้ ในฐานะผู้บงการสถานการณ์เกือบทั้งหมด ด้วยความอำมหิต โหดเหี้ยม วิปริต และเขย่าประสาท
ตัวละครสองกลุ่มถูกจับมาชนกัน เมื่อโอตาคุหนุ่มและเพื่อนหญิงบุกเข้าไปในบ้านของเน็ตไอดอลสาว ก่อนจะมีเหตุการณ์ฆาตกรรมผู้ไม่รู้อีโหน่อีเหน่ เหตุลักพาตัวเน็ตไอดอลและเพื่อนนักเขียน ตลอดจนสถานการณ์ทรมานร่างกายต่างๆ เกิดขึ้นตามมา
จุดใหญ่ใจความแรกที่เห็นได้ชัด และน่าจะมีผู้วิพากษ์วิจารณ์เอาไว้หลายคนแล้ว ก็คือ ภาวะ “อสมมาตร” หรือการมีอำนาจที่ไม่สมดุลกันระหว่างฝ่ายผู้กระทำ/ไล่ล่า กับผู้ถูกกระทำ/ถูกไล่ล่า
เมื่อตัวละครหญิงสาวมาดโหด (รับบทโดย สายป่าน-อภิญญา สกุลเจริญสุข) คู่หูของโอตาคุหนุ่ม กลายเป็นผู้คุมเกมทรมานทรกรรมเอาไว้ได้ทั้งหมด กระทั่งแทบไม่มีชะตากรรมของตัวละครรายไหน ที่สามารถหลบหนีหลุดพ้นไปจากการควบคุมบงการของเธอ (แต่สุดท้าย ก็มี)
ขณะที่สองสาวผู้ถูกทรมาน กลับถูกวาดภาพให้เป็นเด็กหญิงโลกสวยบริสุทธิ์ ผู้ถูกทำร้ายต่างๆ นานา และไร้ซึ่งอำนาจต่อต้านอย่างแทบจะสิ้นเชิง แม้จะมีหนึ่งในนั้น ที่พยายามหาทางต่อกรต่อสู้อยู่บ้าง (แต่ก็ล้มเหลวเกือบตลอดเวลา)
การปะทะกันระหว่างตัวละครหลักสองกลุ่ม จึงแทบจะกลายเป็นภาวะตัดกันของ “ด้านมืด” กับ “ด้านสว่าง”
ยังดีที่ในช่วงท้ายๆ ของภาพยนตร์ ภาวะตัดกันอย่างกระจ่างชัดดังกล่าว ค่อยๆ ถูกทำให้พร่าเลือนมากขึ้น เมื่อหนึ่งในเหยื่อผู้ถูกล่าและทรมาน สามารถพลิกผันตนเองให้กลายเป็นผู้ไล่ล่า รวมทั้งผลักขับความบ้าคลั่งในจิตใจของตนเองออกมา เพื่อทวงแค้นเอาคืนอีกฝ่ายได้ (เกือบ) เป็นผลสำเร็จ
ขณะที่ผู้กำกับเหมือนจะจงใจปล่อยปละละเลยเบื้องหลังชีวิตของเน็ตไอดอลสาวและนักเขียนแฟนฟิคเพื่อนซี้ ให้แลดูล่องลอย เบาหวิว กลวงเปล่า
แต่หญิงสาวมาดโหด ซึ่งเป็นตัวละครเอกของเรื่อง กลับถูกบอกเล่าภูมิหลังอย่างละเอียดลออ
หากมองในแง่หนึ่ง กระบวนการเล่าเรื่องเช่นนี้ ก็อาจทำให้หญิงสาวผู้โหดเหี้ยมได้รับความเห็นอกเห็นใจจากคนดูมากขึ้น ว่าก่อนที่เธอจะกลายมาเป็นผู้กระทำใส่คนอื่นนั้น เธอก็เคยตกเป็นฝ่ายถูกกระทำมาก่อน
นอกจากนี้ เธอยังเติบโตขึ้นมาในบ้านที่มีฐานะค่อนข้างยากจน ต้องรับจ้างทำงานเย็บผ้าระหว่างเป็นนักเรียนพาณิชย์ ครั้นพอจะหันไปหาโลกแห่งความฝันอันสวยงามในชุมชนคนแต่งคอสเพลย์ ก็ดันถูกหลอกลวงหักหลังเสียอีก
เธอจึงต้องเอาคืน ทั้งคนที่กระทำต่อเธอ และคนอื่นๆ ในโลกอันสวยสดงดงามใบนั้น
แต่ถ้ามองอีกแง่ การถ่ายทอดปมปัญหาของผู้ล่า/ผู้กระทำความผิดอย่างวิจิตรบรรจง ก็อาจนำไปสู่ชุดคำอธิบายในมุมกลับว่า เป็นเพราะเธอมีฐานะยากจน เพราะเป็นนักเรียนพาณิชย์ เพราะเป็นสาวคอสเพลย์ เธอจึงมีภูมิต้านทานทางสังคมต่ำ และต้องกลายเป็นฆาตกรโรคจิตเลือดเย็น ที่ไล่ล่าสังหารผู้คนอย่างต่อเนื่อง
ส่วนเด็กสาวๆ ที่เรียนในโรงเรียนมัธยมฯ สายสามัญ อาศัยอยู่ในบ้านมีฐานะพร้อมครอบครัวแสนอบอุ่น สร้างตัวตนใสๆ ขึ้นมาในชุมชนออนไลน์แบบปลอดมลพิษ จะไม่มีโอกาสทำผิดพลาดถลำลึก จนมีพฤติกรรมเลวร้ายเกินเยียวยาเช่นนั้น
ฉะนั้น การสร้างภูมิหลังอันสลับซับซ้อนให้แก่ตัวละครฝ่ายไล่ล่า (และพยายามเบลอร์เบื้องหลังชีวิตของผู้ถูกล่า) จึงอาจนำไปสู่แนวคิดรวบยอดทำนอง “จน เครียด กินเหล้า” ได้โดยไม่ตั้งใจ
ตัวละครอีกรายที่ถูกสร้างขึ้นมาได้อย่างน่าสนใจและมีเสน่ห์ไม่น้อย กลับกลายเป็นหนุ่มโอตาคุ
แรกๆ เหมือนหนุ่มรายนี้จะมีบทบาทเป็นผู้ชายแหยๆ ขี้แย ที่คอยเป็นลูกไล่เดินตามเกมของหญิงสาวมาดโหดอย่างซื่อๆ บื้อๆ แต่เมื่อเรื่องราวดำเนินไปเรื่อยๆ คนดูก็เริ่มเห็นบทบาทการเป็นผู้กระทำและบุคลิกด้านมืดของเขา
จนในที่สุด ผู้ชมก็ได้ตระหนักว่า ความสัมพันธ์ระหว่างหนุ่มโอตาคุกับหญิงสาวผู้โหดเหี้ยม เป็นความสัมพันธ์ระหว่างหญิงร้ายกับชายเลว หรือต่างฝ่ายต่างบงการควบคุมซึ่งกันและกัน และต่างฝ่ายต่างได้รับความสุขความพอใจหรือได้รับประโยชน์ (แบบดาร์กๆ) จากความสัมพันธ์ต่างตอบแทนดังกล่าว
หญิงมาดโหดอาจสั่งการบังคับบัญชาหนุ่มโอตาคุในหลายๆ เรื่อง แต่หนุ่มโอตาคุก็ “ได้อะไร” จากเธอไปเยอะเหมือนกัน
ฉากผู้หญิงที่เป็นฝ่ายไล่ล่าเหยื่อ รวมหัวกับผู้หญิงที่กำลังตกเป็นเหยื่อ เพื่อเล่นงานพ่อหนุ่มโอตาคุ จึงไม่ได้เกิดขึ้นมาแบบบังเอิญหรือโชคช่วย
หากเป็นสถานการณ์ที่เหยื่อร่วมมือกับผู้ล่าตัวจ้อย เพื่อล้างแค้นผู้ล่าตัวใหญ่อีกต่อหนึ่ง
สุดท้าย ผมเห็นด้วยกับเสียงวิจารณ์ซึ่งแสดงความเห็นว่า หนังใช้ประโยชน์จากฉากหลังที่เป็นสังคมออนไลน์ได้ไม่มากนัก
ตามความเห็นของผม ถึงแม้จะตัดรายละเอียดเกี่ยวกับโลกอินเตอร์เน็ตออกไปเกือบหมด “อวสานโลกสวย” ก็ยังอาจจะมีสถานะเป็นหนังไทยว่าด้วยประเด็น “ชนชั้น” หรือ “สตรีนิยม” ที่น่าพูดถึงหรือวิเคราะห์ตีความต่ออยู่ดี
กระทั่งประเด็นกระแสสังคมทั้ง “บวก” และ “ลบ” ที่มีต่อตัวผู้เป็นฆาตกร/อาชญากร ซึ่งหนังนำเสนอว่าเกิดขึ้นอย่างครึกโครมในกระดานความเห็นออนไลน์นั้น ก็เป็นกระแสความเห็นที่สามารถเกิดขึ้นได้ในสังคมยุคก่อนอินเตอร์เน็ต ตั้งแต่เรื่องราวของบรรดา “เสือ” มาจนกระทั่งถึง “แดง ไบเลย์” และ “ตี๋ใหญ่”
ที่น่าคิดจริงๆ กลับกลายเป็นประเด็นที่ว่า ตัวละครอาชญากรที่มีทั้งคนหลงรักและคนเกลียดชังในหนังเรื่องนี้ คือ ฆาตกร (ฮีโร่?) เพศหญิง ต่างหาก